29 ธ.ค. 2019 เวลา 15:03 • ประวัติศาสตร์
นานาภาษาดาว
โดย นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
"ดูโน่นแน่แม่อรุณรัศมี ตรงมือชี้ดาวเต่านั่นดาวไถ
โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย ดาวลูกไก่เคียงอยู่เป็นหมู่กัน องค์อรุณทูลถามพระเจ้าป้า ที่ตรงหน้าดาวไถชื่อไรนั่น นางบอกว่าดาวธงอยู่ตรงนั้น ที่เคียงกันเป็นระนาวชื่อดาวโลง แม้นดาวกามาใกล้ในมนุษย์ จะม้วยมุดมรณาเป็นห่าโหง ดาวดวงลำสำเภามีเสากระโดง สายระโยงระยางหางเสือยาว นั่นแน่แม่ดูดาวจระเข้ ศีรษะเร่หาหางขึ้นกลางหาว ดาวนิดทิศพายัพดูวับวาว เขาเรียกดาวยอดมหาจุฬามณี โน่นดาวคันชั่งช่วงดวงสว่าง ที่พร่างพร่างพรายงามดาวหามผี หน่อนรินทร์สินสมุทรกับบุตรี เฝ้าเซ้าซี้ลซักถามตามสงกา"
จากบทชมดาวในพระอภัยมณีของสุนทรภู่ (หน้า 151)
ใครที่มีปกติมักถูกตรึงด้วยท้องฟ้ายามค่ำคืน น่าจะถูกตรึงด้วยหนังสือเล่มนี้เช่นเดียวกัน ที่เพิ่งจัดพิมพ์ออกมาในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
เป็นหนังสือรวม 14 บทความของผู้เขียนที่ได้จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านตามภาคต่างๆ เกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่น รวมถึงสืมค้นเอกสารไทยโบราณที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ที่มีภาพประกอบสวยงาม
บท 1 นานาภาษาดาว เปรียบเทียบชื่อเรียกดาวและปรากฏการณ์บนฟ้าที่แตกต่างกันของชาวไทย/เทศใน 8 ภูมิภาค ทั้งไทยกลาง ใต้ เหนือ ไทยอง ไท ใหญ่ ไทยลาว ไทดำ จ้วง อาทิ พระอาทิตย์ มีชื่อเรียกอื่นเป็น หวัน ต่าวัน ตะวัน ลูกก๋างวั้น ตะเว็น ตั๋งหง่น เป็นต้น มีการสอดแทรกความเชื่อและประเพณีท้องถิ่นต่อการเกิดปรากฏการณ์บนฟ้า
บท 2 รวมดาวสาวอิสาน คติความเชื่ออุปราคา ผู้หญิงภาคอิสาน
บท 3 ดวงดาวกับยายเฒ่าโซ่ง คติความเชืีออุปราคาของคนเมืองเพชรบุรี-ราชบุรี
บท 4 ดวงดาวกับสถาปัตยกรรมไทย การปลูกเรือนตามปี
บท 5 นิมิตน้ำผึ้งกับชะตากรรมบ้านเมือง ปี 51 ก่อนการตัดสินคดีการเมืองของอดีตนายกฯ มีปรากฏการณ์ประหลาดที่ฝูงผึ้งมาทำรังหน้าองค์ครุฑที่ประทับเหนือป้ายอาคารศาลอาญา ผู้เขียนไปเปิดดูตำรานิมิตถึง 6 ฉบับที่ต้นฉบับเป็นสมุดข่อย บางเล่มตกทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ทั้งสมุดพระตำราฤกษ์บน 3 ฉบับ ตำราดาวฉบับขุนโพธิ์เมืองเพชรบุรี ตำราดูนิมิตเมืองนครศรีธรรมราช และตำราดูนิมิตฤกษ์ยามเมืองสงขลา พบว่าคำทำนายมีเนื้อหาตรงกันที่เป็นลางร้ายต่อผู้ปกครอง
บท 6 ดวงดาวของสุนทรภู่ เปรียบเทียบชื่อดาวตามวรรณกรรมสุนทรภู่กับชื่อสากล อิงกับคำอธิบายจากตำราของหลวงสวัสดิสารศาสตร์พุทธิ ปราชญ์ด้านดาราศาสตร์ไทยโบราณ และหลสงวิศาลดรุณกร นักโหราศาสตร์ไทย อาทิ ดาวสำเภาหรือดาวเรือไชย (Caster Pollux Procyon) ดาวธง (Hyades) โรหิณี ( Adebaran) ลูกไก่ (Pleiades) เป็นต้น
บท 7 ดวงดาวในวรรณนิพนธ์หลวง-ราษฎร์ สรุปผลการค้นคว้าบทกลอนชมดาวที่ปรากฏในวรรณกรรมอื่น เช่นบุนทนาวงศ์ นิราศเมืองทลุง บทแห่กล่อมพระบรรทมเพลงกล่มเด็กภาคใต้ เปรียบเทียบชื่อดาวในวรรณกรรม กับชื่อสากล ปิดท้ายด้วยเกร็ดการทำนายดาวประจำเมืองและดาวประจำตัว รวมถึงดาวหาง
บท 8 ดวงดาวกับตลับงา แปลชื่อตลับงา 40 ตลับที่เป็นของสะสมของชนชั้นสูงในสมัยรัชกาลที่ 5 ออกเป็นชื่อปัจจุบัน ที่ตั้งชื่อเดิมไว้คล้องจองกัน เช่น สหัศประภา จันทราชัชวาล อังคารสุกสุด ฯลฯ
บท 9 ตำนานดาวฤกษ์ ๒๗ นักษัตร อิงกับตำราฤกษ์บนและตำราดาวฉบับขุนโพธิ์ ซึ่งสำนวนจะคล้ายกับคัมภีร์โหราศาสตร์ไทยฉบับสมบูรณ์ของ หลวงวิศาลดรุณกร
บท 10 แผนที่ดาวไทย นำเสนอแผนที่ดาวฉบับขุนโพธิ์เมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นหมอยากลางบ้านสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นวงกลมขนาดใหญ่ซ้อนกันถึง 5 ชั้น ตรงกลางเป็นรูปดวงไทยใส่เลขไทยแสดงถึงพระเคราะห์เกษตรทั้ง 12 ราศี ชั้นถัดมาเป็นตัวเลขอันโตนาที ตามด้วยนวางค์/ตรียางค์ ถัดมาเป็นรูปกลุ่มดาวนักษัตร 27ฤกษ์ตั้งแต่อัศวินีถึงเรวดี และวงนอกสุดเป็นสัญลักษณ์ของปี 12 นักษัตร ตั้งแต่ปีชวดถึงปีจอ สลับกับสัญลักษณ์ 12 ราศีตั้งแต่สิงห์ถึงกรกฎ มีเพิ่มคำอธิบายและปิดท้ายเรื่องด้วยการบอกเวลาด้วยดาวฤกษ์
บท 11 คัมภีร์ตำราดาวฉบับขุนโพธิ์ ผู้เขียนสันนิษฐานว่าน่าเขียนขึ้นก่อนสร้างกรุงเทพ เนื่องจากดาวภรณี ประจำเมืองกรุงเทพฯ ปรากฏเป็นเมืองพุกามในคัมภีร์ เนื้อหาส่วนมากเป็นบททำนายที่เป็นนิมิตร้าย ที่เกิดจากปรากฎการณ์บนฟากฟ้า ได้แก่ขนาดพระเคราะห์ที่มองเห็น ดาวคู่ต่างๆสัมพันธ์กัน ดาวเคราะห์ที่สัมพันธ์กับพระจันทร์ ดาวขึ้นทิศต่างๆ ดาวเคราะห์เดินถอยหลัง พระจันทร์ที่ไปสัมพันธ์กับดาวฤกษ์ทั้ง ๒๗ กลุ่ม ดาวฤกษ์ที่ไปสัมพันธ์กับพระจันทร์ ดาวหางขึ้นในทิศต่างๆ เป็นต้น ปิดท้ายด้วยนัยของคำทำนายที่มีต่อการเมืองและเศรษฐกิจ
บท 12 ทำไมถึงเป็นวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓?
ตำราดาวโบราณตั้งแต่ปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ จะใช้วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ในการสังเกตการขึ้นของพระจันทร์และเมฆ หรือการฟังเสียงฟ้าร้อง ในการทำนายความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองตลอดทั้งปี จึงได้พยายามสืบค้นที่มาและคติความเชื่อคนในภูมิภาคต่างๆมากว่า 20 ปี แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
บท 13 ดวงดาวซีกโลกใต้ ผู้เขียนบอกเล่าประสบการณ์ดูดาวบริเวณฟากฟ้าเหนือเส้นศูนย์สูตร ตั้งแต่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย พม่า อินเดีย รัฐฉาน ไปจนถึง จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และนิวซีแลนด์ โดยอาศัยแผนที่ดาว
บทสรุป
ในมุมของข้าพเจ้า หนังสือเล่มนี้เปรียบเหมือน หนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ประวัติดาราศาสตร์โบราณ เกร็ดการพยากรณ์บ้านเมืองด้วยโหราศาสตร์ และอีกสารพัดขึ้นกับประสบการณ์พื้นฐานของคนอ่านเป็นสำคัญ
ถ้าท่าน
อยากเป็นนักโหราศาสตร์ควรอ่านบท 4-5-7-8--10-11
อยากเป็นนักดาราศาสตร์ควรอ่านบท 6-7-13
อยากเป็นนักประวัติศาสตร์/มนุษย์ศาสตร์และวรรณคดี ควรอ่านบท 1-2-3-4-6-7
แต่ถ้าอยากเป็นคนธรรมดาแบบข้าพเจ้า
ควรอ่านทุกบท
โหราทาส
29 ธันวาคม 2562

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา