7 ม.ค. 2020 เวลา 06:12 • การศึกษา
การเลี้ยงโคนม
อาชีพการเลี้ยงโคนม อาจกล่าวได้ว่าเป็นอาชีพที่ค่อนข้างใหม่สำหรับเกษตรกรบ้านเรา แต่ตามความเป็นจริงประเทศเราได้เคยสั่งโคนมพันธุ์ต่างประเทศเข้ามาทดลองเลี้ยงเมื่อกว่า 50 ปีล่วงมาแล้ว แต่การเริ่มต้นเลี้ยงในครั้งแรกประสบปัญหาบางประการ จึงนับว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา อาชีพการเลี้ยงโคนมจึงได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งและเริ่มรู้จักแพร่หลายเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามอาชีพการเลี้ยงโคนมอาจยึดเป็นอาชีพหลักได้หรืออาจเป็นอาชีพรองอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรควรจะทำควบคู่กันไปกับอาชีพอื่น เพื่อให้ได้รับประโยชน์มากที่สุดทั้งทางตรงและทางอ้อม
ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมาก ที่หันมาประกอบอาชีพการเลี้ยงโคนม ทั้งนี้เพราะได้เห็นตัวอย่างจากเพื่อนเกษตรกรที่ยึดอาชีพเลี้ยงโคนมมาก่อน ปรากฏว่ามีรายได้ดีสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำให้ครอบครัวมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับผลพลอยได้อื่น ๆ ตามมาอีกด้วย เช่นทำให้เด็ก ๆ มีจิตใจรักสัตว์ มีสุขภาพพลานามัยดีขึ้นและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มูลสัตว์ยังใช้เป็นปุ๋ยและช่วยบำรุงดิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากซึ่งเคยประกอบอาชีพอย่างอื่น เช่น ทำสวน ทำไร่ ทำนา ได้เล็งเห็นประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ ต่างก็หันมายึดอาชีพการเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหลักซึ่งส่วนใหญ่ก็ประสบผลสำเร็จ นั่นหมายถึงได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าและทำให้เศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้นเป็นลำดับและมีความมั่นคงถาวรสืบไป
การเริ่มต้นเลี้ยงโคนม
สิ่ง ที่ต้องคำนึงถึงก็คือ ทุน สถานที่ ตลาด และปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในที่นี้จะกล่าวเน้นเฉพาะทุนในการดำเนินการซึ่งทุนดังกล่าวอาจแบ่งแยกออกได้เป็น 5 รายการคือ
1. ทุนสำหรับซื้อโค
2. ทุนสำหรับสร้างโรงเรือนหรือคอกสัตว์
3. ทุนสำหรับการเตรียมแปลงหญ้า
4. ทุนสำหรับการหาแหล่งน้ำหรือการชลประทาน
5. ทุนสำหรับรับรองจ่าย ซึ่งหมายถึง ทุนหมุนเวียน เช่นค่าอาหาร หรือ ค่าแรงงานต่าง ๆ เป็นต้น
การเริ่มต้นเลี้ยงโคนมอาจเริ่มต้นได้หลายวิธี ซึ่งแล้วแต่ความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละบุคคลในการเริ่ม ต้นที่จะเลี้ยง ซึ่งอาจพอแนะนำพอเป็นสังเขปได้ เช่น
1.เริ่มต้นโดยการหาหรือเลือกซื้อแม่โคพันธุ์พื้นเมืองหรือแม่ที่มีสายเลือดโคเนื้อที่มีลักษณะดีไม่เป็นโรคติดต่อมา เลี้ยง แล้วใช้วิธีผสมเทียมกับสายเลือดโคพันธุ์นมของยุโรปพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่ง เมื่อได้ลูกผสมตัวเมียก็จะมีเลือดโคนม 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 30 - 36 เดือนก็จะให้ลูกตัวแรกแม่โคตัวนี้ก็จะเริ่มรีดนมได้
2.เริ่มต้นโดยหาซื้อลูกโคนมพันธุ์ผสมเพศเมียมาเลี้ยง โดยอาศัยนมเทียมหรือหางนมผงละลายน้ำให้กินในปริมาณ จำกัด พร้อมทั้งให้อาหารข้นและหญ้าแก่ลูกโคจนกระทั่งหย่านม - อายุผสมพันธุ์ - ท้อง - คลอดลูกและเริ่มรีดนม ได้
3.เริ่มต้นโดยการจัดซื้อโคนมอายุเมื่อหย่านม,โครุ่น,โคสาวหรือโคสาวที่เริ่มตั้งท้องหรือแม่โคที่เคยให้นมมาแล้ว จากฟาร์มใดฟาร์มหนึ่งมาเลี้ยง วิธีนี้ใช้ทุนค่อนข้างสูงแต่ให้ผลตอบแทนเร็ว
หลักในการเลือกซื้อโคนม
ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรจะเริ่มต้นเลี้ยงโคนมด้วยวิธีใดก็ตามควรจะมีหลักในการพิจารณาเลือกซื้อโคนมบ้าง เพื่อให้ได้สัตว์ ที่มีคุณภาพดี ซึ่งหลักในการพิจารณาเลือกซื้อโคนมดังกล่าวมีอยู่หลายประการอาจกล่าวแนะนำพอสังเขปได้ดังนี้ คือ
1.ไม่ว่าจะเลือกซื้อโคขนาดใดก็ตามต้องสอบถามประวัติ ซึ่งหมายถึง สายพันธุ์และความเป็นมาอย่างน้อยพอสังเขป
2.ถ้าเป็นโครีดนมควรจะเป็นแม่โคที่ให้ลูกตัวที่ 1 ถึง ตัวที่ 4
3.ถ้าเป็นแม่โคที่รีดนมมาหลายเดือนควรจะตั้งท้องด้วย
4.ถ้าเป็นโคสาวหรือแม่โคนมแห้งก็ควรจะเป็นแม่โคที่ตั้งท้องด้วยเพื่อเป็นการย่นระยะเวลาจะได้รีดนมเร็วขึ้น
5.ควรเป็นโคที่มีประวัติการให้นมดีพอใช้และต้องปลอดจากโรคแท้งติดต่อและโรควัณโรค
การเลี้ยงดูลูกโค
ก่อนที่จะพูดถึงการเลี้ยงลูกโคควรจะทำความรู้จักกับนมน้ำเหลืองก่อน นมน้ำเหลือง คือน้ำนมที่ผลิตออกมาจากแม่โคในระยะแรกคลอด จะผลิตออกมานานประมาณ 2 - 5 วัน ต่อจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นนมธรรมดา ลักษณะของนมน้ำเหลือจะมีสีขาวปนเหลืองมีรสขม มีคุณสมบัติคือ จะมีภูมิคุ้มโรค อีกทั้งช่วยป้องกันโรคที่เกิดกับระบบลำไส้และผิวหนัง และยังเป็นยาระยายท้องอ่อน ๆ ของลูกโคอีกด้วย มีคุณค่าทางอาหารสูง เมื่อลูกโคคลอดมาใหม่ ๆ ควรแยกลูกโคออกจากแม่โคทันที และควรจะให้กินนมน้ำเหลืองจากแม่โคภายใน 6 ชั่วโมง หลังคลอดเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงเร็ว ลูกโคควรได้กินนมน้ำเหลืองราว 2 - 5 วัน ให้กินวันละ 2 เวลา เช้า, เย็น
วิธีการฝึกให้ลูกโคกินนม
อาจฝึกได้โดยให้ลูกโคกินนมจากถังพลาสติกหรืออะลูมิเนียม หัดให้กินโดยใช้นิ้วมือจุ่มลงในน้ำนมให้เปียก แล้วแหย่เข้าไปในปากลูกโคให้ลูกโคดูดแล้วกดหัวลูกโคให้ปากจุ่มลงไปในน้ำนม ลูกโคจะดูดนิ้วมือขณะเดียวกัน น้ำนมก็จะไหลเข้าไปได้ หัดดูดนิ้วมือเช่นนี้ ประมาณ 3 - 4 ครั้ง ต่อ ๆ ไปจึงค่อย ๆ ดึงนิ้วมือออก ปล่อยให้ลูก โคดูดกินเองต่อไป ทำเช่นนี้ประมาณ 1 - 3 วัน ลูกโคก็จะค่อย ๆ เคยชินสามารถดูดจากถังเองได้
วิธีเลี้ยงลูกโคระยะแรกอาจปฏิบัติได้ดังนี้
นมแม่ ให้ลูกโคกินต่อหลังจากนมน้ำเหลืองหมด จนลูกโคอายุได้ 1 เดือน (4สัปดาห์) แล้วจึงให้กินนมเทียม หรือนมผงละลายน้ำต่อจน อายุได้ 3 - 4 เดือน (12 - 16 สัปดาห์) จึงหย่านม
นมเทียม หรือนมผงละลายน้ำ สำหรับการเลี้ยงลูกโคเพศเมียควรให้กินต่อจากนมแม่เมื่ออายุได้ 1 เดือน (4สัปดาห์) แต่สำหรับลูกโคเพศผู้ ควรใหกินนมแม่อย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงเริ่มให้กินนมเทียมหรือนมผงละลายน้ำ และให้กินต่อไปจนหย่านมหรืออายุได้ประมาณ 3 - 4 เดือน (12 - 16 สัปดาห์)
***หมายเหตุ การเลี้ยงดูลูกโคนมดังกล่าวมาแล้ว เป็นการเลี้ยงดูโคแบบ "ให้นมจำกัดพร้อมให้อาหารข้นลูกโคอ่อน" ไม่ว่าเลี้ยงดูด้วยนมแม่หรือนมเทียมกล่าวคือ การให้นมควรจะให้ในปริมาณที่เกือบคงที่ตลอดไป คือประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ตัวอย่างเช่น ลูกโคเกิดมามีน้ำหนัก 30 กิโลกรัมก็ให้นมวันละ 3 - 4 กิโลกรัมตลอดไป โดยแบ่งให้เช้า 2 กิโลกรัม บ่าย 2 กิโลกรัมจนอายุหย่านม ในขณะเดียวกันควรตั้งอาหารข้นสำหรับลูกโคและหญ้าแห้งคุณภาพดีวางไว้ให้ลูกโคได้ทำความรู้จักและหัดกินตั้งแต่ลูกโคอายุได้ 1 สัปดาห์จนถึง 12 สัปดาห์ ต่อจากนั้นให้กินหญ้าสด วิธีการดังกล่าวเป็นการหัดโดยการบังคับให้ลูกโคช่วยเหลือตัวเองโดยเร็วที่สุด เป็นวิธีการที่ประหยัดนมแม่โครวมทั้งนมเทียมได้มาก เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการเลี้ยงดูลูกโค
อนึ่งสำหรับวิธีการผสมนมเทียมหรือนมผงละลายน้ำ เราอาจใช้การผสมในอัตราส่วน 1 ต่อ 7 ถึง 10 ส่วน แต่ที่นิยมใช้คือ 1 ต่อ 8 หรือ 1 ต่อ 9 ส่วน ตัวอย่างเช่น ถ้าใช้นมผง 1 กิโลกรัม ก็ต้องผสมน้ำ 8 กิโลกรัม หรือถ้าใช้นมผง 1/2 กิโลกรัม ก็ต้องผสมน้ำ 4 กิโลกรัม ในการผสมแต่ละครั้งควรคนให้เข้ากันและต้องเติมน้ำมันตับปลาหรือวิตามินลงไปด้วย การผสมนมผงแต่ละครั้งมากน้อยแค่ใหนขึ้นอยู่กับท่านมีลูกโคจำนวนมากน้อยเพียงใด
การทำเครื่องหมาย
ลูกโค ที่เกิดออกมาโดยมีพ่อและแม่พันธุ์เดียวกัน พ่อตัวเดียวกันก็ย่อมจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน เมื่อโตขึ้นอาจจะจำไม่ได้หรือจำผิดพลาดได้ว่าเกิดเมื่อไหร่ พ่อแม่ชื่ออะไร หรือเบอร์อะไร และเมื่อทำการซื้อ - ขาย จะทำประวัติก็เป็นการยุ่งยากลำบาก ดังนั้นลูกโคจึงจำเป็นที่จะต้องทำเครื่องหมายเพื่อแสดงให้ทราบว่าเกิดจากพ่อ - แม่พันธุ์อะไร เบอร์อะไร ซึ่งจะเป็นการสะดวกในการทำประวัติ และป้องกันรักษาโรค ซึ่งอาจทำได้หลายวิธีด้วยกันอาทิเช่น ทำเครื่องหมายโดยตัดหู ตีเบอร์ติดหู ตีเบอร์ไฟ หรืออื่น ๆ เป็นต้น และเมื่อลูกโคอายุได้ประมาณ 3 - 6 สัปดาห์ หรือประมาณ 1 - 2 เดือน ก็ควรทำการจี้เขาเพื่อทำไม่ให้มีเขาอันจะเป็นอันตรายต่อฝูงโคหรือเจ้าของสัตว์เองได้
การเลี้ยงโครุ่น-โคสาว
เมื่อลูกโคอายุได้ 4 เดือน ระบบการย่อยได้พัฒนาดีขึ้น ในช่วงนี้อัตราการตายจะต่ำหรืออาจจะกล่าวได้ว่า พ้นช่วงระยะอันตรายแล้ว จากระยะนี้ถึงระยะโครุ่น คืออายุประมาณ 180 - 205 วัน (น้ำหนักประมาณ 120 - 150 กิโลกรัม) ซึ่งระยะนี้โคจะสามารถกินหญ้าได้ดีแล้ว จากนั้นก็จะถึงระยะการเป็นโคสาว (น้ำหนักประมาณ 200 - 250 กิโลกรัม) ต่อไปก็จะถึงระยะเกณฑ์ผสมพันธุ์ คืออายุได้ประมาณ 18-22 เดือน (น้ำหนักประมาณ 250 กิโลกรัม หรือประมาณ 60 - 70 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักเมื่อโตเต็มที่) ในช่วงดังกล่าวนี้โคจะเจริญอย่างรวดเร็ว ควรเพิ่มอาหารผสมให้บ้างเป็นวันละ 1 - 2 กิโลกรัมและให้หญ้ากินเต็มที่ในกรณีที่เลี้ยงแบบปล่อยลงในแปลงหญ้าก็จะเป็นการดียิ่งขึ้นเพราะโคได้ออกกำลังกายและยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและแรงงานได้มากอีกด้วยแต่อย่างไรก็ตามในการให้อาหารผสม(อาหารข้น)แก่โครุ่น-โคสาวในปริมาณมากน้อยเท่าใดนั้นให้พิจารณาถึงคุณภาพของหญ้าที่มีอยู่ในขณะนั้นเป็นสำคัญ
