7 ม.ค. 2020 เวลา 00:30 • เกม
โลกเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?
เรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
กับเกม Civilization VI
ตั้งแต่ปลายปี 2019 ที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้ สถานการณ์ไฟป่าในทวีปออสเตรเลียยังคงอยู่ในสภาวะวิกฤตเกินกว่าจะควบคุม
ไฟป่าาครั้งนี้ รุนแรงถึงขนาดที่ว่าสามารถสังเกตกลุ่มไฟและควันได้จากนอกโลก และเป็นเหตุการณ์ไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลียเลยทีเดียว
Cr : plantbasednews.org/
ในวันนี้คงไม่ต้องพูดถึงว่า ทุก ๆ คนตระหนักดีว่า ภาวะโลกร้อน เป็นวาระเร่งด่วนที่หลาย ๆ ประเทศในโลกกำลังพยายามแก้ไข โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2)
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขของรัฐบาลทั่วโลกนี้ จะไม่มีวันเป็นจริงได้ หากมนุษย์ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต ความเป็นอยู่ การเดินทาง การใช้พลังงานของเราเอง
ปัจจุบัน ผู้คนจากหลาย ๆ วงการไม่ว่าจะเป็นนักชีววิทยา องค์กรรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีการให้ความสำคัญกับ “เกม” มากขึ้น ในฐานะสื่อแห่งอนาคต ที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์โลกได้
วันนี้ผมอยากจะมาแนะนำเกมหนึ่ง ที่กล้าตัดสินใจนำภาวะโลกร้อนนี้ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเกมเพื่อสร้างความตระหนักกับสาธารณชน นั่นก็คือ “Sid Meier’s Civilization 6” ผู้เขียนขอเรียกสั้น ๆ ว่า Civilization นะครับ
Civilization เป็นเกมแนววางแผน แบบสลับกันเดิน แต่เดิมนั้นออกแบบโดยคุณ Sid Meier
ต่อมาในภาค 6 นี้ได้รับการพัฒนาโดย Firaxis Games จำหน่ายโดย 2K Games
ตัวเกมให้ผู้เล่นสามารถเลือกเล่นเป็นผู้นำอารยธรรมสำคัญ ๆ ในโลกได้เช่น เจงกิสข่าน อเล็กซานเดอร์มหาราช คลีโอพัตรา ซาลาดิน ราชินีวิกตอเรีย (ซึ่งในภาค 5 เราสามารถเลือกเล่นเป็นพ่อขุนรามคำแหงได้ด้วย) และผู้นำอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อนำพาอารยธรรมจาก 4,000 ปีก่อนคริสตกาล จวบจนปี 2050
เจงกิสข่าน ในเกม Civilization VI
ในเกมนี้ ผู้เล่นมีจุดประสงค์ในการเล่นคือ แผ่ขยายอารยธรรมของตนเองจนได้รับชัยชนะในแต่ละเงื่อนไข เช่น ชัยชนะทางการทหาร ชัยชนะทางวัฒนธรรม ชัยชนะทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับวิธีการที่เราแผ่ขยายอารยธรรมนั่นเอง
ในแต่ละตา เมืองจะมีพื้นที่ว่างให้ผู้เล่นเลือกในการทำการเกษตร หรือขุดเหมือง ใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศ เช่น หากเมืองอยู่ใกล้ทะเล ก็สามารถทำการประมง เพื่อขายปลาให้เมืองอื่นที่ห่างไกลทะเล หรือทำการเกษตรบริเวณที่ลุ่ม เพื่อให้ได้ผลผลิตดีขึ้น หรือสร้างค่ายฝึกทหาร ศาสนสถาน หรือสถานวิจัยวิทยาศาสตร์ก็ได้เช่นกัน
เมื่อมีทรัพยากรแล้ว เราก็สามารถเปิดเส้นทางการค้า และส่งทูตไปยังเมืองอื่น ๆ ได้เพื่อสานสัมพันธ์ และนำความมั่งคั่งสู่อาณาจักร
เมื่อต้นปี 2019 ทางผู้พัฒนาได้ปล่อยส่วนเสริมของเกมออกมาในชื่อว่า Gathering Storm ซึ่งนับว่าเป็นส่วนเสริมของเกมที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการเกมมาก เพราะในส่วนเสริมนี้ เกมได้ใส่ระบบการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกเข้ามาด้วย ซึ่งจะส่งผลกับตัวเกมพอสมควรเลย
นอกเหนือจากการแข่งขันกับมนุษย์ด้วยกันเอง ภาคเสริมนี้ได้เพิ่มภัยธรรมชาติต่าง ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ภัยแล้ง น้ำทะเลหนุน และเฮอริเคน
ซึ่งภัยธรรมชาติเหล่านี้ มีโอกาสเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเราได้พัฒนาเทคโนโลยีมาถึงในจุดหนึ่งที่สามารถสร้างเขื่อน หรือมีการก่อสร้างที่ซับซ้อนได้ ก็จะแก้ปัญหาบางอย่างได้ดีขึ้น
ปัญหาน้ำท่วมเมืองที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำ
แต่ทว่าส่วนที่น่าตื่นเต้นที่สุดของภาคเสริม Gathering Storm นี้ก็คือ การแสดงผลกระทบต่อธรรมชาติจากสิ่งที่ทุก ๆ อารยธรรมได้ทำลงไป
แน่นอนว่า ผู้เล่นทุกคนต้องค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อพาอารยธรรมของตนเองไปข้างหน้า ทุกอารยธรรมจึงหนีไม่พ้นการเผาไหม้เชื้อเพลิง หรือการผลิตพลังงานต่าง ๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นตัวเร่งให้สถาพอากาศเปลี่ยนแปลงเลวร้ายเร็วขึ้น
Gathering Storm ได้ทำการอธิบายสถานการณ์นี้ด้วย Interface ที่เข้าใจง่ายมาก ๆ ว่า เรื่องภาวะโลกร้อนนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่ค่อย ๆ เกิดขึ้นตามระดับความรุนแรง โดยระดับของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศตั้งแต่ 1 - 7 (โดยที่ 7 คือขั้นเลวร้ายที่สุด)
ตัวเลขที่สำคัญที่สุดคือ “Co2 รวมของทั้งโลก” ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับอารยธรรมใดอารยธรรมหนึ่ง ซึ่งจุดนี้แหละที่ทำให้เกมนี้แทบจะจำลองสถานการณ์โลกมาเลยก็ว่าได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับทุกประเทศที่อยู่บนโลกใบนี้
ต่อให้อารยธรรมของเราไม่ปล่อยก๊าซ Co2 เลยแม้แต่น้อย อารยธรรมของเราก็จะตามอารยธรรมอื่น ๆ ไม่ทันเช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็คงไม่อยากจะเป็นพวกอนุรักษ์ธรรมชาติที่ล้าหลัง จริงไหมครับ เพราะฉะนั้นการไม่ใช้พลังงานไฟฟ้า ถ่านหิน นิวเคลียร์เลยก็คงจะเป็นไปได้ยาก ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เขามีกันหมด
อีกหนึ่งประเด็นที่ Civilization ได้บอกเป็นนัยคือ “ไม่มีอะไรการันตีว่าทุกประเทศจะทำตัวดีกับสิ่งแวดล้อม ถึงแม้เราจะทำดีก็ตาม”
ในเกมนี้ สื่อออกมาได้อย่างดีเลยครับ ในขณะที่อารยธรรมของเรากำลังเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซ Co2 อย่างแทบเป็นแทบตาย ก็จะมีอีกอารยธรรมหนึ่ง (หรือหลายอารยธรรม) ที่ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้เลย เดินหน้าใช้แต่พลังงานถ่านหิน กลั่นน้ำมันใช้อย่างเดียว แต่ผลกระทบที่ได้รับ เช่น น้ำทะเลหนุนสูงนั้น ทุกคนโดนรวมกันหมด
นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมประเทศที่เป็นหมู่เกาะ มีพื้นที่เล็ก ๆ เขารณรงค์เรื่องนี้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะกลัวว่าถ้าน้ำทะเลหนุนสูง ประเทศของพวกเขาจะค่อย ๆ จมลงในทะเลนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในเกม ผู้เล่นจะเลือกไม่สนใจเรื่องนี้เลยก็ได้ ปล่อยให้ระบบนิเวศทุกอย่างพังทลาย แต่ในโลกความเป็นจริงนั้น มันไม่ได้จบลงที่เราปิดคอม มันยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่รู้จบ
เพราะฉะนั้น ผู้เขียนยังคงหวังว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะมีมาตรการจัดการกับสถานการณ์ไฟป่าที่รัดกุมมากขึ้น และขอให้รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศจะรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะจุดจบของโลกที่ไม่สนใจเรื่องนี้ เป็นจุดจบที่ไม่มีใครอยากให้เกิดจริง ๆ
ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามนะครับ
โฆษณา