2 ม.ค. 2020 เวลา 07:38 • กีฬา
สำรวจความคิดในวัย 48 ปี ต๋อง ศิษย์ฉ่อย “เอาผมไปยิงให้ตาย ผมก็รักสนุกเกอร์”
“ถ้าหัวใจคนเรามีสี่ห้อง หัวใจผมแตกสลายเหลือครึ่งห้อง ตั้งแต่วันที่พ่อผมถูกยิงแล้ว แต่ผมก็ยังสู้อยู่ สู้ทั้งที่รู้ว่าตัวเองสู้เขาไม่ได้” หนึ่งในแง่มุมความคิดที่น่าสนใจของอดีตนักสนุ๊กฯ มือ 3 ของโลกชาวไทย ที่ปัจจุบันยังคงโลดแล่นอยู่ผืนสักหลาดในวัย 48 ปี
บ่ายวันจันทร์ที่ท้องฟ้าถูกบดบังด้วยเมฆดำ และมีฝนตกลงมาปรอยๆ เราเดินทางมายังโต๊ะสนุกเกอร์ ทีบีซี รามคำแหง เพื่อนัดพบกับ ผู้ชายที่ครั้งหนึ่ง เคยทำให้คนไทยทั้งประเทศ ต้องตั้งนาฬิกาปลุกกลางดึก ตื่นมาดูเขาลงแข่งขันสนุกเกอร์ระดับโลก
“คุณเชิญนั่งลงก่อนสิ เราคุยกันสบายๆนะ ไม่ต้องตื่นเต้น เอาเป็นว่าคุณสามารถถามทุกเรื่อง ในทุกช่วงชีวิตของผมได้เลยนะ ผมยินดีตอบ” อดีตนักสอยคิวมือ 3 ของโลก เปิดประโยคแรกอย่างเป็นมิตร เพื่อลดความประหม่าของคู่สนทนาคราวลูก ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
ตลอดการสัมภาษณ์ เราสังเกต เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้นกับ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” หากเทียบกับภาพจำที่เคยเห็นในทีวี เมื่อหลายสิบปีก่อน
จากเด็กหนุ่ม ไว้ผมแสกกลางและรากไทร กลายมาเป็น ชายวัย 48 ปี ที่แม้ว่า ใบหน้าจะไม่ได้มีริ้วรอยมากนัก แต่เส้นผมหงอกขาวที่แซมขึ้นบนศีรษะ ก็เป็นหลักฐานทีบ่งบอกได้ดีถึง อายุที่มากขึ้นตามวัย บวกกับคำพูดที่ฉะฉาน ตรงไปตรงมา และดูเป็นคนเปิดเผย ที่แตกต่างภาพจำของ นักสนุกฯท่าทางขี้อาย พูดน้อย
รวมถึง อัธยาศัยที่ดี ต่อ ผู้คนที่ผ่านไปมา บนโต๊ะสัมภาษณ์ บริเวณหน้าห้องสนุกเกอร์ชั้น 4 ยิ่งทำให้รู้สึกว่า อดีตนักกีฬาระดับโลกคนนี้ ดูมีอะไรที่น่าค้นหาและน่าสนใจ มากกว่าจะให้ เขามาพูดให้ถึง ความสำเร็จในอดีตเพียงอย่างเดียว ที่เคยอ่านพบเจอมาบ่อยครั้ง
นี่จึงเป็นบทสัมภาษณ์ ที่ไม่มีสคริปท์คำถามแทรกกลาง คำบรรยายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้สื่อสารโดยตรงกับ “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” รัชพล ภู่โอบอ้อม นักสนุกเกอร์อาชีพวัย 48 ปี ที่จะมาเปิดเผยหลากหลายเรื่องราวในทุกๆ ช่วงเวลาของชีวิต ผ่านมุมความคิด และตัวตนที่เขาเป็น แบบที่ไม่มีการแต่งเติม
จากเงิน 3,000 บาท
“ครั้งแรกที่ผมจับไม้คิว ผมจับด้วยความรู้สึกที่แปลกมากกว่า ตอนเด็กๆ ผมเล่นกีฬา Outdoor มาก่อน แบดมินตัน, บาสเกตบอล, ฟุตบอล ฯ เพราะผมชอบออกไปวิ่งเล่นให้ตัวเองเหงื่อออก”
“สนุกเกอร์น่าจะเป็นกีฬาชนิดสุดท้ายที่ผมฝึกหัดเล่น เพราะคุณแม่ทำกิจการเปิดโต๊ะสนุ๊กฯ มาตั้งแต่ผมยังไม่เกิดเลย ชีวิตผมก็เป็นเด็กที่เติบโตและกินนอน มากับบรรยากาศภายในโต๊ะสนุ๊กฯ”
“ถ้าแม่ไม่ได้เป็นเจ้าของโต๊ะ ผมก็คงไม่มีทางได้เล่นกีฬานี้แน่ ประกอบกับการที่ผมไม่ได้มีสรีระใหญ่โตสักเท่าไหร่นักในวัยเด็ก สนุกเกอร์จึงเป็นกีฬาที่น่าสนใจ ตรงที่มันเป็นการต่อสู้กัน โดยที่ไม่ได้ใช้ร่างกาย ในการเข้าปะทะ ไม่ต้องโดนตัวกัน ไม่จำเป็นต้องออกแรงเยอะ แต่เป็นศิลปะการต่อสู้ โดยใช้ ฝีมือ และ มันสมอง”
“ความสนุกอีกอย่างของกีฬานี้ คือ การได้เจอกับคู่ต่อสู้ที่มีความหลากหลายทางความคิด เราไม่รู้ว่า เขาคิดอะไรอยู่ เล่นสไตล์ไหน บางคนก็เล่นดุดันแบบ รอนนี่ โอซุลลิแวน บางคนก็เล่น Blame Game แบบ มาร์ค เซลบี เกมน่าเบื่อแต่หวังผลได้ นี่แหละครับคือเสน่ห์ ที่เราจะเจอกับคู่แข่งไม่ซ้ำรูปแบบกันเลย”
