3 ม.ค. 2020 เวลา 23:30 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
ซีรีส์ : ชั้นหนังแผ่น {ม้วนฟิล์มที่ 2}
The Martian (2015) : ถังพลังที่มีชื่อว่า ‘การมองโลกในแง่ดี’
...
ภาพยนตร์เรื่อง ‘The Martian หรือในชื่อภาษาไทย กู้ตาย 140 ล้านไมล์’ เข้าฉายในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558
...
The Martian เป็นภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายไซไฟชื่อดังในชื่อเดียวกัน ซึ่งเขียนโดย ‘แอนดี เวียร์ (Andy Weir)’ โปรแกรมเมอร์ผู้คลั่งไคล้เรื่องเกี่ยวกับอวกาศ
...
แอนดี เวียร์ เริ่มเขียนนิยายเรื่องนี้โดยค่อยๆ โพสแต่ละตอนลงบนเว็บไซต์ของตัวเอง ก่อนจะพัฒนาเป็น eBook ให้แฟนๆ ได้ดาวโหลดแบบฟรีๆ บนเว็บไซต์ของเขาเองเช่นเดิม (Self-Publishing หรือที่เรียกว่า การตีพิมพ์หนังสือด้วยตนเอง)
...
แต่ต่อมาก็ได้มีคนจำนวนมากเรียกร้องให้เขาทำเป็นเวอร์ชั่น ‘คินเดิล (Kindle)’ ซึ่งเป็นเครื่องสำหรับอ่านหนังสือโดยเฉพาะ (eReader) ที่ผลิตและจัดจำหน่ายโดย Amazon
...
รูปร่างหน้าตาของเครื่องคินเดิล (Kindle) : เครดิตภาพ https://www.ereaderok.com/kindle-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
และนี้ก็กลายเป็นปรากฏการที่เหลือเชื่อ เมื่อ The Martian เวอร์ชั่นคินเดิลทำยอดขายไปได้มากกว่า 35,000 ก็อปปี้ ภายในเวลาเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น
...
และในปี 2556 แอนดี เวียร์ ได้เซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์โพเดียมเพื่อจัดทำให้ The Martian เป็นหนังสือเสียง และในปีเดียวกันนั้นเขาก็ได้เซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์คราวน์เพื่อตีพิมพ์ในรูปแบบของหนังสือนิยาย (ส่วนประเทศไทย สำนักพิมพ์ที่ได้ลิขสิทธิ์คือ สำนักพิมพ์น้ำพุ)
...
และนิยาย The Martian ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนเป็นหนังสือขายดีประจำ The New York Times กันไปเลยทีเดียวเชียว
...
เมื่อนิยายของ แอนดี เวียร์ เป็นนิยมจนขายดีเป็นเทน้ำเทท่าเสียขนาดนี้ มีหรือที่มันจะไม่ไปเตะตาวงการฮอลลีวูดเข้าน่ะ
...
แล้วสตูดิโอที่ถูกเตะจนตาเขียวช้ำอย่าง ‘ทเวนตีเซนจูรีฟ็อกซ์ (Twentieth Century Fox)’ ก็ไม่อาจทานทนต่อเสน่ห์ปลายสตั๊ดนี้ได้ จึงพุ่งหลาวเข้ามางับลิขสิทธิ์นิยายเรื่องนี้เพื่อนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มันเสียเลย
...
ทางสตูดิโอรีบมอบหมายให้ ‘ดรูว์ ก็อดดาร์ด (Drew Goddard)’ ทำหน้าที่ดัดแปลงนิยายให้เป็นบทภาพยนตร์
...
และมอบการกำกับให้แก่ผู้กำกับคู่บุญประจำสตูดิโออย่าง ‘ริดลี่ย์ สก็อตต์ (Ridley Scott)’ ผู้กำกับรุ่นเก๋าที่เตะปี๊บยังดังสนั่นอยู่ และเขาก็ชื่นชอบเหลือเกินกับภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์อวกาศแบบนี้ (แบบนี้เขาเรียกว่า “ลาภปากของแท้อีหลี บ่ได้ตั๋ว”)
...
โดยลุง ริดลี่ย์ สก็อตต์ จัดการทำหนังสือเชิญประทับตรา ‘ด่วนที่สุด’ ไปถึงนักแสดงเจ้าบทบาทอย่าง ‘แม็ตต์ เดมอน (Matt Damon)’ ให้มารับบท มาร์ค วัทนี่ย์ ชายผู้ถูกทอดทิ้งอย่างเดี่ยวดายบนดาวอังคาร
...
