16 ม.ค. 2020 เวลา 15:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
หรือว่า "ดวงจันทร์แพนโดรา" จะมีอยู่จริง?? 😯👍
เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานการมีอยู่ของดาวเคราะห์ขนาดยักษ์ในระบบดาวอัลฟาเซนทอรี่ (Alpha centauri) เพื่อนบ้านใกล้เคียงพระอาทิตย์ของเรา เพิ่มอีกหนึ่งดวง 😉
แพนโดรา ดวงจันทร์บริวารของดาวเคราะห์ในระบบดาวอัลฟาเซนทอรี่ จากจินตนาการของภาพยนตร์ ชื่อดัง "อวตาร"
ระบบดาว Alpha centauri เพื่อนบ้านที่ใกล้กับระบบสุริยะจักรวาลของเรามากที่สุด อยู่ในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า (centauri) ใกล้กับกลุ่มดาวกางเขนใต้ ห่างจากดวงอาทิตย์ 4.37 ปีแสง
ตำแหน่งบนท้องฟ้าของ Alpha centauri และแผนที่เพื่อนบ้านข้างเคียงของดวงอาทิตย์
ระบบดาวนี้เป็นระบบดาวสามดวง อันประกอบด้วย Alpha Centauri A และ B โคจรอยู่ใกล้กันเป็นระบบดาวคู่ และมี Proxima Centauri โคจรรอบ Alpha Centauri AB อีกทีหนึ่ง
Alpha Centauri A และ B โดยมี Proxima Centauri อยู่ในวงสีแดง
Alpha Centauri AB นั้นโคจรรอบกันเป็นวงรีด้วยคาบโคจร 80 ปี โดยมี Proxima Centauri โคจรรอบอีกทีด้วยคาบโคจร 550,000 ปี
ภาพแสดงแนวโคจรของ Proxima Centauri รอบ Alpha Centauri AB
Alpha Centauri AB เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นเหมือนเป็นดาวดวงเดียว สว่างสุกใสเป็นอันดับสามรองจากดาว Sirius และ Canopus
Alpha Centauri AB นั้นสว่างมากจนสามารถถ่ายรูปตอนกลางวันด้วยกล้อง Canon Powershot S100 ผ่านกล้องดูดาวแบบหักเหแสงขนาดหน้ากล้อง 110 มิลลิเมตร
โดย Alpha Centauri A และ B นั้นเป็นดาวฤกษ์ประเภทเดียวกับดวงอาทิตย์และมีขนาดใกล้เคียงกัน ส่วน Proxima Centauri นั้นจัดเป็นดาวแคระแดง
ภาพเปรียบเทียบขนาดและสีของดาวทั้ง 4 ดวง
ซึ่งก่อนหน้านี้เราได้ค้นพบ Proxima b ดาวเคราะห์ในระบบดาว Alpha Centauri มาก่อนแล้ว นั่นหมายความว่า Proxima b จะมีญาติแล้ว 😁
Proxima b ถูกค้นพบในปี 2016 มีขนาดและมวลใกล้เคียงกับโลกเป็นดาวเคราะห์หิน โคจรรอบ Proxima Centauri ดาวแม่ของมันในระยะแทบจะเผาขน โดยมีคาบโคจรเพียง 11 วันครึ่งเท่านั้นเอง
แต่ Proxima b ก็ยังถือว่าอยู่ในโซนอยู่อาศัยได้ (Habitat Zone)
Proxima b กับดาวแม่ของมัน โดยมี Alpha Centauri AB อยู่ห่างออกไป
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์พบข้อมูลหลักฐานว่า Proxima Centauri ยังมีดาวเคราะห์อื่นโคจรอยู่รอบมันอีก
Proxima c คือชื่อชั่วคราว คาดว่ามีมวล 5.8 เท่าของโลก แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นดาวเคราะห์หินหรือดาวเคราะห์แก๊สจิ๋ว (เล็กกว่าเนปจูน)
