3 ม.ค. 2020 เวลา 06:47 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เซียร์เกย์ ครีคาเลฟ (Sergei Krikalev)
นักบินอวกาศผู้เดินทางข้ามกาลเวลาไปยังอนาคตได้ไกลที่สุด
เมื่อนึกถึงการข้ามเวลา เรามักจะนึกถึงเครื่องไทม์แมชชีนแบบในหนังไซไฟ หรือจากการ์ตูน ซึ่งสามารถพาเราไปยังอนาคต หรืออดีตได้อย่างอิสระ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ การข้ามเวลาไม่ใช่อะไรแบบนั้น
เราไม่สามารถเดินทางกลับไปยังอดีตได้ เพราะขัดต่อหลักเหตุผลอย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งนี้จากทฤษฎีสัมพัทธภาพของ ไอน์สไตน์ (Einstein) ก็มีการอธิบายถึง การขยายขนาดของเวลา (Time dilation) อยู่ หมายความว่าเราสามารถเดินทางไปยังอนาคตได้
และ เซียร์เกย์ ครีคาเลฟ (Sergei Krikalev) อดีตนักบินอวกาศชาวรัสเซียก็ทำไปแล้ว โดยครองสถิติเดินทางข้ามเวลาไปยังอนาคตของตัวเองไกล 0.02 วินาที
ครีคาเลฟ เป็นวิศวกรเครื่องกลชาวรัสเซีย และเป็นหนึ่งในนักบินอวกาศที่มีผลงานมากที่สุดในโลก เขาผ่านภารกิจเดินทางไปยังอวกาศมาแล้ว 6 เที่ยวบิน ใช้เวลาทั้งหมด 803 วัน 9 ชั่วโมง กับอีก 39 นาทีในอวกาศ ถือว่ามีชั่วโมงการทำงานในอวกาศมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 3 เป็นรองเพียง ยูริ มาเลนเชนโก (Yuri Malenchenko) และ เกนนาดี พาดัลกา (Gennady Padalka) เท่านั้น
เส้นทางนักบินอวกาศของครีคาเลฟเริ่มต้นในปี 1985 เมื่อเขาได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศ และเริ่มภารกิจแรกที่สถานีอวกาศเมียร์ ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 1988 ด้วยยาน Soyuz TM-7 ก่อนจะกลับสู่โลกในวันที่ 27 เมษายน 1989
1
การเดินทางสู่สถานีอวกาศเมียร์ครั้งที่ 2 ของครีคาเลฟ เกิดขึ้นวันที่ 19 พฤษภาคม 1991 โดยยาน Soyuz TM-12 แต่เนื่องจากแผนการเปลี่ยนลูกเรือบนสถานีล่าช้าทำให้เขาต้องอยู่รอบนอวกาศนานขึ้น และกลับถึงโลกวันที่ 25 มีนาคม 1992
การเดินทางครั้งที่ 3 ของครีคาเลฟไปกับกระสวยอวกาศดิสโคเวอร์รีในภารกิจ STS-60 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1994 ใช้เวลาบนอวกาศไป 8 วันเ 7 ชั่วโมง 9 นาทีในอวกาศ และกลับถึงโลกวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1994
ในการเดินทางครั้งที่ 4 เขาไปกับกระสวยเอนเดเวอร์ (Endeavour) ในภารกิจ STS-88 ซึ่งกินเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 4 ถึง 15 ธันวาคม 1998
การเดินทาง 2 ครั้งสุดท้าย ครีคาเลฟถูกส่งขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS ในภารกิจ Expedition 1 วันที่ 31 ตุลาคมปี 2000 และออกจากสถานีอวกาศนานาชาติ ISS วันที่ 18 มีนาคม 2001
ส่วนภารกิจสุดท้ายของเขาคือ Expedition 11 เริ่มวันที่ 14 เมษายน 2005 ต่อเนื่องจนถึง 10 ตุลาคม 2005
การใช้ชีวิตอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS เป็นเวลานานกว่าใคร ทำให้เขากลายเป็นมนุษย์ที่เดินทางข้ามเวลาไปได้ไกลที่สุด
เพื่อให้เข้าใจว่าเขาเดินทางข้ามเวลาได้อย่างไร ผมจะขออธิบายส่วนหนึ่งในทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอนสไตน์แบบคร่าว ๆ ให้เข้าใจง่ายที่สุดก่อน
คือ ยิ่งเราเดินทางเข้าใกล้ความเร็วแสงมากเท่าไหร่ความกว้างของเวลาก็ยิ่งถูกขยายออกมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งในทางทฤษฎีถ้าหากเราสามารถสร้างยานอวกาศที่เดินทางด้วยความเร็วเท่ากับแสงได้ ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะเดินทางข้ามเวลาไปยังอนาคตได้ เพราะเวลาที่ความเร็วแสงจะมีความกว้างเป็นอนันต์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือเวลาจะหยุดเดิน
1
สำหรับความเร็วการโคจรของสถานีอวกาศ ISS ที่ประมาณ 7.66 กม. ต่อวินาทีรอบโลกนั้น ถึงแม้จะไม่ได้ใกล้เคียงกับความเร็วแสงเลยแม้แต่น้อย แต่มันก็ถือว่าเร็วกว่าการเคลื่อนของทุกคนบนโลกมากอยู่ดี ทำให้เกิดการขยายตัวของเวลา หรือไทม์ไดเลชั่น (Time dilation) ขึ้น
และเมื่อนำความเร็วการโคจร, แรงโน้มถ่วง มาคำนวณกับระยะเวลาที่ครีคาเลฟใช้ในอวกาศตามทฤษฎีของไอน์สไตน์ ก็จะเท่ากับเขาเดินทางไปในอนาคตของตัวเอง 0.02 วินาทีข้างหน้าเรียบร้อยแล้วนั่นเองครับ
#Fact
สถานีอวกาศเมียร์ Mir ถูกส่งขึ้นไปประกอบกันบนอวกาศทั้งหมด 7 ส่วน คือโมดูลหลักส่งขึ้นไปในปี 1986 ตามมาด้วยโมดูลเสริมคือ Kvant 1 ปี 1987, Kvant 2 ปี 1989 Kristall ปี 1990, Spektr ปี 1995 และ Priroda ปี 1996
อ้างอิง (Ref.)
โฆษณา