12 ม.ค. 2020 เวลา 04:28 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ข่าวการซื้อบริษัท 21st Century Fox ของ Walt Disney นั้น ถือเป็นข่าวดีอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะแฟน ๆ ของเหล่าซูเปอร์ฮีโรทีม Avenger คงอยากเห็นเหล่า X-Men หรือ Fantastic Four มาปรากฏตัวพร้อม ๆ กัน
ในบรรดาซูเปอร์ฮีโรทั้งหลาย ผมออกจะชอบศาสตราจารย์ เอ็กซ์ หรือ ชาร์ลส์ ฟรานซิส เซเวียร์ (Charles Francis Xavier) ทั้งในด้านปรัชญาทางความคิด และความสามารถพิเศษของเขาทางด้านพลังจิต โดยเฉพาะการเข้าถึงความคิดของคนอื่น (Telepathy) หรือการเชื่อมโยงความคิดกับจิตผู้อื่นได้
 
ในโลกของความเป็นจริงแล้ว ความคิดของเรา สามารถส่งผ่านไปยังคนอื่น
โดยไม่จำเป็นต้องพูดหรือสื่อสารออกมาได้หรือไม่
และคนอื่นสามารถอ่านความคิดของเรา แบบที่ศาสตรจารย์เอ็กซ์ทำ ได้หรือไม่?
ภาพ : shutterstock
ในโลกของสัตว์ที่ไม่มีเสียงและการแสดงออกทางหน้าตา เช่น มด ก็สามารถสื่อสารกันได้ ด้วยสารเคมีที่หลั่งออกมาจากร่างกาย เมื่อเพื่อนมด ทั้งในสายพันธุ์เดียวกัน และต่างสายพันธุ์รับรู้ได้ถึงเคมีนั้น ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามที่เพื่อนส่งสัญญาณมาทางสารเคมี
ภาพ : shutterstock
ในโลกของพืช ต้นไม้ก็สื่อสารกันด้วยเสียง จากผลการวิจัยพบว่า ช่วงที่เซลล์พืชเจริญเติบโต จะมีการส่งเสียงที่เรียกว่า Echolocation แบบเดียวกับที่ค้างคาวใช้ เพื่อยืนยันสภาพแวดล้อมโดยรอบ
ภาพ : shutterstock
มาถึงกรณีของมนุษย์บ้าง ในช่วงเวลาที่สมองคิดนั้น เซลล์สมองจะส่งสัญญาณไฟฟ้าถึงกัน การทำงานนี้มีส่วนคล้ายกับตอนที่สมองสั่งให้ร่างกายขยับลุกขึ้นยืนและเดิน ในปี 2014 มีการทดลองส่งผ่านความคิดจากสมองไปสู่สมองของคนอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไป โดยแปลงสัญญาณไฟฟ้าจากคลื่นสมองนำมาเข้ารหัส (Encode) และส่งผ่านรหัสนั้นไปยังปลายทาง และทำการถอดรหัส (Decode) เป็นขั้นตอนสุดท้าย
สำหรับการเข้ารหัสนั้น จะใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า EEG เป็นเครื่องมือเดียวกับที่ใช้ควบคุมแขนกลหรือรถเข็นผู้ป่วยผ่านทางสมองโดยตรง โดยอาศัยการอ่านสัญญาณจากคลื่นสมองที่แตกต่างกันในความถี่รูปแบบต่าง ๆ แล้วแปลเป็นรหัสคำสั่ง
ส่วนการถอดรหัส จะทำผ่านเครื่อง TMS (Transcranial Magnetic Stimulation) ความสามารถของเครื่องนี้คือ การส่งสัญญาณผ่านไปยังสมองของมนุษย์ได้โดยตรงในรูปแบบของสัญญาณพัลส์ (Pulses) ผ่านทางขดลวดเหนี่ยวนำ
ภาพ : shutterstock
ในครั้งแรกของการทดลอง ได้ทำการส่งข้อความจากคนที่อยู่อินเดีย ไปยังปลายทางที่ประเทศฝรั่งเศส ผลปรากฏว่า อาสาสมัคร 3 คนที่ปลายทาง สามารถรับข้อความได้ถูกต้อง โดยคำที่คิดและส่งออกไปคือ คำว่า Halo และ Ciao ซึ่งแปลว่า สวัสดี ในภาษาสเปนและอิตาลี ตามลำดับ
ในครั้งที่สองของการทดลอง พบว่ามีความผิดพลาดประมาณ 15% ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากความผิดพลาดในการถอดรหัส แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่าผลการทดลองนี้ประสบความสำเร็จไปด้วยดี
ถึงแม้ว่า ผลการทดลองในปัจจุบัน จะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า หากข้อความมีความซับซ้อนขึ้นจะสามารถส่งผ่านไปได้หรือไม่ แต่ผลการทดลองก็สามารถยืนยันได้ว่า การรับส่งข้อความผ่านคลื่นสมองนั้นสามารถทำได้จริง โดยผ่านเครื่องมือ (แต่การถูกอ่านความคิดโดยตรงนั้นทำไม่ได้ ใครที่กังวลก็ขอให้สบายใจได้เลย)
ในอนาคต ความคิดของคนอาจส่งผ่านไปยังสมองของคนอื่นได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ถึงวันนั้น วิธีการสื่อสารหรือถ่ายทอดประสบการณ์อาจเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว
ภาพ : shutterstock
โฆษณา