“ผมมาจริงจังกับสนุ๊กเกอร์ ตอนอายุ 13 ที่ย้ายมาเรียนต่อที่ เซนต์จอห์นฯ แต่เรียนไปได้แค่เทอมเดียว ผมก็ออกมาเดินสายเป็นเวลา 3 เดือน โดยรวบรวมเงินกับเพื่อน 5-6 คน รวมถึงตัวผมด้วยนะ จนได้มาก้อนหนึ่งประมาณ 3,000 บาท สมัยเมื่อ 30 ปีก่อน เพื่อเป็นทุนให้ผมได้ไปแข่งเดินสายกับผู้ใหญ่”
“แต่ประทานโทษ ให้ตายโหงตายห่าเลยก็ได้ ตอนนั้นผมไม่มีความคิดอยากหาเงินจากสนุกเกอร์ หรือมาเป็น นักสนุกเกอร์อาชีพเลย ผมเล่นกีฬานี้ เพราะความรักและสนุกไปกับมัน อีกอย่างที่บ้านมีโต๊ะ ผมก็สามารถเล่นได้ตลอดทั้งวัน”
“สมัยนั้นวิธีเดียวที่จะรู้ว่าเก่งหรือไม่เก่ง ก็คือต้องมาเจอกัน เมื่อก่อนบ้านเรายังไม่ได้มี เทคโนโลยีแบบทุกวันนี้ ที่มือถือมีกล้องถ่ายคลิปได้ เขาจะรู้ได้ไงว่า ผมเล่นเป็นอย่างไร แต่ถ้าจู่ๆ ผมจะไปขอท้าเขาเล่นอย่างเดียว ไม่มีวางเดิมพัน ผู้ใหญ่เขาก็คงไม่ให้เล่นหรอก ก็ต้องมีติดนวมด้วย”
“ผมมีหน้าที่หลักๆ คือเป็นคนแทง ส่วนเพื่อนจะเป็นคนคอยจับชน คนที่จะมาเดิมพันด้วย จากเงิน 3,000 บาท ภายในระยะเวลา 3 เดือน ผมสามารถหาเงินมาได้ถึง 600,000 บาท ทุกอย่างมันเกินความคาดหมายไปมาก เพราะตอนแรกก็ไม่คิดว่าตัวเองจะหาเงินได้มากขนาดนั้น ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก”
“แล้วผมไปเล่น ประทานโทษ ไม่ใช่ว่าผมไปจับคนที่มือใกล้ๆกัน หรือเขาต่อแต้มให้นะ ด้วยความเป็นเด็ก ผมก็ต้องไปเล่นกับมือ 1 ของโต๊ะ เพราะเรากลัวมีปัญหาคนอื่น เลยคิดว่า คนที่เก่งสุดก็น่าจะเป็นที่ยอมรับของโต๊ะ แต่จังหวะเราดันไปชนะมือ 1 อาจจะดวงด้วยมั้ง ที่เดินสายประมาณ 20 ครั้ง ผมชนะ 19 ครั้ง”
“ตอนนั้นคนที่เล่นสนุ๊กฯ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนมีอายุ ทั้ง เซียนตา, เซียนตึ๊ก, เซียนโก๊ะ, เซียนเง็ก, เซียนจั๊วะ, น้าเก๊า ฯ ผมรู้สึกว่าตัวเองโชคดี ที่ได้มาคลุกคลี และฝึกเขี้ยวเล็บกับพวกรุ่นใหญ่ ที่ผ่านประสบการณ์มาเยอะ ตั้งแต่เด็ก นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่ผมได้รับมาจาก วงการสนุ๊กฯบ้านเรา เมื่อ 30 กว่าปีก่อน แต่มันก็มีสิ่งที่ไม่ดี ตรงที่มันต้องมีการติดพนันเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย””
“ตั้งแต่วันนั้นที่ผมออกจากโรงเรียนมาเดินสายแทงสนุ๊ก ด้วยเงิน 3,000 บาท ผมก็ไม่ได้กลับไปเรียนที่ เซนต์จอห์นฯ อีกเลย เพราะพอชนะไปเรื่อยๆ เสียงร่ำลือก็เริ่มเข้าไปถึงหูคุณอาศักดา รัตนสุบรรณ ท่านก็จับผมไปลงแข่งขันพวกรายการดาวรุ่งบ้าง แชมป์ 12 เซียนบ้าง ซึ่งผมได้แชมป์ตั้งแต่ครั้งแรกที่ลงแข่งสนุ๊กเกอร์ดาวรุ่งเลย”
“สมัยก่อนโต๊ะสนุ๊กเกอร์ในเมืองไทย ไม่ได้มีเยอะนะคุณ โชคดีอีกที่โต๊ะบ้านผม มีคนเก่งๆมาเล่นเยอะ ผมก็ได้เห็นฝีไม้ลายมือแต่ละคน ได้เก็บข้อมูลการเล่นของบรรดาเซียนต่างๆ ภาพลักษณ์ยุคก่อนกับปัจจุบัน คนละเรื่องเลย”
“อย่าง ห้องแข่งขันสนุ๊กเกอร์เมื่อก่อนไม่ได้ติดแอร์แบบทุกวันนี้นะ สมัยที่ผมเข้าไปแข่งใน ราชตฤณมัยสโมสร ก่อนจะเข้าไป ต้องให้แม่ผมมาเซ็นรับรองให้นะครับ เพราะว่าอายุยังไม่ถึง 18 ปี ผมยังคิดถึงบรรยากาศเก่าๆอยู่ น่าเสียดายไม่มีรูปถ่ายเก็บไว้สักใบ”
“พูดตามภาษาชาวบ้าน ถ้าวันนั้นเงิน 3,000 บาทของผมถูกแดก (แพ้เดิมพัน) ผมก็คงกลับมาตั้งใจเรียน และไม่มี ต๋อง ศิษย์ฉ่อย แบบทุกวันนี้ เพราะคิดว่าตัวเองคงไปไม่รอดแน่ๆ ในการเล่นสนุกเกอร์”
“แต่นี่กำลังเข้าปีที่ 35 แล้วนะที่ผมอยู่กับ สนุกเกอร์ฯ โดยเริ่มต้นจากเงิน 3,000 บาท จนมาถึงตรงนี้ คุณว่าชีวิตผมมันเหลือเชื่อไหมล่ะ?”
