15 ม.ค. 2020 เวลา 07:40 • การศึกษา
ภาคเกษตรกรรมกำลังจะแย่
เพราะ "น้ำ" คือหัวใจ
โดย พื้นฐานการลงทุนหมูน้อยออมเงิน
เมื่อ "มนุษย์" ไม่ทานอาหาร อาจจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 3 สัปดาห์
แต่ถ้าหากว่า ขาด "น้ำ" ไม่เกิน 1 สัปดาห์ เราคงจะสิ้นชีพเป็นแน่
การเกษตร ก็เช่นกัน
หากไม่มีน้ำ สำหรับใช้ในการเกษตรแล้ว
พืชผล รวม ถึง ปศุสัตว์ทั้งหลาย
จะอยู่ได้อย่างไร…
เกษตรกรไทย จะเจออะไรบ้างในปีนี้
ตามหมูน้อยมาเลยครับ
ช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มต้นปีใหม่ มีใครสังเกตุกันบ้างไหมครับ
ว่าปีนี้ อากาศมันร้อนกว่าทุกๆปี…
ครั้นจะพูดลอยๆ
คงไม่ใช่หมูน้อยของท่านเป็นแน่
เราลองมาดูภาพจากดาวเทียมกันดีกว่า
ว่าอุณหภูมิประเทศเรา ณ เวลานี้เป็นอย่างไรกันบ้าง
ภาพนี้ผมจับภาพมาจาก application "windy"
เมื่อวันที่ 14 - ม.ค.-2563
สาบานได้ว่านี่คืออากาศเดือน มกราคม
ร้อนปาน เมษา กันเลยทีเดียว
เราคงต้องยอมรับครับว่า "สภาพอากาศโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว"
ผมจำได้ว่าเมื่อสมัยยังเป็นเด็ก ต่อให้เป็นเดือนเมษา ก็พอจะมีอากาศเย็นๆ พัดมาให้ชื่นใจกันบ้าง
ปัจจุบันถ้าไม่พกร่มและขวดน้ำออกจากบ้าน
ท่านคงได้เห็นหมูตากแห้งคาฟุตบาท
ในช่วงเวลาปัจจุบันนี้ หากผมจะพูดว่า
"ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง"
คงจะไม่ใช่คำพูดที่เกินไปนัก
วันนี้ผมจะนำทุกท่านมาดูสิ่งนี้ครับ
"ระดับน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ"
มันจะเป็นตัวยืนยัน สมมติฐานบางประการของผมว่า ปีนี้ภาคเกษตรกรรม มีแนวโน้มจะ "อยู่อย่างยากลำบาก"
สถานการณ์ระดับน้ำในแหล่งเก็บน้ำทั่วประเทศ ณ ปัจจุบัน เป็นดังนี้
ภาพจากกรมชลประทาน
โดยในแผนที่จะใช้ รหัสสี และ สัญลักษณ์ ในการแสดงข้อมูลคร่าวๆ คือ
สัญลักษณ์
หมุด - แทนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่
เขื่อน - แทนเขื่อน
รหัสสี
💛สีเหลือง ระดับน้ำใน แหล่งเก็บน้ำ อยู่ในระดับ 0-30%
💚สีเขียว ระดับน้ำใน แหล่งเก็บน้ำ อยู่ในระดับ 31-50%
💙สีฟ้า ระดับน้ำใน แหล่งเก็บน้ำ อยู่ในระดับ 51-80%
❤️สีแดง ระดับน้ำใน แหล่งเก็บน้ำ อยู่ในระดับ 81-100%
❣️สีแดงเข้ม ระดับน้ำใน แหล่งเก็บน้ำ อยู่ในระดับ มากกว่า 100%
หากดูแบบนี้ เราคงมองไม่เห็นรายละเอียด
ลองมาเจาะรายภาคกันดีกว่าครับ ว่าแต่ละภาคสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง
1. ภาคเหนือ
หากเราดูผ่านๆ ก็จะพบว่า
อ่างเก็บน้ำขนาดกลางก็มีน้ำอยู่ที่ระดับ 51-80% เยอะนี่นา
ผมจะพาท่านไปดูความร้ายแรงของสถานการณ์กันครับ