“อะไรเนี่ยลุง? ผมเพิ่งรับบทถูกทิ้งเคว้งคว้างบนดาวมาเมื่อประมาณหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาเอง” แมตต์พูดถึงบท ดร.แมนน์ จากภาพยนตร์เรื่อง Interstellar “มางวดนี้ผมต้องมาเป็นคนที่ถูกทิ้งอีกแล้วเหรอ? ขอเป็นเป็นคนที่ถูกรักแทนได้ไหมลุง?”
...
“เอ็งก็โทรไปขอเพลงของ Body Slam จากดีเจวิทยุฟังแทนสิฟ่ะ” ลุงสก็อตต์โต้กลับ “เอาน่าๆ บทนี้ไม่เหมือนบทนั้นเลยนะน้องหนู ทางนี้น่ะโดดเดี่ยวแบบคูลๆ เฟ้ย!”
...
“ดีๆ ป๋า! ผมชอบหนัง Home Alone” แมตต์ยิ้มร่า “ว่าแต่ผมต้องไปศึกษาการสร้างกับดักภายในบ้านแล้วล่ะ”
...
“อะไรของเอ็งฟ่ะเนี่ย? ข้าหมายถึงอ้ายคนเขียนบทความเนี่ย” ลุงสก็อตต์เอามือกุมหัว
...
โดยภาพยนตร์เรื่อง The Martian กวาดรายได้ทั่วโลกไปทั้งสิ้น 630.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากทุนสร้าง 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
...
นอกจากได้รับรายได้เข้ากระเป๋าแบบป๋าๆ แล้ว ฟากคะแนนวิจารณ์เองก็สวยงามอร่ามฉางไม่แพ้กัน เรียกได้ว่าหล่อทั้งข้างในและข้างนอกกันเลยทีเดียวเชียว ถ้าเปรียบเป็นสาวๆ หนุ่มๆ คงทำเอาหัวกระไดไม่แห้งไปแล้ว ไม่ใช่ว่าหล่อสวยเสน่ห์แรงนะ แต่ท่อประปามันแตก...ผ่าง!!!
...
และออสการ์ปี 2016 ภาพยนตร์ The Martian ได้เข้าชิงในสาขา ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม, สเปเชียลเอฟเฟ็กต์ยอดเยี่ยม, โปรดักชั่นดีไซน์ยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม และตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม’
...
แต่อนิจจังที่ The Martian ว่าวหมดทุกสาขา ซึ่งปีนั้นคู่แข่งน่ากลัวทั้งนั้นเลยครับ เช่น Mad Max : Fury Road, The Revenant, Spotlight หรือ Ex Machina เป็นต้น
...
“ถ้าเครื่องผลิตออกซิเจนเสีย ผมจะขาดอากาศหายใจ
ถ้าเครื่องกรองน้ำทรยศ ผมจะช็อกตายเพราะขาดน้ำ
ถ้ายานมีรอยรั่วแม้แต่จุดเดียว ร่างของผมคงระเบิดเป็นเสี่ยง
หรือต่อให้สิ่งที่พูดมาทั้งหมดไม่เกิดขึ้น ผมก็ต้องอดอาหารตายอยู่ดี”
...
มาร์ค วัทนี่ย์ เปิดคำเปรยที่ดูสิ้นหวังและกดดันนี้บนเนื้อเรื่องย่อในปกหลังหนังสือนิยายนี้ หลังจากที่เขาต้องพลัดพรากกับเพื่อนๆ ร่วมทีมจากยาน Ares III ที่พากันอพยพออกมาจากดาวอังคาร เนื่องจากเกิดเหตุพายุทะเลทรายบนดาวอังคาร และใครๆ ต่างก็คิดว่าเขา (มาร์ค) คงจะตายไปแล้ว
...
แต่มาร์คผู้ซึ่งลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อไปเป็นทาสแมวกลับรอดมาได้เฉย
...
“คนละมาร์คเฟ้ยหมูแว่น!!!”
...
“อ้าวเหรอ? โทษๆ”
...
มาร์ค วัทนี่ย์ ฟื้นขึ้นมาแล้วพบกับความจริงที่ไม่น่าระรื่นใจที่ว่า ‘เขาเหลือตัวคนเดียวบนดาวที่ได้รับฉายาดาวแดงดวงนี้ พร้อมกับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด กับความช่วยเหลือที่อยู่ห่างไกลออกไปถึง 140 ล้านไมล์’
...