ตั๋วเที่ยวเดียว
“อย่าถามว่า ตอนเด็กผมเคยฝันว่า ตัวเองจะได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษไหม เอาเป็นว่า ผมยังไม่รู้เลยว่าอังกฤษอยู่ตรงไหนของแผนที่โลก”
“ไม่รู้แม้กระทั่งว่า อังกฤษ อยู่ไกลจากประเทศไทย มากแค่ไหน คุณรู้ไหม ถึงแม้ว่าผมจะคุ้นชินกับเส้นทางนี้มาตลอด 30 กว่าปี ตั้งแต่วันแรกที่ออกเดินทาง จนถึงทุกวันนี้ที่ผมยังต้องบิน-เข้าออกประเทศอังกฤษ ปีละ 6-7 ครั้ง แต่ผมยังไม่เคยรู้สึกว่า อังกฤษมันใกล้ขึ้น แม่งยังไกลเท่าเดิม (เน้นเสียง)”
“ผมได้ไปอังกฤษ เพราะว่าคุณ มอริส เคอร์ อดีตนายกสมาคมฯ ก่อนหน้าคุณสินธุ พูนศิริวงศ์ ท่านสองคนสนิทกัน และเห็นแววในตัวผม จึงต้องการให้ผมได้เติบโตและฝึกสนุ๊กที่นั่น ท่านก็เลยไปขออนุญาตแม่ผม ซึ่งแม่ก็ให้สิทธิ์ผมในการตัดสินใจว่า อยากไปอยู่ที่อังกฤษไหม? ผมก็ตอบตกลง เพราะด้วยความที่ยังเป็นเด็ก เรายังไม่รู้เลยว่า อังกฤษเขาไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา ไม่รู้หรอกว่าจะต้องเจออะไรบ้าง”
“ผมไปถึงอังกฤษ ทั้งที่ตัวเองก็พูดภาษาไม่ได้เลยสักคำ ทุกอย่างที่คิดไว้มันตรงกันข้ามหมด เคยอยู่แต่เมืองร้อน ต้องไปเจอสภาพอากาศที่หนาวเย็น อาหารการกิน ความเป็นอยู่ คนรอบข้าง ที่ไม่เหมือนกับเมืองไทยสักอย่าง แล้วผมไม่ได้ไปอยู่แค่ 2-3 อาทิตย์ ผมอยู่แบบ Long-term ผมว่าผมใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษมากกว่าอยู่ไทยอีก”
“ผมเริ่มต้นทุกอย่างจาก 0 สมัยนั้นที่อังกฤษ สนุ๊กเกอร์ ได้รับความนิยมมาก มีรายการสมัครเล่น ให้ผมได้สมัครลงแข่งขันทุกสัปดาห์ เชื่อไหมว่ารายการหนึ่ง มีคนมาสมัครแข่ง 800-900 คน แข่งแบบน็อกเอาท์แพ้คัดออก วันเดียวจบ แข่งตั้งแต่ 10 โมงเช้า จนถึงตี 4 ของอีกวัน คิดดูแล้วกัน ว่ามีคนเล่นสนุ๊กฯ ที่อังกฤษเยอะขนาดไหน”
“การแข่งขันแบบสมัครเล่นที่อังกฤษ บางแมตช์ไม่มีแม้กระทั่งกรรมการคอยวางลูกให้ ผมก็ต้องตั้งลูกสนุกเกอร์เอง ด้วยความที่ภาษาผมยังไม่ดี บางครั้งก็ไม่รู้จะสื่อสารกับฝรั่งยังไง วิธีการแก้ปัญหาที่ดีสุดของผ,ก็คือ พยายามตบลูกสนุ๊กฯ ลงให้ได้มากที่สุด เพื่อที่ตัวเองจะได้ไม่ต้องพูดภาษาอังกฤษ แล้วผมก็ตบได้เยอะจริงๆ ในตอนนั้น”
“ช่วงสองปีแรก ที่ผมไป ก็ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะผมลงแข่งเท่าที่ผมอยากจะแข่งเท่านั้น จนเข้าปีที่สาม ผมได้มาเจอกับคุณทอม มอร์เรน (อดีตผู้จัดการ) ท่านส่งผมไปเรียนภาษา 1 ปีเต็มๆ ตอนแรกผมก็ไม่พอใจนะว่าทำไมเขาต้องส่งไปเรียน แต่พอมองย้อนกลับไป ก็ถือว่า คุณทอมคิดถูก เพราะทำให้ผมสามารถสื่อสาร พูดคุยกับฝรั่งได้รู้เรื่องสักที หลังจากนั้น ผมก็ได้เล่นสนุกเกอร์อย่างเดียวเต็มๆ ไม่ต้องมากังวลเรื่องอื่นๆ”
“แต่คุณรู้ไหม สมัยก่อนฝรั่งเขาไม่ได้ยอมรับเราหรอกนะ เขาดูถูกเราจะตาย ที่นั่น มีแต่ฝรั่งหัวแดง หัวทอง เราเป็นเอเชียหัวดำ ในตอนแรกเขาไม่ได้รู้จักฝีมือเรา เขาก็ไม่ได้ต้อนรับ ผมเหมือนอย่างทุกวันนี้นะ พวกรายละเอียดภายในสนามจากผู้ชม ถ้าจิตใจคุณไม่แกร่งพอ คุณอยู่ไม่ได้หรอก”
“ผมไม่ได้บอกว่า ตัวเอง เป็นคนที่มีจิตใจแข็งแกร่งหรอกนะ ผมใจร้อนจะตายตอนวัยรุ่น แต่สิ่งเดียวที่ผมมีตอนนั้นคือ จิตวิญญาณของความเป็นนักสู้ ผมอ่อนแอไม่ได้ ต้องสู้กับทุกเรื่องที่เจอมา ให้สมกับที่ครอบครัวเรา และผู้ใหญ่ที่ส่งเรา คาดหวังไว้ ตั้งแต่วันที่ยังไม่รู้ว่า ผมจะประสบความสำเร็จหรือมีชื่อเสียงไหม”
“ผมลงเล่นระดับสมัครเล่นที่โน่นครั้งแรก ตอนอายุ 14 ผมก็ถามคู่แข่งที่อายุไล่เลี่ยกันว่า คุณเคย Century Break (การทำแต้มเกิน 100 คะแนน) มาแล้วกี่ครั้ง เขาตอบผมว่า 700 กว่าครั้ง ผมตกใจมาก “เฮ้ย! มึงอายุเท่ากู แต่ทำไปแล้ว 700 กว่าครั้ง แต่กูเคยทำได้แค่ครั้งเดียวเองนะ”
