7 ม.ค. 2020 เวลา 15:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
"Wild Fire 101" มาทำความรู้จัก "ไฟป่า" 🌲🔥
1
รวมถึงวิธีการยับยั้งและป้องกันไฟป่า 😊
ในปีที่ผ่านมา ไฟป่าที่เกิดขึ้นทั่วโลกทวีความรุนแรงอย่างน่าตระหนก
กับข่าวไฟป่าที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ในออสเตรเลีย "ไฟป่า" เป็นสิ่งที่ผู้คนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น
ในปีที่ผ่านมา ไฟป่าที่เกิดขึ้นทั่วโลกทวีความรุนแรงอย่างมาก ไล่มาตั้งแต่อเมริกา ไซบีเรีย ฝืนป่าอเมซอน และล่าสุดที่ออสเตรเลีย สร้างความกังวลเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนขึ้นไปอีก 😩
แผนที่ไฟป่าทั่วโลกที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
วันนี้เรามาทำความเข้าใจ "ไฟป่า" กัน รวมถึงวิธีที่มนุษย์เรารับมือกับไฟป่า
โดยทุก ๆ ปีนั้นจะมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นปกติทั่วโลกอยู่แล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากธรรมชาติ เช่น ความร้อนจากการเสียดสี ฟ้าผ่า และก็ฝีมือมนุษย์
ไฟป่าก็เหมือนกับไฟทั่วไปซึ่งเกิดจากส่วนประกอบการเกิดไฟที่เรียกว่า "สามเหลี่ยมแห่งไฟ" อันประกอบด้วย ความร้อน เชื้อเพลิงและออกซิเจน
ในบางพื้นที่ไฟป่าเกิดเป็นเรื่องปกติเนื่องจากความร้อน แห้งแล้งของพื้นที่และประกอบกันกับมีแหล่งกำเนิดไฟเช่น ฟ้าฝ่า
แต่ปัจจุนี้สาเหตุของไฟป่านั้นเกิดจากฝีมือมนุษย์มากขึ้น ซึ่งบ้านเราก็ประสบปัญหาฝุ่นหมอกควันไฟป่ากันทุกปี
เมื่อสภาวะเหมาะสมไฟป่าสามารถลุกลามจากไฟกองเล็กจนเผาทำลายเมืองทั้งเมืองได้เลยทีเดียว
ทั้งนี้ไฟป่าก็ไม่ได้มีแต่โทษเสียอย่างเดียว ไฟป่านั้นช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในการเผาทำลายแมลงศัตรูพืช ต้นไม้ติดโรค รวมถึงเปิดโอกาสให้แสงส่องลงมายังพื้นด้านล่างเป็นโอกาสในการผลัดรุ่นของพรรณไม้ในป่า 🌲😊👍
** แล้วเราจะรับมือกับไฟป่าได้ยังไง **
เมื่อไฟป่ามา ให้เราเผาป่า อ่านไม่ผิดครับ เผ่าป่าจริง ๆ แต่เผาเพื่ออะไรมาดูกัน
เคสในวีดีโอนี้ เกิดเหตุไฟป่าที่แคลิฟอร์เนียจากฟ้าผ่า
เพียงไม่กี่นาทีที่คนเห็นและแจ้งเหตุไฟป่า หน่วยงานควบคุมไฟป่าก็จะทำการประเมินแนวทางการเข้าควบคุมไฟป่า
ซึ่งต้องพิจารณาความเร็วในการลามไฟจาก 4 ปัจจัย คือ
1. ปริมาณเชื้อเพลิง
2. เชื้อเพลิงชื้นมากแค่ไหน ยิ่งแห้งยิ่งลามไว
3. ความแรงและทิศทางลม (สำคัญมาก)
4. สภาพภูมิประเทศ ความลาดเอียง
โดยในเคสนี้กระแสลมมาจากทางตอนเหนือ และไฟกำลังไหม้ไปยังทางลาด (พื้นที่แรงเงาสีเขียว) ซึ่งทางลาดลงไฟจะลามได้เร็วกว่าทางชันขึ้น
เมื่อพิจารณาแล้วจึงให้มีการส่งหน่วนเคลื่อนที่เร็วเข้าไปตั้งแนวกันไฟล่วงหน้าโดยยึดเอาแนวถนน (เส้นสีเทา) เป็นแนวต้านหลักในเบื้องต้นก่อน และชุดกำลังเสริมจะตามมาทางรถภายหลัง
เมื่อได้แนวทางทีมเคลื่อนที่เร็วที่เรียกว่า Fire Jumper ก็จะนั่งเครื่องบินและโดดร่มลงในพื้นที่เป้าหมายเพื่อทำการควบคุมไฟป่าเป็นหน่วยแรก
คนลงก่อน แล้วตามด้วยของก่อนเข้าพื้นที่
โดยทีมนี้มีกัน 20 คน เจ้าหน้าที่ทุกคนมีอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัวเพื่อทำงานในพื้นที่ได้ 3 วัน
จำไว้นะครับ หัวใจของการควบคุมเพลิงไหม้ ไม่ว่าจะไฟบ้านหรือไฟป่า นั่นคือจัดการมันต่อที่ไฟยังกองเล็กอยู่ เราจะดับง่าย เพราะฉะนั้นระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้จึงเป็นหัวใจสำคัญของการระงับเหตุอัคคีภัย
และการควบคุมไฟป่าคืองานที่ต้องแข่งกับเวลา ไฟป่ามันไม่รอเรา
ซึ่งงานของทีมคือทำแนวกันไฟ ซึ่งแนวกันไฟที่ว่านี้ก็คือการเอาเชื้อเพลิงออกจากบริเวณแนวกันไฟ สร้างให้มีระยะห่างที่ไม่มีอะไรให้ไฟไหม้ได้ เมื่อไฟมาถึงก็จะมอดดับไปเอง
ซึ่งความกว้างของแนวนี้ขึ้นอยู่กับกระแสลมและความแรงของไฟป่า
