22 ม.ค. 2020 เวลา 11:18 • บันเทิง
พัตรา-ซีซ่าร์-โทนี่...ตอนที่ ๘
สองวันหลังการตายของจูเลียสซีซ่าร์...มาร์คแอนโทนี่ ในฐานะกงสุลอันดับสองรองจากซีซ่าร์ ก็เรียกประชุมสภา...อันดับแรกเลยก็คือ เปิดพินัยกรรมของซีซ่าร์...
ในพินัยกรรมประกาศให้อ๊อกเตเวียส บุตรบุญธรรมเป็นทายาททางการเมืองของเขา...
ส่วนเรื่องบ้านที่ดินต่างๆของจูเลียสซีซ่าร์ ประกาศยกให้เป็นทรัพย์สินของประชาชนชาวโรมัน...เรียกว่าใจพระเหลือเกิน และก็ช่วยให้ชาวเมืองซาบซึ้งนึ่งข้าวเหนียว สำนึกบุญคุณของท่านซีซ่าร์กันเข้าไปใหญ่...
แต่ในพินัยกรรม กลับไม่ได้กล่าวถึงพระนางคลีโอพัตราและซีซ่าร์น้อยแม้แต่คำเดียว...โหย จูเลียสซีซ่าร์ แกใจแล้งขนาดนี้เชียวเหรอ...
ที่จริงแล้วมีพินัยกรรมอีกฉบับนึง ในฉบับนั้นได้กล่าวถึงว่าหากตนได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ จะมอบความเป็นควีนแห่งโรมให้แก่คลีโอพัตราด้วย...แต่พินัยกรรมฉบับนั้น ถูกเมียแต่งของจูเลียสซีซ่าร์ทำลายไปซะแล้ว
วาระต่อไปก็มาว่าถึงการฆาตกรรมจูเลียสซีซ่าร์...จะว่าไป สภาโรมันตอนนั้นก็ถือว่าโคตรใจกว้าง คือมีการเปิดให้อภิปรายว่า ไอ้ที่รุมฆ่าจูเลียสซีซ่าร์ไปน่ะ...ตกลงมันเป็นผลดีหรือผลร้ายต่อจักรวรรดิโรมัน...
...นี่ถ้าเป็นสภาในบางประเทศ ได้มียกเก้าอี้ทุ่มกันมั่งล่ะ...
ฝ่ายที่เห็นว่าเป็นผลดี ก็ขอให้ออกกฎหมายนิรโทษให้กับคนที่ฆ่า...ส่วนพวกที่บอกว่าไม่ดี ก็เรียกร้องให้จับพวกฆาตกรมาลงโทษ
อย่าลืมว่าสมัยนั้นไม่มีกล้องไม่มีเฟสไม่มีไลฟ์ การฆาตกรรมก็เกิดขึ้นในสภาที่เป็นสถานที่ค่อนข้างเฉพาะของคนจำนวนไม่มาก
เพราะฉะนั้น...ใครเป็นฆาตกรบ้าง ใครเป็นคนสนับสนุนบ้าง ก็ยังเป็นที่คลุมเครืออยู่...อาจจะพอคาดเดาได้ก็จากว่า ใครอยู่ฝ่ายตรงข้ามซีซ่าร์ หรือใครมีหัวรุนแรงมั่ง...
ก็เลยทำสิ่งที่จำเป็นก่อนคือ จัดพิธีเผาศพจูเลียสซีซ่าร์...
พิธีเผาศพคนใหญ่คนโตครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรักที่ชาวโรมมีให้...แทนที่จะได้ไปเผาที่สุสานนอกเมืองตามที่วางแผนไว้ ประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้เผาที่กลางจตุรัสเมืองซะเลย เพื่อพวกเขาจะได้ร่วมแสดงอาลัยได้...
วิธีการแสดงความอาลัยของชาวเมืองคือ...เมื่อไฟถูกจุดขึ้น ข้าวของอะไรใกล้มือที่พอเป็นเชื้อไฟได้ ก็จะถูกโยนลงไปในกองเพลิงด้วย...ถึงขนาดว่า นักดนตรีที่มาบรรเลงในงาน ยังเอาเครื่องดนตรีของตนโยนใส่กองไฟ นักแสดงถอดเสื้อคลุมถวายพระเพลิง...
หนักๆเข้า ชาวบ้านก็แห่เข้าหอประชุม โต๊ะเก้าอี้อะไรที่เคลื่อนย้ายได้ ก็ถูกลากออกมาสุมกองไฟเพื่อเป็นเกียรติแก่จูเลียสซีซ่าร์...