“หลังจากวันนั้น ผมกลับมาซ้อมแทงอย่างเดียววันละ 12 ชั่วโมง เพราะไม่เชื่อว่ามันจะทำได้จริง ผมก็ฝึกซ้อมไม่หยุด จนผมทำได้เป็น 1,000 ครั้ง รวมไปถึง Maximum Break (การเบรกสูงสุด 147 คะแนน) ผมก็ทำมาได้ 300 กว่าครั้ง เฉพาะตอนซ้อมนะ”
“มันทำให้ผมได้เรียนรู้ว่า คนเก่ง มีพรสวรรค์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีพรแสวงด้วย ถ้ามีแต่พรสวรรค์ แต่ปราศจากความพยายาม ความฝัน ฝีมือคุณก็ได้แค่นั้นแหละ”
“ผมเชื่อมั่นในการทำงานหนักมาโดยตลอดทั้งชีวิต การจะไปประสบความสำเร็จได้นั้น คุณต้องมีความฝัน ความอดทน ความมีระเบียบวินัย และความหิวกระหายอยากได้โน่น อยากได้นี่ แล้วคุณจะรู้ด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติเลยว่า ถ้าอยากจะไปถึงเป้าหมาย คุณต้องทำอะไรบ้าง”
“อาการโฮมซิกเป็นเรื่องปกติมากที่ทุกคนจะเจอ แต่ผมไม่ค่อยมีอาการมากสักเท่าไหร่ เพราะผมสามารถอยู่คนเดียวได้ เจอเพื่อนผมก็คิดถึงนะ อาหารไทยผมก็อยากกิน แต่ผมรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ สุดท้าย ผมปรับตัวให้อยู่ได้ทุกๆสถานการณ์ ไม่งั้นผมยืนระยะอยู่ถึงทุกวันนี้ไม่ได้หรอก”
“แต่เหงาไหม มันก็เหงา เพราะผมอยู่แบบ Home Alone คืออยู่คนเดียวมาตลอด 15 ปี…รู้ไหมสิ่งที่น่าเบื่อสุดของการอยู่อังกฤษ คือ เวลาที่ผมแพ้แล้วไม่สามารถกลับบ้านได้”
“หมายความว่า คุณจะต้องอยู่ที่อังกฤษ เพื่อลงแข่งขันต่อเนื่อง ช่วงที่ติดท็อป 16 ของโลกผมอยู่อังกฤษแบบยิงยาวเลยนะ 9-10 เดือน ผมทำรายได้จากสนุ๊กฯ จนมีเงินซื้อบ้านอยู่ที่อังกฤษ 1 หลัง แต่เชื่อผมเถอะ ไม่มีบ้านหลังไหนอบอุ่นเท่าประเทศไทยแล้ว”
“ถ้าผมรู้ว่าหลังจากนั้น จะมีนักสนุ๊กฯ จากเอเชีย อย่าง ดิง จิง ฮุย กับ มาร์โก ฟู เข้ามาแข่งขันระดับโลกนะเหรอ? ผมคงซื้อไว้สักสองหลัง แล้วปล่อยให้เขาเช่า ปลูกติดๆกันแหละ จะได้มีเพื่อนคุย (หัวเราะ)”
ไทยทอร์นาโด
“เดี๋ยวผมจะเล่าเรื่องการเทิร์นโปรของผมให้ฟังนะ…” เจ้าของฉายา ไทยทอร์นาโด หยุดพักครู่หนึ่งก่อนหยิบกาแฟขึ้นมาดื่ม และเล่าเรื่องราวของตัวเองต่อว่า
“ตอนผมอายุ 17 ปี ผมยังเป็นมือสมัครเล่นอยู่ ก็ได้มาเจอกับคุณทอม มอร์เรน และตกลงเซ็นสัญญากัน 4 ปี ภายใต้เงื่อนไขว่า ผมต้องเทิร์นโปรให้ได้ก่อนหมดสัญญา แต่แค่ปีแรกของสัญญา ผมดันไปได้แชมป์เอเชีย ได้แชมป์โลกสมัครเล่นที่ประเทศออสเตรเลีย ในปี 1988 รวมถึงทะลุเข้าไปรอบ 4 คนสุดท้าย อิงลิช โอเพ่น และได้สิทธิ์ในการเทิร์นโปร จาก 800 กว่าคน เรียกว่าในปีเดียว ผมวินทุกอย่างเลย”
“ผมจึงได้เทิร์นโปรตั้งแต่อายุแค่ 19 ปี ในปี 1989 คุณทอม มอร์เรน เขาก็งงว่าแค่ปีเดียว ทำไมผมก้าวกระโดดขนาดนี้ เฉพาะเงินรางวัลอย่างเดียว ผมทำไปได้ 40,000 ปอนด์ ก็ต้องมาเซ็นสัญญาใหม่ เป็นสัญญาแบบนักสนุ๊กฯอาชีพ เริ่มจากอันดับ 128 แกก็คงพูดเล่นๆว่านะฉันให้เวลา 4 ปี ต้องติดท็อป 16 ของโลกให้ได้นะ”
“รายการแรก ผมชนะคู่แข่งไปได้ 13 คน ก่อนเข้าไปแพ้ สตีเฟน เฮนดรี ในรอบชิงฯ รายการที่สอง ผมชนะอีก 12 คน เข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ ภายในปีเดียว ผมกระโดดจากอันดับ 128 มาอยู่อันดับ 32 ของโลก พอปีที่ 2 ขยับขึ้นมาอันดับ 20, ปีที่ 3 อยู่อันดับ 5 ของโลก, ปีที่ 4 ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ของโลก, คุณทอมก็งงไปใหญ่ จากตั้งเป้าผมไว้แค่ท็อป 16 ผมดันทำได้ถึงอันดับ 3 ของโลก ไม่ใช่แค่คุณทอมงง กูก็งงตัวเองเหมือนกัน”
