20 ม.ค. 2020 เวลา 13:48 • ธุรกิจ
เรียนรู้วิกฤตซับไพรม์แบบเข้าใจง่ายไปกับหนังเรื่อง
The Big Short(2015) : เกมฉวยโอกาสรวย
เรื่องของ ไมเคิล เบอร์รี่ : ชายผู้ทำกำไรจากการมองเห็นอนาคต (ตอนที่ 2)
ตอนที่แล้ว...เราได้พาผู้อ่านย้อนไปในปี 2002 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตซับไพรม์
เป็นปีที่ธนาคารกลางของสหรัฐใช้นโยบายลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ภาคอสังหาฯเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงอธิบายศัพท์ทางการเงินที่ตัวละครในหนังพูดถึงอยู่บ่อยครั้งอย่าง " CDO":Collateralized Debt Obligations (สำหรับท่านที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 ควรกลับไปอ่านก่อนเพราะจะทำให้เข้าใจเนื้อหาตอนที่ 2 ได้มากขึ้น)
1
อย่างที่ได้กล่าวไว้ เมื่อภาคอสังหาฯเติบโต ทำให้มีการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ธนาคารท้องถิ่นของอเมริกาซึ่งเป็นผู้ให้สินเชื่อก็ใช้วิธีหมุนเงินจากการกู้ยืมเงินจากวานิชธนกิจอีกต่อหนึ่ง
1
โดยมัดรวมสัญญาเงินกู้หลายฉบับไว้ด้วยกันและออกขายในรูปแบบของสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้ เพื่อนำเงินกู้มาวนปล่อยสินเชื่อต่อไป
กำไรของธนาคารท้องถิ่นมาจากการกินส่วนต่างของดอกเบี้ย ส่วนกำไรของวานิชธนกิจมาจากดอกเบี้ยที่ได้รับจากธนาคารท้องถิ่น
หลายฝ่ายมองว่าสินเชื่อประเภทนี้ค่อนข้างมั่นคง ไม่มีใครอยากจะทิ้งบ้านที่ตัวเองพักอาศัย
.
.
ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ให้ได้ และถึงแม้จะมีบางคนที่ส่งไม่ไหว แต่ถ้าไม่เกิน 5 % ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้
มูลค่าอสังหาฯมีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ คงไม่มีลูกหนี้คนไหนอยากให้บ้านถูกยึด
แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีความเสี่ยง...
3
ห่วงโซ่ของกำไรจึงขยายต่อไปสู่ธุรกิจประกัน
1
เมื่อCDOมีความเสี่ยงจากการที่ลูกหนี้อาจจะผิดสัญญาและไม่ชำระเงินกู้
ทำให้ธนาคารท้องถิ่นเกิดหนี้เสียจนส่งผลให้ผู้ซื้อ CDO ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ได้ระบุไว้
บริษัทประกันเห็นช่องว่างตรงนี้ จึงออกผลิตภัณฑ์ประกันความเสี่ยงCDOขึ้นมารองรับ โดยผู้ซื้อประกันจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันรายปี เพื่อแลกกับการชดเชยเงินในกรณีที่ CDOมีปัญหาและไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ตามสัญญา
1
ยกตัวอย่างเช่น มูลค่าสัญญาเงินกู้รวมที่ธนาคารท้องถิ่นนำมาขายแก่วานิชธนกิจ เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาทโดยมีการระบุในตราสารว่าจะจ่ายผลตอบแทนให้ร้อยละ 10 ต่อปี จนครบ 5 ปี เท่ากับว่าผู้ซื้อ CDO จำนวน 100 ล้านบาทนี้จะได้รับผลตอบแทนปีละ 10 ล้านบาทเป็นระยะเวลา 5 ปี เมื่อครบ 5 ปี แล้ว ก็จะได้รับเงินต้นคืนทั้งหมด
.
.
