2 ม.ค. 2020 เวลา 13:24 • กีฬา
"Rest In Peace, David Stern"
Draft เมื่อปี 2013 เป็นภารกิจหน้าที่ครั้งสุดท้ายใน NBA ของ David Stern
เสียงโห่ของแฟนๆ ดังก้องทั่วฮอลล์อย่างที่เคยๆ ทุกครั้งที่ Stern ขึ้นมาบนเวที แต่ครั้งนี้มันต่างกับที่ผ่านๆ มา
Stern เป็น Commissioner ที่มีประวัติขัดใจคนดูมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการกรรมการใน Playoff ปี 2002 ระหว่าง Lakers กับ Kings หรือ การ veto การเทรด Chris Paul ไป Lakers เมื่อปี 2011 และอะไรอื่นๆ อีกเยอะ
เขาเป็นคนที่มุ่งมั่นที่จะทำให้ NBA ของเขา เติบโตขึ้นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยบางทีไม่ได้สนใจว่าจะขัดใจใครก็ตาม
มันทำให้เขาโดนโห่ทุกครั้งที่เขาขึ้นมาประกาศรายชื่อผู้เล่นที่เข้า Draft ในแต่ละปี โห่เบาบ้งดังบ้าง
แต่สำหรับ Draft ในปี 2013 นี้ ด้วยความที่เป็นครั้งสุดท้ายของเขากับการเป็น Commissioner ใน NBA มันเลยกลายเป็นเสียงโห่ที่อาจจะมีความเคารพนับถือจากแฟนๆ ซ่อนอยู่บ้าง
ยังจำได้ดี กับจังหวะก่อนประกาศการ Draft ปีนั้นของ Washington Wizards หลังจากที่ Stern ปล่อยให้แฟนๆ โห่เขาไปซักพักหนึ่ง เขาก็ยิ้มเยาะ พร้อมพูดอย่างยียวน
“ไหนอะไรนะ ไม่ได้ยินเลย”
อีกจังหวะต่อมา ก่อนการประกาศการ Draft ของ Utah Jazz ลูกพี่ Stern ก็ออกมาพูดอย่างท็อปฟอร์มอีกครั้ง
“ขอโทษที เมื่อกี๊ผมต้องไปอธิบายกับสื่อต่างประเทศหน่อยว่า การโห่ มันเป็นธรรมเนียมการแสดงความเคารพของเราหน่ะ”
เป็นจังหวะการปิดท้ายอาชีพการเป็น Commissioner ของ David Stern ที่เบาๆ สบายอารมณ์ดี ถือว่าจบค่อนข้างสวยกับกุนซือที่ปฏิวัติวงการบาสเกตบอล และ ขยาย NBA ออกไปในระดับโลกอย่างที่เรารู้จักทุกวันนี้
อย่างที่รู้กัน วันนี้ Stern ได้เสียชีวิตลงไปแล้ว ด้วยวัย 77 ปี ก็เลยถือโอกาสรวมผลงานที่โดดเด่นของ Stern ตลอดช่วงที่เขาเป็น Commissioner ของ NBA ไว้หน่อย
1.
ยุคแรกๆ ที่ Stern ขึ้นคุมใน NBA ต้องถือว่าตอนนั้นลีกติดภาพความเป็นลีกขี้ยาอยู่ โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของโคเคน
นี่คือยุคสมัยที่มีดาวรุ่งตัวเลือกอันดับสองอย่าง Len Bias เสียชีวิตเพราะเสพย์โคเคนเกินขนาด แล้วไหนจะยังมีทีมอนาคตไกลอย่าง Phoenix Suns ยุคนั้นที่ต้องมาพังทลายลง เพราะ คดีการค้ายาอีก!