*ทำไม่ทันจริงๆขอใช้ภาพจากแหล่งที่มา
เรามาดูระดับน้ำใน"เขื่อน" กันก่อนครับ
ภาคเหนือมี "เขื่อน" ทั้งหมด 8 เขื่อน
ปริมาตรน้ำในเขื่อน เมื่อปี 62 อยู่ที่ระดับ 69.31%
* รนก. ย่อมาจาก ระดับน้ำกักเก็บ
และในปี 63 "ณ ช่วงเวลาปัจจุบันนี้"
*** ระดับน้ำกักเก็บในเขื่อนอยู่ที่ 44.26% !!!! ***
เรามาดูระดับน้ำใน "อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง" กันต่อครับ
อย่างที่ผมเกริ่นเมื่อตอนต้นว่า
เห็นหมุดสีฟ้า💙แล้วอย่ารีบดีใจ
เพราะ "ความจุของอ่างเก็บน้ำ" มันไม่เท่ากัน
จุดสีฟ้าที่ท่านเห็น ว่ามีระดับน้ำที่ 51-80%
บางจุดอาจจะมีความจุแค่ 1-2 ล้าน ลบ. ม. เท่านั้น
เมื่อเราดูปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง รวมกันทั้งหมด
เราจะพบความจริงที่น่าตกใจเข้าไปอีกครับว่า
เมื่อปี 62 ระดับน้ำที่กักเก็บ รวมทั้งหมดอยู่ที่ 66.306%
ณ ปัจจุบัน ปี 2563 ระดับน้ำที่กักเก็บ รวมทั้งหมดอยู่ที่ 43.78% !!!!
หากยังจำกันได้ เมื่อปีที่แล้ว ภาคเหนือประสบปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรไม่สามารถ ทำการเกษตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
จนทำให้ "ราคาข้าวเหนียว"
ดีดตัวสูงขึ้นมาอยู่ช่วงหนึ่ง
"เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย"
หากยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ปีนี้สถานการณ์ "น่าจะแย่กว่าเดิม"
เพราะระดับน้ำโดยรวมลดลงไปกว่า 22%
.
หมายเหตุเพิ่มเติม น้ำที่ปล่อยออกมาจากแหล่งเก็บน้ำมันจะปล่อยออกมาได้ไม่เต็มปริมาตรที่รับได้
เพราะหลักการทำงานจะเป็นประมาณนี้ครับ
จุด ที่ปล่อยน้ำออกมา ไม่ได้อยู่ตำแหน่งล่างสุดของแหล่งเก็บ
การทำงานของ เขื่อน อย่างง่าย
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน
ณ ขณะนี้ สถานการณ์ โดย รวมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังอยู่ในระดับที่...
ดูดีกว่า "เมื่อเทียบกับภาคเหนือ"
เพราะ...
1. ปริมาตรน้ำใน "เขื่อน"
เมื่อปี 62 อยู่ที่ระดับ 50.56%
ณ ปัจจุบัน ปี 63 อยู่ที่ 50.70%
2. ปริมาตรน้ำใน "อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง"
เมื่อปี 62 อยู่ที่ระดับ 50.56%
ณ ปัจจุบัน ปี 63 อยู่ที่ 50.70%
*แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เกษตรกรฝั่งนี้จะ "สบาย"
นั่นเป็นเพราะว่า สถานการณ์เรื่องน้ำ
ในปีนี้ "ไม่ได้ดีขึ้นไปกว่าปีที่แล้ว"
ภาคอีสานยังมีประเด็นเฉพาะตัวเรื่องการใช้น้ำจากแม่น้ำโขง
หากท่านใดที่ติดตามในประเด็นนี้เราจะพบว่าต้นน้ำ "มาจากประเทศจีน" ซึ่ง...
"จีน" ได้สร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำดักทางไว้ตั้งแต่ต้นน้ำ และประเทศตามรายทางก็ได้สร้างเขื่อนดักไว้แทบทุกจุด
https://isaanrecord.com/wp-content/uploads/2020/01/image3-1.png
นอกจากชาวอีสาน จะลำบากกับสถานการณ์น้ำภายในประเทศแล้ว คนที่หวัง "พึ่งน้ำจากแม่น้ำโขง" ยังแทบจะมองไม่เห็นความหวัง
ผมขอให้เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆครับว่า สารอาหาร หรือพวก แร่ธาตุที่เป็นประโยชน์
ตามปรกติแล้วถ้าแม่น้ำได้ไหลไปตามธรรมชาติ สารอาหารและแร่ธาตุเหล่านี้ ก็จะสามารถ ไหลจากต้นน้ำ ไปยัง ปลายน้ำได้
แต่...เมื่อมีการสร้างเขื่อนขึ้นมาดักเก็บน้ำ สารอาหารและแร่ธาตุดีๆเหล่านี้มันจะเป็นตะกอนอยู่บริเวณชั้นน้ำใต้เขื่อน
ดังนั้นเวลาที่เขื่อนต้นน้ำจากจีนปล่อยน้ำออกมาให้ประเทศที่อยู่ตามแนวแม่น้ำโขงใช้ "สารอาหารและแร่ธาตุเหล่านี้ มันไม่ได้ไหลตามลงมาด้วย"
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผลผลิตตามแนวแม่น้ำโขงถึง "ลดลง"
ไม่ใช่แค่ภาคกสิกรรมที่ได้รับความลำบากจากเรื่องนี้ ชาวบ้านที่ทำมาหากินด้วยการ หาปลา และสัตว์น้ำอื่นๆ ตามลุ่มแม่น้ำโขง
ยังลำบากอีกด้วย
ในเมื่อแร่ธาตุและสารอาหารในน้ำลดลง
สัตว์น้ำที่อยู่ในนั้นก็ต้องปรับตัว
และได้จากแม่น้ำโขงไป
ประเด็นนี้ต้องเล่ากันอีกยาวครับ หมูน้อยอยากบอกว่า จริงๆแล้ว
"ไทย" ก็เป็นคณะกรรมการอยู่ในส่วนของการจัดการแม่น้ำโขงด้วย...
3. ภาคตะวันออก
ส่วนใหญ่โซนนี้จะเป็นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เมืองท่า เน้นการท่องเที่ยว
4. ภาคกลาง
ท่านใดที่อยู่ภาคกลางอย่าเพิ่งดีใจไป
กับข่าวว่า....
ระดับน้ำเพียงพอแล้วเชียวนะครับ
5. ภาคตะวันตก
มีสองเขื่อน หลักๆที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า
นั่นก็คือ เขื่อนศรีนครินทร์ และ เขื่อนวชิราลงกรณ์
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม ระดับน้ำในเขื่อนถึงอยู่ในระดับสูง
6. ภาคใต้
เนื่องจากแหล่งเก็บน้ำมีหลายประเภท
ซึ่งแต่ละประเภทก็มีวัตถุประสงค์หลักที่ต่างกัน
บางครั้งเราคงสงสัยว่า น้ำในเขื่อนก็ยังเหลืออยู่เยอะ แล้วทำไมไม่ปล่อยออกมาให้ชาวบ้านใช้บ้าง
คำตอบง่ายๆ เป็นเพราะว่า วัตถุประสงค์หลักที่สร้างเขื่อนนั้นๆ ไม่ได้ทำมาเพื่อ
"การชลประทาน"
แต่ทำมาเพื่อ "ผลิตกระแสไฟฟ้า"
ดังนั้น จึงต้องมุ่งไปที่ จุดมุ่งหมายหลัก
(main priority) ก่อน
ผลกระทบของการขาดแคลนน้ำ
มันจะไม่จบแค่ "ภาคเกษตรกรรม" ครับ เพราะเมื่อเกษตรกรผลิตผลผลิตได้น้อย
ราคาก็ต้องเพิ่มขึ้น
ผลผลิตทางการเกษตรบางประเภทยังนำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ เมื่อต้นทุนอาหารสัตว์สูง ราคาเนื้อสัตว์จากฝั่งปศุสัตว์ ก็จะขยับตัวสูงขึ้นตาม
ในเมื่อวัตถุดิบตั้งต้นของ "สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร" มาจากภาคเกษตร ผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น
