30 ธ.ค. 2019 เวลา 02:42 • ประวัติศาสตร์
** กองทัพญี่ปุ่นกับเพศทางเลือก**
ญี่ปุ่นเป็นชาติที่อยู่และคุ้นเคยกับสถานการณ์สงครามมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ดังนั้นภาครัฐจึงสนับสนุนโครงการมีบุตรเพื่อชาติให้ทดแทนกับชีวิตที่สูญเสียไปในการรบ ภาครัฐพยายามมากถึงกระทั่งห้ามขายยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย (มีแจกเฉพาะในกองทัพ) พวกเขาสนับสนุนเพศวิถีแบบรักต่างเพศ (Heterosexuality) มากถึงมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้มองกลุ่มรักเพศเดียวกัน (Homosexuality) ว่าจะต้องสูญสิ้นไปจากสังคมเหมือนฟากฝั่งนาซีเยอรมัน กลับกัน การออกพรบ.เกณฑ์ทหารช่วงสงครามของญี่ปุ่นยิ่งจะทำให้ความรักระหว่างเพศเดียวกันมีมากยิ่งขึ้นไปอีกเพราะต้องเข้าไปอยู่ในสังคมค่ายทหารที่เพียงเพศชายด้วยกัน บรรทัดฐานที่มองความรักแบบเพศเดียวกันว่าเป็นสิ่งผิดนั้นเพิ่งจะเข้ามาในญี่ปุ่นช่วงปฏิรูปเมจิพร้อมกับแพทย์เยอรมัน จึงนับว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมการเลี้ยง นันโชคุ หรือข้ารับใช้คนสนิทชายไว้ร่วมหลับนอนระหว่างทำศึกของชนชั้นสูงญี่ปุ่นที่มีมายาวนานหลายร้อยปี สื่อภาพยนตร์ที่ฉายเองก็นำเสนอในแง่ความเสียสละและรักกันกระทั่งยอมตายแทนกันได้ในสนามรบระหว่างเพื่อนทหาร หลังสงครามโลกมีหลายประสบการณ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ลงในนิตยสารสำหรับเพศทางเลือก ซึ่งมีทั้งเรื่องราวระหว่างนายทหารกับชายในประเทศอาณานิคม เรื่องราวระหว่างนายทหารกับทหารรับใช้ ซึ่งแบบหลังนี้เป็นที่ทราบกันในค่ายทหารอยู่แล้วว่านายทหารมักเลือกทหารรับใช้จากทหารที่มีหน้าตาสะสวยกว่าบุรุษเพศทั่วไป แน่นอนว่าไม่ใช่ทหารรับใช้ทุกนายที่จะพอใจกับหน้าที่นี้เสมอไป เพราะบางรายถึงขนาดถูกนายทหารมองเป็นของเล่นทางเพศและถูกถ่ายภาพเก็บไว้เพื่อสนองตัณหาของตนอีกด้วย แต่พวกเขาก็ต้องยอมทำตามเพราะวัฒนธรรมทหารที่เข้มข้นและแนวคิดที่ปลูกฝังให้มองว่าคำสั่งของนายทหารถือเป็นที่สิ้นสุด
McLelland M. Queer Japan from the Pacific war to the internet age. Lanham: Rowman & Littlefield; 2005.
โฆษณา