ภาพในจินตนาการของ Proxima Centauri และ Proxima b ในด้านซ้ายกับ Proxima c อยู่ด้านขาว
คาดว่าวงโคจรของ Proxima c จะอยู่ไกลจากดาวแม่มากจนทำให้ Proxima c ไม่น่าจะอยู่อาศัยได้ และอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า Snow Belt ซึ่งเป็นบริเวณที่ห่างไกลจากดาวแม่จนมีแต่น้ำแข็ง
ภาพในจินตนาการของ Snow Belt ในช่วงก่อกำเนิดระบบดาว
ทั้งนี้ถ้ายืนยันได้ถึงการมีอยู่ของ Proxima c ได้จะทำให้นักดาราศาสตร์ต้องกลับมารื้อทฤษฎีการก่อกำเนิดดาวเคราะห์กันใหม่ จากที่เคยคิดว่าดาวเคราะห์ไม่สามารถก่อตัวได้ในบริเวณ Snow Belt
** แล้วเรารู้ได้ยังไงว่ามี Proxima c อยู่อีกดวง **
ค่าการเปลี่ยนสี (Color shift) ของดาว Proxima Centauri อันเกิดจากผลของดาวเคราะห์ที่โคจรรอบมัน โดยเปรียบเทียบระหว่างผลที่เกิดจาก Proxima b กับดาวแม่
เราใช้เทคนิคการสังเกตสีของดาวแม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นรอบ ๆ อันเนื่องจากการโคจรของดาวเคราะห์รอบดาวแม่ของมัน
ดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวแม่แกว่งให้ดาวเขยิบเข้าใกล้และห่างออกจากโลกตามคาบโคจรของดาวเคราะห์ ทำให้เราสังเกตเห็นสีของแสงจากดาวแม่นั้นเปลี่ยนไปตามเวลา
โดยการที่สีดาวแม่เปลี่ยนนี้เกิดจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า doppler effect ปรากฏการณ์แบบที่เราได้ยินเสียงไซเรนหรือแตรรถแหลมขึ้นเมื่อรถวิ่งเข้าหาเราและทุ้มลงเมื่อรถวิ่งห่างออกจากเรา
ซึ่งจากข้อมูลที่สังเกตมากว่า 18 ปี โดย European Southern Observatory’s HARPS และ UVES ใน Chile โดยองค์การอวกาศแห่งยุโรป (ESA) ทำให้เชื่อได้ว่ายังมี Proxima c อยู่อีกดวง
** แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอการยืนยัน **
ขณะนี้คณะนักวิทยาศาสตร์กำลังรอข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจในโครงการ Gaia ที่กำลังเก็บข้อมูลการสังเกตตำแหน่งและความเร็วของดาวต่าง ๆ ในกาแล็คซี่ของเรากว่าล้านดวง
ดาวเทียมสำรวจอวกาศในโครงการ Gaia
ข้อมูลชุดต่อไปที่จะได้จาก Gaia ภายในปีนี้และปีหน้า น่าจะสามารถยืนยันความสอดคล้องของตำแหน่งและความเร็วของ Proxima Centauri กับการมีอยู่ของ Proxima c ได้
ถ้ามี Proxima c อยู่ละก็ไม่แน่ว่า ดวงจันทร์แพนโดรา นั้นก็อาจจะมีอยู่จริง รอให้เราไปขุดแร่ "อันออบเทเนียม" อยู่ก็เป็นได้ 😯👍
อย่าลืมว่าที่นั่นคือระบบดาว 3 ดวง อะไรก็อาจจะเป็นไปได้ อวกาศยังน่าจะมีเรื่องราวให้เราได้ประหลาดใจอีกเยอะ 😊
ป่ะ เตรียมตัวไปเที่ยวเกาะลอยฟ้ากัน
ปล. รอดูอวตารภาค 2 ด้วยใจจดจ่อ 😁

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา