11 ม.ค. 2020 เวลา 11:50
ใครคือ เจ้าของคำขวัญอมตะ
“ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้...”
“ตำรวจ” แผลงมาจากคำว่า ‘ตรวจ’ เป็นภาษาเขมร โดยตำรวจเป็นตำแหน่งข้าราชการเก่าแก่ ไม่ต่ำกว่า 500 ปี มีประวัติความเป็นมาดังนี้
สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ.1974-2031 ): กรุงศรีอยุธยา ได้จัดระเบียบการปกครองบ้านเมือง เป็น 4 เหล่า เรียกว่า “จตุสดมภ์” ได้แก่
1. เวียง : มีหน้าที่ปกครองท้องที่ ดูแลราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุข และปราบปรามโจรผู้ร้าย
2. วัง : มีหน้าที่ดูแลรักษาความเรียบร้อย ภายในวัง และพิพากษาราษฎร
3. คลัง : มีหน้าที่เก็บเงิน และรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน
4. นา : มีหน้าที่ดูแลไร่นา และเก็บรักษาเสบียงอาหารของพระนคร
โดย “งานตำรวจ” อยู่ใน “เวียง” แบ่งออกเป็น “ตำรวจพระนครบาล” กับ “ตำรวจภูธร” มีหน้าที่ ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ส่วน “ตำรวจหลวง” อยู่ใน “วัง” มีหน้าที่ พิทักษ์รักษาองค์พระมหากษัตริย์และพระราชินีในงานพระราชพิธี ดูแลความสงบเรียบร้อยภายในวัง ในปี พ.ศ.1998 มีการตราศักดินาของตำรวจ โดย “เจ้ากรมมหาดไทยตำรวจภูธร”(รับผิดชอบพื้นที่หัวเมือง)ศักดินา 1,000 “เจ้ากรมมหาดไทยตำรวจภูบาล” (รับผิดชอบงานตรวจราชการ) ศักดินา 1,000 ฯลฯ
รัชกาลที่ 4 : พ.ศ.2405 ว่าจ้าง กัปตัน เอส.เยเบิร์ดเอมส์ (Capt.S.J.Bird Ames) ชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงรัฐยาภิบาลบัญชา” วางโครงการจัดตั้งกองตำรวจเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยใน “เขตพระนคร” ตามแบบยุโรปขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “กรมพลตระเวน”แต่เนื่องจากสมัยนั้นเป็นยุคล่าอาณานิคม นโยบายการตำรวจจึงเน้นในด้านป้องกันประเทศเป็นหลัก
รัชกาล ที่ 5 : เมื่อ พ.ศ.2419 ได้จัดตั้งตำรวจภูธร ขึ้นในรูปแบบ “ทหารโปลิศ” เพื่อเป็นกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาคและให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ โดยมี นาย ยี.เชา. (G.Schau) ชาวเดนมาร์ค เป็นผู้วางโครงการ ซึ่งกำลังพลโอนมาจากทหาร ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๒๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมกองตระเวนหัวเมือง” จนถึง พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้เปลี่ยนเป็น “กรมตำรวจภูธร”โดยมี พลตรีพระยาวาสุเทพ(ยี.เชา.) เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร ซึ่งกำลังพลในระยะแรกใช้การเกณฑ์คนเข้าเป็นตำรวจ(เหมือนเกณฑ์ทหารในปัจจุบัน) และมีการขยายการตำรวจไปยังส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันปราบปรามโจรผู้ร้าย อำนวยความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง
การแต่งกาย นายตำรวจ พ.ศ.2481
รัชกาลที่ 6 : กิจการตำรวจในยุคแรกๆนั้น มีการแบ่งแยกหน้าที่ออกเป็น ๒ ส่วน คือ “กรมพลตระเวน” กับ “กรมตำรวจภูธร” โดย “กรมพลตระเวน” ขึ้นกับ “กระทรวงพระนคร” รับผิดชอบดูแลพื้นที่ในเขตมณฑลกรุงเทพมหานคร อันเป็นต้นกำเนิดของตำรวจนครบาลในปัจจุบัน ส่วน “กรมตำรวจภูธร” รับผิดชอบพื้นที่หัวเมืองส่วนภูมิภาค และขึ้นกับ “กระทรวงมหาดไทย” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของตำรวจภูธรในปัจจุบัน
ต่อมาในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2458 ได้รวมตำรวจเข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” สังกัด “กระทรวงพระนครบาล” จึงถือว่า วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันตำรวจ” และปีเดียวกันได้เปลี่ยนชื่อ “ กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล ”
การสวนสนามของนักเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องใน วันตำรวจ 13 ต.ค.