แน่นอนว่า มันไม่ใช่ภาพลักษณ์ที่ดีของลีกแน่ๆ
แต่แล้ว Stern ก็ดำเนินการจัดการให้หายเรียบอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะทำการแบนอย่างไม่มีกำหนดของสตาร์ดัง Michael Ray Richardson หรือ การทำงานร่วมกับ สมาคมผู้เล่น (NBPA) ในการตั้งโปรแกรมที่จะช่วยนักกีฬาต่างๆ ที่ต้องการจะเลิกยาให้ได้
และมันก็ได้ผล
จากการที่ลีกเคยถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมของมนุษย์ขี้ยาที่เล่นบาสเก่งเฉยๆ หลังจากนั้น มันก็ได้กลับกลายเป็นว่ามีภาพลักษณ์ที่ “สะอาด” มากขึ้น
2.
ในปี 2004 ลีกเจอกับปัญหาเรื่องภาพลักษณ์อีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า “Malice in the Palace” ที่ Detroit โดย Ron Artest บุกตะลุยขึ้นที่นั่งคนดูไปต่อยกับแฟนคนหนึ่งที่เขาสงสัยว่าปาแก้วเบียร์ใส่เขา ก่อนเกิดการตะลุมบอนกับผู้เล่นอีกหลายๆ คนตามมาด้วย
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นวิกฤตที่น่าปวดหัวในด้านภาพลักษณ์ของลีกอย่างมาก เพราะว่า ลีกยังไม่สามารถจะสลัดคราบของ “ความเป็นนักเลง” หรือ “ความบ้าพลัง” ของผู้เล่นในลีกอย่างเต็มที่
Stern จึงจัดการลงไม้แข็ง แบน Artest ตลอดทั้งซีซั่น ซึ่งมองดูแล้วก็เป็นจุกที่พลิกความหวังของตัวเต็งอย่าง Indiana Pacers ปีนั้น
แต่ถึงอย่างนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ Stern จำเป็นต้องทำ และการจัดการกับเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นให้ทางลีกเข้มงวดกับการจัดการเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทมากขึ้น
3.
จากเหตุการณ์ Malice in the Palace คร้ังนั้น Stern รู้สึกว่าต้องการล้างภาพความ “กุ๊ย” หรือ “นักเลง” ของลีกออกไปมากกว่าเดิมอีก
ก่อนเริ่มฤดูกาลที่ 2005-2006 เขาจึงมีการสั่งมาตรการการแต่งตัว (Dress Code) สำหรับนักกีฬาทุกคน โดยมีการจำกัดให้นักกีฬาทุกคนแต่งตัวเป็น “มืออาชีพ” กันมากขึ้นเวลามาที่สนาม เพื่อที่จะได้ถูกมองว่าเป็น “มืออาชีพ” กันมากขึ้น
แน่นอนว่า ตอนที่ออกกฏตอนแรก ก็ได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ด้วยความที่ดูเป็นกฏที่มุ่งจำกัดคนผิวสี โดยเฉพาะอย่าง Allen Iverson หรือ Rasheed Wallace
แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ทุกคนก็หาแนวทางของตัวเองที่จะแต่งตัวกันอย่างสนุกสนานภายในขอบเขตของกฏเกณฑ์ ทำให้เราได้เจ้าพ่อแฟชั่นอย่าง Russell Westbrook หรือ James Harden ในช่วงต่อๆ มา
4.
แต่ท้ายสุดแล้ว ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของ Stern คือการที่เขาทำให้ NBA กลายเป็นถุงเงินถุงทองอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะ การจับเอาถ่ายทอดสดการแข่งขันไปลงฉายใน TV อย่างต่อเนื่อง
จากที่แต่ก่อนจะดู NBA เกมนึงที ต้องมานั่งรอเทปรีเพลย์ถ่ายทอดตอนดึกๆ Stern ได้คะยั้นคะยอปั้นสัญญาแล้วสัญญาเล่า จนตอนนี้แทบจะเห็น NBA ได้ทั่วทุกพื้นที่จอทุกรูปแบบทุกเวลา
แค่นั้นยังไม่พอ Stern ยังเป็นคนที่เห็นแววศักยภาพของตลาดในประเทศจีนอีกด้วย และได้รุกหนักในการเอา NBA เข้าไปฉายในจีน จนตอนนี้ก็ได้กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของลีกอีกเช่นเดียวกัน
โฆษณา