รวมๆแล้วจะได้เงินทั้งหมด 150 ล้านบาท แบ่งเป็นดอกเบี้ย 50 ล้านและ เงินต้น 100 ล้าน
3
หากอยากจะลดความเสี่ยงในกรณีที่ CDO ประสบปัญหาและมีการผิดนัดชำระหนี้ คุณสามารถซื้อประกันโดยจ่ายเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันปีละ 2 ล้านบาท เป็นเวลา5 ปี(ตัวเลขสมมติ)
เท่ากับว่าผู้ซื้อประกันยอมจ่ายปีละ 2 ล้านบาท ติดต่อกัน 5 ปี เพื่อแลกกับการประกันว่าจะได้เงิน 150 ล้านบาทคืนมาแน่ๆ ส่วนบริษัทประกันก็รับเงิน 10 ล้านบาทเพื่อแลกกับความเสี่ยงที่ CDOอาจประสบปัญหาและมีเงินไม่พอจ่ายให้วานิชธนกิจ
1
สังเกตไหมครับว่า...ห่วงโซ่นี้ทำเงินให้ทั้งสถาบันการเงิน วานิชธนกิจ และบริษัทประกัน ไม่เพียงเท่านี้....บริษัทประกันยังมองเห็นโอกาสที่จะทำกำไรเพิ่มอีกหนึ่งช่องทางด้วยการขาย “ตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยง”
หรือที่ในหนังเรียกว่า " CDS" (Credit Default Swap)
ตราสารอนุพันธ์ คือ ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่ง ผมขออธิบายง่ายๆแบบไม่อิงศัพท์ทางการเงินมากนักว่า มันคือการซื้อขายตราสารเพื่อเก็งกำไรผ่านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยใช้การอ้างอิงราคาของสิ่งที่เป็น " สินค้าอ้างอิง(อนุพันธ์ )"นั่นเอง
ซึ่งสินค้าอ้างอิงที่นำมาซื้อขายกันมีเยอะมาก เรียกว่าอะไรที่มีความผันผวนทางด้านราคาก็สามารถนำมาซื้อขายเป็นตราสารอนุพันธ์ได้ทั้งสิ้น
( มีตั้งแต่น้ำมัน สินค้าเกษตร นม กุ้ง เนื้อหมู หุ้น ดัชนีหลักทรัพย์ อัตราดอกเบี้ย ไปจนถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ฯลฯ )
แล้ว“ตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยง”ที่บริษัทประกันขายคืออะไร ?
มันคือการเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจซึ่งจะเป็นใครก็ได้ มาซื้อตราสารอนุพันธ์เพื่อเก็งกำไรว่าสิ่งที่บริษัทประกันที่รับประกันความเสี่ยงจากCDOนี้ สุดท้ายแล้วบริษัทประกันจะต้องจ่ายส่วนต่างนี้ตามทุนประกันนี้หรือไม่ ?
พูดง่ายๆว่าคนที่ซื้อตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยง มองว่า CDO จะล่มเพราะหนี้ที่เกิดจากการซื้อบ้านของลูกหนี้เหล่านั้นจะกลายเป็นหนี้เสีย ส่วนบริษัทประกันซึ่งเป็นผู้ขายตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงมองว่า CDO จะไม่ล่ม และพวกเขาก็ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยใดๆให้กับผู้ซื้อประกัน
ต้นตอปัญหาของวิกฤตซับไพรม์...ก็เกิดจากความโลภของทุกหน่วยธุรกิจเหล่านี้นี่เอง
1
เมื่อใครสักคนหนึ่งกู้ซื้อบ้าน กระสุนของวิกฤตก็เริ่มทำงาน
2
หนี้ของพวกเขาจะถูกธนาคารท้องถิ่นมัดรวมกันเป็น CDOเพื่อนำไปขายให้กับวานิชธนกิจ( ธนาคารท้องถิ่นลอยตัวไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงอยู่ฝ่ายเดียวแถมยังนำเงินกู้ที่ได้ไปปล่อยสินเชื่อทำกำไรต่อได้อีก)
