2 ม.ค. 2020 เวลา 14:22 • สุขภาพ
Whole milk : ประโยชน์ที่คาดไม่ถึง
วันนี้มี 2 คำศัพท์ที่อยากแนะนำให้รู้จักเบื้องต้นก่อนครับ จะได้เข้าใจเรื่องราวในบทความนี้มากยิ่งขึ้น คือ
1. Whole milk คือ นมสดครบส่วน เป็นนมที่รีดมาจากแม่วัวโดยตรง มีสารอาหารครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด มีทั้งไขมัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ต่าง ๆ ประเด็นที่อยากเน้นคือ Whole milk มีไขมันครบส่วนครับ หรือเป็นนมที่ยังไม่ถูกดึงไขมันออกไปนั่นเอง
2. Reduced-fat milk คือ นมที่ถูกลดไขมันลง หรือดึงไขมันออกไปจากนมทำให้มีไขมันต่ำ ๆ เช่น นมไขมันต่ำหรือนมพร่องมันเนย (Low Fat milk) นมชนิดนี้อาจจะดึงไขมันออกไปให้เหลือประมาณ 2% หรือถ้าดึงไขมันออกจนเหลือ 0% เราก็จะเรียกว่า นมพร่องขาดมันเนย
1
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ไขมันในนมนี่แหละครับที่เป็นหัวใจหลักในบทความนี้
เมื่อพูดถึงความอ้วน น้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเราจะพุ่งเป้าไปที่ไขมันก่อนเลยครับ เราจึงเชื่อว่าหากเราลดการบริโภคไขมันลง ความเสี่ยงที่จะทำให้เราอ้วนก็น่าจะลดลง จริงไหมครับ
The American Academy of Pediatrics and the Canadian Paediatric Society ได้ให้คำแนะนำไว้ว่าเด็กที่อายุมากกว่า 2 ปี แนะนำให้เปลี่ยนจาก whole fat cow-milk (มีไขมันประมาณ 3.25%) ไปเป็น reduced-fat cow-milk (มีไขมันประมาณ 0.1 ถึง 2%) เพื่อจำกัดแคลรอรี่จากไขมันอิ่มตัว และป้องกันโรคอ้วนในเด็ก
ที่แคนาดาเขาแนะนำแบบนี้ ไม่ใช่แค่แคนาดา แต่ที่ยุโรปเอง หรือ ออสเตรเลียก็แนะนำอย่างเดียวกัน Reduced-fat milk ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนในเด็กได้
ขอบคุณภาพจาก pixabay
จริง ๆ ก็ดูสมเหตุสมผลดีนะครับ แต่จริงหรือ ?
เป็นเรื่องลำบากของงานวิจัยอีกแล้ว ใช่แล้วครับ งานวิจัยที่ผมจะบอกต่อไปนี้กำลังคัดง้างความเชื่อนี้อยู่ครับ
งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยแบบ systematic review and meta-analysis ที่ค่อนข้างใหญ่พอสมควร รวบรวมข้อมูลจากฐานข้อมูล เช่น Embase (Excerpta Medica Database), CINAHL (Cumulative Index to Nursing and Allied Health Literature), MEDLINE, Scopus, และ Cochrane Library databases
ค้นคว้างานวิจัยกว่า 5800 งานวิจัย เพื่อนำมาวิเคราะห์ แต่เข้าเกณฑ์จริง ๆ เพียง 28 งานวิจัย
มีเด็กที่เข้าการศึกษาวิจัยกว่า 20,000 คน ใน 7 ประเทศ
ผลการวิจัยพบว่า
เด็กที่บริโภค whole milk (ไขมัน 3.25%) เทียบกับ reduced-fat milk (ไขมัน 0.1–2%) ค่า Odd Ratio ของการมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนเท่ากับ 0.61 (95% CI: 0.52 - 0.72; P < 0.0001)
0.61 หมายความว่าอย่างไร ?
เด็กที่บริโภค whole milk จะมีความเสี่ยงในการมีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนเป็น 0.61 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กที่บริโภค reduced-fat milk
พูดให้ง่ายก็คือ เด็กที่บริโภค whole milk ดีกว่านั่นเอง
ขอบคุณภาพจาก (1)
งานวิจัยนี้จึงไปขัดกับคำแนะนำข้างต้น ทางผู้วิจัยจึงให้ข้อแนะนำว่าอาจจะต้องทำงานวิจัยที่เป็นแบบ Randomized trials เพิ่มเติม
เพราะ meta-analysis ที่นำมาวิเคราะห์ทั้ง 28 งานวิจัยนั้น เป็นงานวิจัยแบบ cross-sectional 20 งานวิจัย และ prospective cohort อีก 8 งานวิจัย
อย่าเพิ่งตกใจไปครับ 555
เอาเป็นว่างานวิจัยที่นำมาวิเคราะห์นั้นน้ำหนักยังถือว่าน้อยไปนิด ทางผู้วิจัยจึงแนะนำให้ลองทำ Randomized trials ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มีน้ำหนักมากกว่านั่นเอง
นี่แหละครับโลกของความรู้ บางทีสิ่งที่เรารู้อยู่อาจจะผิดก็ได้นะครับ หรืออาจจะถูกก็ได้เช่นกัน เอ๊ะยังไง
แต่ความรู้ที่ถูกต้องเสมอ ไม่จำกัดกาลเวลา นั่นคือความรู้ของพระพุทธเจ้าครับ .... โยงมาจนได้
ค่ำคืนนี้คงจบแต่เพียงเท่านี้ครับ ถ้าได้นมร้อน ๆ สักแก้วก็คงจะดี แต่ขอเป็น whole milk นะครับ
โฆษณา