1 ม.ค. 2020 เวลา 12:52 • การศึกษา
"ถ้าลูกไปทำคนอื่นได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต พ่อแม่จะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่?"
มีพ่อแม่หลายคนที่กำลังมีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นได้มาถามผมพร้อมความกังวลว่า ถ้าลูกของตนได้ไปทำละเมิด เช่น ขับรถชน หรือไปชกต่อยทำร้ายร่างกายคนอื่นจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต...
พวกเขาจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วยหรือไม่?
ซึ่งคำตอบของเรื่องนี้ผมขอแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นครับ
1 คดีอาญา
สำหรับคดีอาญานั้นความรับผิดเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งหมายความว่าแม้ลูกจะทำความผิดมาขนาดไหน คนที่จะต้องรับโทษก็คือลูกนั่นเอง พ่อแม่ไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบด้วย
และถ้าหากลูกได้เสียชีวิตจากการทำละเมิดนั้นด้วย เช่น ขับรถชนคนอื่นและรถตัวเองก็พลิกคว่ำจนเสียชีวิต กรณีนี้ถือว่าคดีอาญาได้ระงับลงไปแล้วเพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยเสียชีวิตลง
2 คดีแพ่ง
คดีแพ่งคือการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกทำละเมิด ซึ่งแน่นอนว่าคนทำละเมิดจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ถูกทำละเมิดเสมอ
แล้วพ่อแม่จะต้องเข้ามารับผิดชอบเรื่องค่าเสียหายในกรณีใดบ้าง เรามาดูคำตอบกันครับ
(1) กรณีลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ตามกฎหมายเราจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ หากในขณะเกิดเหตุลูกยังอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์หรือที่เรียกกันว่า "ผู้เยาว์"
กฎหมายบอกว่าพ่อแม่จะต้องร่วมรับผิดชอบเรื่องค่าเสียหายด้วยนั้นด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว
(2) กรณีลูกบรรลุนิติภาวะแล้ว
พ่อแม่ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบเรื่องค่าเสียหาย เว้นแต่ในกรณีที่ลูกถึงแก่ความตายพ่อแม่จะต้องรับผิดชอบไม่เกินทรัพย์มรดกของลูก (ถ้ามี) ที่ตกทอดถึงตนครับ
การเลี้ยงดูเด็กซักคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและเก่งได้นั้น คนที่เป็นพ่อแม่จะต้องทุ่มเททั้งเวลา กำลังทรัพย์ และความเอาใจใส่อย่างมากมาย
ดังสุภาษิตที่ว่า "รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี...
แต่สมัยนี้จะให้ดีต้องรู้จักวิธีและคุยด้วยเหตุผลให้เป็น" ครับ
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา