8 ม.ค. 2020 เวลา 05:59 • ประวัติศาสตร์
เชลยศึกผู้ไม่อยากกลับบ้าน
เกิร์ก แกร์ดเนอร์ Georg Gärtner คือ หนึ่งในเชลยศึกเยอรมันจำนวนนับแสนนาย ที่ถูกส่งไปยังค่ายเชลยศึกเยอรมันบนดินแดนของอเมริกา สงครามสำหรับทหารหนุ่มคนนี้ได้จบลงแล้ว ชีวิตของเขาที่เหลืออยู่คือการประคองชีวิตตนเองต่อไป และรอเวลาจนกว่าสงครามครั้งนี้จะยุติลง แกร์ดเนอร์เองก็ไม่ต่างจากเชลยศึกทั่วไป ที่ไม่ว่าจะชาติไหนหรือฝ่ายใด ก็ล้วนแล้วแต่ปรารถนาและใฝ่หาอิสรภาพด้วยกันทั้งสิ้น
1
แกร์ดเนอร์เกิดที่เมืองชไวน์นิทซ โลวเวอร์ ไซลีเซีย (Schweidnitz, Lower Silesia) สมัครเข้าเป็นทหารในกองทัพบกเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1940 ขณะนั้นอายุได้ 19 ปี พลทหารแกร์ดเนอร์ถูกส่งเข้าร่วมเป็นกำลังพลส่วนหนึ่งของ กองทัพน้อยแอฟริกา หรือ Afrika Korps ณ ขณะนั้นคือ กองกำลังเยอรมันที่กำลังโด่งดังไปทั่วโลก จากการรุกไล่กองทัพอังกฤษและเครือจักรภพให้ล่าถอยกลับไปจนถึงอียิปต์ จอมพลแอร์วิน รอมเมิล ผู้บัญชาการกองทัพน้อยแอฟริกาอันเกรียงไกร กำลังจะยัดเยียดความปราชัยให้แก่กองทัพอังกฤษในไม่ช้า
แต่แล้วสถานการณ์ต่างๆ ในสงคราม และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ทิศทางของสงครามในแอฟริกาเหนือเกิดความเปลี่ยนแปลง เมื่อฮิตเลอร์นำกองทัพเยอรมันและชาติอักษะบุกสหภาพโซเวียต การทำสงครามในแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของโซเวียต ดูดกลืนทรัพยากรในการทำสงครามของเยอรมันไปเป็นจำนวนมาก มันส่งผลต่อแนวรบเยอรมันในแอฟริกาเหนืออีกด้วย ยุทธปัจจัยสำคัญต่างๆ ต้องถูกแบ่งไปให้แนวรบด้านตะวันออกก่อนเป็นอันดับแรก ขณะที่กองทัพน้อยแอฟริกาเปิดฉากรุกไล่กองทัพอังกฤษและเครือจักรภพ ให้ล่าถอยข้ามทะเลทรายจนถึงอียิปต์ แม้พวกเขาจะกำชัยชนะในการรบ แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งกำลังบำรุงที่ต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อคงความต่อเนื่องในการรุกและปิดโอกาสไม่ให้ข้าศึกได้ทันตั้งตัว แต่ทว่ากองทัพเยอรมันก็พลาดโอกาสนี้เสียแล้ว
กองทัพอังกฤษที่ 8 หรือ British 8th Army ตั้งรับการรุกที่ล้มเหลวของเยอรมันที่เอล อลาเมน และรุกโต้ตอบกองทัพเยอรมันจนต้องถอยกลับไปยังจุดเริ่มต้น หลังจากนั้นกองทัพน้อยแอฟริกาก็ไม่สามารถเปิดการรุกใส่กองทัพอังกฤษได้อีกเลย กระทั่งอเมริกาประกาศเข้าร่วมสงคราม ในปลายปี ค.ศ. 1942 และเป็นพันธมิตรกับฝ่ายอังกฤษ ยิ่งทำให้สถานการณ์ของกองทัพเยอรมันและอักษะในแอฟริกาเหนือ เข้าตาจนเป็นอย่างยิ่ง ไม่นานหลังจากนั้น กองทัพอเมริกันยกพลขึ้นบกที่แอฟริกาตะวันตก และเคลื่อนพลรุกเข้ามา ส่วนทางด้านตะวันออกฝ่ายอังกฤษและเครือจักรภพ ยกพลตามตีกองทัพเยอรมันอย่างกระชั้นชิด ผลักดันแนวรุกฝ่าแนวรบเยอรมันเข้ามาได้เรื่อยๆ ตอนนี้กองทัพเยอรมันในแอฟริกาตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ และใกล้จะปราชัยเต็มที