“คุณทอมเลยต้องเปลี่ยนมาเซ็นสัญญากันแบบ 2 ปีต่อหนึ่งครั้ง คุณทอม เป็นผู้จัดการที่ดีมากๆ เมื่อก่อนแกจะหัก 20 เปอร์เซนต์จากเงินที่ผมหามาได้ในการเล่น คอยเป็นคนดูแลนอกสนาม หาสปอนเซอร์ให้ ผมมีหน้าที่อย่างเดียวคือแทงให้ดี”
1
“พอผมเทิร์นโปรสำเร็จ ได้ขยับอันดับสูงขึ้น แทนที่คุณทอมจะหักเปอร์เซนต์ผมมากขึ้น แกมีแต่จะยิ่งกินเปอร์เซนต์ผมน้อยลง เหลือ 10 เปอร์เซนต์ เหลือ 5 เปอร์เซนต์ จนแทบไม่อยากเอาเงินจากผมเลย เพราะเขาต้องการให้ผมพัฒนาขึ้น และให้ผมมีเงินเก็บ เขาเป็นคนที่ไนซ์มาก”
“ถ้าผมไม่มีคุณทอมคอยหาสปอนเซอร์ให้ ผมคงไม่สามารถอยู่อังกฤษได้นานขนาดนั้น ผมไป เดอะมอลล์ บางกะปิ ดีกว่า (หัวเราะ) ช่วงที่อยู่อังกฤษ ผมไม่รู้หรอกว่าตัวเองดังขนาดไหนในไทย ผมโฟกัสกับแค่ตอนแข่งเท่านั้น พูดตรงๆ ผมไม่เคยมาอ่านข่าวตัวเองย้อนหลังเลย”
“เรื่องสไตล์ ผมไม่เคยตั้งเป้าว่าตัวเองจะต้องแทงสนุ๊กให้เร็วนะ ผมว่าสไตล์การเล่น มันมาจากสะท้อนตัวตนของนักกีฬานั่นแหละว่า คุณเป็นคนอย่างไร มีความคิดความอ่านแบบไหน อย่างผมกับ รอนนี่ (โอซุลลิแวน) เรามีที่นิสัยคล้ายกัน คือเป็นคนเปิดเผย สไตล์ก็ออกมาจากตัวตนของคุณ คือ แทง กล้าได้ กล้าเสีย วัดกันไปเลย ไม่ต้องมากั๊ก มากัน”
“หรืออย่าง มาร์ค เซลบี ถ้าเขาอมสเปโต (ไพ่โพธิ์ดำ) คุณไม่มีทางได้ สเปโตเขาหรอก เพราะเขาแข็งแกร่งมากตามสไตล์ของเขาแล้ว ถามว่าตอนนี้ มาร์ก เซลบี เป็นมือ 1 ของโลกเข้าปีที่ 7 แล้ว แต่คนส่วนมากชอบสไตล์เขาไหม โน เพราะเขาแทงช้า แต่เขาได้ผลงาน ผมเข้าใจเขานะ และเขาก็ไม่ได้ผิดนะที่เป็นแบบนี้ ผมก็เพิ่งรู้เหมือนกันตอนที่ไปแข่งระดับโลก ว่า อ่อ ฝรั่งเขาชอบคนแทงเร็ว แทงเอ็นเตอร์เทนคนดู”
“อย่าง รอนนี่ หรือ จิมมี่ ไวท์ พวกนี้ไม่ค่อยแทงตามเกม ชอบแทงเอาใจคนดู ต้อง เซ็นจูรี เบรก เท่านั้น ต้องแทงลูกยากๆ เล่นจังหวะแปลกๆ ให้คนดูได้ติดตาม แบบนี้มันแทงยากนะคุณ คนเราใครแม่งจะไปเบรกได้ตลอดเวลาวะ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆนะครับ แต่เขาทำได้ แล้วเขาทำมาเยอะด้วย”
“ผมไม่เคยสร้างสไตล์ เพราะอยากให้คนมาชอบ แต่เขาอาจจะมาชอบโดยบังเอิญมากกว่า ตอนอยู่ในการแข่งขัน ผมไม่เคยรู้หรอกว่า ตัวเองแทงช้าหรือเร็ว จนกว่าจะได้มาย้อนดูเทปตัวเอง หรือดูคนอื่นแทง เออ มันมีคนที่แทงช้ากว่าเราด้วยนี่หว่า”
“จากที่ฝรั่งเขาเคยไม่ปรบมือให้เรา โห่เรา แช่งเรา แม้กระทั่งตอนเข้าห้องน้ำ จนถึงจุดหนึ่งเราพิสูจน์ตัวเองให้เขาเห็นได้ว่า เราก็มีดีนะ สุดท้ายเขาก็ยอมรับในตัวเรา ยุคหลังคนดูเขายอมรับคนเอเชียมากขึ้นนะ เมื่อเทียบกับสมัยที่ผมไปแข่งใหม่ๆ”
“ทุกวันนี้ เวิล์ดสนุกเกอร์ เขายังมาขอบคุณผม ที่ไปช่วยบุกเบิกและทำให้กีฬานี้ ได้รับความนิยมในภูมิภาคนี้ จนมีนักสนุ๊กฯ จากเอเชียมาแข่งขันเพิ่มขึ้นในยุคหลัง เพราะเขาต้องการให้ สนุกเกอร์ ถูกแพร่กระจายไปทั่วโลก ผมไม่ได้พูดเอง แต่เขาให้เครดิตผมพอสมควร ในนาม James Wattana ที่เวิลด์สนุกเกอร์ตั้งชื่อให้ เพราะเขาออกเสียงคำว่า ภู่โอบอ้อม ไม่ได้”
“พอได้ยินแบบนั้นก็รู้สึกชื่นใจ ที่ในที่สุดผมสามารถทำให้ องค์กรระดับโลกอย่าง เวิล์ดสนุกเกอร์ ยอมรับในฝีมือคนไทยอย่างเราได้ ในฐานะคนเอเชียคนแรกที่ไปถึงตำแหน่งท็อป 4 ของโลก”
พายุในใจ
“ถ้าผมรุ้ข้อเสียตัวเองตั้งแต่วัยรุ่น เปลี่ยนวิธีคิดได้ ตั้งแต่ตอนนั้น สมัยที่ผมอยู่อันดับ 3 ของโลก ผมคงแทงดีกว่านี้ 20-30 เปอร์เซนต์”
“สมัยวัยรุ่น ผมเป็นคนที่ใจร้อนและหงุดหงิดง่าย ซึ่งเป็นก็ไปตามฮอร์โมนส์ผู้ชาย แต่สิ่งที่แย่สุดคือ ผมชอบมีความคิดแบบ Negative Thinking คือ มองโลกในแง่ลบมากเกินไป โดยเฉพาะเวลาที่ผลการแข่งขันไม่เป็นใจ”
