17 ม.ค. 2020 เวลา 13:02 • ธุรกิจ
เมื่อวานในสภา เห็นประเด็นเรื่องโปรเจ็คขุดคอคอดกระกำลังกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เห็นจะเปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมที่เคยตั้งไว้ว่าจะขุดกันที่จังหวัดระนอง มาเป็นแถบ 4 จังหวัดในเส้นทาง 9A (คือ กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช) โดยที่ ส.ส. จำนวนมากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกัน
3
ว่าจะให้เดินหน้าทำการศึกษาความเป็นไปได้ของคลองไทยที่จะขุดในเส้นทาง 9A นี้ (มีความเป็นไปได้ที่จะแล้วเสร็จสูงสุด หากเทียบกับเส้นทาง 7A และ 5A ที่อยู่ในเส้นจังหวัดสตูล-สงขลา) เพราะ 9A มีศักยภาพที่เพียงพอ และพร้อมต่อการพัฒนาพื้นที่ทั้งใน 2 ฝั่งทะเล ทั้งอ่าวไทย และทะเลอันดามัน
โดยส่วนตัวผมเองไม่มีปัญหาอะไรกับการจะขุดคลองไทย หรือการทำเส้นทางเดินเรือจากอันดามันข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย แต่มีประเด็นบางส่วนที่อยากมาชวนให้สังคมมาร่วมกันขบคิด และพิจารณากันในช่วงระยะศึกษาผลได้ผลเสีย ความเป็นไปได้ต่างๆ ก่อนที่เราจะก้าวไปในระยะถัดไปกัน
8
อนึ่ง สิ่งที่ผมกังวล ไม่ใช่เรื่องการแบ่งแยกดินแดน หรือประเด็นกบฏ และผู้ก่อการร้ายที่อยู่ในภาคใต้ ข้อนี้เหตุผลไม่น่าสนใจ และไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากพื้นที่ตรงนั้นมันจะกลายเป็นเขตเศรษฐกิจแห่งใหม่ รัฐบาล และภาครัฐของไทยย่อมจำเป็นต้องมีแผนสำรองไว้ใน Protocol หลักของตนเองอยู่แล้ว หากต้องการจะทำคอคอดกระ
1
แต่สิ่งที่ผมสนใจในอันดับแรกก็คือ เรื่อง ระบบนิเวศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมครับ อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและใหญ่ที่สุดในแผนการขุดคลองนี้เลย เพราะความจริงอย่างหนึ่ง คือ ทะเลอ่าวไทย กับ ทะเลอันดามันสภาพแวดล้อม และระดับความลึกต่างกันมากนะครับ
ถ้าขุดคลองเชื่อมทะเลอันดามันเข้ากับอ่าวไทย สิ่งที่จะตามมาแรกๆเลยคือ ระบบการไหลของกระแสน้ำมันจะเปลี่ยน ถ้าเราเอาเส้นทางตรงนั้นมาเป็นเส้นทางเดินเรือ และเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมประมง และวิถีชีวิตของชาวบ้านในแถบๆ 6-7 จังหวัดบริเวณนั้นจะเปลี่ยนไป
3
** อันนี้ผมไม่ได้พูดในฐานของพวก NGO หรือพวกนักรณรงค์ต่อต้านภัยสิ่งแวดล้อมอะไรนะครับ แต่เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อม มันเป็นเหตุผลทางด้านพาณิชย์ซึ่งเราใช้เป็นจุดขายของพื้นที่บริเวณนั้นกันมานานอยู่แล้ว
เมื่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมของทะเลในแถบนั้นเปลี่ยน ทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ใต้ผืนทะเลแถบนั้นย่อมได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะปลา หรือปะการัง เพราะการขุดคลอง มันจะตามมาด้วยการขุดดินออกจากทะเล เพื่อขยายความลึกของอ่าว (อ่าวไทยไม่ค่อยลึกพอ เรือสินค้าขนาดใหญ่ๆอาจเข้าเทียบท่าไม่ได้นะครับ)
1
และถ้าเราต้องการจะปรับภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจแถบนั้นให้เปลี่ยนไป ชาวบ้านแถบนั้น และประเทศไทยที่เศรษฐกิจเราแขวนไว้อยู่กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมูลค่ากว่า 2,500,000,000,000 บาท (ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากจังหวัดติดทะเลในแถบภาคใต้) เศรษฐกิจประเทศไทยกว่า 20% เราพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนะครับ
1
ถ้าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในภาคใต้ส่วนล่างๆมันหายไป ลองคำนวณกันเล่นๆดูว่ามูลค่าจะหายไปสักเท่าไร และต่อให้การขุดคลองนั้นจะทำให้เราได้ GDP เพิ่มจากอุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการเดินเรือ การขนส่งสินค้าทางเรือ และท่าเรือนานาชาติ
3
ต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะคืนทุน ต้องใช้เวลาอีกกี่ปี เราถึงจะสามารถทำกำไรจากอุตสาหกรรมในส่วนนี้ได้ และนั่นก็นำมาซึ่งคำถามที่สำคัญที่สุดคือ มันจะคุ้มทุนไหม และอย่างไร
เรื่องที่ผมอยากให้คิดต่อคือ ทั้งคลองสุเอซ และคลองปานามานั้น ข้อดีของมันคือ มันช่วยในการลดระยะเวลาการเดินเรือของเรือบรรทุกสินค้าที่ต้องแล่นอ้อมทวีปลงเป็นเดือนๆนะครับ แต่ถ้ามาดูเส้นทางการเดินเรือในแถบมหาสมุทรอินเดียมาสู่ทะเลจีนใต้ เส้นนี้เดิมทีเราใช้ช่องแคบมะละกา
2
ถ้าเราเปิดคลองไทย เพื่อให้เรือเหล่านั้นเข้ามาที่น่านน้ำในไทย คิดว่าเรือบรรทุกสินค้าจะร่นระยะเวลาเดินทางไปกี่วันครับ? คำตอบคือ 1-2 วัน เท่านั้นเอง 1-2 วันบนการเดินทางโดยรถมันคุ้มนะครับ แต่ถ้าโดยเรือ ผมคิดว่ามันยังไม่ดึงดูดใจพวกนักลงทุนและอุตสาหกรรมการเดินเรือมากเท่าไรเมื่อเทียบกับกรณีศึกษาจากคลองสุเอซ และปานามา
ตรงจุดนี้ไทยเรามีข้อได้เปรียบอะไรบ้าง แล้วเราจะมีมาตรการดึงดูดเรือสินค้าอย่างไร ให้เขาเปลี่ยนจากที่สิงคโปร์มายังคลองในภาคใต้ของไทย อันนี้ผมไม่ได้ประชดนะ แต่อยากให้ลองพิจารณาถึงข้อเท็จจริงในจุดนี้ ซึ่งถ้าทางรัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถแก้โจทย์ตรงนี้ได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีในการจะดึงเอาลูกค้าของสิงคโปร์ให้มาอยู่กับคลองไทย
3
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะเตือนไว้เลยเรื่องท่าเรือน้ำลึกที่จะเกิดขึ้นในช่องแคบอ่าวไทย-อันดามันนี้ ยุคนี้ไม่เหมือนยุค 40-50 ปีก่อนนะครับ อย่าลืมว่าตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมานี้ จีนมีแผนสร้างเส้นทางสายไหมขึ้นมาใหม่
ทำให้จีนมีแผนจ้องจะแปลงที่ดินของประเทศที่อยู่ติดทะเลในแถบๆเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กลายมาเป็นท่าเรือน้ำลึก ตอนนี้ที่จีนจ้องอยู่ตาเป็นมันเลยคือ ปากีสถาน และพม่า (ไหนจะกัมพูชา และเวียดนามอีก) ในโครงการ Belt and Road Initiative จีนมีแผนที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกเพียบ
4
เพราะจีนต้องการลดการพึ่งพาในช่องแคบมะละกาที่แถบๆมาเลเซีย เลยพยายามหาเส้นทางการเดินเรือและการขนส่งสินค้าอย่างน้ำมันเส้นใหม่ ในอนาคตคู่แข่งของท่าเรือน้ำลึกที่ภาคใต้ของไทย จะไม่ได้มีแค่สิงคโปร์ กัมพูชา หรือเวียดนามอย่างเดียว แต่ปากีสถานและพม่าก็จะมีท่าเรือน้ำลึก
2
ที่จะใช้กระจายสินค้า และของอย่างน้ำมันเข้าสู่จีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของภูมิภาคโดยตรงได้ ทำให้ความอู้ฟู่ของท่าเรือน้ำลึกในคลองไทยที่เส้นทาง 9A นั้น อาจจะไม่ได้พุ่งปรู๊ดปร๊าดเหมือนสมัยบุกเบิก เพราะสินค้าที่ถูกขนส่งมาทางเรือมันจะกระจายไปยังจุดยุทธศาสตร์อื่นๆที่จีนวางไว้
3
** ความเป็นไปได้ในผลประโยชน์ที่เราจะได้ก็จะมีโอกาสถึงมือเราน้อยลง
2
และที่ผมอยากเตือนให้คิดไว้เลย คือ ประเด็นในเรื่องยุทธศาสตร์ทางทะเล (maritime security strategy) ที่ไทยควรตระหนักไว้ให้มากๆ เพราะทุกๆเส้นทางการเดินเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลที่สำคัญ มันมีประเด็นทางด้านผลประโยชน์แทรกซ้อนอยู่
2
ประเทศมหาอำนาจที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเส้นทางเดินเรือนั้นย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาควบคุม และดูแลผลประโยชน์ของตนเองในน่านน้ำ หรือทะเลแถบนั้น ไม่ว่าจะคลองปานามา คลองสุเอซ ช่องแคบฮอร์มุส ช่องแคบมะละกา ทะเลจีนใต้ ทุกๆน่านน้ำมีเรือรบของประเทศมหาอำนาจแล่นเฉียดไปเฉียดมาอยู่เต็มไปหมด
2
หลักๆก็คือ เรือของจีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งวางกองเรือรบของตนเองไว้บริเวณรอบๆเส้นทางเดินเรือจุดสำคัญๆหลายแห่งทั่วโลก พร้อมแสตนด์บายรอคำสั่งตลอดเวลา และด้วยธรรมชาติของเกมการเมืองระหว่างประเทศ เมื่อใดก็ตามที่ประเทศมหาอำนาจประเทศใดมีปัญหากับอีกมหาอำนาจหนึ่ง
2
เกมที่มหาอำนาจจะเล่นก็คือ การกดดัน การข่มขู่ในเส้นทางเดินเรือ การเอาเรือรบมาแล่นผ่าน มาขวาง ถึงแม้จะไม่ได้ขวางตรงๆหรือยิงมิสไซล์ใส่กันก็ขอให้ได้เอาเรือมาอวดกันให้ระแวงกันเล่นๆ คำถามคือ ไทยเรามีความพร้อมที่จะรับความเสี่ยงในด้านนั้นกันหรือยัง
2
ไทยเราพร้อมจะแลกให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นในแถบๆทะเลบ้านเราไหม และพร้อมที่จะตกอยู่ในวงล้อมของเกมทางยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ทางทะเลเหล่านั้นของมหาอำนาจก๊กต่างๆไหม?
4
ถ้ารัฐบาลและฝ่ายนโยบายที่เกี่ยวข้องสามารถแก้โจทย์เหล่านี้ และมีการเตรียมแผนที่จะรับมือไว้ในอนาคตได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ผมไม่มีเหตุผลอะไรจะมาคัดค้านนโยบายนี้ทั้งสิ้น
แต่อยากให้หลายๆฝ่ายช่วยกันพิจารณา และไตร่ตรองประเด็นยิบย่อยที่อาจส่งผลต่อเงื่อนไขทางด้านยุทธศาสตร์ทางทะเล และผลกระทบในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วิถีชีวิตส่วนอื่นๆของคนไทยด้วย
** ส่วนในเรื่องของเงินกู้ เงินลงทุน ที่ตอนนี้ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไรนักว่าจะกู้ใคร หรือมีแผนจะดึงฝ่ายใดมาลงทุน ถ้ามีข้อมูลมากกว่านี้ ผมจะมาอัพเดทให้อ่านกันต่อวันหลังครับ (แต่คิดว่าคงไม่พ้นจีน เพราะทางการจีนก็เล็งตรงนี้ไว้มาหลายปีแล้วเหมือนกัน)
*** ข้อมูลบางส่วนในเรื่องของการเดินเรือผมอ่านมาจากคุณ Naruphun Chotechuang (ท่านใดสนใจสามารถตามไปอ่านต่อเพิ่มเติมใน Facebook ส่วนตัวของคุณ Naruphun ได้)
3
Cr. Kra Canal - Maritime Silk Road
โฆษณา