ลองมาจินตนาการกันดูเล่นๆ ครับ หากเป็นตัวเราเองที่ประสบชะตากรรมแบบเดียวกับมาร์ค อยู่คนเดียวบนดาวที่มีอันตรายรอบด้าน สถานที่ที่ปลอดภัยคือ ‘แฮปยังชีพ, ยานพาหนะสำหรับเคลื่อนที่ และชุดอวกาศ เพียงเท่านั้น’ กับดาวที่ตายซากจะปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น
...
มีอาหารยังชีพได้ทั้งหมด 300 วัน แต่หากคิดจะไดเอทก็จะสามารถยืดออกไปได้อีกเป็น 400 วัน (จากการคำนวณของมาร์คเอง)
...
แต่เราต้องเลี้ยงชีพไปให้ได้ถึง 1,460 วัน (365 วัน x 4 ปี) เพื่อรอทีมสำรวจชุดใหม่มาถึง
...
รู้ไว้ใช่ว่า
...
หากแต่ภาพยนตร์เลือกที่จะตั้งโจทย์เบื้องต้นไว้ว่า ‘มาร์ค วัทนี่ย์ จะทำอย่างไร เมื่อต้องรอคอยทีมสำรวจชุดใหม่ถึง 4 ปี’
...
หากผมถามตัวเองว่า “ผมรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ ณ ตอนนี้?”
...
คำตอบที่ผุดขึ้นมาในใจผมคือ ‘ความสิ้นหวัง, สติแตก และปล่อยทุกอย่างให้มันเป็นไปตามยถากรรมไป’ ครับ แต่สำหรับมาร์คเขามองโลกในแง่ดีกว่านั้นมาก
...
“ตัวละครตัวนี้เต็มไปด้วยความคิดริเริ่ม และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหลือเชื่อ” แมตต์ เดมอน พูดถึงตัวละครที่เขาแสดง “อ๋อ! แล้วเขาก็มองโลกในแง่ดีด้วย”
...
ภายใต้สถานการณ์ที่ตึงเครียดและมองไปทางไหนก็เจอแต่กำแพงรายล้อมรอบด้าน มาร์คเริ่มต้นจากการตั้งสติและมองโลกในแง่ดีว่า ‘บางทีมันอาจไม่เลวร้ายอย่างที่คิดก็ได้’ เขาเริ่มทำการสำรวจทรัพยากรที่คงเหลืออยู่ในแฮปยังชีพ
...
ข่าวดีคือ เนื่องจากพวกเขาต้องเร่งรีบทำการอพยพออกจากดาวอังคารกัน นั้นทำให้เพื่อนๆ (รวมถึงมาร์คด้วย) ไม่ทันได้เก็บข้าวของแบบทันท่วงที ดังนั้นยังพอมีของเล่นที่มาร์คสามาถนำมาเล่นแร่แปรธาตุให้ใช้งานได้อยู่
...
คำถามหนึ่งผุดขึ้นมาในมอง ‘ว่าแต่มาร์คจะนำของเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างล่ะ?’
...
สิ่งที่มาร์คทำในลำดับต่อมาคือ การประเมินสถานการณ์และสภาพปัญหาเบื้องต้นครับ
...
มาร์คทำการถอดประเด็นปัญหาที่เขาอาจจะต้องเผชิญในอนาคตว่ามีอะไรบ้าง?
...
ถ้าเครื่องผลิตออกซิเจนเสีย เขาจะขาดอากาศหายใจ
...
ถ้าเครื่องกรองน้ำทรยศ เขาจะช็อกตายเพราะขาดน้ำ
...
ถ้ายานมีรอยรั่วแม้แต่จุดเดียว ร่างของเขาคงระเบิดเป็นเสี่ยงๆ
...
หรือต่อให้สิ่งที่พูดมาทั้งหมดไม่เกิดขึ้น เขาก็ต้องอดอาหารตายอยู่ดี
...
เกร็ดข้อมูลแทรก
...
การลำดับความคิดของมาร์คลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า ‘การหาคำอธิบายแบบเจาะจง’ ครับ
...
‘มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman)’ นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญทฤษฏีจิตวิทยาเชิงบวก ค้นพบว่า คนที่มองโลกในแง่ดี แม้จะมีแนวโน้มที่จะพบเจอกับสิ่งเลวร้ายบ่อยพอๆ กับคนที่มองโลกในแง่ร้าย
...
แต่สิ่งที่ทำให้คนสองฟากนี้ต่างกันก็คือ ‘คำอธิบายที่เขาใช้บอกกับตัวเอง’
...