“สิ่งที่ผมผิดหวังมากที่สุด คือ เวลาซ้อมมาหนักแล้ว ดันไม่สามารถทำได้ดีในตอนแข่งขัน นั่นเพราะบางครั้งผมควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดีพอ คิดแต่จะโทษปัจจัยรอบข้าง และผมชอบทรมานตัวเอง ชอบลงโทษตัวเอง สมมุติผมไปแข่งแล้วพลาดช็อตไหน ผมจะกลับมาซ้อมอยู่อย่างนั้นไม่หยุดพัก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ผิดนะ”
“มีครั้งหนึ่ง ผมเคยซ้อมสนุ๊กฯอย่างเดียว 3 วัน 3 คืนติดต่อกัน โดยไม่กินข้าว จนเข้าคืนที่ 4 ผมต้องกินแล้ว เพราะร่างกายมันรับไม่ไหว”
“แม้กระทั่งช่วงที่ผมขึ้นมือ 3 ของโลก ผมก็ยังไม่พอใจกับสิ่งที่ตัวเองเป็นตอนนั้น ทั้งที่ 2 คนที่อันดับดีกว่าอย่าง สตีเฟน เฮนดรี กับ สตีฟ เดวิส เขาได้แชมป์โลกรวมกัน 13 สมัยนะ เราเป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้มายืนถึงจุดนี้ ควรยินดีกับมันสิ กว่าจะมาคิดได้ก็ตอนแก่แล้ว ก็อย่างที่บอกแหละ ถ้าผมคิดได้ตั้งแต่วัยรุ่น ผมคงมีผลงานที่ดีกว่านี้”
“เมื่อถึงจุดหนึ่ง ประสบการณ์มันจะสอนเราเอง สมัยที่ผมประสบความสำเร็จ มีแต่คำชมเต็มไปหมด แต่เราไม่ทันคิดเลยว่า เขาแอบแฝงอะไรมาหรือเปล่า ผมยอมรับว่าตัวเองเคยหลงระเริงไปกับคำชมแอบแฝงมาเยอะ”
“เวลากลับเมืองไทย มีคนขับรถลีมูซีนมารับถึงสนามบิน ทั้งที่ผมไม่ได้ร้องขอ เมืองไทยรถติดจะตาย จะมาพิธีการอะไรมากมาย ผมเป็นคนชอบอยู่เงียบๆอยู่แล้ว ไม่ได้อยากสร้างกระแส แต่พออยากอยู่เงียบๆ คนก็หาว่าหยิ่งอีก เข้าไม่ถึง สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าผมจะทำหรือไม่ทำอะไร ผมหนีไม่พ้นเสียงนก เสียงกาหรอก”
1
“ผมมีความคิดอยากจะเลิกเล่นสนุ๊กฯ มาเป็น 10 รอบแล้ว อย่างที่บอกว่า สิ่งที่แย่สุดของการอยู่อังกฤษคือเวลาที่คุณแพ้แล้วไม่สามารถกลับบ้านได้ อยู่เมืองไทย ถ้าคุณแพ้ คุณยังมีเพื่อนฝูง คนรอบข้างให้พูดคุย บางครั้งผมซ้อมมาหนัก ตั้งใจมาก แต่ดันทำให้คนที่คาดหวังผิดหวังซ้ำๆ มันก็เกิดอาการท้อแท้”
“ผมรู้ว่ามีบางคนเลิกเชียร์ผมไปแล้ว แต่ทุกครั้งที่ผมคิดจะเลิก คุณแม่ผม, คุณอาสินธุ, คุณน้าศักดา ก็จะถามว่าร่างกายยังไหวไหม ถ้าไหวก็ยังไม่ต้องเลิก ผมก็เลยต้องสู้ต่อ ทั้งที่หัวใจผมมันสลายไปนานแล้ว”
“คนทั่วไปไม่รู้หรอกว่า ผมใจสลายมาแล้วไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ผมเจอปัญหามากมายในชีวิต ถ้าหัวใจผมมี 4 ห้อง วันที่พ่อผมถูกยิง หัวใจผมก็เหลือครึ่งห้องแล้ว มีหลายคนถามว่า ทำไมต๋องแทงไม่คมเหมือนเดิมเลย ผมก็อยากบอกว่า ก็มึงไม่ได้มาเป็นกูนิ”
“ผมผ่านการสูญเสียมากมาย ทั้ง คุณพ่อฉ่อย ซูซ่าส์, อดีตผู้จัดการ คุณทอม มอร์เรน เพื่อนฝูงมากมายที่เคยเห็นหน้าคร่าตากัน ก็ล้มหายตายจากไปทีละคน สองคน”
“ไหนจะปัญหาส่วนตัว ผมเริ่มทำธุรกิจก็เจ๊ง เพราะด้วยความที่เราไม่มีเวลามาบริหารจริงจัง เอาเงินไปลงอย่างเดียว และเชื่อใจคนมากเกินไป เชื่อคำชมแอบแฝงมากไปหน่อย ก็โดนเขาโกง ปัญหาเรื่องสายตาที่ผมเคยละเลย จนสุดท้ายผมต้องไปผ่าตัดรักษา เพราะมันไม่ไหวแล้ว แทงสนุ๊กต่อไม่ได้แล้ว”
1
“แม้กระทั่งเรื่องไม้คิว คนที่ไม่เล่นสนุ๊กฯ อาจจะไม่รู้นะว่า ไม้คิวนี่เหมือนหัวใจของนักสนุ๊กเลย การหาไม้คิวที่ดีนี่เหมือนหาเมียเลยนะคุณ”
“เพราะไม้แต่ละอัน สั่งทำทีต้องรอ 2-3 เดือน แล้วไม้คิวสมัยใหม่ มันหดตัวเร็ว โดนเหงื่อ โดนอากาศ ก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะหาไม้ดีแบบสมัยก่อนยากมากๆ ผมอิจฉานักเทนนิสนะ ที่เขาเปลี่ยนแรกเก็ตได้แมตช์ละหลายหน แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้หรอก แค่เปลี่ยนไม้คิวครั้งหนึ่ง ความคุ้นชิน จังหวะอะไรก็ไม่เหมือนเดิม”