หนึ่งในวิธีบรรเทาความเจ็บปวดนี้คือ ผลักมันไปให้ "ผู้บริโภค"
เมื่อสิ่งเหล่านี้ มาถึง "ผู้บริโภค" เราก็จะเจอสินค้าบริโภคที่แพงขึ้น ผมยกตัวอย่างง่ายๆว่า
หากท่านซื้อ "แกงถุง" ปริมาณ "ลม" ในถุง อาจจะเพิ่มขึ้นอีก 10-15%
หรือเราอาจจะเจอ ข้าวกระเพราไก่ไข่ดาว
จานละ 60-70 บาท
เพราะต้นทางของข้าวกระเพรา มีทั้ง
"ข้าว" "เนื้อ" "ไข่" ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทั้งนั้น
ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสกว่าที่ท่านคิดครับ
บอกตรงๆนะครับว่า การหวังเพิ่งคนกำหนดนโยบายมาช่วยเรื่องนี้แบบจริงๆจังๆ ทุ่มงบประมาณไม่อั้น อาจจะเป็นเรื่องยาก
เพราะเมื่อมองในแง่เศรษฐกิจมหภาคแล้ว ภาคเกษตรกรรม นับเป็นส่วนน้อยของประเทศไทยเท่านั้น
ผมจะลองนำภาพจากบทความดีๆของผู้เขียนท่านหนึ่งมาให้ทุกท่านดูว่า ภาคเกษตรมีสัดส่วนเท่าไหร่ ใครเขียนก็ไม่ทราบครับ เขียนได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว ฮ่าๆ
ดังนั้น หากจะพูดถึงกระกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว
เราจะได้เห็นการอัดนโยบายเข้าไปที่ฝั่งอุตสาหกรรมมากกว่า
เปรียบเทียบง่ายๆคือ ระหว่าง "ขุนวัวให้อ้วนขึ้น กับ ขุนไก่ให้อ้วนเท่าวัว"
อย่างแรกมันทำได้ง่ายกว่าเท่านั้นเอง ... เฮ้อ
ผมได้ตรวจสอบสภาพอากาศ ว่ามีหย่อมความกดอากาศต่ำ ที่จะทำให้เกิด "ฝน" พัดเข้ามาในประเทศไทยบ้างหรือไม่
ช่วงนี้ยังไม่พบครับ
หากฝนยังไม่ตก ในระยะ 3 เดือนนับจากนี้
สถานการณ์เรื่องนี้คงเข้าสู่จุดวิกฤติแน่นอน
ประเด็นต่างๆเหล่านี้ทำให้ผมเกิดความสงสัยว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมีหน่วยงานบริหารจัดการน้ำ "แบบมืออาชีพ" เข้ามาจัดการ
เพราะไทยเราประสบปัญหาเรื่องนี้ "ทุกปี" ทั้งภัยแล้ง และ น้ำท่วม
(หรือว่าที่จริงแล้วเรามี แต่คนเหล่านั้นไม่ได้เปล่งประกายกันหนอ)
ส่วนเกษตรกรบ้านเรา ต้องหาความรู้เพิ่มครับ
"อย่าเอาชีวิตเราไปฝากไว้กับใคร"
เมื่อเรามีความรู้ เราก็จะมองเห็นทางออกได้มากขึ้น
ผมเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ
จริงๆในวิกฤติครั้งนี้ก็ยังมีโอกาสซ่อนอยู่ เหรียญมีสองด้านเสมอ
***หากใครสามารถผลิตผลผลิตได้เท่าเดิมหรือมากขึ้นในปีนี้
ไม่ว่าจะด้วยวิธีการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย หรือ วิธีการอื่นๆ
ปีนี้ผลผลิต "น่าจะมีราคาสูง" เนื่องจากของขาดตลาด
ฝากไว้เป็นประกายไฟ เล็กๆ ให้ทุกท่านครับ
ขอบพระคุณทุกท่านที่คอยติดตามและสนับสนุนหมูน้อยเสมอมา
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน
คิดถึงทุกท่านมากครับ
หมูน้อย ร้อยเปเปอร์
*ข้อมูลเรื่องระดับน้ำในเขื่อนมาจาก กรมชลประทาน
ส่วนการวิเคราะห์ด้านล่างเป็นของผมซึ่ง ประเมินจาก "ปัจจัยในตอนนี้"
หากวันดีคืนดี พายุฝนพัดเข้ามาในไทยช่วงเดือน เมษา ฝนตกเต็มๆสัก 1 เดือน ทุกอย่างน่าจะดีขึ้นครับ
reference
โฆษณา