รัชการที่ 7 : พ.ศ.2465 มีการรวม “กระทรวงมหาดไทย” กับ “กระทรวงนครบาล” จึงโอนมาขึ้นอยู่ กระทรวงมหาดไทย และในปี พ.ศ.2469 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น “ กรมตำรวจภูธร ” แต่โครงสร้างภายในยังแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ “ตำรวจนครบาล” มีหน้าที่ จับกุม ไต่สวน ทำสำนวน ฟ้องศาลโปลิศสภา และ “ตำรวจภูธร” ทำหน้าที่ จับกุมแล้วส่งให้อำเภอไต่สวน ทำสำนวนให้อัยการฟ้องศาลอาญาประจำจังหวัด ต่อมา พ.ศ.2475 ได้เปลี่ยนชื่อ เป็น “กรมตำรวจ”
ตั้งแต่ พ.ศ.2475 ถึงปัจจุบัน : หลังจากที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้ว ได้ปรับโครงสร้างตำรวจออกเป็น ๔ ส่วน คือ
1.หน่วยบริหารงานส่วนกลางและสำนักบริหารของอธิบดีกรมตำรวจ
มีกองขึ้นตรง 6 กองคือ กองกลาง , กองบัญชี , กองโรงเรียน , กองคดี , กองตรวจคนเข้าเมืองและกองทะเบียนกลาง
2. ตำรวจนครบาล
3. ตำรวจภูธร
4. ตำรวจสันติบาล
และมีการขยายงานมากขึ้นตามคุณภาพ ปริมาณและความเจริญของบ้านเมือง แผนกบางแผนกถูกยกขึ้นเป็นกอง กองบางกองถูกยกขึ้นเป็นกองบัญชาการ เรื่อยมา
ต่อมา“กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย” ได้ขยายงานจนมีขนาดใหญ่ มีกำลังคนถึง 230,000 คน เพื่อการบริหารจัดการ คล่องตัวและรวดเร็ว และเป็นอิสระ จึงได้มีการปรับปรุงโครงสร้าง โดยได้มีการพิจารณารูปแบบ ตามแนวทางของตำรวจญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับประเทศไทย กล่าวคือ
1. ระบบการปกครองของประเทศญี่ปุ่นและไทยเป็นระบบเดียวกัน คือ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
2. ประเทศญี่ปุ่นและไทยเป็นรัฐเดี่ยวเช่นเดียวกัน
3. ประเทศญี่ปุ่นและไทยมีรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินคล้ายคลึงกัน คือ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัด
4. รูปแบบองค์กรตำรวจ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นเข้าด้วยกัน
ต่อมาวันที่ 17 ตุลาคม 2541 จึงได้ตัดโอน “กรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย” ไปจัดตั้งเป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี จึงถือว่าวันที่ 17 ตุลาคม ของทุกปีเป็น “วันสถาปนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ในปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนิน ณ พระที่นั่งชุมสายและนักเรียนนายร้อยตำรวจ ในโอกาสโรงเรียนนายร้อยตำรวจสถาปนาครบ 100 ปี ณ ลานฝึกศรียานนท์ ดรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2545
แม้จะตำรวจจะมีประวัติยาวนาน ภารกิจสำคัญมากมายนับไม่ถ้วย แต่รายได้ของตำรวจก็ยังไม่เพียงพอ โดยแต่ละยศมีระดับเงินเดือนดังนี้
-->ส.ต.ต.-ส.ต.อ. = 4,700-21,000 บ.
-->จ.ส.ต. = 7,100-29,000 บ.
-->ด.ต. = 10,000-38,000 บ.
-->ร.ต.ต.-ร.ต.อ. = 6,400-38,000 บ.
-->พ.ต.ต. = 13,000-38,000 บ.
-->พ.ต.ท. = 16,000-54,000 บ.
-->พ.ต.อ. = 19,000-58,000 บ.
-->พ.ต.อ.(พิเศษ) = 24,000-69,000 บ.
-->พล.ต.ต. = 29,000-74,000 บ.
-->พล.ต.ท. = 39,000-76,000 บ.
-->พล.ต.อ. = 51,000-78,000 บ.
เงินตำรวจในอดีต พ.ศ.2441-2472
พระยาอธิกรณ์ประกาศ อดีตอธิบดีกรมตำรวจ
พ.ย.2541 : ตำแหน่ง ล่ามแปล = 50 บ.
มิ.ย.2442 : นายเวรสรรพากร = 100 บ.
ก.ย.2452 : เจ้ากรมกองพิเศษ = 400 บ.
ม.ค.2458 : ผู้บังคับการกองพิเศษ ยศ พ.ต.อ. = 500 บ.
มี.ค.2465 : ผู้บังคับการตำรวจนครบาล ยศ พล.ต.ต. = 700 บ.
พ.ค.2472 : อธิบดีกรมตำรวจภูธร ยศ พล.ต.ท. = 900 บ.
พ.ย.2472 : อธิบดีกรมตำรวจ = 1,100 บ.
รู้หรือไม่ ??
คำขวัญที่ว่า ..
"ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ ในทางที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามและกฎหมายบ้านเมือง"
เป็นคำกล่าวของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ คนที่ 14 / เริ่มรับการสังกัดกองทับบก ต่อมา โอนย้ายเป็น อธิบดีกรมตำรวจควบรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เป็นเสมือนมือขวา จอมพล. ป.พิบูลสงคราม เมื่อ พ.ศ.2500 เกิดการรัฐประหารรัฐบาล จอมพล ป.ฯ ทำให้ พล.ต.อ.เผ่าฯ ต้องลี้ไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ ยังเคยถูกจัดอับดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และได้เสียชีวิตลง เมื่อ 21 พ.ย. 2503 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิวเซอร์แลนด์ สิริอายุ 52 ปี.
โฆษณา