...ผ่านพ้นพิธีศพไปแล้ว เรามาดูว่าใครเคลื่อนไหวยังไงกันมั่ง...
คลีโอพัตราที่ซีซ่าร์เชิญมาอยู่ที่โรม...ตอนนี้ซีซ่าร์ตายแล้ว และในพินัยกรรมนางไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย เรียกว่าฝันสลาย...ทางที่ดีที่สุดคือ กลับไปตั้งหลักที่อียิปต์...
พวกทีมสังหารอย่างคัสเซียสและบรูตัส ต่างหดหัวอยู่กับบ้าน และค่อยๆเล็ดลอดออกจากโรม...
อ๊อกเตเวียส...พอทราบข่าวการถูกฆาตกรรมของพ่อบุญธรรม และพินัยกรรมที่ให้ตนเป็นทายาท ก็รีบบึ่งกลับโรมอย่างว่อง...
ตอนนี้ในโรมก็เลยมีผู้ยิ่งใหญ่คุมเชิงกันอยู่สองคน...มาร์คแอนโทนี่ ผู้นำทางทหาร...อ๊อกเตเวียส ผู้นำทางการปกครอง...
มาร์คมาในสไตล์ทหารดุดัน โผงผาง ถึงลูกถึงคน...ส่วนอ๊อกตาเวียสที่แม้จะเด็กกว่ามาร์คหลายปี แต่กลับมาแบบสุขุมลุ่มลึก...ทั้งสองที่ไม่ได้เคยทำงานร่วมกันมา หรือสนิทสนมกันมา วัยก็ต่างกันแบบคนละรุ่น...ก็เลยเคมีไม่ค่อยจะเข้ากัน
ต่างฝ่ายต่างจ้องแบบไม่ค่อยไว้ใจกันแบบนี้อยู่พักนึง ก็ได้คนมาช่วยเป็นกันชน...เลปิดุส
เลปิดุสแกเป็นแม่ทัพกองพลทหารม้าที่เก่งกาจ เคยเป็นผู้ช่วยจูเลียสซีซ่าร์ และเป็นผู้ผลักดันให้มาร์คขึ้นสู่ตำแหน่งกงสุลที่สอง จนเป็นใหญ่เป็นโตทุกวันนี้
เลปิดุสเข้ามาเทคแอ๊คชั่นจนได้ข้อตกลงร่วมกันว่า...ทั้งสาม คือรวมเลปิดุสด้วยจะช่วยกันปกครองอาณาจักรโรมัน โดยมาร์คและเลปิดุสจะช่วยกันดูแลพื้นที่ส่วนใหญ่...ส่วนอ๊อกเตเวียส ไม่รู้แบ่งเค้กกันยังไง ถูกคำสั่งให้กระเด็นไปปกครองแถวแอฟริกานู่น...อ้าว ไหงเป็นงั้นล่ะ
แต่อีกข้อตกลงที่ทั้งสามเห็นพ้องกันคือ...ถึงแม้สภาจะไม่มีมติที่ชัดเจนว่าจะทำยังไงกับพวกฆาตกร แต่ทั้งสามรับปากว่าจะช่วยกันล่าสังหารฆาตกรรวมทั้งคนที่สนับสนุนเหล่านั้นให้ได้...โดยมีการตั้งค่าหัวด้วย
ข้อตกลงที่เกือบจะเรียกว่าเป็นการใช้อำนาจแบบเทาๆมืดๆยังงี้ เล่นเอาโรมวุ่นวายไปพักนึงเลย เพราะอย่างที่บอก...ฆาตกรรมเกิดขึ้นในที่ค่อนข้างลับ ฆาตกรเป็นใครบ้างก็ไม่ชัดเจน...แต่ค่าหัวมันล่อใจ ก็เลยมีการกล่าวหากันมั่วไปหมด...คนที่เป็นเหยื่อของการนี้ จริงมั่งไม่จริงมั่ง...ว่ากันว่าถึงร้อยกว่าคน...
ภายหลังการกวาดล้างกลุ่มผู้สังหารซีซ่าร์ ซึ่งมีทั้งตัวจริงและที่โดนยัดข้อหาไปร่วมร้อยกว่าคน...มาร์คแอนโทนี่ก็ยกทัพไปปราบฆาตกรตัวเอ้...คัสเซียสกับบรูตัส จนตายพ้นไปทั้งคู่
...เป็นอันว่าเรื่องการฆาตกรรมจูเลียสซีซ่าร์ ได้รับการตามล้างตามเช็ดจนเกลี้ยงเกลาแล้ว...
โฆษณา