พลทหารแกร์ดเนอร์และหน่วยของเขา ถูกกองทัพอเมริกันรุกไล่มาจากทางตะวันออก แม้ศึกแรกของอเมริกัน พวกเขาแพ้เยอรมันยับเยินที่ แคสเซอรีน พาส แต่ทหารอเมริกันก็รวมพลกันและบัญชาการรบด้วยแม่ทัพที่ดุดันอย่างนายพลแพตตั้น จึงทำให้แนวรบเยอรมันหลายแนวตลอดพรมแดนเยอรมันแอลจีเรีย ถูกตีแตก มีทหารถูกสังหาร โดนจับเป็นเชลยศึกเป็นจำนวนมาก พลทหารแกร์ดเนอร์ ก็คือ หนึ่งในเชลยศึกนี้ เขาถูกจับในตูนิเซีย ปี ค.ศ. 1943 ถูกส่งไปสู่ค่ายเชลยที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาถูกส่งไปที่ค่ายแดมป์มิ่ง ในรัฐนิวเม็กซิโก และใช้ชีวิตที่นั่นเรื่อยมา
1
เชลยศึกเยอรมันที่ถูกคุมขังในอเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาคือผู้โชคดีกว่าทหารเยอรมันในที่อื่นๆ เพราะที่นี่ มีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ต่างจากการมา เข้าค่ายลูกเสือ หรือ มาทัศนศึกษา บนดินแดนแห่งเสรีภาพ พวกเขามีเตียงนุ่มๆ ผ้าห่มสะอาด อาหารร้อนๆ 3 มื้อ การรักษาการณ์ในค่ายเชลยก็ค่อนข้างหละหลวมไม่เข้มงวดใดๆ เชลยเยอรมันสามารถเข้าออกค่ายไปทานอาหาร หรือ พบปะกับพลเรือนอเมริกันนอกค่ายเชลยได้ ด้วยระบบให้เกียรติกันและกันในฐานะทหาร ผู้คุมอเมริกันก็ให้ความไว้วางใจเชลยเยอรมันว่าจะไม่หนี และ เชลยเหล่านี้ก็รักษาเกียรติของกองทัพ ด้วยการรักษาสัตย์ เชลยเหล่านี้ยังมีรายได้พิเศษจากการรับจ้างแรงงานในฟาร์ม หรือ โรงงานที่อยู่ใกล้ๆ กับค่าย และภายในค่ายเชลยก็มีการให้การศึกษาแก่เชลยเยอรมัน มีอาจารย์จากมหาลัยมาเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อเมริกัน และวิชาความรู้ในเรื่องต่างๆ เชลยทหารเยอรมัยนายหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า "
1
When I was captured I weighed 128 pounds. After two years as an American POW weighed 185 -
เมื่อตอนที่ผมโดนจับเป็นเชลย ผมหนัก 128 ปอนด์ หลังจากนั้น 2 ปี ในค่ายเชลยศึกที่อเมริกา ผมมีน้ำหนัก 185 ปอนด์"
พวกเขาอยู่ และ เรียนรู้เรื่องราวของอเมริกา เพราะในค่ายเชลยมีการสอนหนังสือ สอนเชลยศึกเยอรมันเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อเมริกา แนวคิดเรื่องเสรีภาพ และประชาธิปไตย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เชลยศึกทุกคนจะไม่คิดหนี ถึงแม้หากเราจะมองจะสภาพความจริงที่ว่า ดินแดนอเมริกามีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลมาก และมีพื้นที่ติดกับมหาสมุทรทั้งสองฝั่ง หากเชลยเยอรมันคิดจะหนีข้ามพรมแดนไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านของอเมริกา ก็ไม่มีประโยชน์อันใด เพราะไม่ว่าจะหนีไปทางเหนือข้ามพรมแดนไปแคนนาดา หรือ ลงมาทางใต้ไปเม็กซิโก ทั้งสองประเทศนี้ก็เป็นประเทศคู่สงครามกับเยอรมันทั้งสิ้น ถึงแม้จะมีความจริงดังนี้ก็ตาม เชลยศึกเยอรมันบางคนก็ยังอยากจะหลบหนีออกไป
1
พลทหารแกร์ดเนอร์ อยู่ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในค่ายเชลยเรื่อยมา ไม่เคยคิดหลบหนีออกไปจากค่ายเลยตลอดช่วงสงคราม จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปยุติลงเมื่อเดือน พฤษภาคม เชลยศึกเยอรมันที่อยู่ในค่ายต่างๆ ของอเมริกาทยอยถูกส่งตัวกลับประเทศ ก่อนเดินทางกลับเชลยศึกเยอรมันได้รับรู้เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง พวกเขารู้แล้วว่า กองทัพแดงบุกเข้ายึดกรุงเบอร์ลิน และพื้นที่ทั้งหมดทางฝั่งตะวันออกของประเทศ ตอนนี้ประเทศเยอรมันถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ โดยมีผู้ชนะสงครามควบคุม บ้านเกิดของพลทหารแกร์ดเนอร์ เมืองชไวน์นิทซ โลวเวอร์ ไซลีเซีย ก็อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพสหภาพโซเวียต สิ่งนี้ทำให้เขาไม่ต้องการจะถูกส่งกลับไปยังบ้านเกิดตนเองเลย วิธีการเดียวที่เขาตัดสินใจทำ ซึ่งเป็นวิธีที่เขาไม่เคยคิดจะทำเลยตลอดช่วงสงคราม แต่กลับลงมือกระทำเมื่อสงครามยุติ นั่นคือ การหลบหนี
วันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1945 ขณะกำลังรอถูกส่งกลับประเทศ แกร์ดเนอร์ตัดสินใจแล้วว่า เขาจะไม่กลับไปเยอรมัน และจะหลบหนีออกไปจากค่ายเชลยศึกแห่งนี้ อาศัยความมืดและการดูแลป้องกันของยามรักษาการณ์ที่หละหลวม เพราะพวกเขาคิดว่าสงครามยุติแล้ว จึงทำให้แกร์ดเนอร์เล็ดลอดผ่านประตูค่ายออกมา หลบหนีออกไปจากค่ายได้ในที่สุด ระหว่างทางเขาตัดสินใจกระโดดขึ้นรถไฟบรรทุกสินค้าขบวนหนึ่ง ซึ่งแล่นผ่านมา ขบวนรถไฟนี้นำพาทหารเยอรมันผู้ไม่อยากกลับบ้านคนนี้ ไปสู่ดินแดนแห่งเสรีภาพ
รถไฟขบวนนี้พาเขาไปจนถึงรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาซ่อนตัวอยู่ที่นั่นพักหนึ่ง ก่อนจะย้ายไปหลบอยู่ตามเมืองต่างๆ ทางฝั่งตะวันตกของอเมริกา อาศัยที่ว่าเขาสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี จึงทำให้เขากลมกลืมเข้ากับพลเมืองอเมริกันไปโดยปริยาย เขาสมัครทำงานในงานต่างๆ เช่น เป็นคนตัดไม้ พนักงานล้างจานในร้านอาหาร และกรรมกร เขาใช้ชื่อใหม่ของตนคือ เดนนิส เอฟ ไวลด์ และได้รับบัตรประกันสังคมในชื่อนั้น เมื่อเขามีเงินเก็บได้มากพอ คิดว่าคงไม่มีใครมาตามจับเขาได้ เดนนิส เอฟ ไวลด์ หรืออดีตคือ พลทหารเกิร์ก แกร์ดเนอร์ ก็ลงหลักปักฐานที่แคลิฟอร์เนีย เขาทำงานเป็นครูสอนสกีในฤดูหนาวและในงานก่อสร้าง รวมทั้งยังทำงานเป็นพนักงานขายในช่วงฤดูร้อน ใช้ชีวิตเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 1952 ก็พบกับ เจน คลาร์ก ผู้หญิงซึ่งเขาได้แต่งงานและใช้ชีวิตคู่จนมีบุตรด้วยกัน 2 คน
แต่ก็ใช่ว่าการหลบหนีของเขาจะถูกลืม ทั้งกองทัพและเอฟบีไอ ติดตามล่าตัวเขามาตลอดเวลา เขาถูกนำภาพไปประกาศตามจับตามเมืองต่างๆ ทั่วทั้งตะวันตกของเมริกา ภาพของเขาถูกนำประกาศลงนิตยสาร ไลฟท์ LIFE เพื่อให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศได้ช่วยกันตามหา เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่เขาเป็นหนึ่งในบุคคลที่เอฟบีไอต้องการตัวมากที่สุด ด้วยเหตุนี้เขาจึงย้ายไปอยู่ที่รัฐโคโลราโด ในเมืองที่ชื่อ โบลเดอร์ โดยที่นี่เขาทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและสถาปนิก พยายามใช้ชีวิตอย่างสงบเรื่อยมา แต่ความสงสัยและความกังวลใจ เกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวที่สุดของเขา ภรรยาของเขาเริ่มสงสัยมากขึ้น จากการปฏิเสธเพื่อพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับอดีตของตนเอง แกร์ดเนอร์บ่ายเบี่ยงที่จะบอกเล่าหรือพูดคุยเรื่องนี้มาตลอด
เมื่อเวลาผ่านไป ในปี ค.ศ. 1984 เขาก็เปลี่ยนใจ ตัดสินใจสารภาพเรื่องต่างๆ ที่ปิดบังมาตลอดให้ภรรยาได้รับรู้ และยอมเปิดเผยเรื่องนี้ให้สาธารณชนได้รับทราบโดยการติดต่อกับ ศาสตราจารย์อาร์โนลด์ แครมเมอร์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับเชลยทหารเยอรมันบนแผ่นดินอเมริกา และนำเรื่องราวของแกร์ดเนอร์ไปเขียนเป็นหนังสือที่ชื่อ Hitler's Last Soldier in America หรือ ทหารคนสุดท้ายของฮิตเลอร์บนแผ่นดินอเมริกา
เมื่อเรื่องราวของเขาถูกเปิดเผย รัฐบาลอเมริกันก็ไม่มั่นใจว่าจะจัดการกับเขาอย่างไร แม้จะมีการถกเถียงกันว่า การหลบหนีของเขาไม่ใช่การหลบหนีจากค่ายเชลยศึกตอนช่วงสงครามแต่อย่างใด เพราะในช่วงนั้น สงครามยุติแล้ว เขามีสถานะเป็นเหมือนกับผู้ลักลอบเข้าเมือง อย่างไรก็ตามรัฐบาลอเมริกันก็ไม่ได้ตั้งข้อหาใดๆ แก่เขา และเอฟบีไอเองก็ประกาศว่า ไม่ได้สนใจจะจับเขาอีกต่อไปแล้ว กระทั่งในปี ค.ศ. 2009 เขาก็ได้รับสถานะเป็นพลเมืองอเมริกันเต็มตัว
แกร์ดเนอร์ยังคงอาศัยอยู่ในโบลเดอร์ต่อไป หลังจากที่เขาได้เผยเรื่องราวของชีวิตตนเองให้สาธารณชนได้รับทราบแล้ว เขามีโอกาสกลับไปเยือนบ้านเกิดที่เยอรมันอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ภรรยาของเขายังคงอารมณ์เสียทุกครั้งกับเรื่องราวที่เขาซ่อนอดีตของตนเอง ไม่ให้เธอได้รับรู้มาเป็นเวลานาน และแล้วในปี ค.ศ. 2013 เกิร์ก แกร์ดเนอร์ เสียชีวิตอย่างสงบ ที่เมืองเลิฟแลนด์ รัฐโคโลราโด
โฆษณา