วานิชธนกิจเองก็ซื้อประกันความเสี่ยง CDOจากบริษัทประกัน และบริษัทประกันก็นำCDOเหล่านี้ขายเป็นตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงให้กับนักลงทุนทั่วไปอีก
โดย CDOเหล่านี้มีเรตติ้งที่แตกต่างกันไป ตามแต่ที่บริษัทจัดเรตติ้งจะจัดระดับความน่าเชื่อถือของCDOเหล่านี้ ซึ่งในความเป็นจริง บริษัทเร็ตติ้งเหล่านี้ก็รับเงินจากสถาบันการเงินเพื่อให้ระดับเร็ตติ้งที่สูงกว่าความเป็นจริง
เพื่อให้เวลานำสินทรัพย์เหล่านี้ไปขาย จะได้ราคาที่ดี
1
เมื่อทุกฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์จากวงจรนี้ สินเชื่อบ้านจึงถูกกระตุ้นให้ออกมาอย่างบ้าคลั่ง
ธนาคารท้องถิ่นก็แอบช่วยผู้กู้ให้ผ่านการอนุมัติ แม้ว่ารายได้ของพวกเขาจะไม่มั่นคง หรือมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะกู้ก็ตาม
ความละเลยนี้ส่งผลให้มีปัญหาตามมาและเริ่มมีสัญญาณให้เห็นในปี 2005
1
คนแรกที่สังเกตุเห็นความผิดปกตินี้ คือ ไมเคิล เบอร์รี่ (Michael Burry) ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์แห่งหนึ่ง
เขาสังเกตเห็นว่ามีหนี้เสียเกิดขึ้นจำนวนหนึ่งจากสัญญาเงินกู้ของCDO ซึ่งหนี้เสียส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้ที่ถูกจัดลำดับความน่าเชื่อถือในระดับ AAA
มีความผิดปกติที่เกิดจากชำระที่ล่าช้า มีบางส่วนขาดส่งนานเกิน 3 เดือน ...
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
เพราะการซื้อบ้านเกิดขึ้นในปี 2002 ที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ
แต่ในปี 2004 ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)เห็นว่าภาคอสังหาฯเติบโตรวดเร็วเกินไป มีการปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวม
จึงชะลอการเติบโตของภาคอสังหาฯด้วยการขึ้นดอกเบี้ย
1
ไมเคิล เบอร์รี่ พบเรื่องนี้ในปี 2005 เขาคาดการณ์ล่วงหน้าว่าอีก 2 ปี เมื่อผู้กู้ต้องส่งค่าบ้านในอัตราดอกเบี้ยที่ลอยตัว จะเกิดหนี้เสียขึ้นในระบบเป็นจำนวนมาก และเมื่อหนี้เสียเหล่านี้เกิดขึ้น ธนาคารท้องถิ่นจะนำเงินที่ไหนมาจ่ายผลตอบแทนให้กับวานิชธนกิจ
1
เมื่อCDOไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่หวังไว้ กลุ่มที่ต้องจ่ายส่วนต่างนี้ก็คือบริษัทประกัน เมื่อรู้ว่า CDOมีโอกาสล่ม ไมเคิล เบอร์รี่ จึงนำเงินของกองทุนกว่า 1,300 ล้านเหรียญเข้าซื้อ " CDS"(ตราสารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยง)ในทันที
ขยายความ CDSเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น
2
ฉากนี้หนังยกตัวอย่างเทียบเคียงกับการพนัน หากมีการพนันระหว่างเจ้ามือและนักพนัน การทำ CDSเปรียบเหมือนการพนันของเจ้ามือ(บริษัทที่ขาย CDS)กับ นักพนัน(ผู้ซื้อCDS) ว่าCDO มีโอกาสล่มไหม ? : เจ้ามือมองว่าไม่ล่ม ส่วนนักพนันมองว่าล่ม