คนที่มองโลกในแง่ดี มักจะพยายามมองหา ‘คำอธิบายแบบเจาะจง’ ของความทุกข์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด เพื่อประเมินและหาทางแก้ไข เช่น ‘บทความของฉันคนอ่านน้อยจัง อาจเป็นเพราะยังเรียบเรียงได้ไม่ดีแน่ๆ เลย หรือ ฉันเตะบอลไม่เก่ง อาจเป็นเพราะฉันยังซ้อมน้อยเกินไปหน่อย’
...
ส่วนคนที่มองโลกในแง่ร้ายจะหา ‘คำอธิบายแบบกว้างๆ’ ของความทุกข์หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเหมารวม จนทำให้มองไม่เห็นปัญหาที่แท้จริง และทอดทิ้งงานนั้นไปในที่สุด เช่น ‘บทความฉันคนอ่านน้อยจัง ใช่สิเพราะฉันมันไม่เก่งไง หรือ ฉันเตะบอลไม่เก่ง อ๋อเพราะคนอื่นเขามีพรสวรรค์ไง และฉันก็ทำได้เท่านี้แหละ’
...
และมาร์ติน เซลิกแมน ยืนยันว่าคำอธิบายแบบเจาะจงนั้น จะเกิดขึ้นกับคนที่มองโลกในแง่ดีเท่านั้น
...
เมื่อมาร์คได้ประเด็นปัญหามาแล้ว สิ่งที่เขาทำต่อมานั้นก็คือการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา
...
และมาร์คประเมินแล้วว่า สิ่งที่สำคัญและเขาต้องเอาใจใส่เป็นลำดับแรกคือ ‘ปัญหาด้านอาหาร’ นั้นเองครับ
...
จากการประเมินและคำนวณของมาร์ค หากเขาไม่สามารถหาวิธีเพิ่มปริมาณอาหารได้ เขาต้องอดตายก่อนที่ทีมสำรวจชุดใหม่จะมาถึงแน่นอน
...
มาร์คสำรวจข้าวของที่เหลืออีกครั้ง พร้อมให้คำปฏิญาณลูกเสือสามัญกับตัวเองเพื่อให้มีแรงฮึดว่า “ฉันจะไม่ยอมตายที่นี้แน่”
...
เมื่อมาร์ครู้ถึงประเด็นปัญหาที่ตัวเองจะต้องเผชิญแล้ว และเขามั่นใจว่าหากเขาใช้ความพยายามแล้ว เขาจะสามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงมันได้แน่
...
ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นผลมาจากกลไกทางจิตที่เรียกว่า ‘กรอบความคิดแบบพัฒนา’ ครับ
...
เกร็ดข้อมูลแทรก
...
แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) ศาสตราจารย์ทางจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้อธิบายความหมายของ ‘กรอบความคิดแบบพัฒนา’ ไว้ว่า “การที่คนบางคนเชื่ออยู่ลึกๆ ว่าคนเราสามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขมันได้”
...
ซึ่งมันเป็นผลพ่วงต่อเนื่องมาจาก ‘การหาคำอธิบายแบบเจาะจง’ นั้นเองครับ
...
มาร์คจึงรวบรวมทรัพยากรทุกอย่างเท่าที่มีและเอื้อให้เขาในเวลานั้น และอีกหนึ่งความโชคดีท่ามกลางความโชคร้ายก็คือ ‘มาร์คเป็นนักพฤกษศาสตร์พอดีจ้า’ (นักพฤกษศาสตร์คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาที่ว่าด้วยต้นไม้)
...
ลองสังเกตประโยคคำพูดของมาร์คดูครับ เราจะเห็นพลังแห่งการมองโลกในแง่ดีฝังอยู่ในคำพูดของเขา ที่มักสอดแทรกมาในรูปแบบของมุกตลกนั้นเองครับ
มาร์คใช้ความรู้และความพยายามในการลองผิดลองถูก จนสุดท้ายเขาก็ทำมันสำเร็จจนได้
...
มาร์คลองผิดลองถูก โดยพยายามที่จะไม่ถอดใจลงกลางคัน
สุดท้ายก็ทำสำเร็จจนได้ และมาร์คก็เลือกที่จะหยอดมุกอีกครั้ง...ว่าแต่มาร์คเขาก็พูดถูกนะ เพราะตอนนี้ดาวอังคารเหลือแค่เขาเพียงคนเดียว ฮ่าๆ
ป้อยอตัวเองเล็กน้อยหลังทำภารกิจเสร็จ ก็สร้างความกระชุ่มกระชวยใจได้ไม่เลวเช่นกัน
เมื่อปัญหาหมดไปหนึ่งเปลาะ มาร์คก็ใช้การหาคำอธิบายแบบเจาะจงอีกครั้ง เพื่อประเมินหาปัญหาที่สำคัญในลำดับต่อมา
...
มาร์คประมวลออกมาได้ว่า แม้เขาจะมีอาหารเพียงพอต่อการรอ 4 ปี แต่ถ้าโลกไม่รับรู้ว่าตัวเขายังมีชีวิตอยู่ ความพยายามที่ผ่านมาอาจไร้ความหมาย
...
แม้งานนี้จะดูยากแบบอัพเลเวลสูงขี้นไปอีกขั้น แต่มาร์คก็ยังมองโลกในแง่ดีและใช้กลไกทางจิตอย่างกรอบความคิดแบบพัฒนาอีกครั้ง “มันต้องมีทางสิ และฉันต้องทำมันได้สิ”
...
มาร์คใช้เวลาหาทางอยู่นานเลยครับ ทั้งเปิดแฟ้มอ่านข้อมูลจากเอกสารต่างๆ ที่ค้างอยู่ในแฮปยังชีพ และรื้อค้นลิ้นชักความทรงจำในสมองตัวเอง
...
และท้ายสุดก็เป็นเหมือนดั่งที่ อริสโตเติล นักปรัชญากรีก ได้กล่าวไว้ “เป็นไปไม่ได้ที่ทุกทางจะล้มเหลว ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งเส้นทางที่ประสบความสำเร็จ”
...
และมาร์คก็ค้นพบเส้นทางนั้น และทำการหาติดต่อกับนาซ่าได้เป็นผลสำเร็จ
...
ส่วนเรื่องราวต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร พี่ๆ เพื่อนๆ ชาว Blockdit ลองไปหาดูกันต่อนะครับ เพราะหากเล่าไปไกลกว่านี้เกรงว่าจะเป็นการสปอยได้ครับ
...
ภาพยนตร์เรื่องนี้หมูแว่นรับประกันได้เลยว่า “สนุกและลุ้นมาก”
...
ปัญหาและอุปสรรค เปรียบดั่งเส้นขนานของชีวิตเราทุกคน เมื่อถึงเวลาที่เส้นขนานนั้นตัดผ่านกัน ปัญหาและอุปสรรคจะโชว์ศักยภาพที่ร้ายกาจของมันออกมาให้เราเห็นเป็นประจักษ์
...
มันไม่สนใจเลยว่าเราอายุเท่าไร แม้จะเป็นผู้เยาว์ หรือคนวัยฉกรรณ์ มันก็ไม่ยี่หระ
...
มันไม่แคร์ว่าเราจะทำอาชีพอะไร จะเป็นอาชีพใช้แรงงานหรือยิ่งใหญ่ขนาดเป็นเจ้าของธุรกิจระดับโลก มันก็พร้อมที่จะกัดกินและเล่นงานเราเสมอ
...
มันไม่สนใจเลยด้วยซ้ำว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาหนึ่งอยู่หรือไม่ มันก็พร้อมเข้ามาเสริมทัพสร้างความยากลำบากให้เราแบบทบต้นทบดอก
...
มันพร้อมแสดงตัวแบบเปิดเผยดั่งแรมโบ้ที่กำลังถือปืนกลหนัก MG42 ยืนจังก้ารอเล่นงานเราอยู่ข้างหน้า หรือจะเป็นสายลับแบบ เจสัน บอร์น ที่ลอบเร้นหลบหลีกกล้องวงจรปิดและทุกการสอดส่องเข้ามาเล่นงานเราแบบไม่ให้รู้เนื้อรู้ตัวก็ได้เช่นกัน
...
กรณีของ มาร์ค วัทนี่ย์ นั้นแทบเรียกได้ว่าเป็นการขมวดชีวิตมนุษย์ที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาตลอดทางแบบกระชับย่นย่อ
...
แต่มาร์คก็พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา อาจจะด้วยมีความเป็นนักสู้อยู่ในตัว ประกอบการมองโลกในแง่ดีเพื่อเพิ่มพลังใจให้กับตัวเองว่า “ทุกปัญหาย่อมมีทางออก” เพียงแต่เราต้องพยายามค้นหาให้เจอว่า อะไรคือประเด็นที่ซ่อนอยู่ในปัญหานั้น และค่อยๆ แก้มันไปทีละเปลาะ
...
ท้ายบทความนี้
...
ผมขอเล่าเรื่องจริงของสาวน้อยมหัศจรรย์ ที่แม้แต่ วันเดอร์ วูแมน อาจต้องยอมยกนิ้วโป้งให้กับความเป็นนักสู้และการมองโลกในแง่ดีของเธอ
...
