18 ม.ค. 2020 เวลา 04:39 • ความคิดเห็น
🔑 OKR | Objective Key Results ชื่อก็บอกตรงๆว่าเน้นผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์ จะว่าไปก็คล้ายๆ KPIs (Key performance indicators) แต่ OKR เน้นการตั้งวัตถุประสงค์สอดประสานกันทั้งองค์กร
medium.com
ลอง Search ใน BD ดูแล้ว ก็มีการเขียนถึง "OKR" คืออะไร กันไว้อยู่บ้าง เอาเป็นว่าโพสต์นี้มาแลกเปลี่ยนความรู้แบ่งปันความเห็นก็แล้วกันครับ ไม่น่าจะซ้ำกับบทความอื่นๆ
1
จริงๆไม่ว่าตำราเล่มไหน ศาสตราจารย์หรือด๊อกเตอร์คนไหน หรือที่ปรึกษาคนไหน คงไม่กล้าการันตีว่า ถ้าอ่านหนังสือเล่มนี้ หรืออ่านบทความนี้ หรือ จ้างที่ปรึกษาคนนี้มา จะทำให้บริษัทพลิกจากขาดทุนมาเป็นกำไร
สิ่งสำคัญคือการนำข้อดีมาใช้ มันอาจทำได้ไม่ครบ แต่ถ้าตัวชี้วัดที่เรากำหนดแบบไม่หลอกตัวเอง ส่งสัญญาณถึงการเติบโตหรือมีพัฒนาการในทางที่ดีขึ้น มันก็ดีทั้งนั้น
การหลอกตัวเองหรือไม่ ก็ควรทำความรู้จักกับกิจการตัวเองเสียก่อน ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหนของตลาด ไม่ใช่ปีที่แล้วขาดทุน ปีนี้จะตั้งเป้าหมายทบต้น โดยเอาของปีก่อนมาโปะปีนี้
ถ้าทำไม่ได้ 100% ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ พวกคุณต้องไปตั้งเป้าให้มันเกินร้อยไปอีก แบบนี้มันก็ไม่ใช่ หวังว่าผู้อ่านคงไม่ได้อยู่ในวังวนนี้นะครับ
ส่วนใหญ่การวิเคราะห็ตัวเองเราก็จะพูดถึงการทำ SWOT และ 5 Forces ก็ไม่ต้องคิดมากครับ ลองทำเลย คำตอบก็จะออกมาเองว่าเราอยู่ตรงไหน และจะตั้งเป้าหมายอย่างไร
medium.com
เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ผู้บริหารได้คำตอบมาแล้วว่าปีนี้เราต้องเจริญเติบโตจากปีก่อนอีก 20% เพื่อก้าวเข้าสู่ Top 10 ของ Market share ในปีนี้ให้ได้ และอีก 3 ปีต้องเติบโตอีก 50% เพื่อก้าวสู่ Top 5 ของตลาด
ฟังดูเป้าหมายก็ไม่เลวนะครับ มีการบอกชัดเจนว่าต้องการอะไร เท่าไหร่และเมื่อไหร่ ลูกน้องฟังแล้วน่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก
เพราะลูกน้องต้องสรุปผลการดำเนินงานล่วงหน้าเพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริหารตัดสินใจอยู่แล้ว
แต่ท่านไหนสะดวกนั่งเทียน ก็ตามอัธยาศัยได้เลยครับ
ต่อมาหลังจากทราบเป้าหมายแล้ว ก็ตัองตั้ง Objectives หรือวัตถุประสงค์นำเสนอผู้บริหาร โดยมากแต่ละบริษัทก็จะแยกเป็นแผนกอยู่แล้ว ยกตัวอย่างไล่ไปตามแผนกเลยก็แล้วกัน
ฝ่ายขาย = เพิ่มรายได้
ฝายการตลาด = เพิ่มฐานลูกค้าใหม่
ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ = เพิ่มสินค้าใหม่
ฝ่ายบัญชี = เงินต้องมีพอใช้จ่ายทั้งปี
ฝ่ายคลังสินค้า = จำนวนสินค้าถูกต้อง
ฝ่ายซ่อมบำรุง = เครื่องจักรต้องไม่เสีย
ฝ่ายผลิต = เพิ่มกำลังการผลิต
ฝายควบคุมคุณภาพ = ต้องไม่มีข้อร้องเรียนจากลูกค้า
