5 ม.ค. 2020 เวลา 04:41 • การศึกษา
สรุปหนังสือ : Catalyst
The ultimate strategies on how to win at work and in life
by Chandramouli Venkatesan
Frist published year 2018
146 pages
การเกิดปฏิกิริยาเคมีนั้น โดยทั่วไปแล้วจำเป็นต้องมีสารตัวหนึ่งที่เรียกว่า “catalyst” เป็น “ตัวกระตุ้น” เพื่อให้ปฏิกิริยาเคมีเริ่มเกิดขึ้นได้ หรือเป็น “ตัวเร่ง” เพื่อให้ปฏิกิยาเคมีนั้นเกิดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น การประสบความสำเร็จเองก็จำเป็นต้องมี catalyst เช่นเดียวกันครับ
หนังสือเล่มนี้นำเสนอ catalyst ที่จำเป็น สำหรับผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทั้งในหน้าที่การงานและจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตได้อย่างน่าสนใจมาก ๆ ครับ
จงใส่ใจการเติบโตที่แท้จริงของตนเอง มากกว่าการเติบโตตามหน้าที่การงาน
ระยะเวลาการทำงานของเราตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานเฉลี่ยตอนอายุประมาณ 20 จนเกษียรก็น่าจะประมาณ 40 ปี การเติมโตตามหน้าที่การงาน (career growth) นั้นเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญอยู่ 2 เรื่อง นั่นคือ ความรู้ความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้นของเราเอง (real individual growth) และปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบ (environmental aspects)
และเจ้าปัจจัยแวดล้อมนี้เอง ที่ทำให้เราเติบโตในหน้าที่การงานไม่สอดคล้องกับความสามารถที่แท้จริงของเรา อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น เราอาจได้เลื่อนตำแหน่งเนื่องจากหัวหน้าคนปัจจุบันย้ายงานหรือลาออกไป ทั้ง ๆ ที่ความสามารถของเรายังไม่ถึง หรือโชคร้ายที่เรายังไม่สามารถเลื่อนตำแหน่งได้เนื่องจากภาวะเศษฐกิจถดถอด จนทำให้บริษัทต้องชลอการโปรโมท และการปรับเพิ่มเงินเดือน ทั้ง ๆ ที่เรามีความสามารถมากพอ
ปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้ มีได้ทั้งทางบวกและทางลบ แต่เชื่อไหมครับว่า โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเจอในด้านลบมากว่าด้านบวก ดังนั้นสิ่งที่เราควรให้ความสนใจก็คือ การโฟกัสไปที่การเติบโตหรือการเพิ่มความสามารถที่แท้จริงของเรา ถ้าเราสามารถเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ ความสามารถในการตัดสินใจ ทักษะการสื่อสาร หรือทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็น เราจะสามารถเติบโตในหน้าที่การงานได้อย่างอัตโนมัติ ดังคำกล่าวของนักปราชญ์ชาวอินเดียที่ว่า “Focus on the deeds, don’t worry about the results”
ประสบการณ์ ไม่ใช่แค่ระยะเวลาการทำงาน หากแต่เป็นระยะเวลาการทำงานผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพต่างหาก
หากมีคนถามว่า คุณมีประสบการณ์การทำงานมาแล้วกี่ปี คุณจะตอบคำถามนี้ว่าอย่างไรครับ สำหรับผมคงนับรวมระยะเวลาการทำงานว่าทำงานด้านนี้มาแล้วกี่ปี และหากเราถูกถามต่อว่า แล้วคุณมีประสบการณ์ใน “การนอน” มาแล้วกี่ปี คุณจะตอบว่าอย่างไรครับ …
แน่นอนครับ การนอนนั้นไม่ถือว่าเป็นประสบการณ์ ยกเว้นว่าคุณจะใช้เวลาเหล่านั้นในการฝึกการนอนให้มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ การทำงานก็เช่นเดียวกัน หากคุณทำงานโดยไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น ระยะเวลาที่คุณใช้ไปกับงานเหล่านั้นก็ไม่ถือว่าเป็นประสบการณ์เช่นกัน
กระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพนี้เอง จึงเป็น catalyst ที่สำคัญ ที่สามารถเปลี่ยนระยะเวลาการทำงานที่คุณใช้ไป ให้กลายเป็นประสบการณ์การทำงานได้อย่างแท้จริง
โมเดลในการเรียนรู้ที่ผู้เขียนแนะนำ เรียกว่า TMRR มาจากคำว่า Target, Measure, Review และ Reflect
หลักการของโมเดลนี้เริ่มจาก เราต้องตั้งเป้าหมายของแต่ละงานของเราให้ชัดเจนเสียก่อน (Target) จากนั้นต้องมีการวัดผลเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้อย่างสม่ำเสมอ (Measure) โดยหากผลที่ได้ต่างไปจากเป้าหมาย ให้เราพยายามหาสาเหตุว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น (Review) ส่วน R ตัวสุดท้ายคือการมองสะท้อนมาที่ตัวเราเอง (Reflect) โดยตั้งคำถามว่า “ฉันจะทำอะไรได้ดีกว่านี้อีก ?” ไม่ว่าสาเหตุของปัญหาจะเกิดจากอะไรหรือใคร หากเราตั้งคำถามนี้กับตัวเอง จะทำให้เรามองเห็นข้อพบพร่องของตัวเอง หรือสิ่งที่เราสามารถพัฒนาขึ้นได้อีก กระบวนการนี้จะทำให้เราเรียนรู้และพัฒนาตัวเองขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่อง
กระโดดเข้าหางานใหญ่ ๆ เข้าไว้
งานใหญ่ ๆ จะทำให้เรามีโอกาสในการใช้งานกระบวนการ TMRR ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การได้มีโอกาสเข้าร่วมทำงานในโครงการใหญ่ ๆ หรืองานใหม่ ๆ ที่เราไม่คุ้นเคย จะทำให้เราสามารถพัฒนาความสามารถของเราได้มากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ไป
ดังนั้นเราควรมองให้ไกลกว่างานที่เรารับผิดชอบอยู่ มองหาโอกาสที่จะได้รวมงานที่ท้าทาย โครงการใหญ่ ๆ หรืองานใหม่ ๆ ที่สามารถขยายขอบเขตการเรียนรู้ของเราให้เพิ่มมากขึ้นได้ งานใหญ่ ๆ นี้จะเป็นอีก catalyst ที่ช่วยเร่งให้กระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาความสามารถของเราเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ประด็นสำคัญคือ อย่ารอให้งานใหญ่ ๆ เหล่านี้เข้ามาหาคุณเอง คุณควรสร้างโอกาสและกระโดดเข้าหางานใหญ่ ๆ เข้าไว้ และพยายามใช้กระบวนการ TMRR เพื่อพัฒนาตัวเองให้ได้มากที่สุด และอยู่กับงานนั้นจนจบ
ให้ความสำคัญกับสิ่งที่สำคัญก่อน
ด้วยเวลาที่จำกัดในแต่ละวัน การรู้ว่าอะไรคืองานที่สำคัญและให้ความสำคัญกับงานนั้นก่อนจึงเป็นเรื่องจำเป็น ดังที่คุณ Stephen Covey ผู้แต่งหนังสือ “ The seven Habit of Highly Effective People” อธิบายไว้ว่า เวลาของเราก็เปรียบเหมือนโถแก้วใบหนึ่ง หากเราใส่เม็ดทรายหรืองานที่ไม่สำคัญเข้าไปก่อน เราจะใส่งานสำคัญหรือหินก้อนใหญ่ลงไปได้ไม่เยอะก็เต็มโถแล้ว แต่หากเราเลือกที่จะใช้เวลากับงานสำคัญก่อน หรือว่างหินก่อนใหญ่ลงไปในโถก่อน แล้วค่อยเติมเม็ดทรายลงไป เราจะสามารถวางหินก้อนใหญ่ได้มากขึ้น
สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องระบุหินก้อนใหญ่ของเราให้ชัดเจน ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิตเรา อะไรคืองานสำคัญที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แล้วให้เวลากับสิ่งเหล่านั้นก่อน และนี่คือ catalyst สำคัญ ที่จะพบเราก้าวไปสู้ความสำเร็จที่เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ได้
อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
คนส่วนใหญ่มักต้องการชื่นชมกับความหอมหวานของความสำเร็จ จนพลาดโอกาสในการเรียนรู้อย่างท่องแท้ หรือสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงเสียก่อน หลายคนประสบความสำเร็จในช่วงแรกของการทำงานแต่ก็ไปไม่รอดในระยะยาว
เช่น หากเรามีโอกาสร่วมงานกับรุ่นพี่ที่มีความสามารถ และได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานร่วมกันออกมา แต่ด้วยชื่อเสียงของรุ่นพี่ ทำให้เขาได้รับคำชมเชยจากผลงานนี้อย่างมากมาย ในขณะที่เราเองกลับไม่ได้รับคำชมใด ๆ ถึงแม้จะเป็นผลงานที่ร่วมกันทำมาด้วยกันก็ตาม เหตุการณ์ลักษณะนี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เราแยกตัวออกมาทำเอง เพราะคิดว่าเราเองก็มีความสามารถเหมือนกัน ในช่วงแรก ๆ เราก็อาจได้รับคำชมเชย แต่ในระยะยาวนั้น เราได้สูญเสียโอกาสในการเรียนรู้เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งกับรุ่นพี่คนนั้นไปเสียแล้ว
การอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หรือการยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้เราพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้สึกถึงความสำเร็จในช่วงแรกมากจนเกินไป โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว จะทำให้การเติบโตในช่วงครึ่งหลังของชีวิตการทำงานเป็นไปอย่างยากลำบาก
หากคุณอยากประสบความสำเร็จในระยะยาว คุณต้องอดกลั้นกับความเย้ายวนของความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงแรก อย่าทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้สึกถึงความสำเร็จ จนลืมนึกถึงผลที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
ในช่วงแรกของการทำงานเราควรมุ้งเน้นไปที่การเริ่งพัฒนาตัวเองให้มากที่สุด วางรากฐานของความรู้ความเชียวชาญให้แข็งแกร่ง ถึงแม้ผลของความพยายามนั้น อาจยังไม่ปรากฏในทันที แต่ในระยะยาวความพยายามและความอดทนนี้จะทำให้คุณประสบความสำเร็จอย่างมั่นคงแน่นอนครับ
เริ่งพัฒนาความสามารถในช่วงครึ่งแรกของการทำงาน เพื่อมุ่งความสำเร็จในช่วงครึ่งหลังหรือในระยะยาว
นอกจากเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ทรงพลังอย่าง กระบวนการ TMRR และแนวคิดในการพยายามพัฒนาตัวเองในช่วงครึ่งแรกของการทำงาน ผู้เขียนยังเสนอหลักคิดที่สำคัญ 3 อย่าง ที่ควรยึดถือในการพัฒนาตัวเองให้เติบโตในหน้าที่การงานได้อย่างรวดเร็ว
1. เน้นการพัฒนาตัวเองแบบ depth over width หรือพยายามรู้ให้ลึกก่อนที่จะรู้กว้าง เพราะการรู้ลึกจะเป็นการพัฒนาทักษะ ให้เกิดความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่งก่อน แล้วค่อยเพิ่มความรู้ โดยประยุกต์ใช้ทักษะที่สร้างขึ้นในตอนต้น ในการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ให้กว้างมากขึ้น
2. เข้ารวมงานใหญ่ ๆ และพยายามฟันฝ่าอุปสรรค์จนจบงานให้ได้ เพราะการได้เข้าร่วมงานใหญ่ คือโอกาสในการใช้กระบวนการ TMRR ที่สามารถพัฒนาความสามารถของเราได้รวดเร็วมากที่สุด แต่แน่นอนว่าคุณต้องเจอกับอุปสรรค์และความท้าทายมากมาย อย่าท้อแท้และพยายามใช้กระบวนการ TMRR เพื่อหาทางแก้ปัญหา หากคุณผ่านพ้นงานใหญ่มาได้ คุณจะรู้ว่าคุณเติบโตขึ้นมาจากเดิมได้มากแค่ไหน
3. พยายามลงรายละเอียดเท่าที่จะทำได้ การมองภาพจากหอคอยงาช้างนั้น อาจทำให้เรามองเห็นภาพรวมก็จริง แต่เราอาจไม่เห็นรายละเอียดหรือสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง การลงรายละเอียดอาจทำให้คุณต้องใช้เวลามากขึ้น แต่ก็จะทำให้คุณเข้าใจปัญหาได้มากขึ้นด้วย
หางานอดิเรกที่ต้องพัฒนาฝีมือ
คนที่ประสบความสำเร็จและ CEO หลายท่าน มักมีงานอดิเรกเป็นกีฬาประเภทการวิ่งมาราธอนหรือการเล่นกอล์ฟ โดยพวกเขาจะเล่นกันแบบจริงจังซะด้วย เรื่องนี้ไม่ใช้เหตุบังเอินครับ คนเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ของการหางานอดิเรกที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของพวกเขาโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ ความต้องการพื้นฐานหรือแรงจูงใจในการใช้ชีวิตและการทำงาน
แรงจูงใจในการใช้ชีวิต (Motivation of life)
สำหรับแรงจูงในการใช้ชีวิต หลายคนคงเคยได้ยินหรือรู้จักกับพีระมิดของมาสโลว์ หรือ Maslow’s hierarchy กันมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นพีระมิดที่อธิบายถึงสิ่งที่เป็นแรงจูงใจหรือความต้องการ 5 ขั้นของมนุษย์
โดยฐานของพีระมิดจะเริ่มจากความต้องการพื้นฐานทางกาย เช่น อาหาร น้ำดื่ม ความอบอุ่น และการพักผ่อน จากนั้นขั้นต่อมาก็จะเป็นเรื่องของความปลอดภัย ความรัก การเป็นที่ยอมรับ และสุดท้ายคือ การประสบความสำเร็จในชีวิต โดยความต้องการเหล่านี้มักจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นไปทีละขั้น
แรงจูงใจในการทำงาน (Motivation of work)
แรงจูงใจหรือความต้องการเกี่ยวกับการทำงานนั้นก็สามารถอธิบายได้ด้วยพีระมิดเช่นกัน ซึ่งมาจากแนวคิดและการศึกษาของ David McClelland และ Daniel Pink
โดยฐานของพีระมิดเริ่มจาก ความต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายของตนเองประสบผลสำเร็จ (Achivement) จากนั้นขั้นต่อไปก็คือ ความต้องการบริหารจัดการในฐานะผู้บริหาร (Mastery) และสุดท้ายคือ การบรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดในการทำงานของส่วนรวมหรือเป้าหมายขององค์กร (Purpose)
แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ฐานของพีระมิดครับ หลายคนไม่สามารถเติมเต็มส่วนล่างสุดของพีระมิดและก้าวขึ้นไปทำหน้าที่ผู้บริหารได้ ความต้องการประสบสำเร็จของตัวเอง เป็นดังสัตว์ป่าผู้หิวโหย พวกมันไม่เคยอิ่มและยังมีความต้องการตลอดเวลา
แน่นอนครับว่าการก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารอาจไม่สามารถละทิ้งเรื่องนี้ได้ แต่การมุ่งเน้นที่ผลสำเร็จของตนเองจนเกินไป จะทำให้คุณไม่สามารถพัฒนาทักษะที่สำคัญของการเป็นผู้บริหารและมุ่งไปที่ความสำเร็จของส่วนรวมหรือระดับองค์กรได้ นั้นคือทักษะการเป็นผู้นำ การโค้ชน้อง ๆ หรือทีมงานให้สามารถสร้างผลสำเร็จของงานได้เช่นเดียวกับคุณ และเป็นแรงผลักดันให้องค์กรประสบความสำเร็จในที่สุด
ดังนั้นการปีนขึ้นจากฐานของพีระมิดนี้ จึงอาจไม่ใช่การละทิ้งความต้องการพื้นฐานอย่างความต้องการผลสำเร็จของตัวเอง แต่แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องงาน ให้คุณเติมเต็มความสำเร็จส่วนตัวนี้ไปกับงานอดิเรกแทน ไม่ว่าจะเป็นการวิ่ง การเล่นกอล์ฟ หรือเรื่องอื่น ๆ ที่คุณชอบ แต่มีข้อแม้ว่า มันต้องเป็นเรื่องที่สามารถตั้งเป้าหมายที่ท้าทายได้ และควรเป็นสิ่งที่คุณทำเพียงคนเดียว เพื่อให้คุณสนุกกับการสร้างความสำเร็จส่วนตัวกับงานอดิเรกนี้แทน และทำหน้าที่ของผู้บริหารในเรื่องงานได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในฐานะของผู้นำ
สิ่งที่คุณให้คุณค่า คือ ตัวเร่งในการสร้างภาวะความเป็นผู้นำ
ในการเป็นผู้นำนั้น สิ่งที่ใช้วัดว่าคุณเป็นผู้นำที่ดีหรือไม่นั้น มาจาก 2 ส่วน คือ จำนวนของผู้ตาม (Followership) และอิทธิพลที่คุณมีต่อพวกเขา (Infuence) ซึ่งทั้งสองเป็นส่วนผสมสำคัญในการเป็นผู้นำที่ดี
ซึ่งการได้มาของทั้งสองอย่างนี้ โดยปกติแล้วคุณอาจจะต้องมี “ตำแหน่ง” และ “ความสามารถ” ที่เป็นที่ยอมรับ การมีตำแหน่งสูงขึ้น จะทำให้คุณต้องปรับฐานะตัวเองเป็นผู้นำไปโดยปริยาย ด้วยจำนวนของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของคุณ ส่วนความสามารถในการวางกลยุทธ์ การตัดสินใจ และการวางแผนที่เก่งกาจของคุณ จะทำให้ทั้งจำนวนผู้ตามและอิทธิพลที่คุณมีต่อพวกเขาสูงขึ้นตามไปด้วย
แต่ทว่า คนที่มีทั้งตำแหน่งและความสามารถใกล้เคียงกัน กลับประสบความสำเร็จในฐานะผู้นำได้ไม่เท่ากัน สิ่งที่พวกเขาแตกต่างกันก็คือ คุณค่าในตัวของพวกเขาเอง (Values) เช่น ความซื่อสัตย์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน เพราะคุณค่าในตัวคุณ จะสามารถเร่งให้เกิดความเชื่อใจจากผู้ติดตามของคุณได้แบบทวีคูณ
บางครั้งแม้ว่าคุณจะมีตำแหน่งที่ต่ำกว่า หรือมีความสามารถน้อยกว่า แต่หากคุณมีคุณค่าในตัวเองที่ชัดเจน ก็สามารถกลายเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ขอเพียงคุณพยายามสร้างคุณค่าให้ตัวคุณเองแบบที่เป็นตัวคุณจริง ๆ ไม่ได้เป็นการเสแสร้ง เพื่อสร้างความเชื่อใจและนำพาคนของคุณไปยังเป้าหมายพร้อม ๆ กัน
ขอบคุณที่ติดตามครับ
โฆษณา