และในบางครั้งเจ้าหน้าที่ก็ต้องสร้างแนวกันไฟด้วยการเผา แต่เป็นการเผาภายใต้การควบคุม (เผาเชื้อเพลิงให้หมดแล้วดับซะ)
งานเป็นไปด้วยดีจนเมื่อถึงเวลาบ่าย แม้ว่ากำลังเสริมจะมาช่วยและสร้างแนวกันไฟหลังลำธาร 2 ข้างล้อมกรอบไฟ 3 ด้านแล้ว แต่ลมก็ไม่เป็นใจ
ลมเปลี่ยนทิศไปด้านตะวันออกซึ่งทำให้ไปกระโดดข้ามแนวกันไฟตรงถนนออกมาได้ (แรงเงาสีแดงที่ยื่นล้ำเส้นถนนสีขาว)
ในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน ความหวังสุดท้ายคือฝ้าห่มกันไฟ แต่ถ้าโดนไฟเผาตรง ๆ นาน ๆ ก็ไม่เหลือ ดังนั้นจึงมีข่าวนักผจญเพลิงเสียชีวิตจากการเข้าควบคุมไฟป่าอยู่เนือง ๆ เพราะไฟป่านั้นคาดเดาแทบไม่ได้เลย
ไฟป่านั้นคาดเดายาก และอาจมีความเร็วในการลามไฟเร็วกว่าที่เราคิด
- ในป่าไฟลามได้ถึง 11.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- ไฟลามทุ่ง 22.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งหน้าตั้งยังจะไม่ทันเอา 😱
และในกรณีที่เริ่มคุมไฟไม่อยู่ ก็คงต้องถึงเวลาที่ต้องใช้อาวุธหนัก
อย่างแรก คอปเตอร์พร้อมสลิงแขวนถังน้ำ ข้อดีคือคล่องตัวบินไปตักน้ำที่แหล่งน้ำใกล้เคียงได้โดยไม่ต้องลงจอด
และน้ำที่เทลงไปดับไฟก็จะไปสร้างแนวกันไฟใหม่ได้ทันที
อีกวิธี เครื่องบินโปรยสารเคลือยกันไฟ ซึ่งสารนี้จะเช้าไปเคลือบบริเวณพื้นที่เป้าหมายทำให้ไฟไม่ใหม้เชื้อเพลิง กลายเป็นการสร้างแนวกันไฟแบบเร่งด่วน
ซึ่งเครื่อง 747 นั้นบินโปรยสารทีหนึ่งสามารถสร้างแนวกันไฟได้ยาวกว่า 5 กิโลเมตร
แต่เราจะไม่ค่อยเห็นสองวิธีนี้ใช่ไหมครับ เขาไม่ค่อยใช้กันถ้าไม่จำเป็นเพราะมันแพงมากกกกก การบินโปรยสารด้วยเครื่อง 747 รอบหนึ่งมีค่าใช้จ่ายกว่า 2 ล้านบาท 😅
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจนะครับ แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วที่ร่ำรวยก็ยังไม่อาจต้านทานไฟป่าได้หากมันหลุดการควบคุมไปแล้ว
ทุกคนไม่สามารถเป็นนักผจญเพลิงได้ ฉะนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าจึงมีจำกัด เมื่อออสเตรเลียต้องเจอกับการกระจายของไฟป่าเพิ่มด้วยพายุที่เกิดจากไฟป่า ทั้งกำลังคนและอุปกรณ์ต่อให้เป็นออสเตรเลียก็ไม่พอครับ
** การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับไฟป่า **
จะเห็นได้ว่าปัญหาไฟป่านับวันดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมนุษย์เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ
ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford ได้พัฒนาสารเคลือบทนไฟ โดยผสมกับ hydrogel ที่มีใช้งานอยู่แล้วในทางการแพทย์
ภาพเปรียบเทียบการกันไฟลามของสารเคลือบกันไฟ
ซึ่งหลักการทำงานคล้ายกันกับสารที่ใช้โปรยเพื่อสร้างแนวกันไฟ แต่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสามารถนำมาพ่นเคลือบพื้นที่ป้องกันทิ้งไว้ตลอดช่วงหน้าแล้งได้
สารกันไฟที่กำลังพัฒนานี้คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ในการป้องกันไฟไม่ให้ลามแต่แรกในบริเวรที่มีความเสี่ยงได้ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ได้เกิดไฟตั้งแต่แรก
ก็นับว่าเป็นอีกความหวังหนึ่ง หวังว่าจะมีให้ใช้งานได้เร็ว ๆ นี้
หวังว่าปัญหาไฟป่าในออสเตรเลียจะคลี่คลายโดยเร็ว ได้เห็นข่าวฝนตกก็ดีใจกับคนออสเตรเลียด้วย
สำหรับเราที่ทำได้ตอนนี้คือเรียนรู้และทำความเข้าใจธรรมชาติของ "ไฟป่า" กันไปก่อนครับ 😉
ที่เราพอจะช่วยกันได้ก็ เช่น
- แจ้งเหตุ สายด่วน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 1362 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
- ส่วนควบคุมและปฏิบัติการไฟป่า โทร.086-4031018
- ไม่จุดไฟเผาพืชผลการเกษตรที่เก็บเกี่ยวแล้ว ใช้การไถกลบแทน
- ดับไฟจากการตั้งแคมป์ให้สนิททุกครั้ง
เครดิตภาพ: แคปจากวีดีโอ
โฆษณา