เธอมีชื่อว่า ‘อเล็กซานดร้า สก็อตต์ (Alexandra Scott)’ สาวน้อยมหัศจรรย์ผู้จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจกับคนทั้งโลก
...
อเล็กซานดร้า สก็อตต์ (Alexandra Scott) : เครดิตภาพ https://www.inquirer.com/philly/health/cancer-pediatric-lemonade-alex-letter-brother-20170803.html
“เมื่อชีวิตให้มะนาวที่เปรี้ยวเข็ดฟันมา ก็คั้นเป็นน้ำมะนาวอร่อยๆ ไว้ดื่มสิ เราทำเรื่องดีๆ ตอนที่เจอแต่เรื่องแย่ๆ ได้นี่คะ”
...
ในปี พ.ศ.2539 ณ รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา มีชีวิตตัวน้อยๆ ได้ถือกำเนิดขึ้น พ่อแม่ตกลงตั้งชื่อทารกน้อยคนนี้ว่า อเล็กซานดร้า สก็อตต์ หรือเพื่อนๆ เรียกเธอสั้นๆ ว่า ‘อเล็กซ์ สก็อตต์’
...
เมื่ออเล็กซ์อายุได้ 1 ขวบ หากเป็นเด็กคนอื่นอาจได้ของเล่น ตุ๊กตาเป็นของขวัญ แต่ทว่าอเล็กซ์กลับได้รับกระดาษวินิจฉัยโรคของหมอหนึ่งแผ่น
...
โดยหมอได้วินิจฉัยว่า อเล็กซ์โชคร้ายเป็นโรคนิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma)
...
เกร็ดข้อมูลแทรก
...
นิวโรบลาสโตมา คือ มะเร็งชนิดที่พบได้ส่วนใหญ่ในเด็ก โดยเฉพาะเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี และสามารถเกิดขึ้นได้แม้ว่าเด็กจะยังไม่คลอดจากท้องแม่
...
เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย แต่กลับพบได้มากที่สุดในเด็ก
...
สาเหตุของนิวโรบลาสโตมายังไม่ทราบแน่ชัด โรคนี้พบในเด็กที่มาจากครอบครัวเดียวกันได้น้อยมาก และโดยทั่วไปโรคนี้ไม่ถ่ายทอดในครอบครัวเดียวกัน
...
ครั้งเมื่ออเล็กซ์อายุได้ 4 ปี เธอต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด และระหว่างที่นอนรักษาตัวอยู่นั้น
...
อเล็กซ์ก็ตั้งปณิธานอย่างแรงกล้าว่า ‘เธอจะขอเอาชนะเจ้าโรคร้ายนี้ให้จงได้’ แต่ทว่าด้วยความมองโลกในแง่ดีของเธอนั้นกลับทะยานไปไกลกว่าแค่เป็นเรื่องของตัวเอง ‘นอกจากเธอจะได้ประโยชน์แล้ว เด็กคนอื่นๆ ที่ต้องประสบโชคชะตาแบบเดียวกับเธอ จะได้รับผลประโยชน์นี้ด้วยเช่นกัน’
...
เมื่อกลไกการมองโลกในแง่ดีบวกกับความใจสู้ทำงาน มุมมองคำอธิบายแบบเจาะจงก็เปิดตัวพร้อมทำงานโดยอัตโนมัติทันที
...
แพทย์จะทำการต่อสู้กับโรคนี้ได้ดีขึ้น อาจต้องมียาหรือเครื่องมือที่ดีกว่านี้
...
การที่จะได้มาซึ่งยาหรือเครื่องมือที่ว่านั้น แพทย์ต้องมีเงิน
...
“พอออกจากโรงพยาบาลเมื่อไร หนูจะตั้งโต๊ะขายน้ำมะนาวนะคะ” อเล็กซ์พูดเสียงใสแจ๋ว
...
“ทำไมหนูอยากตั้งโต๊ะขายน้ำมะนาวล่ะ?” ผู้เป็นพ่อและแม่สงสัย
...
“หนูจะได้มีเงินเยอะๆ เพื่อเอาไปให้คุณหมอ” แววตาของเด็กน้อยส่องประกาย รอยยิ้มฉีกกว้าง “หมอเขาจะสามารถรักษาหนูและเด็กคนอื่นได้ไงคะ”
...
แผงน้ำมะนาวแห่งความฝันของอเล็กซ์ : เครดิตภาพ https://www.alexslemonade.org/alexandra-alex-scott-biography
ภายในปีแรก อเล็กซ์ทำรายได้จากธุรกิจแผงน้ำมะนาวของเธอไปได้ถึง 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเธอก็รีบนำเงินไปมอบกับทีมแพทย์ที่รักษาเธอด้วยความดีใจ
...