ก็ยกตัวอย่างประมาณนี้ก็แล้วกัน แต่บางที่ผมคิดว่าหากทำเรื่องนี้ไปสักพัก หัวข้อจะแคบลงกว่านี้ จนสามารถระบุเป็น Individual หรือตั้งวัตถุประสงค์แบบหนึ่งต่อหนึ่งได้เลย
ทั้งนี้ข้อมูลหรือ Data สำคัญมากๆ ทุกวันนี้ก็คุยกันเรื่อง Big data กันเยอะมาก แต่บางทีก่อนจะไปตรงนั้น สิ่งที่มีอยู่แล้วคือ Excel ก็อาจตอบโจทย์ท่านแล้วก็ได้สำหรับองค์กรที่ยังไม่ใหญ่มาก เพราะไม่ทุกบริษัทที่จะมีเงินกับคนที่พร้อมจะลงทุนเรื่อง Big data
สิ่งสำคัญคือต้องนำข้อมูลออกมาวิเคราะห์ เรียงลำดับ จัดหมวดหมู่ พลอตกราฟมาดูบ้าง ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาจดบันทึกอย่างเดียว เก็บเข้าแฟ้มใส่ลิ้นชักหรือ Save ไฟล์ไว้ในเครื่อง
จนวันนึงลูกน้องบอกว่า "พี่ข้อมูลหายหมดเลย เครื่องติดไวรัสพี่" (จริงๆแอบเข้า web 18+ จนได้ของแถมมา.. 555) หรือ "พี่ ไอ้...มันลาออกไปแล้ว มันลบข้อมูลทิ้งหมดเลยพี่" เหตุผลแบบนี้ผมว่าคงได้ยินกันจนชิน
ถัดมาก็ต้องกำหนด Key Results หรือตัวชี้วัดที่จะบอกว่าวัตถุประสงค์นั้นสำเร็จหรือไม่ ยกตัวอย่าง ฝ่ายขาย ก็แล้วกัน
1
"ฝ่ายขาย"
วัตถุประสงค์คือ "เพิ่มรายได้" ตัวชี้วัดก็ควรจะเป็นเรื่องเงิน จะเป็นบาทหรือ % ท่านก็ดูความเหมาะสมว่าสายผลิตภัณฑ์ซับซ้อนแค่ไหน เพราะการกำหนดตัวชี้วัดเป็นเงิน ควรมีการวิเคราะห์ตลาดหรือยอดขายที่ผ่านมารองรับการตัดสินใจบ้าง
หรือบ้างที่ก็มีตัวเลขเป้ายอดขายหล่นลงมาจากสวรรค์เบื้องบน ก็ต้องถือว่าท่านโชคดี ได้ทำงานร่วมกับเทพ
สมมุติมีสินค้า 3 รายการ คือ A, B, C
สินค้า A ขายได้มากที่สุด คิดเป็น 50% ของรายได้ทั้งหมด ตัวชี้วัดก็ควรมุ่งเน้นมาที่ตัว A เช่น มีรายได้จากสินค้า A เพิ่มขึ้น 30%
ก่อนจะกำหนดว่าเท่าไหร่ก็ต้องหารือกับเพื่อนเราด้วย คือ ต่างคนต่างกำหนดจะทำให้แต่ละแผนกเน้นเป้าหมายของตัวเองมากเกินไป ซึ่งเป็นข้อเสียของระบบ KPIs (แต่ไม่ได้หมายความถึงทั้งหมดน๊ะครับ บางที่เค้าก็ทำ OKR กันก่อนที่จะมีศัพท์นี้เกิดขึ้นเสียอีก คือ Keyword พวกนี้มันเหมือนสูตรคูณ ทำเพื่อให้เราจำได้)
สมมติว่าการหารือกับฝ่ายต่างๆ ค่อนข้างมั่นใจก็กำหนดไป 30% ซึ่งจะทำให้มีรายได้จากส่วนนี้ถึง 75% ของเป้าหมายรวม 20% จากยอดขายปีก่อนเลยทีเดียว
1
หมายความว่าทีมงานที่นี่ค่อนข้างมั่นใจสินค้า A มากๆ ซึ่งจะกล่าวถัดไป
"ฝ่ายการตลาด"
มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์พบว่าอายุผลิตภัณฑ์ A ใกล้ถึงจุดถดถอย ตัวชี้วัดควรเป็น ขยายฐานลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 15% โดยโฟกัสไปที่ลูกค้าใหม่อายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง
ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเพียง 15% แต่ทำให้ยอดขายเพิ่มเป็น 30% ผมเดาว่าสินค้า A ต้องออกรุ่นใหม่ มีราคาสูงขึ้น และทำให้มีการซื้อซ้ำมากขึ้นแน่นอน
แผนโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การเลือกใช้ช่องทางสื่อก็ต้องวางแผนเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย คุยกับฝ่ายขายแล้ว ฝ่ายขายรับทราบให้ Sale วิ่งหาลูกค้ากลุ่มนี้ได้เลย
"ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์"
เมื่อทราบว่ายอดขายสินค้า A ใกล้ถึงจุดถดถอย จำเป็นต้องมีการปรับปรุงคุณลักษณะผลิตภัณฑ์ใหม่ ตัวชี้วัดอาจเป็น ออกสินค้าที่การใช้งานสะดวกขึ้น มี Option มากขึ้น ออกสีใหม่ หรือหีบห่อใหม่ ตัวชี้วัดภายใน 3 เดือน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเรื่องไหน ข้อมูลที่ได้จากลูกค้าสำคัญมากๆ
บัตรสมาชิกหรือเมมเบอร์ที่เราใช้ตอนจ่ายเงินที่หน้าเคาวเตอร์ ก็จะไหลเข้าไปยังฝ่ายวิเคราะห์ ข้อมูลนี้สำคัญมากๆ และได้มาฟรีๆ แลกกับให้คะแนน เพื่อให้เกิดการซื้อซ้ำเช้าไปอีก คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม
ใครชอบอะไร สีไหน ขนาดเท่าไหร่ เป็นหญิงหรือชาย อายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร บ้านอยู่ไหน โอ้โห! ไม่ต้องจ้างคนไปยืนถามตามห้างละครับแบบนี้
"ฝ่ายบัญชี"
มีหน้าที่จัดการหมุนเงินให้เกิดค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด การส่งเสริมการขายก็ต้องใช้เงิน ขายสินค้าไปแล้วก็ต้องตามเก็บเงินให้เข้าตรงเวลา เพราะถ้าเงินไม่เข้าก็ไม่มีเงินจ่าย ไม่มีเงินจ่ายก็ต้องกู้มีภาระดอกเบี้ย
หากสถานการณ์ของบริษัทไม่ค่อยดี การกำหนดเป้าหมายอาจเปลี่ยนไป เช่น คงฐานลูกค้าเดิม คงยอดขายเดิม มาจัดการเรื่องสภาพคล่องแทน
ฝ่ายบัญชีการเงินอาจต้องทำรายงานอัตราหมุนเวียนด้านการเงินในทุกมิติเพื่อจัดทำแผนเพิ่มสภาพคล่องแทน หนี้ที่เก็บไม่ได้ยังจะปล่อยให้ Sale ขายลูกค้ารายนี้ต่อไปมั้ย? สินค้าที่มี Aging นานๆควรทำ Promotion มั้ยเพื่อเอาเงินสดกลับมา การลงทุนจำเป็นมั้ย บอกผู้ถือหุ้นหรือยังว่าเรามีเงินไม่พอ
ช่วงนี้ควรซื้อ USD ล่วงหน้า ช่วงนี้ควรจ่ายเป็นเงิน CNY เพราะส่วนต่างลดต้นทุนได้ เป็นต้น
ผมเคย Save อัตราแลกเปลี่ยนได้ราว 12 ล้านบาทในปีนั้น จากการเปลี่ยนสกุลชำระเงินจาก USD เป็น CNY ช่วงที่จีนประกาศปรับค่าเงินเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งผมต่อรองได้ในเรทที่ดีกว่านั้น ถ้าจำได้จีนประกาศอัตราแลกเปลี่ยนหลายครั้งมาก
โดยเปรียบเทียบค่าเงินทั้ง 4 สกุลคือ USD EUR CNY และ THB ตอนนั้นผมดูแลจัดซื้อครับ ก็ต้องอาศัยการเจรจาและเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม
การเตรียมความพร้อมเรื่องการใช้ CNY ก็ต้องคุยกับบัญชีการเงินเพื่อคุยกับ Bank ให้พร้อม เพื่อให้การต่อรองจบในเวลาที่เหมาะสม ในขณะอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นประโยชน์อยู่ เพราะมันเปลี่ยนแปลงตลอด
การกำหนด OKR ก็มีประโยชน์เพิ่มขึ้นหลายด้าน ลดความขัดแย้งระหว่างแผนก และแต่ละฝ่ายก็มีวัตถุประสงค์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป้าหมายใหญ่ขององค์กร
หากจะยกตัวอย่างครบทั้งหมด เกรงว่าจะต้องเขียนหลายภาคและยาวมาก ก็ขอจบเบื้องต้นไว้เพียงเท่านี้ ผิดถูกอย่างไรก็แนะนำได้ครับ ผมก็ใช้วิธีครูพักลักจำ จากประสบการณ์ทำงานหลายปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วมาก เป้าหมายและแผนงานแทบจะต้องทำเหมือนธุรกิจแฟชั่น เพื่อปรับให้ตรงกับฤดูกาลและกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย หากธุรกิจพึ่งพาสินค้าอย่างเดียว น่าจะไปต่อได้ด้วยความยากลำบาก ควรรีบวิเคราะห์ความเสี่ยงและหาแผนรองรับเนิ่นๆ
การวางเป้าหมายว่ายากแล้ว การไปให้ถึงเป้าหมายนั้นยากกว่า ผู้นำที่ดีต้องรู้จักวิธีเลือกเส้นทาง ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีเสมอไป
หากต้องการให้องค์กรมีความไดนามิกและยืดหยุ่นมากๆ ทำสำเร็จ 70-80% จากเป้าหมายก็ควรชื่นชมทีมงาน เพราะเป้าหมายเราปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ไปถึงแล้วก็ต้องไปต่อ สร้างความท้าทายในเส้นทางนั้นให้ได้
บันไดสิบขั้น ก้าวได้ทีละขั้นหรือสองขั้น ควรจับมือมองตาให้กำลังใจกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ จะทำให้การขยับสู่เป้าหมายแต่ละขั้นเป็นไปด้วยความสามัคคี และที่สำคัญคือทุกคน "ต้องสนุก" กับมันครับ
โลกอนาคตพึ่งพาแพลทฟอร์มสูงขึ้น ทรัพยากรอาจไม่จำเป็นต้องถือครอง ขอเพียงมีแพลทฟอร์มที่ตอบโจทย์
plattform produktion
เช่น Airbnb ก็ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงแรม แต่มีจำนวนห้องพักในมือมากมาย ยกตัวอย่างเดียวเพื่อให้เห็นภาพชัดๆก็แล้วกันครับ
bbc
ยังไม่นับว่าหากรถใช้พลังงานสะอาดกันหมด ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมีคอลทั้งระบบจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
eindianelectrical
เราอาจเห็นว่าปั๊มใหม่ๆก็เปิดตลอด เรื่องนี้อยู่ที่ ROI เพราะผู้ลงทุนมั่นใจแน่นอนว่าสามารถทำกำไรได้ก่อนยุคเลิกใช้น้ำมันแน่
สัดส่วนยอดขายที่ได้จากสินค้า Non oil ก็สูงขึ้นกว่าหลายปีก่อนมาก ดีไม่ดีการปล่อยพื้นที่ในปั๊มให้เช่า อาจได้รับผลตอบแทนต่อเงินลงทุนมากกว่าการขายน้ำมันก็ได้
แม้กระทั่งประเทศผู้ผลิตน้ำมันต้นทาง ต่างก็กำลังปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน
เรื่องข้อมูลตัวเลขต่างๆในธุรกิจผมไม่มีมาอ้างอิงให้นะครับ เราก็อ่านๆกันตามข่าวหรือใน BD ก็น่าจะมีอยู่แล้ว เอาเป็นว่าแบ่งปันความเห็นส่วนตัวกันนะครับ
บทความซีเรียสไปหน่อย นานๆจะเขียนซักที หวังว่าจะชอบครับ
สวัสดีครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา