10 ม.ค. 2020 เวลา 01:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
#เหตุที่ค้างคาวมีเชื้อที่จะล้างบางมนุษยชาติ
#ค้างคาวในมุมที่ร้ายกว่าแดรกคิวล่า
ปี 2003 SARS ที่ฮ่องกง ฆ่ามนุษย์ไป 700 กว่าคน ป่วยอีกกว่า 8,000 คน
ภาพเอ็กซเรย์ปอด สีดำคืออากาศ ฝ้าขาวๆที่เพิ่มขึ้นคือหลักฐานของปอดอักเสบ เต็มไปด้วยน้ำ
ปี 2004 Marburg virus ที่แองโกล่า ฆ่ามนุษย์ไป 227 คน จากผู้ป่วย 252 โอกาสติดเชื้อแล้วตาย 90%
เชื้อ Marburg virus
ปี 2012 MERS ในแถบประเทศตะวันออกกลาง ฆ่ามนุษย์ไปแล้วเกือบ 500 คน จากที่ติดเชื้อกว่า 1300 คน และยังระบาดประปรายจนถึงทุกวันนี้
MERS-coV ติดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งจากอูฐที่มีเชื้อ เช่น ดื่มน้ำนมอูฐดิบ
ปี 2014 Ebola virus ในแอฟริกาตะวันตก ฆ่ามนุษย์ไปกว่า 11,000 คน ยอดป่วยเกือบ 30,000 คน กินเวลาเกือบสามปี การระบาดถึงจะสงบ
ผู้ป่วยโรคอีโบล่า และบุคลากรทางการแพทย์ที่ใส่ชุดป้องกันเต็มที่ แพทย์บางท่านใช้กาวร้อนหยอดที่ซอกเล็บเพื่อป้องกันเชื้อ
ปี 2018 Nipah virus ฆ่ามนุษย์ 21 คน ในอินเดีย
ทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นจากค้างคาวและยังมีไวรัสเฉียดร้อยในค้างคาวที่ยังไม่เกิดการระบาดในมนุษย์ ไวรัสบางสายพันธุ์อาจต้องรอการกลายพันธุ์ก่อนที่จะกระโดดมาหามนุษย์ได้ ขณะที่บางสายพันธุ์กำลังรอมนุษย์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่บังเอิญไปสัมผัสมัน
ทำไมค้างคาวถึงชอบแพร่เชื้อ?
ถึงแม้ค้างคาวตัวเมียจะออกลูกเพียงตัวเดียวต่อปี แต่ด้วยอายุขัยที่ยืนยาว
ค้างคาวในฝูงหนึ่งอาจมีขนาดใหญ่ได้ถึงหลักล้านถึงสิบล้านตัวในถ้ำเดียว
ด้วยจำนวนที่มากมายมหาศาล ทำให้เชื้อโรคในค้างคาวนั้นติดไปมาระหว่างกันได้อยู่ตลอดเวลาและสามารถรักษาจำนวนในฝูงค้างคาวได้ แม้ค้างคาวบางตัวจะป่วยตาย
และด้วยอายุขัยที่ยาวหลายสิบปี ทำให้เชื้อโรคที่ไม่ทำให้ค้างคาวตายสามารถหลบซ่อนตัว เพิ่มจำนวน และกลายพันธุ์
หลังจากเกิด SARS ระบาดปี 2003 นักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบ SARS กว่า 10 สายพันธุ์ในค้างคาวที่มลฑลยูนนาน แต่ไม่พบสายพันธุ์ที่เป็นเชื้อก่อโรคในมนุษย์ที่เป็นต้นเหตุของการระบาดครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนเชื้อโรคมหาศาลในประชากรค้างคาว
ค้างคาวยังชอบอพยพตามฤดูกาล เวลาอพยพจะบินเป็นฝูงขนาดใหญ่ ฝูงค้างคาวสามารถเดินทางข้ามทวีปได้เลยทีเดียว เชื้อโรคจึงมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับค้างคาวหรือสัตว์อื่นๆในดินแดนที่ห่างไกลออกไป
1
การระบาดเกิดขึ้นอย่างไร?
มีนักท่องเที่ยวสายผจญภัยจำนวนมากชอบไปเที่ยวถ้ำค้างคาวเพื่อชมความลึกลับและความสวยงามของธรรมชาติ แต่ต้องพึงระวังไว้เสมอ
1 ม.ค. 2008 นักท่องเที่ยวหญิง อายุ 44 ปีกลับมาบ้านที่รัฐโคโลราโด้ สหรัฐอเมริกา หลังจากไปเที่ยวซาฟารีที่ประเทศอูกันดา เธอเริ่มมีอาการไข้หนาวสั่นคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะรุนแรง ต่อมาเริ่มมีปวดท้อง ผื่นขึ้นตามตัวและเริ่มมีอาการสับสน
เธอติดเชื้อ Marburg virus จากถ้ำค้างคาวแห่งหนึ่งจากทริปซาฟารีเมื่อสองสัปดาห์ก่อน หลังจากไปสัมผัสก้อนหินที่ปนเปื้อนอุจจาระค้างคาว
Marburg เป็นไวรัสกลุ่มเดียวกับ Ebola ที่เป็นหนึ่งในไวรัสที่อันตรายที่สุดในโลก โชคยังดีที่เธอรอดชีวิต แต่หนุ่มชาวดัตช์ที่ได้ไปถ้ำเดียวกันนั้นเสียชีวิต
แต่กระนั้นการระบาดของโรคที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการล่าสัตว์ป่าที่บังเอิญได้รับเชื้อมาจากค้างคาว หรือการล่าค้างคาวมาทำอาหาร อย่างการเกิดการระบาดของอีโบล่าในแอฟริกา มักเกิดจากการกินกอริลล่า ชิมแพนซี หรือ ค้างคาว
ตลาดสดขายเนื้อค้างคาวในประเทศอินโดนีเซีย
และที่เกิดบ่อยที่สุดเกิดจากการรุกพื้นที่ป่าเข้าไปทำปศุสัตว์และอยู่อาศัย
การรุกป่านอกจากจะได้ที่ดินเพิ่มแล้ว ยังได้เชื้อโรคแถมมาด้วย
เช่น ในช่วงปี 1990s ในประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างมาเลเซีย พบหมูตายนับแสนตัวโดยไม่รู้สาเหตุ เกษตรกรที่เลี้ยงหมูก็ป่วยและเสียชีวิต ภายหลังพบว่าเกษตรกรติดเชื้อจากหมูที่ติดเชื้อมาจากขี้ของค้างคาวอีกทีหนึ่ง
ถึงแม้ค้างคาวจะถูกคนมองว่าเป็นสัตว์ที่น่ากลัว เป็นผีดูดเลือด และยังมีเชื้อโรคมากมายในตัว
ความจริงแล้วมีเพียงค้างคาวแค่ 3 สายพันธุ์ที่กินเลือดเป็นอาหารจากพันกว่าสปีชี่ส์และสายพันธุ์เหล่านี้มีอยู่เฉพาะทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้เท่านั้น
ค้างคาวเองนั้นยังมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ พวกมันช่วยผสมเกสรดอกไม้และกินแมลง
และบางทีแล้วการกระทำของมนุษย์เองนั่นแหละที่จะนำพาให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ ไม่ใช่เป็นความผิดของธรรมชาติที่คงอยู่มานานก่อนที่มนุษย์จะย่ำกรายเข้าไปตักตวงผลประโยชน์
โฆษณา