แม้อเล็กซ์จะต้องย้ายไปอยู่ที่รัฐเพนซิลเวเนียในเวลาต่อมา เนื่องจากเธอต้องเข้ารับรักษาตัวที่จริงจังและต่อเนื่องมากขึ้น เพราะมะเร็งเริ่มกระจายตัวไปยังจุดอื่นแล้ว
...
แต่ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อ อเล็กซ์ยังคงตั้งแผงขายน้ำมะนาวของเธอเพื่อระดมทุนต่อไป ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหน หนาวหรือร้อนเพียงใด เธอยังมีความตั้งใจที่จะเอาชนะมัน และเธอเชื่อมั่นว่าเธอสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้
...
จนกระทั่งอเล็กซ์อายุได้ 8 ปี อเล็กซ์จำต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงที่โหดร้าย เจ้าอสูรกายที่มีเชื่อว่ามะเร็งนี้มันร้ายกาจเกินกว่าที่ร่างกายเธอจะรับมือไหวแล้ว มันค่อยๆ กัดกินพลังชีวิตเธอหรอยหลอลงไปทุกที
...
แต่แทนที่เธอปิดกั้นตัวเองและหยุดพัก อเล็กซ์ใช้ความเป็นยอดนักสู้และการมองโลกในแง่ดีของเธอ เร่งประสิทธิภาพกลไกกรอบความคิดแบบพัฒนาไปให้ถึงขีดสุด
...
อเล็กซ์ตั้งเป้าว่าจะระดมทุนให้ได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อตัวเธอเองแล้ว แต่เพื่อเด็กคนอื่นๆ ที่ต้องป่วยเป็นโรคนิวโรบลาสโตมา
...
“เพื่อช่วยเหลือเด็กคนอื่นๆ เหมือนที่หมอได้ช่วยหนู” อเล็กซ์บอกเล่าถึงปณิธานอันแรงกล้าของเธอให้กับหมอที่ดูแลเธอฟัง
...
แผนโต้กลับโรคร้ายของอเล็กซ์ในครั้งนี้ ทำให้เธอต้องเล่นใหญ่ขึ้น
...
อเล็กซ์อดทนเดินสายไปให้สัมภาษณ์ในรายการต่างๆ รวมถึงโชว์ของ โอปราห์ วินฟรีย์ ด้วย เพื่อบอกเล่าถึงความฝันอันแรงกล้าของเธอ และแม้ว่าเธอจะรู้สึกเจ็บทุกครั้งเวลาพูด (เพราะอเล็กซ์เพิ่งรับการฉายรังสีแบบเข้มข้นที่ลำคอมา) แต่อเล็กซ์ก็ยืนยันว่านี่คือสิ่งที่เธออยากจะทำจริงๆ
...
อเล็กซานดร้า สก็อตต์ กับ โอปราห์ วินฟรีย์ สองนักสร้างแรงบันดาลใจ : เครดิตภาพ https://myhero.com/Scott_SJH
4 ปีต่อมา แผงขายน้ำมะนาวของอเล็กซ์ก็สามารถระดมทุนได้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐสมกับที่เธอตั้งใจเอาไว้อย่างแรงกล้า
...
แต่ทว่า อเล็กซ์ไม่อาจได้รับรู้ความสำเร็จนี้ สาวน้อยมหัศจรรย์คนนี้ได้เปลี่ยนสถานะตัวเองเป็นนางฟ้าอยู่บนสวรรค์ตลอดกาล เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2547 ด้วยวัยเพียง 8 ปีเท่านั้น
...
การส่งต่อประกายไฟ
...
แม้อเล็กซ์จะจากไปก่อนที่ความฝันจะเป็นจริง แต่ด้วยปณิธานอันแรงกล้าของเธอ ทำให้ครอบครัวของอเล็กซ์ยังคงสานต่อความตั้งใจของเธอต่อไป
...
แต่ไม่เพียงเท่านั้น ความมุ่งมั่นของอเล็กซ์ได้สร้างแรงบันดาลใจไปทั่วสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้คนมากมายตั้งโต๊ะขายน้ำมะนาวของตัวเองบ้าง จนสามารถช่วยอเล็กซ์ระดมทุนได้สำเร็จตามที่อเล็กซ์ได้ตั้งเป้าหมายไว้
...
และในปี พ.ศ.2560 มูลนิธิโต๊ะขายน้ำมะนาวของอเล็กซ์สามารถระดมทุนให้กับการวิจัยโรคมะเร็งได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าไปแล้ว
...
วันนั้นอเล็กซ์อาจไม่สามารถเอาชนะโรคร้ายนี้ได้ แต่ในอนาคตเจ้าโรคร้ายอาจต้องสยบต่อมนุษย์ และนั้นต้องมีน้ำมะนาวของอเล็กซ์เป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญแน่นอน
...
หากเราสังเกตดีๆ การรับมือกับปัญหาของทั้ง มาร์ค วัทนี่ย์ และ อเล็กซานดร้า สก็อตต์ มีลำดับขั้นที่คล้ายคลึงกันมาก
...
ซึ่งทั้งหมดเริ่มจากขั้นบันไดแรกที่มีชื่อว่า ‘การมองโลกในแง่ดี’ เป็นจุดสตาร์ท เพื่อใช้เป็นแรงผลักดันตัวเองไปสู่ความคิดในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตัวเองขึ้นในอนาคต
...
เพราะหากคุณเริ่มด้วยการมองโลกในแง่ร้าย และทึกทักเอาว่าตัวเองคงไม่มีทางไปได้ไกลกว่านี้...คุณก็จะอยู่ที่เดิมนั้นจริงๆ และที่น่าเจ็บใจคือ ไม่ใช่คนอื่นที่ห้ามเราเดินนะ แต่มันคือตัวเราเองนี่แหละ
...
ซึ่งผมเคยเขียนไว้ในบทความที่มีชื่อว่า ‘สายพานขับเคลื่อนชีวิตที่มีชื่อว่า การมองโลกในแง่ดีหรือความคิดเชิงบวก’ โดยผมได้พูดถึงเรื่องของการมองโลกในแง่ดีนั้นสามารถส่งต่อไปถึงคนอื่นๆ ได้ ซึ่งในหลายๆ ครั้งมันมีชื่อเรียกว่า ‘แรงบันดาลใจ’ ที่มันสามารถสร้างพลังให้กับคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
...
และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้ ทั้ง มาร์ค วัทนี่ย์ และ อเล็กซานดร้า สก็อตต์ จะมอบแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับผู้อ่านทุกๆ ท่านได้ไม่มากก็น้อยนะครับ
...
บรรณานุกรม
เดวิด เจ.ไลเบอร์แมน. (2553). เข้าใจตัวเองใน 1 นาที. แปลจาก Instant Analysis. แปลโดย พูนลาภ อุทัยเลิศอรุณ และวิกันดา พินทุวชิราภรณ์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วีเลิร์น
แอนเจล่า ลี ดั๊กเวิร์ธ. (2562). สิ่งที่ต้องมี...เมื่อคุณไม่มีแต้มต่อในชีวิต. แปลจาก GRIT The Power of Passion and Perseverance. แปลโดย จารุวรรณ คงมีสุข. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วีเลิร์น
ณัฏฐ์ เอี่ยมขันทองสุข. (กันยายน 2558). The Martian “ช่วยด้วย! ผมติดอยู่บนดาวอังคาร”. Filmax. 9 (99), 102 – 107.
เดอะ มาร์เชียน กู้ตาย 140 ล้านไมล์. สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562, จากวิกิพีเดีย https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%B0_%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99_%E0%B8%81%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2_140_%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%8C
Admin. (18 กุมภาพันธ์ 2555). kindle คืออะไร. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.ereaderok.com/kindle-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/
Nangdee. Drew Goddard (ดรูว์ ก็อดดาร์ด). [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.nangdee.com/name/f/7831/Drew-Goddard-%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%A7%E0%B9%8C-%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%94.html
Bioscope Magazine. (29 กุมภาพันธ์ 2559). สรุปผลรางวัล ออสการ์ 2016. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://movie.mthai.com/movie-news/192555.html
กองบรรณาธิการ HONESTDOCS. (26 ธันวาคม 2562). นิวโรบลาสโตมา (Neuroblastoma). [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.honestdocs.co/this-is-neuroblastoma-cencer
กิตยางกูร ผดุงกาญจน์. (13 มิถุนายน 2562). “อเล็กซานดร้า สก็อตต์” สาวน้อย 4 ขวบ ที่ตั้งแผงขายน้ำมะนาวเพื่อหาเงินช่วยเพื่อนเป็นโรคมะเร็ง. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://thepeople.co/alexandra-scott-alexs-lemonade-stand/
ying. (9 ธันวาคม 2562). สำคัญที่ “ใจ” ไม่ใช่ “อายุ”! สูตรเด็ดความสำเร็จที่เด็กสี่ขวบก็ทำได้. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/187467.html

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา