11 ม.ค. 2020 เวลา 09:58 • การศึกษา
วันนี้ขอมีสาระหน่อยครับว่าด้วยเรื่อง...อันตรายจากแสงเชื่อม(Welding Rediation)....เชื่อว่าหลายท่านคงเคยโดนหรือสัมผัสมา...
อันตรายที่แฝงมากับงานเชื่อม
วันนี้เป็นนายช่างในตำนาน
การเชื่อมโลหะเป็นอุตสาหกรรมที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างอาคารร้านค้าต่างๆ ตลอดจนเครื่องจักรกลต่าง ๆก็ต้องเชื่อมยึดเพื่อให้เกิดความมั่นคง การเชื่อมโลหะก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมากมาย ตั้งแต่รังสีจากการเชื่อมด้วยไฟฟ้า หรือแก๊ซ คือรังสีอุลตราไวโอเล็ต เมื่อผู้เชื่อมได้รับรังสีนาน ๆ เข้าก็อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งที่ผิวหนังได้หรือ ทำให้ผิวหนังตกกระแก่ก่อนวัย ผิวหนังเหี่ยว แสงที่เกิดจากการเชื่อมเป็นแสงที่มีความเข้มข้นมากถ้ามองด้วยตาเปล่า สายตาอาจจะเสียหรือบอดได้ นอกจากแสงแล้วอาจจะมีสะเก็ดโลหะที่ร่อนกระเด็นเข้าสู่ตาได้ The American Natinal Standard Institute (ANSI) Bulletin E49.1 จัดพิมพ์โดย The American Welding Society อ้างอิงได้ว่า ควันและแสงจากการเชื่อมเป็นสาเหตุให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยแบ่งอันตรายที่เกิดขึ้นนี้ออกเป็นข้อย่อย 3 ข้อ คือ
1.อันตรายจากควันของการเชื่อม
2.อันตรายจากแสงจากการเชื่อม
3.ไฟฟ้าดูด
1. อันตรายจากฟูม (FUME)และก๊าซที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ฟูม (Fume) เป็นอนุภาคของแข็งที่เกิดขึ้นจากการควบแน่นของสารที่อยู่ในสถานะที่เป็นก๊าซ โดยทั่วไปสารนั้นๆ จะอยู่ในสถานะของแข็งที่อุณหภูมิห้อง เมื่อได้รับความร้อนก็จะระเหยและจะควบแน่นทันที ตัวอย่างฟูมที่พบในการทำงาน ได้แก่ ฟูมของตะกั่วออกไซด์ ฟูมของเหล็กออกไซด์ฯลฯ มนุษย์ได้เรียนรู้วิธีการเชื่อมมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยได้ตระหนักถึงอันตรายของฟูมและก๊าซที่เกิดขึ้นในงานเชื่อมสักเท่าไร การศึกษาในประเภทนี้เพิ่งจะเริ่มขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1970-1980 เท่านั้น จากการวิเคราะห์พบว่าสารเหล่านี้มีส่วนประกอบของโลหะออกไซด์และสารที่เคลือบบนลวดเชื่อม ซึ่งสารเหล่านี้จะปะปนอยู่ในอากาศที่ใช้ในการหายใจและอาจผ่านเข้าสู่ปอดได้ พัดลมดูดอากาศสามารถใช้เพื่อกำจัดฟูมเหล่านี้ออกจากบริเวณทำงานได้ แต่ควรระวังอย่างให้ฟูมเหล่านี้หมุนเวียนเข้ามาสู่บริเวณหายใจ สิ่งหนึ่งที่ควรระวังคือ ถ้าปริมาณมากขึ้นอัตราการถ่ายเทอากาศควรมีค่าสูงขึ้นเช่นกัน
ค่าความเข้มข้นของฟูมในบรรยากาศรอบๆบริเวณทำงานจะต้องถูกควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยแต่ในทางปฏิบัติแล้วควรจะกำจัดออกให้หมด จะต้องระวังที่จะไม่หายใจเอาฟูมนี้เข้าไป นอกจากนี้ในระหว่างการเชื่อมอาจเกิดก๊าซพิษร่วมกับควัน ก๊าซต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคือ
1) ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ มักเกิดในบรรยากาศแต่อาจเกิดได้ขณะทำการเชื่อม จะก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ตา จมูกและลำคอ อาจทำให้หมดสติได้ ควรติดตั้งระบบระบายอากาศเฉพาะที่เพื่อแก้ปัญหานี้
2) ก๊าซโอโซน (เกิดจากรังสีอัลตราไวโอเลตทำปฏิกิริยากับออกซิเจน) มักเกิดจากการเชื่อมที่ใช้อาร์กอน ซึ่งเป็นก๊าซที่ใช้ตัดเหล็ก ในการเชื่อมควันจากการเชื่อมทังสเตนหรือการเชื่อมด้วยก๊าซ ก๊าซโอโซนจะก่อให้เกิดการระคายเคืองตาและเยื่อบุโดยจะทำให้เกิดโรค Pulmonary edema โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจเรื้อรัง
3) ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ เกิดจากการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเชื่อมหรือเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของสารบางชนิด เช่น สี หรือ ไข อาจเกิดอันตรายจากการได้รับก๊าซนี้มีอาการมึนงง เวียนศรีษะ หรือหมดสติและเสียชีวิตได้
ฯลฯ
2. อันตรายจากแสงจากการเชื่อม
แสงจ้าจากการเชื่อมเป็นอันตรายต่อดวงตาและอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้รังสีในห้องเชื่อมที่เป็นอันตรายจะอยู่ในช่วงความถี่ตามองไม่เห็น คือช่องรังสีใต้แดง(infrared)และรังสีเหนือม่วง(ultraviolet) รังสีทั้งสองชนิดนี้ทำให้เกิดอันตรายต่อสายตาและผิวหนังได้อย่างรุนแรง คือ ดวงตาระคายเคืองถึงกับอักเสบและน้ำตาไหล ผิวหนังส่วนที่ได้รับรังสีจะเป็นเหตุให้ผิวไหม้และรู้สึกปวดแสบปวดร้อนเป็นเวลา 24 – 48 ชั่วโมงขึ้นไป ยาวนานตามระยะเวลาที่ได้รับรังสีนั้น ๆ ก๊าซบางชนิด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ จะสามารถกรองและดูดซับรังสีนี้ได้มาก แต่ในทางตรงกันข้าม อาร์กอนจะไม่มีผลต่อการลดความเข้มของรังสีเหนือม่วง ดังนั้นบุคคลที่เชื่อมโดยใช้อาร์กอนจึงมีความเสี่ยงต่อรังสีเหนือม่วงมากกว่าบุคคลที่เชื่อมโดยใช้คาร์บอนไดออกไซด์ สารที่เคลือบลวดเชื่อมหลายชนิดจะให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาขณะเกิดการเผาไหม้ นอกจากนี้ สารที่เคลือบลวดเชื่อมบางชนิดจะมีผลต่อการลดการแพร่รังสีเหนือม่วงอีกด้วย แต่โดยทั่วไปแล้วอัตราการแพร่รังสีของรังสีเหนือม่วงในงานเชื่อมประเภทการเชื่อมด้วยก๊าซยังมีค่าสูง
ดังนั้นควรปกป้องสายตาโดยการใช้กระจกค่าตัดแสงที่เหมาะสมกับชนิดของงาน American Welding Society ได้กำหนดระดับความเข้มข้นของแผ่นตัดแสงที่เหมาะสมกับงานเชื่อมแต่ละประเภท ดังนั้นจึงควรเลือกใช้แผ่นตัดแสงที่มีความเข้มสูงกว่าที่กำหนดได้เสมอ แต่อย่าใช้แผ่นที่มีความเข้มต่ำกว่าที่กำหนด แผ่นกรองแสงนี้อาจทำมาจากกระจก พลาสติก อาจมีการเคลือบทองในลักษณะที่มนุษย์อวกาศใช้ ถ้าใช้แผ่นกรองแสงเคลือบทอง ควรตรวจสอบการเคลือบว่าไม่มีรอยขีดข่วนใด ๆ เนื่องจากดวงตาจะไม่สามารถรับรู้อาการเจ็บป่วยได้จนกว่าดวงตาจะถูกรังสีต่าง ๆ จะทำลายอย่างรุนแรงและอาจเป็นการทำลายโดยถาวร
แสงจ้าจากการเชื่อมสามารถทำอันตรายต่อผิวหนังได้เช่นกัน ผู้เชื่อมควรสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้มไม่สะท้อนแสง ถ้าสวมใส่ชุดสีอ่อนขณะทำการเชื่อมอาจสะท้อนแสดงจากการเชื่อมจะเกิดอาการไหม้ บริเวณลำคอได้ การเลือกใช้อุปกรณ์ป้องกัน และเลือกสีเสื้อผ้าที่เหมาะสมสามารถช่วยป้องกันได้ควรมีการปกปิดผิวหนังทุกส่วน
3.ไฟฟ้าดูด
ระบบไฟฟ้าในการเชื่อมชนิดเชื่อมไฟฟ้า จะเริ่มจากแหล่งจ่ายไฟและจบลงที่สายดิน กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านสู่ชิ้นงาน กระแสที่มีประจุตรงกันข้ามจะไหลในทิศทางกลับกัน กระแสไฟฟ้าจะต้องไหลลงสู่ดินเพื่อให้วงจรสมบูรณ์ และในการไหลลงสู่ดินนี้กระแสไฟฟ้า จะเลือกทางเดินที่สะดวกที่สุดเสมอ กระแสไฟฟ้าที่ใช้จะมีความต่างศักย์ 80 โวล์ท การลัดวงจรของกระแสไฟฟ้าที่มีความต่างศักย์ดังกล่าว อาจไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ก่อให้เกิดอันตรายอื่น ๆ ได้ เช่น เป็นแหล่งความร้อน ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ ไม่ควรใช้เครื่องเชื่อมที่ใช้ในไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับบนชิ้นงานเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน ในกรณีที่ร่างกายของผู้เชื่อมสัมผัสกับขั้วไฟฟ้าที่ต่างกัน กระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านตัวผู้เชื่อม อาจสูงถึงขั้นเป็นอันตรายได้ ตามที่ได้กล่าวแล้วว่ากระแสไฟฟ้า 80 โวล์ท ไม่มีอันตรายถึงกับชีวิต แต่จะมีผลต่อการควบคุมกล้ามเนื้อซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น การพลัดตกจากนั่งร้าน อย่าพันสายไฟไว้รอบตัวเพราะฉนวนหุ้มสายไฟอาจอยู่ในสภาพชำรุด เลือกใช้มือจับลวดเชื่อมให้เหมาะสมกับไฟฟ้าที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดความร้อนสูง แต่ถ้าเกิดความร้อนสูงขึ้นแล้วอย่าแช่มือจับลวดเชื่อมลงในน้ำ อย่าทิ้งมือจับลวดเชื่อมไว้โดยไม่ดูแล ควรระวังการเกิดเพลิงไหม้ เตรียมเครื่องดับเพลิงไว้ในบริเวณทำงาน ถ้าหลีกเลี่ยงได้ไม่ควรเชื่อมวัสดุที่ติดไฟได้เป็นแนวยาวเกิน 35 ฟุต ถ้าจำเป็นต้องทำจะต้องแต่งตั้งคนคอยระวังเพื่อตรวจตราและแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เพราะผู้เชื่อมไม่สามารถมองเห็นไฟได้ขณะทำการเชื่อม จะพบเห็นต่อเมื่อลุกลามจนยากต่อการควบคุม อาจเกิดการระเบิดขณะทำการเชื่อม ผงฝุ่นเล็ก ๆ ที่ลอยอยู่ในอากาศเกิดการลุกไหม้
ดังนั้นการปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในงานเชื่อมโดยเคร่งครัด
โปรดจำไว้ว่า ควันจากการเชื่อม ฟูมและก๊าซเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แสงจ้าจากการเชื่อมเป็นอันตรายต่อดวงตา และอาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ กระแสไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อชีวิต
ข้อปฏิบัติในการเชื่อมโลหะ เพื่อความปลอดภัยในการเชื่อมโลหะ ผู้ปฏิบัติงานเชื่อมควรปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
1 ตรวจสอบชิ้นส่วนของอุปกรณ์การเชื่อมโลหะให้มีความสมบูรณ์ใน การใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบไฟฟ้า
2 ปิดเครื่องเชื่อมทุกครั้งหลังจากหยุดการเชื่อมและเคลื่อนย้ายเครื่องเชื่อม
3 สวมหน้ากากหรือต้องสวมแว่นตาและเลือกกระจกแสงให้ถูกต้องทุกครั้งในการเชื่อม จะเป็นชนิดสวมหัว (Halmet shield) หรือชนิดมือถือ (Hand shield) ก็ได้ และต้องเลือกกระจกกรองแสงให้ตรงตามมาตรฐาน ตามลักษณะงานที่นำไปใช้ และจำนวนกระแสไฟเชื่อมด้วย
4 สวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลให้เหมาะสมกับลักษณะงาน
5 ผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงไม่ควรมองแสงอาร์กด้วยตาเปล่า
6 บริเวณงานเชื่อมควรมีฉากป้องกันแสงอาร์ก เพื่อมิให้รบกวนบุคคลอื่น
7 บริเวณทำงานเชื่อมไม่ควรเปียกชื้นเพราะจะทำให้ไฟฟ้าดูด ผู้ปฏิบัติงาน และบุคคลอื่นได้
8 บริเวณทำงานเชื่อมจะต้องปราศจากสารไวไฟชนิดต่าง ๆ
9 เครื่องเชื่อมไฟฟ้าควรจัดตั้งในที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
เวลาเชื่อมเหล็กอย่าสดครับ
เอกสารอ้างอิง
ภาวะมลพิษ ภัยใกล้ตัว : สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน
:เอกสารความปลอดภัย สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน
:เรียบเรียงโดย...นาวาโทหญิง ดวงกมล วงษ์สวรรค์
ขอบคุณสำหรับองค์ความรู้ครับ
โฆษณา