1 ม.ค. 2020 เวลา 06:08 • ไลฟ์สไตล์
ที่มาของชื่อโรคกระดูกพรุน เกิดจากกระดูกที่ผุ พรุน จากการเสื่อมสลาย ทำให้มวลกระดูกและความหนาแน่นของกระดูกลดลง กระดูกบางลง จนเกิดการแตกหักได้ง่ายกว่าปกติ มีอัตราการเสียชีวิตจากกระดูกสะโพกหักเพราะกระดูกพรุนสูง เป็นเรื่องที่น่าเศร้าในผู้หญิง เพราะผู้หญิงมีอัตราเกิดโรคสูงกว่าในผู้ชาย
การสร้างกระดูก ในวัยเด็กจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการสลายกระดูก มีการสะสมมวลกระดูกได้สูงสุดจนถึง 30 ปี หลังจากนั้นจะกลับกัน ถึงเวลาของความเสื่อมสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะเกิดการสลายอย่างรวดเร็ว มากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่าเลยทีเดียว ทำให้พบโรคนี้มากในผู้หญิง
ใครล่ะที่เสี่ยงบ้าง
1. มีอายุมากกว่า 60-65 ปี และรุนแรงขึ้นมากเมื่ออายุเกิน 80 ปี
2. สตรีวัยหมดประจำเดือน วัยทอง หรือคนที่ผ่าตัดรังไข่ทั้ง 2 ข้าง ที่ทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงและชายลดลงโดยผู้หญิงวัยทองมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายวัยทอง 4 เท่า
3. มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคกระดูกพรุน กระดูกหัก แตก
4. รูปร่างผอมบาง น้ำหนักตัวน้อย
5. ขาดสารอาหารแคลเซียมและวิตามินดี
6. ไม่ออกไปรับแสงแดด ทำงานในห้องแอร์
7. ไม่ออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายนานๆ
8. สูบบุหรี่ ดื่มสุรา กาแฟ ชา น้ำอัดลมเป็นประจำ
9. ผู้ป่วยที่มีปัญหาที่ลำไส้ดูดซึมสารอาหารไม่ได้ และไต
10. ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ ยารักษาเบาหวาน ต่อมไธรอยด์ เป็นต้น
การป้องกัน หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจาก 10 ข้อด้านบนโดยเฉพาะข้อ 4 – 10 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะแคลเซียม 800-1200 มิลลิกรัม ได้จากนม ไข่ ปลาเล็กปลาน้อย ถั่ว ผักใบเขียว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตากแดดบ้างเพื่อสังเคราะห์วิตามินดี และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพทั้งกระดูก และร่างกายทั่วไป เพราะอวัยวะหลายส่วนเกี่ยวข้องกับกระดูกด้วย
โฆษณา