การเลี้ยงและดูแลโครีดนม
แม่โค จะให้นมหรือมีน้ำนมให้รีดก็ต่อเมื่อหลังจากคลอดลูกในแต่ละครั้ง ซึ่งจะให้นมเป็นระยะยาว, สั้น มากน้อยต่างกัน ขึ้นกับความสามารถของแม่โคแต่ละตัวพันธุ์และปัจจัยอื่นอีกแต่โดยทั่วไปจะรีดนมได้ประมาณ 5 - 10 เดือน นมน้ำเหลืองควรจะรีดให้ลูกโคกินจนหมด ไม่ควรนำส่งเข้าโรงงานเป็นอันขาดและควรให้อาหารแก่แม่โคอย่างเพียงพอ เพื่อแม่โคจะได้ไปสร้างน้ำนมและเสริมสร้างร่างกายส่วนอื่น ๆ ที่ยังไม่สมบูรณ์ได้อย่างเพียงพอภายหลังจากคลอดลูก โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 30 - 70 วัน หลังจากคลอด มดลูกจะเริ่มกลับเข้าสู่สภาพปกติแม่โคจะเริ่มเป็นสัดอีก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อแม่โคแสดงอาการเป็นสัดภายหลังคลอดน้อยกว่า 25 วัน ยังไม่ควรให้ผสม เพราะมดลูกและอวัยวะต่าง ๆ ในระบบสืบพันธุ์เพิ่งฟื้นตัวใหม่ ๆ ยังไม่เข้าสู่สภาพปกติ ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ควรจะรอให้เป็นสัดครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจึงค่อยผสม ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 45 - 72 วัน หลังจากคลอด
การเป็นสัดคืออะไร
การเป็นสัด คือ การที่สัตว์ตัวเมียยอมให้ผสมพร้อม ๆ กันจะมีการตกไข่เกิดขึ้น (โคนมลูกผสมส่วนมากจะมีอายุเข้าสู่วัยหนุ่มสาวประมาณ 1 - 2 ปีโดยเฉลี่ย ) โคเป็นสัดก็หมายถึง โคที่เริ่มจะเป็นสาวแล้วพร้อมที่จะได้รับการผสมโดยวิธีใดวิธีหนึ่งซึ่งอาจเป็นการผสมเทียมหรือผสมแบบธรรมชาติก็ได้แล้วแต่ความสะดวกหรือความต้องการของผู้เป็นเจ้าของ การเป็นสัดของโคแต่ละ รอบจะห่างกันประมาณ 21 วัน และในแต่ละครั้งของการเป็นสัดแล้วประมาณ 14 ชั่วโมง ช่วงระยะเวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับการผสม คือ ระยะก่อนที่ไข่จะตกเล็กน้อย โดยทั่วไปเจ้าของสัตว์อาจจะพบหรือสังเกตเห็นสัตว์ของตนเป็นสัดในเวลาเย็นหรือตอนกลางคืน หรืออาจจะพบเมื่อใกล้ถึงตอนปลายของการเป็นสัดแล้ว ดังนั้นเพื่อให้ได้ผลในทางปฏิบัติอาจแนะนำพอเป็นแนวทางในการปฏิบัติคือ ถ้าเห็นโคเป็นสัดตอนเช้าก็ควรผสมอย่างช้าตอนบ่ายวันเดียวกัน และถ้าเห็นโคเป็นสัดตอนบ่ายหรือเย็นก็ควรผสมอย่างช้าเช้าวันรุ่งขึ้น
การสังเกตการเป็นสัดในโคตัวเมีย
เจ้าของสัตว์ อาจสังเกตหรือพบเห็นอาการของโคที่เป็นสัดจากอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรืออาจแสดงออกมาพร้อม ๆ กันให้เห็นได้ดังนี้
1. ส่งเสียงร้องที่ผิดปกติ
2. เครื่องเพศบวมแดง
3. ปัสสาวะถี่
4. มีน้ำเมือกใสและเหนียวไหลออกมาจากช่องคลอดหรือเลอะบริเวณก้นทั้งสองข้าง
5. ไม่สนใจอาหารหรือกินอาหารน้อยทั้งอาหารน้อยทั้งอาหารข้นและหญ้า
6. ถ้าเป็นแม่โคที่กำลังให้นมจะพบว่าน้ำนมลดลง
7. ขึ้นขี่ตัวอื่นหรือยอมให้ตัวอื่นขี่
8. สังเกตที่ดวงตาจะเห็นม่านตาเบิกกว้างบ่อยครั้งกว่าปกติส่อให้เห็นการตื่นตัวและตื่นเต้นง่าย
การผสมเทียม
การผสมเทียม หมายถึง การรีดน้ำเชื้อจากสัตว์พ่อพันธุ์แล้วนำไปฉีดเข้าในอวัยวะของสัตว์ตัวเมีย เมื่อสัตว์ตัวเมียนั้นแสดงอาการของการเป็นสัดแล้วทำให้เกิดการตั้งท้องแล้วคลอดออกมาตามปกติ
ประโยชน์ของการผสมเทียม
1. ทำให้ประหยัดพ่อพันธุ์เมื่อรีดเก็บน้ำเชื้อจากสัตว์พ่อพันธุ์ได้แต่ละครั้งสามารถนำมาละลายน้ำเชื้อแล้วแบ่งใช้ผสมกับสัตว์ตัวเมียได้จำ นวนมาก
2. สามารถผสมพันธุ์สัตว์ที่มีขนาดใหญ่หรือเล็กต่างกันได้ โดยไม่มีอันตรายจากการขึ้นทับของพ่อพันธุ์
3. ไม่ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงพ่อพันธุ์
4. ตัดปัญหาในเรื่องขนส่งโคไปผสมเพราะสามารถนำน้ำเชื้อไปผสมได้ไกล ๆ
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมเทียม
โคตัวเมีย ที่แสดงอาการเป็นสัดดังกล่าว ควรจะได้รับการผสมเทียมในระยะเวลาช่วงกลางของการเป็นสัด หรือใกล้ระยะที่จะหมดการเป็นสัด (อาจจะหมดการเป็นสัดไปแล้วประมาณ 6 ชั่วโมงก็ได้ หรือเมื่อโคเพศเมียตัวนั้นยืนนิ่งให้ตัวอื่นขึ้นขี่ ซึ่งใช้เป็นหลักในการผสมพันธุ์) โดยทั่ว ๆ ไปโคเพศเมียจะมีระยะเป็นสัดประมาณ 18 ช.ม. แล้วต่อมาอีก 14 ช.ม. จึงจะมีไข่ตกเพื่อรอรับการผสมพันธุ์กับน้ำเชื้อพ่อโค จึงเห็นสมควรที่ต้องเลือกเวลาที่เหมาะสม ในการดำเนินการเรื่องของรับบริการผสมเทียมดังมีหลักการที่จะใช้ในการปฏิบัติงานผสมเทียมคือ
1. เมื่อโคเพศเมียตัวใดแสดงอาการเป็นสัดในตอนรุ่งเช้าของวันใดวันหนึ่ง ควรที่จะได้รับการผสมเทียมในวันเวลาเดียวกัน (ก่อน 16.30 น.) ฉะนั้นพอรุ่งเช้าของแต่ละวันเจ้าของสัตว์ควรที่จะได้ไปแจ้งและบอกเวลา (ประมาณ) ที่ท่านได้เห็นสัตว์ของท่านแสดงอาการเป็นสัด
2. ถ้าโคเพศเมียตัวใดแสดงอาการเป็นสัดในตอนบ่ายของวันใดวันหนึ่ง ควรที่จะได้รับการผสมเทียมตอนเช้าหรือก่อนเที่ยงของวันรุ่งขึ้น ฉะนั้นเจ้าของสัตว์เมื่อพบว่าสัตว์แสดงอาการเป็นสัดในตอนบ่ายหรือตอนเย็น ท่านควรจะไปแจ้งและบอกเวลาของการเป็นสัด (ประมาณ) ในรุ่งเช้าของวันต่อไปก็ได้
ถ้าท่านได้ศึกษาและรู้จักสังเกตการแสดงอาการเป็นสัด ว่าอาการเป็นอย่างไรและหาระยะเวลาที่จะผสมเทียมให้พอเหมาะแล้ว จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องการผสมเทียมติดยากหรือผสมไม่ค่อยติดในโคเพศเมียของท่านได้ทางหนึ่ง และจะทำให้เป็นประโยชน์ในด้านการเพิ่มจำนวนและปริมาณน้ำนมในกิจการโคนมของท่านยิ่งขึ้น จึงเห็นสมควรที่จะเรียกช่วงเวลาอันสำคัญนี้ว่า "นาทีทองในโคนมตัวเมีย"
จะรู้ได้อย่างไรว่าโคตั้งท้องหรือไม่
เมื่อโคนาง ได้รับการผสมไปแล้วประมาณ 21 วันหากโคไม่กลับมาแสดงอาการเป็นสัดอีกก็อาจคาดได้ว่าผสมติดหรือโคตัวนั้น เริ่มตั้งท้องแล้ว เพื่อให้รู้แน่ชัดยิ่งขึ้นภายหลังจากการผสมโคนางแล้ว 50 วันขึ้นไปอาจติดต่อสัตวแพทย์หรือบุคคลผู้มีความ ชำนาญในการตรวจท้องแม่โค (โดยวิธีล้วงเข้าไปคลำลูกโคทางทวารของแม่โค) มาทำการตรวจท้องแม่โคก็จะทราบได้แน่ชัดยิ่งขึ้น
ข้อสังเกต ในกรณีโคสาว จะสังเกตได้จากการเจริญเติบโตที่เร็วขึ้น กินจุขึ้น ความจุของลำตัวโดยเฉพาะส่วนท้องซี่โครงจะกางออกกว้าง ขึ้น ขนเป็นมัน และไม่เป็นสัดอีก
การคลอดลูก
โดยทั่วไปแม่โคจะตั้งท้องประมาณ 283 วัน หรือประมาณ 9 เดือนเศษ ในช่วงนี้แม่โคจะได้การเอาใจใส่ดูแลเรื่องความเป็นอยู่และอาหารเป็นพิเศษ เพราะลูกในท้องเจริญขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในระยะก่อนคลอดประมาณ 45 - 80 วัน ควรเพิ่มอาหารผสมให้แก่แม่โคท้อง เพื่อแม่โคจะได้นำไปเสริมสร้างร่างกายส่วนที่สึกหรอ และนำไปเลี้ยงลูก หรือนำไปสร้างความเจริญเติบโตสำหรับอวัยวะบางอย่างที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากที่สุดและเพื่อไม่ให้แม่โคซูบผอม สำหรับแม่โคที่กำลังให้นม เมื่อตั้งท้องลูกตัวต่อไปควรจะหยุดรีดนมก่อนคลอดประมาณ 45 - 60 วัน สำหรับแม่โคท้องแรกหรือท้องสาวหรือแม่โคที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ (อายุไม่ถึง 5 ปี) แม้จะให้ลูกมาแล้ว 1 หรือ 2 ตัวก็ตาม ก่อนคลอดลูกตัวต่อไปควรจะหยุดพักการรีดนมเร็วกว่าแม่โคที่โตเต็มที่แล้ว อย่างน้อยก่อนคลอดประมาณ 45 - 60 วัน เพื่อให้แม่โคได้มีเวลาเตรียมตัวได้พักผ่อนร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ บ้าง มิฉะนั้นแม่โคอาจจะได้รับผลกระทบกระเทือน นั่นหมายถึงผลเสียหายที่จะตามมาภายหลังได้ เช่น ร่างกายจะชะงักการเติบโตเพราะอาหารไม่พอ ร่างกายไม่สมบูรณ์ เมื่อคลอดลูกออกมาลูกโคอ่อนแอ มีช่วงระยะการให้นมในปีต่อไปสั้นลง ผสมติดยาก ทิ้งช่วงการเป็นสัดนาน และอื่น ๆ เป็นต้น
อาการที่แม่โคแสดงออกเมื่อใกล้คลอด
เราอาจจะสังเกตอาการต่างๆได้ดังนี้
1. เต้านมขยายใหญ่ขึ้น
2. อวัยวะเพศขยายตัวขึ้น ยิ่งใกล้วันคลอดเข้ามาสังเกตเห็นมีน้ำเมือกไหลออกมาจากช่องคลอด
3. กระดูกเชิงกรานขยายตัวออกกว้างขึ้น โคนหางตรงกระดูกก้นกบจะบุ๋มลึกลงทั้งสองข้าง
4. ช่องท้องตรงสวาปจะลึกหย่อนลง
5. ยกหางขึ้น-ลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราว
6. ถ้าเป็นโคที่ปล่อยรวมฝูงจะพยายามแยกตัวออกจากฝูง
7. แม่โคที่ถูกขังจะไม่สนใจในการกินหญ้า อาหาร ยืนกระสับกระส่าย ขกขาหลังแตะอยู่เรื่อย ๆ มีการเบ่งคลอดตลอดเวลา
จะรู้ได้อย่างไรลูกโคคลอดปกติหรือไม่
ลักษณะการคลอดลูกในท่าปกติของแม่โค คือ ลูกโคจะเหยียดขาหน้าตรงออกมาพร้อมกันทั้งสอง (ส่วนหัวแนบชิดกับเข่า) จะเห็น เป็น 3 จุด คือ 2 กีบข้างหน้า และจมูก ถ้าหากมีลักษณะอื่น ๆ ผิดไปจากนี้ให้ถือเป็นการคลอดที่ผิดปกติ อาทิเช่น หัวพับหรือเอาด้าน หลังออกมาก่อนส่วนอื่น หรือกรณีที่ลูกโคมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถผ่านช่องคลอดออกมาได้ หรือกรณีอื่น ๆ เช่นนี้ควรรีบติดต่อสัตวแพทย์มาช่วยทำการคลอด และหากลูกโคคลอดออกมาแล้วรกยังไม่ออกตามมาถ้าเกิน 12 ชั่วโมง ควรรีบตามสัตวแพทย์มาช่วยแก้ไข เพราะถือว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นกับแม่โค ซึ่งต้องรีบทำการรักษา หลังจากลูกโคคลอดออกมาแล้วควรรีบเช็ดทำความสะอาดตัวลูกโคให้แห้งโดยเร็ว โดยเฉพาะเมือกบริเวณจมูกปากและลำตัวพร้อมกับทำการตัดสายสะดือให้ห่างจากตัวโคประมาณ 1 นิ้วแล้วทาด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน
การรีดนม
การรีดนม หมายถึง การกระทำอย่างใดอยางหนึ่งเพื่อที่จะเอานมออกจากเต้านมของแม่โค น้ำนมส่วนมากจะถูกขับออกมาโดยการกระตุ้นทางระบบประสาทและฮอร์โมนพร้อม ๆ กับการรีด นั่นคือ การทำให้ภายในหัวนมเกิดมีแรงอัดดันจนทำให้รูหูนมเปิดออก น้ำนมซึ่งอยู่ภายในจึงไหลออกได้
การรีดนมมีอยู่ 2 วิธีคือ
1. การรีดนมด้วยมือ
2. การรีดนมด้วยเครื่อง
หลักที่ควรคำนึงถึงและถือปฏิบัติในการรีดนม
1. ควรรีดให้สะอาด
2. ควรรีดให้เสร็จโดยเร็ว
3. ควรรีดให้น้ำนมหมดเต้า
ขั้นตอนในการรีดนมเพื่อให้ได้น้ำนมที่สะอาด
1. การเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโดยใช้น้ำยาคลอรีนอย่างเจือจาง
2. การเตรียมอุปกรณ์การรีดซึ่งรวมถึงผู้ที่ทำการรีดและแม่โค ให้เรียบร้อยการเตรียมการต่าง ๆ ควรจัดการให้สะอาดหรือฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาคลอรีน
3. ทำความสะอาดตัวโคและบริเวณคอกที่สกปรก
4. ล้างเต้านมด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำยาคลอรีนพร้อมกับนวดเช็ดเบา ๆ
5. ก่อนลงมือรีดควรตรวจสอบความผิดปกติของน้ำนมหรือทำการรีดน้ำนมที่ค้างอยู่ในหัวนมทิ้งเสียก่อน
6. ขณะลงมือรีดนมควรรีบรีดให้เร็วที่สุดไม่หยุดพัก กะให้เสร็จภายใน 5 - 8 นาที และต้องรีดให้หมดทุกเต้า
การรีดนมด้วยมือ
กระทำได้โดยการ ใช้นิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้บีบหรือรีดหัวนมตอนบน เพื่อเป็นการปิดทางนมเป็นการกันไม่ให้น้ำนมในหัวนมหนีขึ้นไปอยู่ตอนบน ต่อมาก็ใช้นิ้วที่เหลือ (กลาง, นาง, ก้อย) ทำการบีบไล่น้ำนมตั้งแต่ตอนบนเรื่อยลงมาข้างล่างจะทำให้ภายในหัวนมมีแรงอัดและน้ำนมจะถูกดันผ่านรูนมออกมาและเมื่อขณะที่ปล่อยช่องนิ้ว (หัวแม่มือ, นิ้วชี้) ที่รีดนัวนมตอนบนออก น้ำนมซึ่งมีอยู่ในถุงพับนมข้างบนจะไหลลงมาส่วนล่าง เป็นการเติมให้แก่หัวนมอีกเป็นเช่นนี้ตลอดระยะเวลาที่รีดจนกระทั่งน้ำนมหมด
วิธีการหยุดรีดนมแม่โค
ในการหยุดรีดนมแม่โค โดยเฉพาะแม่โคที่เคยให้นมมาก ๆ ควรจะต้องระมัดระวังในการหยุดรีด เพราะอาจจะทำให้เกิดโรคเต้านมอักเสบได้โดยง่าย วิธีการหยุดรีดควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ ในขั้นต้นอย่ารีดให้น้ำนมหมดเต้าเลยทีเดียว ในช่วงแรก ๆ ควรค่อย ๆ ลดอาหารข้นลงบ้างตามส่วน แล้วต่อไปจึงเริ่มลดจำนวนครั้งที่รีดนมในวันหนึ่ง ๆ ลงมาเป็นวันละครั้ง ต่อมาก็รีดเว้นวันและต่อมาก็เว้นช่วงให้นานขึ้น จนกระทั่งหยุดรีดนม ในที่สุดซึ่งปกติโดยทั่ว ๆ ไปจะใช้เวลาประมาณ 15 - 30 วัน และในขณะที่หยุดพักรีดนมนี้จะต้องหมั่นสังเกตเต้านมอยู่เสมอ ถ้าปรากฏว่าบวมแดงหรืออักเสบ ต้องรีบตามสัตวแพทย์มาช่วยรักษาและต้องหวนกลับมารีดนมตามเดิมไปก่อน ถ้าไม่มีโรคแทรกแล้วเต้านมของแม่โคที่พักการให้นมใหม่ ๆ โดยทั่วไปก็จะคัดเต้าอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วจึงค่อย ๆ ลีบเล็กลงไปในที่สุด
ปัญหาที่พบบ่อยในการรีดนม
1. ถ้ารู้ว่าโคตัวใดเป็นโรคเต้านมอักเสบให้ทำการรีดหลังโคตัวอื่น ๆ เพื่อป้องกันการกระจายของโรค และควรรีดเต้าที่อักเสบทีหลังสุด และให้ระวังการเช็ดล้างเต้านม
2. ถ้าโคตัวใดเป็นแผลหรือเป็นฝีที่หัวนม ขณะที่ทำการรีดนมแม่โคอาจแสดงอาการเจ็บปวด อาจทำร้ายคนรีดได้ในกรณีเวลารีดควรแตะต้องแผลให้น้อยที่สุดและควรรีบจัดการรักษาใส่ยาหรือใช้ขี้ผึ้งทา หลังรีดนมเสร็จแล้วควรล้างมือให้สะอาดด้วย
3. ถ้ามีโคตัวใดนมรั่ว ซึ่งเกิดจากเต้านมคัดซึ่งเป็นเพราะกล้ามเนื้อวงแหวนที่รัดรูหัวนมไม่แข็งแรงพอหรือค่อนข้างเสื่อมสมรรถภาพ กรณีที่ไม่มีแนวทางแก้ไขอาจใช้จุกปิดหรืออุดรูหัวนม หรือใช้วิธีรีดนมให้ถี่ขึ้นก็ได้
4. ถ้าพบว่าแม่โคบางตัวให้น้ำนมที่มีสีผิดปกติเกิดขึ้น กล่าวคือ น้ำนมอาจเป็นสีแดงหรือมีสีเลือดปนออกมา ซึ่งอาจเป็นเพราะเส้นเลือดฝอยในเต้านมแตกซึ่งไม่เป็นอันตรายใด ๆ จะค่อย ๆ หายไปเองในไม่ช้า น้ำนมที่ได้ควรนำไปให้ลูกโคกินไม่ควรบริโภค
5. ถ้าพบว่าแม่โคตัวใดเตะเก่ง ขณะทำการรีดจะต้องใช้เชือกมัดขา ซึ่งควรค่อย ๆ ทำการฝึกหัดให้เคยชิน โดยไมต้องใช้เชือกมัด เพราะวิธีการมัดขารีดนมไม่ใช่เป็นวิธีการที่ดีจะทำให้วัวเคยตัว
อาหารและการให้อาหาร
โคนมเป็นสัตว์สี่กระเพาะ หรือที่เรียกว่า สัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ประเภทนี้จะมี 2 ชนิด คือ อาหารหยาบ เช่น หญ้า ถั่วอาหารสัตว์ ฟางข้าว และอาหารข้น เช่น อาหารผสม ในการให้อาหารแก่โคนม อาหารทั้ง 2 ชนิดจะมีความสำคัญเท่า ๆ กันและต้องมีความสัมพันธ์กันเพื่อที่จะทำให้โคนมสามารถให้น้ำนมได้สูงสุดตามความสามารถของโคแต่ละตัวที่จะแสดงออก
โคนมในปัจจุบัน ได้รับการปรับปรุงพันธุ์จนมีความสามารถในการให้น้ำนมได้สูงกว่าแต่ก่อน ลำพังการให้อาหารหยาบเพียงอย่างเดียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารหยาบในเขตร้อนอย่างประเทศไทยซึ่งมีคุณค่าทางอาหารต่ำ มีโภชนะไม่เพียงพอแก่ความต้องการของแม่โคนม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องการให้อาหารข้นเสริม จะเห็นได้ว่าอาหารข้นจะเข้ามามีบทบาทต่อการผลิตน้ำนมมากขึ้น นอกจากนั้นบทบาทที่สำคัญอีกอย่างก็คือ จะเป็นตัวกำหนดผลตอบแทนที่จะได้รับจากการเลี้ยงโคนมทั้งนี้เพราะ ค่าใช้จ่ายในด้านอาหารจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงที่สุด คือประมาณร้อยละ 70 ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของประเทศกำลังประสบอยู่ นั่นคือ ต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบที่สูงขึ้น ฉะนั้นการให้อาหารแก่โคนมอย่างเหมาะสมนอกจากจะสามารถช่วยให้แม่โคนมสามารถให้น้ำนมได้สูงขึ้นแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การให้อาหารข้นแก่โคนมก็มีข้อที่จะต้องพิจารณาอยู่มาก ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้อาหารข้น ทั้งเรื่องเกี่ยวกับว่า อาหารข้นควรจะมีคุณภาพอย่างไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง และจะให้โคนมกินปริมาณเท่าไร ซึ่งคำถามต่าง ๆ เหล่านี้มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ ก่อนที่จะกล่าวถึงในเรื่องของการให้อาหารเกษตรกรควรที่จะทำความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่จะไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง อาทิเช่น
ความต้องการสารอาหารของแม่โคนม
แม่โคนมแต่ละตัวมีความต้องการสารอาหารได้แก่ โปรตีน พลังงาน วิตามิน แร่ธาตุ ฯลฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะ (1) บำรุงร่างกาย (2) เจริญเติบโต (3) ผลิตน้ำนม (4) เพื่อการเจริญเติบโตของลูกในท้อง แม่โคจะนำสารอาหารที่ให้กินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ตามลำดับ ทำให้แม่โคแต่ละตัวซึ่งมีน้ำหนักตัวต่างกัน และให้นมจำนวนไม่เท่ากัน มีความต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป นอกจากนั้นในแม่โคตัวเดียวกันก็ยังมีความต้องการสารอาหารในแต่ละช่วงแตกต่างกันไปอีกซึ่งจะขึ้นอยู่กับ
1. ช่วงระยะการให้น้ำนม แม่โคนมที่อยู่ในระยะใกล้คลอดหรือหลังคลอดใหม่ ๆ แม่โคนมที่อยู่ระหว่างการให้น้ำนมสูงสุด (2เดือนแรกของการให้นม) การให้นมช่วงกลาง การให้นมในช่วงปลาย และช่วงหยุดการให้นม จะมีความต้องการสารอาหารในแต่ละระยะการให้นมที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะปริมาณน้ำนมที่แม่โคผลิตได้ในแต่ละช่วงจะแตกต่างกัน
2. สภาพของร่างกายโคนมที่สามารถให้น้ำนมได้เต็มที่ สุขภาพของแม่โคจะต้องพร้อม คือไม่ควรจะอ้วนหรือผอมจนเกินไป จึงมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับสารอาหารที่มากขึ้น ทั้งนี้เพราะโคจะต้องใช้สารอาหารในการบำรุงร่างกายและเจริญเติบโตก่อน จึงจะนำไปใช้ในการสร้างน้ำนม
เมื่อเกษตรกรได้รู้ถึงความต้องการสารอาหารของโคแล้ว ซึ่งในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงความต้องการสารอาหารแต่ละชนิดเพราะอาจจะทำให้สับสน แต่อยากจะให้เกษตรกรได้ทราบถึงเหตุผลว่า ทำไมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้อาหารต่างกันในโคแต่ละตัวหรือในโคตัวเดียวกันแต่ต่างระยะเวลา
ปริมาณการกินอาหารของแม่โค
แม่โคนมแม้จะต้องการสารอาหารมากเพียงไร แต่ปริมาณอาหารที่แม่โคกินได้นั้นมีอย่างจำกัด ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากความจุของกระเพาะโคเองหรืออาจจะเนื่องมาจากลักษณะและคุณภาพของอาหารที่ให้แก่โค ฉะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมควรจะทราบด้วยว่า โคนมของท่านแต่ละตัวจะสามารถกินอาหารได้วันละเท่าใด เพื่อที่จะทำให้ทราบว่า สารอาหารที่แม่โคได้รับนั้นจะเพียงพอหรือไม่กับการให้น้ำนมของแม่โค การผลิตน้ำนมให้ได้มาก ๆ นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่ได้รับเพียงอย่างเดียวแต่คุณภาพของอาหารมีความสำคัญยิ่งกว่าคาดคะเนปริมาณการกินอาหารของโค ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับปัจจัยหลัก 2 ปัจจัยคือ น้ำหนักตัวของแม่โคและปริมาณน้ำนมที่แม่โคนั้นผลิตได้ ซึ่งในเรื่องของน้ำหนักตัวของแม่โคเกษตรกรมักจะไม่ทราบเพราะไม่มีเครื่องชั่งสัตว์ในฟาร์ม แต่ก็พอจะประมาณได้ เพราะโคลูกผสมขาว-ดำในเมืองไทยจะมีน้ำหนักโดยประมาณนี้เป็นตัวคำนวณปริมาณอาหารต่อไปได้ และเมื่อพิจารณาร่วมกับปริมาณน้ำนมที่ผลิตได้ก็พอจะประมาณการกินอาหารของแม่โคได้ดังนี้
เมื่อดูจากตารางแล้ว เกษตรกรอาจสงสัยว่า ทำไมแม่โคนมที่มีน้ำหนักมากจึงกินอาหารได้น้อยกว่าแม่โคที่มีน้ำหนักน้อยกว่าถ้าให้นมเท่ากันทั้งนี้เพราะว่า ตารางที่แสดงนั้น แสดงเป็นค่าของร้อยละของน้ำหนักตัวแม่โค ซึ่งจริงแล้วแม่โคที่มีน้ำหนักมากกว่าจะกินอาหารมากกว่าแม่โคที่มีน้ำหนักน้อยกว่า ถ้าคิดเป็นจำนวนกิโลกรัมของอาหาร ตัวอย่างเช่น จะคาดคะเนปริมาณการกินอาหารของแม่โคที่มีน้ำหนักประมาณ 400 ก.ก. และสามารถให้นมวันละ 18 กิโลกรัมว่าแม่โคจะกินอาหารได้วันละเท่าใด เมื่อดูจากตารางจะเห็นว่าแม่โคกินอาหารได้ประมาณ 2.9 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว เท่ากับ (2.9x400)/100 = 11.6 กิโลกรัม คำตอบคือ แม่โคจะกินอาหารที่มีน้ำหนักแห้งได้ประมาณวันละ 11.6 กิโลกรัม แต่แม่โคที่มีน้ำหนักตัว 500 ก.ก. และให้นม 18 ก.ก / วัน เหมือนกันจะกินอาหารคิดเป็นน.น.แห้งได้ (2.8x500)/100 = 13.5 กิโลกรัมเป็นต้น
ปริมาณการกินอาหารหยาบ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า โคนมเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องจึงจำเป็นต้องได้รับอาหารหยาบอย่างเพียงพอ ซึ่งในจุดนี้เกษตรกรบางส่วนไม่ค่อยได้คำนึงถึงมากนัก อย่าคิดแต่เพียงว่าถ้าให้อาหารข้นมาก ๆ โคจะได้รับสารอาหารมาก และจะทำให้ผลผลิตน้ำนมได้มาก ตรงกันข้ามในความเป็นจริงแล้วโคที่ได้รับอาหารข้นมากเกินไป กลับทำให้ผลผลิตน้ำนมลดลงด้วยซ้ำ เนื่องจากการที่โคได้รับอาหารหยาบน้อยเกินไป อาจจะทำให้เกิดอาการผิดปกติในระบบการย่อยอาหารคือ เกิดความเป็นกรดในกระเพาะผ้าขี้ริ้วมากจนโคไม่ยอมกินอาหาร ทั้งนี้เพราะอาหารหยาบมีเยื่อใยสูง จะช่วยในการเคี้ยวเอื้องทำให้ต่อมน้ำลายของโคหลั่งน้ำลายได้มากขึ้น และน้ำลายนี้เองมีฤทธิ์เป็นด่างจะช่วยปรับสภาพภายในกระเพาะผ้าขี้ริ้วให้เหมาะสมแก่การทำงานของจุลินทรีย์ เพื่อสังเคราะห์โปรตีนและพลังงานแก่โคต่อไป
เกษตรกรจึงจำเป็นที่จะต้องมีอาหารหยาบเพียงพอให้แก่โค ซึ่งระดับของอาหารหยาบเมื่อคิดเป็นน้ำหนักแห้งที่แม่โคควรจะได้รับต่อวันไม่ควรต่ำกว่า 1.4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ตัวอย่างเช่น แม่โคนมมีน้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม ควรจะได้รับอาหารหยาบแห้งตามที่ได้กำหนดไว้ดังต่อไปนี้คือ แม่โคนมที่มีน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม ต้องการอาหารหยาบ = 1.4 กิโลกรัม แม่โคที่มีน้ำหนักตัว 400 กิโลกรัม ต้องการอาหารหยาบ = (1.4 x 400) / 100 กิโลกรัม
แม่โคควรจะได้รับอาหารหยาบแห้ง/วัน = 5.6 กิโลกรัม เมื่อนำมาคิดเทียบกลับไปเป็นหญ้าสดซึ่งทั่ว ๆ ไปมีวัตถุแห้งประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นโคควรจะได้รับหญ้าสดในปริมาณวันละ = (5.6 x 100) / 100 = 22.4 กิโลกรัม
คุณภาพของอาหารหยาบ
เมื่อทราบถึงปริมาณของอาหารหยาบที่จำเป็นที่แม่โคจะต้องได้รับต่อวัน เพื่อที่จะทำให้ระบบการย่อยอาหารเป็นไปอย่างปกติแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงต่อมาก็คือ อาหารหยาบที่ให้แก่แม่โคมีคุณภาพเป็นอย่างไร โคจะใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ใหน ทั้งนี้เพราะคุณภาพของอาหารsยาบจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของอาหารข้นด้วย คือ ถ้าอาหารหยาบที่ให้แก่โคมีคุณภาพต่ำอาหารข้นที่จะใช้เสริมจำเป็นต้องมีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งผลการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหาร ทางกลุ่มงานวิเคราะห์อาหารสัตว์ กองอาหารสัตว์ได้จัดทำสรุปไว้แล้ว แต่ในเอกสารฉบับนี้จะขอนำเอาผลการวิเคราะห์ของอาหารหยาบที่มีใช้ทั่ว ๆ ไปมาเสนอเท่านั้น (ดังแสดงในตารางที่2)
****หมายเหตุ การจำแนกคุณภาพของอาหารหยาบในที่นี้จะใช้เปอร์เซ็นต์โปรตีนหยาบเป็นหลักในการจำแนก เพื่อให้สอดคล้องกับเปอร์เซ็นต์โปรตีนในสูตรอาหารข้นที่จะกล่าวถึงต่อไป
คุณภาพของอาหารหยาบ นอกจากจะเป็นตัวกำหนดคุณภาพของอาหารข้นแล้ว ยังเป็นตัวควบคุมในเรื่องการกินอาหารของแม่โคด้วย เพระาถ้าใช้อาหารหยาบคุณภาพต่ำอาทิเช่น ฟางข้าว หรือหญ้าธรรมชาติในช่วงที่ออกดอกแล้ว โคจะย่อยได้น้อย ทำให้การกินอาหารลดลงตามไปด้วย เกษตรกรควรจะหาวิธีการที่จะแก้ปัญหานี้ ซึ่งอาจจะทำได้โดยการเพิ่มคุณภาพ และการใช้ประโยชน์ของอาหารหยาบ เช่นการสับฟางเป็นชิ้นเล็ก ๆ การทำฟางปรุงแต่ง หรือการใช้ใบพืชตระกูลถั่วที่มีคุณภาพสูงให้กินร่วมกับฟาง เพื่อให้อาหารหยาบนั้นมีความน่ากินและมีการย่อยได้สูงขึ้น นอกจากนั้นในเรื่องฤดูกาลเช่น ในช่วงที่มีอากาศร้อน ก็จะทำให้แม่โคกินอาหารหยาบได้ลดลงเช่นกัน
ทั้งนี้เพราะความร้อนที่เกิดจากขบวนการหมักของอาหารหยาบในกระเพาะผ้าขี้ริ้วของโค ไม่สามารถจะระบายออกนอกร่างกายได้ทัน เนื่องจากอุณหภูมิภายในตัว โคมีอาการหอบชอบยืนแช่น้ำและกินอาหารลดลง เกษตรกรอาจจะแก้ไขปัญหานี้โดยพยายามให้อาหารหยาบแก่โคทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งขึ้น และพยายามให้อาหารหยาบในช่วงเวลาที่อากาศเย็นลง เช่น กลางคืน หรือจะใช้วิธีอาบน้ำและใช้พัดลมช่วย หรืออาจจะใช้หลายวิธีร่วมกัน อย่างไรก็ตามเกษตรกรต้องคำนึงอยู่เสมอว่าจะต้องให้แม่โคได้กินอาหารหยาบแห้งไม่ต่ำกว่า 1.4 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวแม่โคเสมอ
วิธีปฏิบัติเพื่อให้อาหารโคนมและน้ำนมปราศจากสารอะฟลาทอกซิน
อะฟลาทอกซิน คือ สารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อราบางชนิด สารพิษชนิดนี้มีความคงทนต่อความร้อนค่อนข้างสูง จึงไม่สามารถทำลายให้หมดไปได้โดยการหุงต้มปกติ ราที่สร้างสารพิษดังกล่าว คือ ราเขียว ซึ่งมีลักษณะที่สังเกตได้ง่ายคือ มีลักษณะ เป็นสีเขียว หรือ สีเขียวแกมเหลือ (ราแอสเพอร์กิลลัสฟลาวัส และ แอสเพอร์กิลลัส พาราซิติกัส) แม้เราจะตายไปแล้ว แต่สารพิษยังคงอยู่ตลอดไปเราอาจจะไม่เห็นเชื้อราบนอาหารโคมนมอยู่เลย แต่อาหาร โคนมนั้นอาจจะมีสารอะฟลาทอกซินปนเปื้อนอยู่ก็ได้
เมื่อโคนมกินอาหารที่มีสารพิษเข้าไปจะทำให้เกิดผลเสียดังนี้
1. ทำให้โคกินอาหารได้น้อย
2. ทำให้การเจริญเติบโตช้า เลี้ยงเท่าไรไม่รู้จักโต
3. ทำให้โคเป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ถ้าโชคร้ายโคอาจตายได้
4. ทำให้น้ำนมลด
5. ทำให้ผสมติดยาก
6. ทำให้น้ำนม มีสารพิษปนเปื้อน ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ดื่มนมจะ ทำให้ร่างกายอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย หรืออาจถึงขั้นเป็นมะเร็งได้
วิธีการป้องกันไม่ให้โคนมได้รับสารอะฟลาทอกซิน
เนื่องจากสารอะฟลาทอกซิน จะเข้าสู่ตัวโคได้โดยทางอาหารเท่านั้น ดังนั้นการเลือกอาหารโคที่ไม่มีสาร อะฟลาทอกซิน และการเก็บรักษาอาหารโคไม่ให้เป็นราเขียวเป็นวิธีป้องกันไม่ให้ได้รับสารพิษจากเชื้อรา
มีข้อแนะนำดังนี้
-อาหารหยาบสีเขียว เช่น หญ้า ต้นข้าวโพด ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 3 วัน ควรมีสภาพใหม่สดและเป็นสีเขียว อยู่ถ้าเปลี่ยนสีเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนไม่ควรให้โคกิน (ยกเว้นอาหารหมัก)
-อาหารหยาบที่เป็นฟาง ต้องเก็บไว้ในที่ที่มีหลังคาสามารถป้องกันน้ำหรือละอองฝนและน้ำค้างได้เป็นอย่างดี
-อาหารเป็นถุงที่ซื้อมาใช้ ต้องเป็นอาหารที่ผลิตได้มาตรฐานถูกต้องตามกฎหมาย คือ ต้องมีเลขทะเบียน อาหารสัตว์,มีระบุวันที่ผลิต , วันที่หมดอายุชัดเจน , ชื่อที่อยู่บริษัทผู้ผลิต , น้ำหนักสุทธิ , ฯลฯ พิมพ์ติดที่ถุงอาหาร
-อาหารที่ซื้อมาใช้ ต้องเป็นอาหารที่ใหม่ ยังไม่หมดอายุ หมั่นทำความสะอาดรางอาหารบ่อย ๆ เพราะเศษอาหารที่เหลือค้างในรางจะเป็นราได้ง่าย วัตถุดิบที่ซื้อมาใช้ผสมอาหาร หรืออาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูปจะต้องใหม่ มีลักษณะแห้งหรือมีความชื้นต่ำ
-วัตถุดิบที่ซื้อมา จะต้องไม่มีมอดหรือแมลงปนอยู่ภายใน
-รถบรรทุกขนส่งวัตถุดิบ หรืออาหารสัตว์ผสมสำเร็จรูปจากร้านค้ามายังฟาร์มจะต้องปกคลุมให้มิดชิดเพื่อป้องกันฝน
-ควรมีการตรวจเช็ค สารอะฟลาทอกซินในวัตถุดิบบางชนิด ได้แก่ ข้าวโพด กากมะพร้าว กากถั่วลิสง
-ควรหลีกเลี่ยง การใช้กากมะพร้าวและกากถั่วลิสงผสมในอาหารโคนม
-การผสมอาหาร ไม่ควรผสมครั้งละมาก ๆ จนเกินไป จะทำให้อาหารกองอยู่นาน เกิดราขึ้นได้
-ที่เก็บวัตถุดิบอาหารและอาหารโค ควรมีระบบป้องกัน นก หนู แมลงหรือสัตว์อื่น ๆเพราะอาจเป็นพาหะนำโรคและ เกิดเชื้อราได้
-การเก็บอาหาร ต้องระวังความชี้นเป็นพิเศษโรงเก็บอาหารต้องมีหลังคามิดชิดสามารถป้องกันน้ำและละออง ฝนได้ พื้นต้องแห้งและสะอาดและควรมีวัสดุรองพื้น
กรณีที่สงสัย
ว่าอาหารโคนมมีสารอะฟลาทอกซินให้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ ที่กองควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร. 2518206 , 2511942 หรือ ติดต่อที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดและสำนักงาน ปศุสัตว์อำเภอทั่วประเทศ
ตัวอย่างพันธุ์พืชที่ได้รับสารอะฟลาทอกซิน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ การเลี้ยงโคนม -พันธุ์โคนม -การเลี้ยงโคนม -การป้องกันโรคในโคนม -ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงโคนม แหล่งอ้างอิงข้อมูล : "การเลี้ยงโคนม.". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.dld.go.th/service/dairy_cattle/index.h
โฆษณา