18 ม.ค. 2020 เวลา 16:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ภาพที่เห็นนี้เป็นอิฐจากห้องทดลอง นักวิทยาศาสตร์สร้างให้มันมีคุณสมบัติเชิงกลเหมือนปูน สามารถทำเป็นรูปทรงใดตามแบบที่ต้องการได้
มัน คือ คอนกรีตที่มีชีวิต!!!
ขบวนการสร้างวัสดุที่มีชีวิตนี้ คล้ายกับการก่อตัวของเปลือกหอยในมหาสมุทร
เริ่มจากการนำส่วนผสมของเหลวมารวมตัวกัน คือ แบคทีเรีย เจลาติน ทราย และสารอาหาร หลังจากนั้นเอาใส่ลงในแม่พิมพ์ ด้วยความร้อนและแสงอาทิตย์ แบคทีเรียจะผลิตผลึกแคลเซียมคาร์บอเนตรอบๆอนุภาคทราย
เมื่อเย็นตัวลง เจลาตินจะช่วยทำให้ส่วนผสมต่างๆแข็งตัวเป็นเจล จากนั้นใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงทำให้เจลแห้งลงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับอิฐ เป็นขบวนการก่อตัววัสดุมีชีวิตที่เลียนแบบการก่อตัวของเปลือกหอยในทะเล
แต่ในปัจจุบัน อิฐมีชีวิตในห้องทดลองนี้ ยังไม่แข็งแรงเท่ากับอิฐทั่วไป ยังต้องใช้เวลาวิจัยและพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติม
การผลิตคอนกรีตทั่วไปในโรงงาน ใช้วัสดุหลายอย่างมาผสมกัน คือ กรวด ทราย ซีเมนต์ และน้ำ เป็นขบวนการผลิตที่ใช้วัสดุจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ความต้องการใช้คอนกรีตบนโลก เป็นรองแค่ความต้องการใช้น้ำของมนุษย์
ถ้าใช้วิทยาการทางด้าน ชีววิทยาและสายพันธุ์ของแบคทีเรีย มาช่วยทำให้มันมีการเติบโตในอัตราเร่งมากๆ จะทำให้สามารถสร้างคอนกรีตที่มีชีวิต เหมือนการผลิตอิฐในโรงงานปัจจุบัน
อิฐ 1 ก้อนสามารถแบ่งตัวเป็นอิฐ 2 ก้อนด้วยการเพิ่มทรายและสารอาหารเข้าไป ผลการทดลองในวันนี้พบว่า อิฐที่มีชีวิต 1 ก้อน สามารถเพิ่มผลผลิตแตกหน่อกลายเป็นอิฐ 8 ก้อน
นักวิทยาศาสตร์จาก University of Colorado Boulder ได้ทุนวิจัยโครงการนี้จาก US Defense Advanced Research Projects Agency หรือ DARPA ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันเพื่อยกระดับการผลิตในจำนวนมากขึ้น และทดลองมาใช้ในการก่อสร้างจริง
การค้นพบครั้งนี้ เป็นความก้าวหน้าที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้พวกเราสามารถส่งต่อโลกให้กับคนรุ่นหลังในสภาพที่ไม่เสียหายมากนัก อาจช่วยทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น!!!
โฆษณา