9 ม.ค. 2020 เวลา 08:13 • ประวัติศาสตร์
"เที่ยวบินแสวงบุญ หายนะของชาวอิหร่าน"
Airbus A300 ทะเบียน EP-IBU ลำที่เกิดเหตุ
ย้อนไปในปี 1953, ประเทศอิหร่านได้ทำการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีเพื่อมาปกครองประเทศ และได้นาย Mohammad Mossaddegh ขึ้นมารับตำแหน่ง นายกคนนี้ต้องการที่จะยึดสิทธิการผลิตน้ำมันของอิหร่านที่เดิมถูกปกครองโดยอังกฤษให้กลับมาเป็นของตัวเอง ส่งผลให้อังกฤษไม่พอใจเป็นอย่างมาก รวมหัวกับอเมริกาทำรัฐประหาร Mossaddegh ออกทันทีพร้อมแต่งตั้ง Mohammad Reza Shah (พระเจ้าชาห์) ปกครองประเทศอิหร่านแทน
Mohammad Mossaddegh
จักรพรรดินีฟาราห์ ปาห์ลาวี พระมเหสีของพระเจ้าชาห์เองก็สนับสนุนให้ชาวอิหร่านแต่งตัวแบบตะวันตก จำพวกกางเกงรัดรูป มินิสเกิร์ต เสื้อผ้าแขนขาสั้น สีสันสดใส และคัดค้านการสวมฮิญาบออกมาในที่สาธารณะ
1
การแต่งตัวในอิหร่านในสมัยพระเจ้าชาห์
พระเจ้าชาห์ทำการปกครองอิหร่านอยู่กว่า 25 ปี แต่สถานการณ์ก็แย่ลงเรื่อยๆเพราะตัวเขาเองถูกมองเสมือนหุ่นเชิดของอเมริกาและชาวตะวันตก เหล่าชาวมุสลิมนิกายชีอะห์เองเริ่มเคลื่อนไหว โดยให้เหตุผลของการนำคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานมาใช้ในการปกครองประเทศ จนกระทั่งในปี 1979 ชาวมุสลิมกว่า 2 ล้านคนทำการปฏิวัติการปกครองพระเจ้าชาห์ ล้มเลิกการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีมาช้านานว่า 2,500 ปีลง เริ่มการปกครองรัฐอิสลามขึ้นโดย Ayatollah Kohmeini ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดคนแรก
ซ้าย: Ayatollah Kohmeini, ขวา: Mohammad Reza Shah
หลังจากการปฏิวัติการปกครอง ประชาชนต้องสวมฮิญาบในที่สาธารณะด้วย และแต่งตัวให้มิดชิด ในส่วนของพระเจ้าชาห์ก็ทำการบินไปรักษาพระองค์อยู่ที่อเมริกา ยิ่งทำให้ชาวมุสลิมบางกลุ่มไม่พอใจ
เดือนพฤศจิกายน 1979, กลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งทำการบุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ ในอิหร่านจับชาวอเมริกันเป็นตัวประกันจำนวน 52 คน ระยะเวลานานกว่า 444 วัน ซึ่งเรียกมันว่า "วิกฤตการณ์ตัวประกันอิหร่าน" เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้สหรัฐฯ ได้เริ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านและเพิ่มความขัดแย้งให้ทั้งสองประเทศเป็นอย่างมาก
วิกฤตการณ์ตัวประกันอิหร่าน - Iran Hostage Crisis
ปี 1980, อิหร่านก็มีข้อพิพาทเรื่องเขตชายแดนกับอิรัก โดยถูกอิรักรุกรานชิงพื้นที่นำโดยนายซัดดัม ฮุดเซน ซึ่งชาวอิหร่านเชื่อว่าเบื้องหลังของการรุกรานครั้งนี้ คือสหรัฐอเมริกาแน่นอน แต่อิหร่านก็สามารถชิงดินแดนที่สูญเสียไปทั้งหมดคืนมาได้ภายในเดือนมิถุนายน 1982 ภายใต้การเข้าช่วยเหลือของอิสราเอล
ปี 1984, สงครามระหว่างอิรัก-อิหร่านได้ลามไปถึงการโจมตีทางอากาศ สงครามเคมี การโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน และการโจมตีเรือขนส่งที่ต้องสงสัย ส่งผลให้น่านน้ำบริเวณอ่าวเปอร์เซียตกอยุ่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด
ปี 1987, สหรัฐอเมริกากำหนดมาตรการ Notice of Airmen (NOTAM) ขึ้นมาบังคับการยืนยันตัวเองในน่านฟ้าบริเวณอ่าวเปอร์เซียไปแก่ทุกประเทศใบแถบนั้น แถมยังมีการตรวจการเข้าออกน่านฟ้าและน่านน้ำอย่างเข้มงวดบริเวณช่องแคบ Hormuz ซึ่งเป็นเหมือนประตูเข้าออกอ่าวเปอร์เซียเลย โดยบังคับไม่ให้อากาศยานและเรือลำใดเข้าใกล้เขตเรือรบเกิน 5 nautical miles และความสูงที่ต่ำกว่า 2,000 ฟุต (ขออนุญาตเรียกว่า "เขตต้องห้าม")
ปี 1988, มีเหตการณ์ที่ทำให้สถานการณ์บานปลายเข้าไปอีกนั่นคือการที่เรือ USS Stark และ USS Samuel ของสหรัฐฯได้ถูกยิงส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตชาวอเมริกันจำนวนหนึ่ง ทำให้การจราจรทุกรูปแบบจำเป็นต้องเดินทางเฉพาะบริเวณทีปลอดภัย ในน่านฟ้า-น่านน้ำของตนเอง รวมไปถึงอิหร่านแอร์ เที่ยวบินที่ 655 ที่กำลังนำพาเหล่านักแสวงบุญเดินทางกลับจากเมืองเตหะราน, ประเทศอิหร่านอีกด้วย
วันที่ 3 กรกฎาคม 1988, สายการบินอิหร่านแอร์ เที่ยวบินที่ 655 เครื่องบินรุ่น Airbus A300B2-203 ทะเบียน EP-IBU นำผู้โดยสารจำนวน 274 คน ลูกเรือ 16 คนเดินทางจากเมืองเตหะรานประเทศอิหร่าน มุ่งหน้าสู่เมืองดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ต้องแวะเติมน้ำมัน (Stopover) ที่เมือง Bandar Abbas, ประเทศอิหร่านก่อน 1 จุด นำโดยกัปตัน Mohsen Rezaian อายุ 37 ปี, ชั่วโมงบินสะสมกว่า 7,000 ชั่วโมง
เส้นดำ: เส้นทางบินตามกำหนด, จุดแดง: จุดเกิดเหตุ
ขาแรกของเที่ยวบิน จากกรุงเตหะรานมาลงจอดที่ Bandar Abbas ปกติดี ทำการเติมเชื้อเพลิง และพร้อมออกเดินทางต่อ ณ เวลาท้องถิ่น 10.27 น. เครื่องบินลำดังกล่าวทำการบินขึ้นจากสนามบิน Bandar Abbas ไต่ระดับความสูง 14,000 ฟุต เหนืออ่าวเปอร์เซีย มุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางสนามบินดูไบ
10.55 น. ตามเวลาท้องถิ่น เที่ยวบินที่ 655 ได้หายไปจากเรดาห์ของหอควบคุมและไม่สามารถติดต่อได้อีก
เช้าวันเดียวกัน เรือรบติดระบบติดตามขั้นสูง (Aegis Radar) 3 ลำทำการลาดตระเวนอยู่บริเวณช่องแคบ Hormuz ได้แก่ USS Montgomery, USS Sides, และ USS Vincennes
เฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐฯ ในบริเวณเดียวกันสังเกตเห็นเรือเล็กติดอาวุธของอิหร่านจึงทำการแจ้งเรือรบใกล้เคียง, USS Vincennes จึงทำการขยับเรือไปรุกล้ำน่านน้ำโอมานเพื่อเข้าใกล้เรือเล็ก แต่ถูกคำสั่งจากโอมานให้ขยับออก ทว่ายังไม่ลดละความพยายาม อ้อมเข้าน่านน้ำอิหร่านเพื่อติดตามเรือเล็กติดอาวุธ
USS Vincennes
ในขณะเดียวกันาัญญาณตรวจสอบของเรือก็ตรวจพบอากาศยานกำลังทำการไต่ระดับ จึงทำการติดต่อตรงกับอากาศยานนั้นหลายครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง เมื่อไม่ได้รับการยืนยันและมีการแจ้งว่านี่คืออากาศยานรบ F-14 Tomcat ติดอาวุธของอิหร่าน เรือ USS Vincennes จึงตัดสินใจปล่อยขีปนาวุธ SM-2MR จำนวน 2 ลูกแก่อากาศยานลำดังกล่าวทันที
ซึ่งหารู้ไม่ว่ามันคือ Airbus A300 เที่ยวบินที่ 655 ของอิหร่านแอร์
Standard Missile (SM-2MR)
เครื่องบินลำดังกล่าวระเบิดและจมลงสู่ทะเลทันที ผู้โดยสารและลูกเรือรวมจำนวน 290 คน ไม่มีผู้รอดชีวิต และไม่พบกล่องดำแม้แต่กล่องเดียว
• ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ
หลังเกิดเหตุการณ์สหรัฐฯ ออกกมาชี้แจงว่านี่เป็นความผิดพลาด เข้าใจผิดคิดว่าอากาศยานดังกล่าวคือ F-14 Tomcat ติดอาวุธของอิหร่านจึงทำการยิงสกัด โดยเหตุผลประกอบคือ Bandar Abbas เป็นฐานปฏิบัติการของ F-14 ของอิหร่าน แต่เที่ยวบิน 655 บังเอิญออกมาจากสนามบินนี้ในเวลาที่พอเหมาะพอเจาะ
USS Vincennes เองก็ทำการติดต่อโดยตรงไปยังอากาศยานถึง 10 ครั้ง เป็นคลื่นวิทยุทหารถึง 7 ครั้ง และคลื่นวิทยุฉุกเฉินการบินพลเรือนอีก 3 ครั้งแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง แถมค่าความเร็วของอากาศยานพลเรือนที่ได้รับแจ้งมาคือ 300 knots แต่ลำที่เห็นดังกล่าวกำลังบินอยู่ที่ความเร็ว 350 knots ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนกันถึง 50 knots ก็เลยเข้าใจว่าเป็นคนละลำกันแน่นอน
(ภาพ Animation ประกอบ)
• ความเคลื่อนไหวของอิหร่าน
อิหร่านเริ่มต้นความเคลื่อนไหวโดยการประณามการกระทำซึ่งมิชอบของสหรัฐฯ นี้พร้อมบอกว่านี่คือการกระทำที่ผิดกฎหมาย ไร้ยางอาย และจงใจ !
แม้จะบอกว่านี่คือความผิดพลาดของการระบุตำแหน่ง แต่การยิงอากาศยานตกโดยเรือรบติดตั้งระบบตรวจจับขั้นสูง (Aegis Radar) คือความประมาทที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมระหว่างประเทศได้เลย ไม่ใช่เพียงอุบัติเหตุ
Aegis Radar สามารถตรวจจับและระบุตำแหน่งขั้นสูง จับเรดาห์ของเครื่องบินลาดตระเวนและสัญญาณโหมด III ได้เลย ไม่น่าผิดพลาดกับเรื่องแค่นี้ อีกทั้ง เรือรบติดระบบตรวจจับขั้นสูงอีก 2 ลำใกล้เคียง (USS Montgomery และ USS Sides) ก็สามารถตรวจจับเที่ยวบิน 655 เป็นเที่ยวบินพลเรือน ที่บินในน่านน้ำตัวเองปกติ
เที่ยวบิน 655 ทำการยืนยันตัวตน NOTAM ที่สนามบินภูมิภาคเรียบร้อย และไม่ได้เข้าใกล้ "เขตต้องห้าม" เลยด้วยซ้ำ เพียงแต่เวลาเกิดเหตุ เครื่องบินพาณิชย์ก็กำลังทำการสนทนากับหอควบคุมจราจรต่างๆผ่านความถี่พลเรือนมาตรฐาน ภาษาที่ใช้ก็ภาษาอังกฤษที่เป็นสากล แต่อยู่ดีๆก็ถูกอ้างว่าติดต่อไม่ได้
สุดท้าย อิหร่านกล่าวว่า ถึงแม้นี่จะเป็น F-14 Tomcat จริง สหรัฐฯก็ไม่มีสิทธิที่จะมายิงสุ่มสี่สุ่มห้า เพราะมันกำลังบินอยู่ในน่านฟ้าอิหร่าน นอก "เขตต้องห้าม" และไม่ได้อยู่ในเส้นทาง (Pathway) ที่จะทำการโจมตีใครได้เลย เจ้า USS Vincennes เองต่างหากที่รุกล้ำน่านน้ำมา แถมยิงขีปนาวุธใส่เลย
(ภาพ Animation ประกอบ)
• ผลที่ตามมาภายหลังเหตุการณ์
1. เกิดข้อพิพาทที่รุนแรงระหว่าง 2 ประเทศโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่าน, Ali Akbar Velayati ขอให้คณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประณามสหรัฐฯ ว่าเป็นการโจมตีที่จงใจ (Could not have been a mistake), เป็นอาชญากรรม (Criminal Act), เป็นการสังหารหมู่ (Massacre), และเป็นความโหดร้าย (Atrocity)
2. อิหร่านกล่าวว่านี่เป็นการกระทำนัยๆของสหรัฐฯ ว่าจงใจอยู่ข้างอิรัก
3. ในเดือนกุมภาพันธ์ 1996, สหรัฐฯ ทำการจ่ายเงินจำนวน 131.8 ล้านดอลลาห์สหรัฐฯแก่อิหร่านโดยระบุว่านี่คือเงินชดเชยแก่ผู้เสียชีวิต ไม่ใช่ค่ารับผิดชอบใดๆ
4. รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ไม่เคยขอโทษ หรือแสดงการยอมรับการกระทำผิดครั้งนี้แม้แต่ครั้งเดียว
5. หลังจากเหตุกการณ์ 5 เดือน, เที่ยวบิน Pan Am 103 ของสหรัฐฯ เกิดระเบิดขึ้น และมีการพูดถึงเหตุการณ์นี้ในทำนองที่ว่าชาวปาเลสไตน์เป็นผู้ก่อการร้าย โดยมีซีเรียสนับสนุน และอิหร่านอยู่เบื้องหลังเพื่อตอบโต้เหตุการณ์เที่ยวบิน Iran Air Flight 655 นี้เอง
ภาพการพูดถึงเหตุการณ์ 655 ในอิหร่าน
โฆษณา