29 ธ.ค. 2019 เวลา 06:20 • ธุรกิจ
วางแผนทางการเงินอย่างไรในแต่ละช่วงอายุ
1. วัยก่อนทำงาน (0 – 21 ปี)
ในวัยนี้เป็นวัยที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเล่าเรียน ที่มาของรายได้ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่เพราะยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง และในขณะเดียวกันคนในวัยนี้ส่วนมากจะยังไม่มีภาระหนี้สิน โดยเป้าหมายในการใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคนในวัยนี้ก็คือ เพื่อซื้อของใช้ส่วนตัว เที่ยวกับเพื่อน หรือ ช๊อปปิ้ง เป็นต้น ดังนั้นการวางแผนทางการงินที่สำคัญของคนในวัยนี้ก็ควรจะต้องเน้นการสร้างวินัยการออมเพื่ออนาคตที่มั่นคง เพราะหากคนวัยนี้มีวินัยการออมที่ดีแล้ว จะทำให้ในช่วงอายุต่อๆ ไป เค้าสามารถวางแผนทางการเงินได้ง่ายและเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ในส่วนการวางแผนการลงทุนของคนในช่วงนี้ก็จะเน้นเป็นการฝากเงินไว้กับธนาคารทั้งในรูปแบบออมทรัพย์ หรือฝากประจำเพราะยังไม่มีเงินลงทุนมากนัก
2. ช่วงวัยเริ่มทำงาน (21- 30 ปี)
สำหรับวัยเริ่มทำงานนี้เป็นวัยเริ่มต้นของการมีภาระหน้าที่ และมีรายได้เป็นของตนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเริ่มต้นการทำงาน ก็จะมีเงินเดือนหรือรายได้ต่างๆ เข้ามา ซึ่งก็อาจจะยังไม่สูงมากนักแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะสามารถเก็บออมเพื่อนำเงินไปลงทุนต่อได้ ทั้งนี้ในส่วนของค่าใช้จ่าย หรือภาระหนี้สินของคนในวัยนี้อาจยังไม่สูงมากนักเช่นกัน เพราะเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว โดยเป้าหมายในการใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคนในวัยนี้ก็คือการซื้อสินค้าที่ทันสมัยตามกระแส การท่องเที่ยวเปิดประสบการณ์ ซื้อของใช้ส่วนตัว หรือซื้อรถยนต์ที่มีมูลค่าไม่แพงมาก ดังนั้น การวางแผนการเงินของคนในวัยนี้จะต้องเน้นการให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การบริหารเงิน โดยจะต้องมีการบริหารค่าใช้จ่ายและรายได้ให้เพียงพอ และสามารถมีเงินเก็บออมเพื่อนำไปลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ในส่วนการวางแผนการลงทุนของคนในช่วงวัยนี้ เนื่องจากยังมีระยะเวลาในการหารายได้เพิ่มอีกนาน ดังนั้นการวางแผนการลงทุนจึงสามารถลงทุนในความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงได้ เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการลงทุน ก็ยังมีระยะเวลาที่จะสามารถหาเงินกลับมาเพื่อลงทุนสร้างผลตอบแทนอีกได้ แต่อย่างไรก็ตามในการลงทุนแต่ละประเภทก็ควรจะต้องมีการศึกษาและทำความเข้าใจให้ดีก่อน นอกจากนี้ในช่วงอายุนี้ควรมีการเพิ่มความรู้การลงทุนเพิ่ม เพื่อประสิทธิภาพในการลงทุนของตัวเองอีกด้วย
3. วัยเริ่มสร้างครอบครัว (31- 40 ปี)
สำหรับคนที่อยู่ในช่วงอายุนี้เป็นวัยที่ต้องเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้กับตนเองและเริ่มที่จะสร้างครอบครัว โดยมีรายได้และรายจ่ายอยู่ในระดับสูงแล้ว หน้าที่การงานของคนในวัยนี้กำลังก้าวหน้า โดยเป้าหมายในการใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคนในวัยนี้จะมุ่งไปที่การสร้างครอบครัว และออมเงินไว้เพื่ออนาคต อีกทั้งกำลังมองหาสินทรัพย์ที่ใหญ่ขึ้น อยากได้รถยนต์หรูหราขึ้น ดังนั้นการวางแผนการเงินของคนในวัยนี้จะต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่กำลังเผชิญ เช่น ภาระหนี้สินก้อนโต และที่สำคัญคือปัญหาเรื่องสุขภาพและอุบัติเหตุ ด้วยเหตุนี้การวางแผนการเงินจึงควรต้องกระจายความเสี่ยง เพราะมีภาระทางการเงินสูงขึ้น และควรเพิ่มในส่วนของแผนภาษี แผนการออมและการลงทุนเพื่อวัยเกษียณ
4.วัยการงานมั่นคง (41- 55 ปี)
ในวัยนี้เป็นวัยที่หน้าที่การงานและฐานะทางการเงินมีความมั่นคงแล้ว และส่วนใหญ่จะมีรายได้สูง ในขณะที่ภาระทางการเงินเริ่มลดลง ลักษณะส่วนใหญ่ของคนในวัยนี้จะหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเป้าหมายในการใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคนในวัยนี้จะเป็นเรื่องของการวางแผนการศึกษาให้กับบุตร ซึ่งต้องรักษาความมั่นคงทางการเงินและยังจะต้องระวังเรื่องการก่อหนี้ รวมถึงปัญหาสุขภาพและอุบัติเหตุอีกด้วย ที่สำคัญคนในวัยนี้จะต้องให้ความจริงจังกับการวางแผนเกษียณเพราะเหลือระยะเวลาในการหารายได้อีกไม่นาน ดังนั้นการวางแผนการเงินสำหรับคนในวัยนี้นั้น จะเน้นเรื่องการวางแผนภาษีและการวางแผนเกษียณอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะต้องมีการกระจายการลงทุน และเริ่มลดสัดส่วนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงลง
5. วัยเกษียณอายุ (55 ปีขึ้นไป)
สำหรับคนที่อยู่ในช่วงอายุนี้เป็นวัยของผู้ที่กำลังจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะไม่มีรายได้ประจำ ในขณะที่ภาระทางการเงินก็ลดลง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายประจำวันและค่ารักษาสุขภาพ โดยเป้าหมายทางการเงินส่วนใหญ่นั้น จะเป็นเรื่องของการมองหารายรับเพื่อนำมาใช้จ่ายประจำวัน การท่องเที่ยวพักผ่อนและเก็บออมไว้ให้ลูกหลาน และให้ความสำคัญในการวางแผนเพื่อส่งมอบทรัพย์สินไปให้ลูกหลานด้วย ดังนั้นสำหรับรายรับจากการวางแผนการเงินในวัยนี้ จะมาจากเงินบำเหน็จ -บำนาญ เงินออม และผลตอบแทนจากการออมและการลงทุนตั้งแต่วัยทำงานอยู่
### พระคุณพ่อแม่ ลูกหลานคนร้อยเอ็ด
### ผู้หญิงตัว M
### เด็กราม ลูกพ่อขุน
โฆษณา