2
ทีนี้ในหนังจะมีการพูดถึงศัพท์อีกคำหนึ่งคือ " Synthetic CDO "
ซึ่งก็คือการที่สถาบันการเงินนำCDS ไปทำกำไรต่อในรูปแบบของตราสารอนุพันธ์ที่ย่อยลงไปอีกทอดหนึ่ง เปรียบเสมือนคนรอบโต๊ะพนันที่พนันกับคนที่ยืนอยู่ข้างๆว่าตานี้เจ้ามือ หรือ นักพนันจะได้เงิน เป็นการพนันที่เกิดขึ้นซ้อนกับการพนันอีกทีหนึ่ง (ซับซ้อนได้อีก)
1
โดยสถาบันการเงินเหล่านี้จะออก Synthetic CDO ให้นักลงทุนที่สนใจมาซื้อเพื่อเก็งกำไร เป็นการวัดใจว่าใครจะคาดการณ์ตลาดได้แม่นยำกว่ากัน โดยหลักการก็จะคล้ายกับการซื้อ CDS
ผู้ซื้อSynthetic CDO ต้องจ่ายเบี้ยประกันรายปีให้กับสถาบันการเงิน (ทั้งๆที่ไม่ได้มี CDO หรือ CDSอยู่ในมือหรอก แต่จ่ายเพื่อพนันว่าตลาดจะล่ม)
ถ้าตลาดล่มจริง สถาบันการเงินจะจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับผู้ซื้อSynthetic CDO ในอัตราเดียวกับที่จ่ายให้กับผู้ถือ CDO หรือ CDS (ซึ่งสูงกว่าผลรวมของเบี้ยรายปีที่จ่ายให้กับสถาบันการเงินแน่นอน)
1
การที่ไมเคิล เบอร์รี่ใช้เงินจากกองทุนไปชำระเบี้ยที่สูงถึง 1,300 ล้านเหรียญ มันจึงเป็นทั้งความกล้าและบ้าในคราวเดียวกัน
ไม่มีใครคิดหรอกว่าตลาดอสังหาฯจะล่ม...
เพราะอะไรทุกคนจึงคิดแบบนั้น
เพราะการมัดรวมสัญญาหลายฉบับ เป็นการลดความเสี่ยงในตัวของมันเองอยู่แล้ว เหมือนการนำกิ่งไม้เล็กๆมารวมกันย่อมได้กลุ่มไม้ที่แข็งแรง หากจำนวนหนี้เสียไม่มากเกินไป CDOก็ยังดำเนินต่อไปได้
ข้อความด้านบนนี้ผมไม่ได้กล่าวอย่างลอยๆ
มีการคำนวณจากนักคณิตศาสตร์ไว้ว่าเมื่อหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงถูกนำมารวมกัน โอกาสที่หนี้เหล่านั้นจะกลายเป็นหนี้เสียจะลดลง เพราะแม้จะมีหนี้เสียบ้างก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากคำนวณตามสูตรนี้ จะทำให้ CDOทุกกอง มีเรตติ้งที่สูงกว่าความเป็นจริง
2
บริษัทจัดเรตติ้งก็เอาสูตรนี้มาใช้ เพื่อทำให้ CDOขายได้ราคาที่ดี
การเข้าซื้อครั้งนี้ของไมเคิล เบอร์รี่ถูกมองว่าเป็นการเอาเงินไปทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ มีผู้ลงทุนจำนวนมากอยากจะถอนเงินออกจากกองทุน (เพราะมีแนวโน้มว่าจะขาดทุน) แต่ไมเคิลได้ใช้สิทธิ์ในการเป็นผู้จัดการกองทุนระงับการถอนเงินลงทุนดังกล่าวก่อนระยะเวลา
1
เมื่อข่าวการซื้อ CDS มูลค่า 1,300 ล้านนี้ไปเข้าหูจาเร็ด เวนเน็ตต์ (Jared Vennett)นายหน้าขายพันธบัตรแห่งด๊อยซ์แบงค์ เขาก็พบช่องทางรวย เขาหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้และได้เชิญชวนผู้จัดการกองทุนต่างๆให้ซื้อ CDSเก็บไว้เพื่อทำกำไร
ซึ่งเกมนี้ เขามีแต่ได้กับได้ ที่ได้แน่ๆเลยคือค่าคอมมิชชั่นที่ได้จากการขาย CDS และหากสิ่งที่ไมเคิลคาดการณ์ไม่เกิดขึ้น เขาก็ไม่เสียอะไร ?
(แต่เขาเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น)
การขายครั้งนี้พาให้จาเร็ด ได้พบกับ มาร์ค บาม (Mark Baum)ผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อแห่งหนึ่ง
เขาเป็นคนรอบคอบและฉลาดมาก เมื่อจาเร็ด มาเสนอขาย CDSให้
เขาก็ไม่ปฏิเสธโอกาส แต่เลือกที่จะให้ลูกน้องเข้าไปสืบข้อมูลวงในของตลาดอสังหาฯให้รู้แน่ชัดว่าเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ ?
พวกเขาปลอมตัวเป็นลูกค้าที่สนใจซื้อบ้าน เดินทางไปคุยกับเซลล์ขายบ้าน.... คุยกับตัวแทนสินเชื่อ ไล่ไปจนถึงบริษัทจัดเร็ตติ้ง และผู้ขาย CDS
ทุกจุดที่ลงสำรวจ ทำให้พวกเขาเห็นชนวนของระเบิดเวลาที่กำลังจะระเบิดขึ้นอย่างชัดเจน
วิกฤตครั้งนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน !!!
นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนวัยหนุ่มอีกสองคนที่ได้ยินข่าวนี้
ชาร์ลี เกลเลอร์ (Charlie Geller) กับ เจมี่ ชิปลีย์ (Jamie Shipley) คือสองหนุ่มผู้มีความกะตือรือร้น
พวกเขามองว่าจะเกิดวิกฤตขึ้นในตลาดอสังหาฯแน่นอนและนี่จะเป็นโอกาสสู่ความร่ำรวยของพวกเขา เขาพยายามเจรจาเพื่อขอซื้อ CDS จากสถาบันการเงินต่างๆ แต่ด้วยความที่เป็นนักลงทุนรายย่อยและเงินที่ไม่หนาพอจึงถูกปฏิเสธ
ทั้งสองจึงไปขอความช่วยเหลือจากอดีตนักการเงินผู้กว้างขวางอย่าง เบน ริกเคิร์ต (Ben Rickert) ให้ช่วยเจรจากับบรรดาสถาบันการเงินเพื่อให้พวกเขาได้ซื้อ CDS
และด้วยความช่วยเหลือของ เบน ริกเคิร์ต พวกเขาจึงซื้อ CDS ได้สำเร็จ...ซึ่งการซื้อในครั้งนี้พวกเขาต้องซื้อตราสารCDO ที่มีเรตติ้งระดับ AAA
ถ้าดูจากเร็ตติ้งแล้ว โอกาสที่จะเกิดหนี้เสียจากสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือระดับ AAAแทบจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย...
ในมุมมองของสถาบันการเงิน ต่างมองว่าการซื้อ CDSของพวกเขาคือ แมงเม่าที่เอาเงินมาให้เชือดกินนิ่มๆ แต่ทั้งสองคนมั่นใจในข้อมูลที่ได้ศึกษามา....พวกเขาคิดว่ายิ่งเสี่ยงมากเท่าไหร่ ยิ่งได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นเท่านั้น (คุ้มที่จะเสี่ยง)
และก็เป็นไปตามนั้นจริงๆ เมื่อวิกฤตซับไพรม์เริ่มส่งสัญญาณชัดขึ้น พวกเขาก็ทำกำไรได้อื้อซ่าจากการขายต่อ CDSในตลาดยุโรป
1
มาว่ากันต่อถึงวิกฤตซับไพรม์...
สัญญาณที่ไมเคิล เบอร์รี่เห็นเริ่มชัดเจนขึ้นปลายปี 2006 ถึง ปี 2007
อัตราการผิดนัดชำระหนี้เริ่มสูงขึ้น ลูกหนี้เริ่มไม่จ่ายหนี้กับธนาคารท้องถิ่น
ธนาคารท้องถิ่นจึงขาดสภาพคล่องและมีเงินพอจ่ายผลตอบแทนให้กับวานิชธนกิจ
1
บริษัทประกันที่ออกประกันสำหรับ CDO ก็เริ่มล้มเพราะต้องชำระส่วนต่างตรงนี้ให้กับผู้ซื้อประกัน ยังไม่รวมกับที่ต้องจ่ายชดเชยให้ผู้ซื้อ CDSอีก
สถาบันการเงินที่ขาย Synthetic CDO ก็ขาดทุนเช่นกัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งต่อกันเป็นลูกโซ่
ทำให้ทั้งบริษัทประกันและสถาบันการเงินมากมายล้มครืนลงพร้อมกัน จนนำไปสู่วิกฤตการทางการเงินครั้งใหญ่ ที่เรียกกันว่า" วิกฤตซับไพรม์ "
ทุกอย่างเป็นไปตามคำทำนายของไมเคิล เบอร์รี่ กองทุนของเขาได้กำไรจากการลงทุนในครั้งนี้กว่า 489%
1
ต้นตอของวิกฤตการณ์ครั้งนี้เกิดจากความโลภของสถาบันการเงิน จนนำไปสู่การกระทำที่ไม่เฉลียวใจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ทุกคนในวงจรอุบาทว์นี้ต่างทำการอันฉ้อฉลต่อวิชาชีพของตนเอง
1
หากผู้ปล่อยสินเชื่อ....เข้มงวดเรื่องเครดิตการเงินของผู้กู้
หากบริษัทจัดเร็ตติ้ง...จัดเร็ตติ้งตามที่ควรจะเป็น ก็ไม่มีคนแห่มาซื้อ COD กันมากมายขนาดนี้ ก็คงไม่มีการเก็งกำไรต่อกันเป็นทอดๆแบบนี้
และหากหน่วยงานรัฐเข้มงวดกับการซื้อขาย CDSและจัดการกับSynthetic CDOที่แอบซื้อขายกันอย่างลับๆ ผลที่ตามมาอาจจะไม่รุนแรงเท่านี้...
เพราะความไม่รู้....เราจึงทำโดยปราศจากความยับยั้งชั่งใจ ปล่อยให้ความโลภครอบงำ "สติปัญญา"
เหตุการณ์ครั้งนี้...ถือเป็นบทเรียนทางการเงินที่นักลงทุนควรถอดบทเรียนเพื่อศึกษาว่า การลงทุนที่เต็มไปด้วยความโลภเพราะผลตอบแทนที่ยั่วยวนและง่ายดาย แท้จริงแล้วคือกับดักที่รอเหยื่อให้มาติด...และล่มจมไปกับหายนะที่เกิดจากความโลภนั้น
2
ขอปิดท้ายบทความด้วยคำคมของ วอเร็น บัฟเฟตต์
ผมคิดว่ามันเหมาะกับสถานการณ์ที่นำไปสู่วิกฤตซับไพรม์ในครั้งนี้มาก
" ความเสี่ยงเกิดจากความไม่รู้ในสิ่งที่คุณทำ "
ดังนั้น ถ้าจะเสี่ยงก็ต้อง "รู้ " ด้วยครับ....
หมายเหตุ : มีศัพท์อีกคำหนึ่งที่ผู้เขียนไม่ได้อธิบายในบทความเพราะกลัวว่าอธิบายแล้วจะงง คำนั้นคือ " MBS"Mortgage-Backed Security
ถือเป็นตราสารทางการเงินรูปแบบหนึ่งเหมือนกันแต่เป็นในแบบที่ผู้กู้ทำสัญญากับผู้ให้กู้ว่าจะจ่ายเงินต้น(บางส่วน)พร้อมดอกเบี้ยให้ทุกเดือน โดยนำบ้านหลังที่ซื้อจำนองไว้กับสถาบันการเงิน ซึ่งใน CDOจะมีสัญญาเงินกู้อื่นๆผสมกันกับ MBS ผมนำมาอธิบายในตอนท้ายเพราะเห็นว่ามันไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ เป็นเพียงส่วนขยายของเนื้อเรื่องเท่านั้น ถ้าใครยังไม่เข้าใจเรื่อง MBS ก็จำง่ายๆว่ามันคือส่วนหนึ่งของสัญญาเงินกู้ที่ถูกมัดรวมเป็น CDO ก็ได้ครับ
1
โฆษณา