30 ธ.ค. 2019 เวลา 05:00 • ไลฟ์สไตล์
รู้จักกับ Comfort Zone พื้นที่ที่ทุกคนควรจะมี
ถ้าพูดถึง “Comfort Zone” คุณนึกถึงอะไรครับ บางคนอาจนึกถึงพื้นที่หนึ่ง ที่มีความรู้สึกปลอดภัยทางด้านร่างกาย ให้ความรู้สึกสะดวกสบาย หรืออาจจะเป็นที่ที่เราสามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาโดยไม่มีข้อจำกัด หรืออาจเป็นใครสักคนที่เราได้พูดคุยด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ หรืออาจเป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเองโดยลำพัง
ในอีกความหมาย เราจะใช้คำว่า Comfort Zone เป็นพื้นที่อ้างอิง เพื่อให้เราเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการทำงาน และการพัฒนาตัวเอง แต่ในบทความนี้จะสื่อถึงอีกความหมายหนึ่ง ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความคิด และความรู้สึกเป็นหลัก
สถานที่ที่มีไว้ให้พักใจ🏡
ถ้าจะให้นึกถึงสถานที่ที่เป็น Comfort Zone คนส่วนใหญ่ก็คงจะคิดถึงสถานที่ที่สวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย และแวดล้อมด้วยสิ่งที่ทำให้ตัวเราเองมีความสุข ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการของ "คนโด มาริเอะ" นักจัดบ้านชื่อดัง ว่าการจัดวางข้าวของในบ้านให้เข้าที่ และอยู่กับสิ่งของที่เราชอบ จะทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ยกตัวอย่างเช่น แค่โต๊ะทำงานในที่ทำงาน หรือที่บ้าน เรายังอยากจะให้เป็นมุมที่พิเศษสำหรับเราเลย
ในทุกวันนี้ เรามีหลายสิ่งหลายอย่างให้ได้คิด ได้ทำอยู่เยอะมาก แต่ถ้าจะทำให้เหลือแต่สิ่งที่มีประโยชน์ และใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ จะดีแค่ไหน ผมชอบปรัชญาของ “MUJI" แบรด์ขายสินค้าเครื่องใช้ในบ้านจากญี่ปุ่น ซึ่งมีปรัชญาการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน โดยจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผู้ใช้ใช้งานจริง ๆ ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มีความเรียบง่าย หรือเกือบจะว่างเปล่า เพื่อคอยให้ผู้ใช้งานได้เติมคุณค่าของตัวเองเข้าไป
ผมคิดว่าการจัดบ้าน หรืออยู่ในสถานที่ที่สวยงามตรงความปรารถนาของเรา อย่างน้อยมันจะช่วยให้เราได้รู้สึกผ่อนคลาย ได้พักผ่อนร่างกายและสมองจากความเหนื่อยล้า เราไม่รู้เลยว่าวันต่อไปจะเจอกับอะไร และหนักหนาสาหัสแค่ไหน แต่เราจะรู้แน่นอนว่าจะมีสถานที่แห่งนี้ สถานที่ของเราไว้ให้พักใจเสมอ
ขอบคุณภาพจาก: www.flickr.com/photos/chinnian
ใครสักคนที่เป็นที่พึ่งทางใจ💞
ถ้าจะให้นึกถึงคนที่เป็น Comfort Zone ให้กับเรา หลายคนก็อาจนึกถึงคนที่ใกล้ตัวที่สุดในครอบครัว อาจจะเป็นคนที่อยู่ด้วยแล้วไม่ต้องมีความรู้สึกเกร็งหรืออึดอัดใจ หรือเป็นคนที่สามารถรับฟังเรื่องยินดียินร้ายของเราได้เสมอ หรือเป็นคนที่คอยสนับสนุนอยู่ตลอดไม่ว่าเราจะเหนื่อยล้าจากการงานหรือการเรียนมา หรือแม้กระทั้งเป็นคนที่แค่อยู่ใกล้โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรเลยก็เพียงพอแล้ว
แต่เมื่อคนที่เป็น Comfort Zone ของเรา ไม่เหมือนเดิมอย่างที่ควรจะเป็น เค้าจะยังคงเป็น Comfort Zone ของเราอยู่หรือไม่ อย่าลืมว่ามนุษย์ต้องอาศัยร่างกาย และจิตใจในการดำเนินชีวิต ถ้าวันใดเกิดมีบางสิ่งบางอย่างไปกระทบร่างกาย และจิตใจเข้า แน่นอนว่าอุปนิสัยของคนเราจะต้องเปลี่ยนไปชั่วคราว จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการอารมณ์ของบุคคล ดังนั้นตัวเราเองก็ต้องมีความเข้าใจ มีการสื่อสารซึ่งกันและกัน และที่สำคัญต้องไม่ยัดเยียด และตัดสินว่า Comfort Zone ของเขา จะต้องเหมือน หรือเป็นแบบเรา
ขอบคุณภาพจาก: www.flickr.com/photos/jennycu
ช่วงเวลาที่ใจเราเป็นสุข🌻
Comfort Zone อาจอยู่ในรูปแบบช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ที่เวลาเราทำแล้วเรามีความสุข ดังนั้นไม่แปลกเลยว่าจะได้เห็นคนส่วนใหญ่จะมีงานอดิเรกที่ชอบทำ "ฮารูกิ มูราคามิ" นักเขียนชื่อดังของญี่ปุ่นได้ให้สัมภาษณ์ในเว็บไซด์ spiegel เกี่ยวกับการวิ่ง และงานเขียนของเขา ฮารูกิ มูราคามิ เชื่อว่าในขณะที่วิ่ง มันทำให้ได้พบกับความอิสระ ราวกับว่าทั้งร่างกาย และจิตใจได้ถูกปลดปล่อย ร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่จดจ่อกับการวิ่งที่ยาวนาน มีส่วนทำให้สมองมีเวลาขุดชุดความคิดไปถึงด้านลึก และตกผลึกกลับมาเป็นตัวหนังสือผ่านงานเขียนของ ฮารูกิ มูราคามิ
ขอบคุณภาพจาก: หนังสือ WHAT I TALK ABOUT WHEN I TALK ABOUT RUNNING
Comfort Zone กับการวิ่ง
การวิ่งก็มี Comfort Zone เช่นเดียวกัน โดยจะแบ่ง Zone ตามอัตราการเต้นของหัวใจ โดยส่วนมากจะแบ่งออกเป็น Zone ดังนี้
ขอบคุณภาพจาก: https://heartzones.com
ช่วง Comfort Zone ของการฝึกวิ่งจะอยู่ในช่วงไม่เกิน Zone 2 หรือ Temperate Zone ซึ่งจะเป็นการวิ่งเบา ๆ ช้า ๆ จะมีความรู้สึกที่สบาย ไม่เหนื่อยจนเกินไป ซึ่งเป็นผลดีต่อหัวใจ และระบบในร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ แต่นักกีฬาส่วนมากก็ยังจำเป็นต้องฝึกซ้อมที่ Temperate Zone เพราะว่าการวิ่ง Zone นี้ ร่างกายจะใช้ไขมันมาเป็นพลังงานในเผาผลาญ ซึ่งหมายความว่าจะทำให้สามารถวิ่งได้นาน และทนมากขึ้น
ความเร็วของการวิ่งแต่ละคนก็จะมีความเร็วไม่เท่ากัน เช่นเมื่อเราไปวิ่งด้วยความเร็ว ใน Comfort Zone ของนักกีฬามืออาชีพ แน่นอนความเร็วมันอาจจะไม่ใช่ Comfort Zone ของเรา เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะมีความเร็วของ Comfort Zone ไม่เท่ากัน ซึ่งส่วนใหญ่นักกีฬาจะใช้เวลาซ้อมใน Zone นี้ในการวิ่งยาว หรือแม้กระทั้งใช้ในการพักฟื้นร่างกาย จากการผ่านการแข่งขันหรือการฝึกซ้อมที่หนักเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟู
สุดท้ายนี้ผมคิดว่า การวิ่งก็มีส่วนคล้ายกับชีวิตของเราเช่นเดียวกัน Comfort Zone ของเราทุกคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน และการใช้ชีวิต บางช่วงก็ต้องมีเร่ง บางช่วงก็ต้องมีผ่อน เพื่อให้ได้คิดทบทวนเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาว่ามีสิ่งใดที่ทำได้ดี และมีสิ่งไหนที่ต้องแก้ไข ในเมื่อเส้นทางชีวิตมันไม่ง่าย และยังอีกยาวไกล พื้นที่ที่ไว้สำหรับพักใจจึงจำเป็นต้องมี🙂
อ้างอิง
- ทำอย่างไรเมื่อบ้านไม่ใช่คอมฟอร์ตโซนของกันและกัน | R U OK EP.117
หนังสือ "The life-changing magic of tidying up" by Marie Kondo
เทศกาลปีใหม่นี้ ทุกคนกลับไปหา Comfort Zone ที่ไหนกันบ้าง สวัสดีปีใหม่นะครับ🥳
โฆษณา