“สุดท้าย ผมก็ต้องอดทน และผ่านมันไปให้ได้ทุกเรื่อง มันเป็นสิ่งที่ต้องสู้กับตัวเอง หลายครั้งที่หัวใจผมแตกสลาย ผมก็โชคดีที่ยังมีแม่อยู่ข้างๆ แม่ผมเป็นคนธัมมะธัมโม ก็ชักชวนให้ผมลองมาปฏิบัติธรรมดู ผมรู้สึกธรรมะช่วยผมให้เย็นลง”
“ทุกวันนี้ ผมจะเข้านอน 4 ทุ่ม ตื่นตี 5 ครึ่ง เพื่อมาสวดมนต์ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นมานั่งสมาธิต่อ ปฏิบัติแบบนี้มาได้ปีกว่าแล้ว ถ้ามีเวลาว่าง ก็จะหาโอกาสไปทำบุญ เป็นอีกสิ่งที่ทำให้ หัวใจเราเริ่มแข็งแรงขึ้น”
“คนจะเล่น สนุกเกอร์อาชีพได้ ฝีมือก็ส่วนหนึ่ง สมองก็ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการดูแลหัวใจดวงน้อยๆ ถ้าไม่มีตรงนี้ (ชี้นิ้วมาที่หน้าอก) ทำอะไรก็ลำบาก”
เฟรมที่ไม่มีวันสิ้นสุด
“ธรรมะ เข้ามาดึงสติผมกลับมา จากคนที่หงุดหงิดง่าย ก็เริ่มเข้าใจโลกมากขึ้น เข้าใจคนรอบข้าง และผู้คนทั่วไป”
“ทุกวันนี้ผมยังสู้ต่ออยู่นะ ทั้งๆที่รู้แล้วว่า สู้ไม่ได้ เมื่อก่อนผมก็สู้นะ แต่เป็นการสู้แบบที่ผมสู้ได้ สมัยก่อน ผมชกหมัดเดียวมันร่วง แต่เดี๋ยวนี้ผมชกไป 4-5 หมัด ก็ยังเอาเขาไม่ลง โดนสวนมาทีเดียวน็อก ก็มี”
“ผมรู้สภาพตัวเองว่าตอนนี้สู้ไม่ได้ แต่ใจผมยังสู้อยู่ สิ่งที่เปลี่ยนไปมากสุด คือการที่ผมใช้ชีวิตอยู่อย่าง คนที่เข้าใจความเป็นจริงมากขึ้น ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ยึดติดกับชื่อเสียงในอดีต ปล่อยวางได้หลายๆอย่าง เอ็นจอยกับการเล่นสนุ๊กฯ มากขึ้น ไม่ได้กดให้รู้สึกแย่เหมือนตอนวัยรุ่น”
“คิดว่าคนดูอาจจะลืมๆ ผมไปบ้างแล้วแหละ เพราะมีเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมา ทำให้ความคาดหวังในตัวผมไม่ได้มากเหมือนสมัยก่อน แต่ผมพูดจากใจเลยนะ ผมสงสารนักสนุกเกอร์ไทยรุ่นใหม่ เพราะเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเท่าที่ควร”
“บ้านเราอยากมีนักกีฬาเก่งๆเยอะ แต่คุณไม่เคยมาดูแลพวกเขาเลย ลำพังแค่ได้สิทธิ์ไปแข่งก็ยากอยู่ แล้ว พอได้สิทธิ์มา ยังต้องมาดิ้นรนหาสปอนเซอร์อีก เพราะไม่มีท่อน้ำเลี้ยงส่งไปแข่ง”
“ที่ผ่านมา นักสนุกเกอร์ไทยไปสร้างชื่อเสียงระดับโลกมากมาย ได้แชมป์เอเชียไม่รู้กี่สมัย เราพิสูจน์แล้วว่าเราสู้เขาได้ แต่เราจะยืนระยะสู้เขาได้ดีกว่านี้ ถ้าผู้ใหญ่บ้านเมืองเรา ให้การสนับสนุนที่เด็กรุ่นใหม่ได้ดีกว่านี้”
“ผมพูดเรื่องนี้มาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว แต่ก็ยังต้องพูดอยู่ คือเรื่องกฏหมาย พรบ.พนัน ที่ปิดกั้นไม่ให้นักสนุกเกอร์รุ่นใหม่เกิดขึ้นมา เพราะกฏหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้าไปโต๊ะสนุ๊กฯ”
“เมื่อไหร่ บ้านเราจะเปิดเสรีเรื่องนี้ ให้เด็กสามารถเข้าไปเล่นได้ ทำไมไม่มองว่า สนุ๊กเกอร์ ก็เป็นกีฬาอีกประเภทนึง ผู้ใหญ่บ้านเราอยากให้มี ต๋อง 2 ต๋อง 3 ต๋อง 4 ถ้าส่วนตัวผมเหรอ? ผมต้องการต๋องสัก 100 คน สนุ๊กฯ บ้านเราจะได้ไปสร้างชื่อเสียงระดับโลก”
“คุณอยากมีซูเปอร์ฮีโร่ แต่ดันไปปิดกั้นโอกาสเด็กๆ เด็กมันจะเก่งได้อย่างไร ถ้าไม่ได้เรียนรู้ คุณจะรอให้อายุ 19 ค่อยมาเรียนรู้ กว่าจะถึงเวลานั้น เขาก็ไปทำอย่างอื่นหมดแล้ว ผมอยู่วงการมา 30 กว่าปี ฝากบอกไป 80 รอบแล้วเรื่องนี้”
“ขณะที่ประเทศอื่น เขาฝึกกันตั้งแต่อายุ 4 ขวบแล้ว เขาถึงพัฒนากว่าเราไง แต่บ้านเราผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่มองว่า สนุ๊กฯ เป็นกีฬานะไม่ใช่การพนัน เมื่อก่อนมีเด็กอยากเล่นสนุ๊กฯ เยอะมาก จนผมเคยคิดว่า อนาคต คนไทยรุ่นต่อไปจะสู้ยุโรปได้ แต่อยู่ไปอยู่มา เอ้า เจอจีนจะสู้ไม่ได้แล้วนะ”
“ที่ จีน นะ เขามีคนที่เล่น 20 ล้านคน ผมไม่ได้กลัวเรื่องฝีมือนะ เด็กเราสู้ได้สบาย แต่ที่กลัวคือเรื่องรัฐสวัสดิการ ต้องมีสวัสดิการให้เด็กๆที่จะเล่นด้วย ยกตัวอย่าง ดิง จิง ฮุย รัฐบาลจีนมีส่วนในการหาผู้สนับสนุนให้นักกีฬาประเทศเขา ได้ออกไปแข่งขันอาชีพ”
“แล้วที่ผมน้อยใจมากๆ เวลาเปิดดูหนัง ดูละคร แล้วเห็นฉาก ตีกัน ยัดยา ขายยา ก็เอาไปจัดฉากอยู่ในโต๊ะสนุ๊กฯ หมด ภาพลักษณ์มันก็ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ กลายเป็นว่า โต๊ะสนุ๊กเป็นแหล่งมั่วสุม ผมว่าที่ไหนมันก็มั่วสุมได้ทั้งนั้นแหละ ห้างสรรพสินค้าก็มั่วสุมได้”
“สื่อต่างๆที่นำเสนอ ก็เหมือนคอยกดเราไว้ให้อยู่อย่างนั้น แต่ผมยังเชื่อว่าสักวันหนึ่ง ภาพเหล่านั้นจะต้องหายไป เพราะเรายังสู้อยู่ สู้บนพื้นฐานความเป็นจริง สู้บนความถูกต้อง”
“คุณรู้ไหม อีก 7 ปีข้างหน้า สนุกเกอร์ กำลังจะได้บรรจุแข่งขันในโอลิมปิก ตอนนี้เวิล์ดสนุ๊กเกอร์ ดำเนินการไป 70 เปอร์เซนต์แล้ว ถ้าถึงวันนั้นที่ สนุ๊กเกอร์ ได้บรรจุในโอลิมปิก เกมส์ โดยที่ประเทศอื่นๆ เขายอมรับเป็นกีฬากันหมดแล้ว แต่ประเทศเรายังไม่ผ่าน พรบ.การพนัน มันน่าตลกไหม ตลกมากเลยนะผมบอกให้”
“คนเราเกิดมาก็แค่ตาย มันมีมากกว่าตายไหม แต่ช่วงชีวิตหนึ่ง ก่อนจะตาย ผมก็ขอทำดีให้ได้มากที่สุด ในทุกๆเรื่อง ทั้งในอาชีพนักสนุกเกอร์ หรือ การเป็นคนที่จะลงมาผลักดันให้มีการยกเลิก พรบ.การพนัน ให้แก่ สนุ๊กเกอร์”
“ผมพูดจนไม่รู้จะพูดยังไงแล้วกับเรื่องนี้ จนอยากจะบอกว่า มึงมายิงกูให้ตายเลยก็ได้ ขอได้ไหมไฟเขียวให้ สนุ๊กเกอร์ เป็นกีฬาเสียที วงการจะได้เดินต่อไปได้ และอยู่กับเมืองไทยไปนานๆ”
1
“ผมปวารณาตัวแล้วว่า ช่วงที่เหลืออยู่ต่อจากนี้ ผมจะขอทำความดีให้ได้ดีมากที่สุดในๆทุกเรื่อง ผมไม่ได้อยากอยู่อังกฤษไปจนแก่นะ สุดท้ายแล้ว ผมอยากกลับมาใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ และตายบนผืนแผ่นดินไทย”
1
“สิ่งที่ผมยังทำอยู่ในวัย 48 ปี ผมก็ยังฝึกซ้อมเหมือนเดิม แต่ไม่ได้เหมือนเมื่อก่อนซ้อมเป็น 10-20 ชั่วโมงต่อวัน รวมถึงการออกกำลังกายอย่างอื่น เช่น วิ่ง ที่ผมวิ่งมาเป็น 10 ปีแล้ว เล่นเวต เพื่อให้กล้ามเนื้อมันเฟิร์มขึ้น พออายุมากขึ้น สมรรถภาพร่างกายก็ถดถอยเป็นธรรมดา การดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญมาก”
“ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์ ก็จะไปนวดกล้ามเนื้อ หรือพักผ่อนดูหนัง ออกไปดูโลกบ้าง ผมจะไม่จำเจอยู่แต่กับสนุ๊กเกอร์ตลอด 24 ชั่วโมง เหมือนสมัยก่อน เราเริ่มผ่อนปรนกับตัวเอง และทำจิตใจให้สบายขึ้น”
“ชีวิตผมอยู่กับสนุ๊กเกอร์มากกว่าครึ่งชีวิต ก็อยากไปทำอย่างอื่นดูบ้าง ยังมีอีกหลายอย่างในชีวิตที่ยังไม่ได้ทำ โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือสังคม”
“ที่บ้านผมสอนมาตั้งแต่เล็กว่า เวลาทำอะไรให้คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ผมชอบนึกถึงคนอื่นมากกว่าตัวเอง ตอนนี้ที่ผมทำอยู่ คือการเข้าโครงการช่วยเหลือส่งเงินบริจาค ให้คนที่ไม่มีน้ำสะอาดกินที่ประเทศเอธิโอเปีย ทุกๆเดือน ผมชอบช่วยเหลือคน โดยเฉพาะโลกที่สาม ที่เขาไม่มีจะกินจริงๆ นั่นแหละเป็นกำลังใจชั้นดี ถ้าเขายังอยู่ได้ ทำไมเราจะอยู่ไม่ได้”
“ทุกครั้งที่ผมรู้สึกแย่ ผมก็จะนึกถึงคนที่เขาลำบากกว่าเราตลอด ทำให้เรายังมีแรงกลับมาสู้ แม้ปากผมจะบอกว่าตัวเองอยู่ในช่วงโค้งสุดท้าย แต่หัวใจผมยังสู้ตลอดนะ”
“ผมเชื่อว่า ตราบใดที่ยังหายใจอยู่ โอกาสเป็นของเราเสมอ ขอแค่อย่าหยุดนิ่ง หรือ รอคอยโชคชะตาเข้ามาหา ”
บทความโดย อลงกต เดือนคล้อย
โฆษณา