23 ม.ค. 2020 เวลา 02:32 • ปรัชญา
ภาพปริศนาธรรม เรื่อง วัฏจักรแห่งชีวิต
วันนี้เป็นวันพฤหัสบดี แรม 14 ค่ำ เดือนยี่ (2) ของปีกุน วันพรุ่งนี้เป็นวันพระ วันศุกร์ เเรม 15 ค่ำ พอดีได้ร่างบทความไว้บางส่วนจึงอยากจะลงก่อน วันพระ วันนี้เสนอภาพปริศนาธรรม เรื่อง วัฏจักรแห่งชีวิต ที่ต่อจากภาพปริศนาธรรม ภาพแรก เพื่อให้เห็นและเข้าใจเพิ่มมากขึ้น
ชีวิต คืออะไร ประกอบด้วยอะไร กล่าวได้ว่า ชีวิตคือสิ่งที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ แล้วเสื่อมสลายไป ที่ประกอบด้วยธาตุ 4 ขันธ์ 5 มีการดำรงชีวิตด้วยการอาศัยปัจจัย 4 และเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา
สำหรับภาพปริศนาธรรมในวันนี้ เป็นภาพที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรของชีวิต ที่เริ่มตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย และองค์ประกอบในตัวของชีวิต ได้แก่ ธาตุ 4, ขันธ์ 5, ปฏิจสมุปบาท 12, อายตนะภายนอก 6 และอายตนะภายใน 6, ไตรลักษณ์ เป็นต้น
สำหรับภาพปริศนาธรรมลำดับแรก เป็นภาพ 12 ช่อง ที่อยู่วงกลมรอบนอกสุด คือ หลักปฏิจสมุปบาท 12 ปฏิจจสมุปบาท เป็นชื่อพระธรรมหัวข้อหนึ่งในศาสนาพุทธ เรียกอีกอย่างว่า อิทัปปัจจยตา หรือ ปัจจยาการ เป็นหลักธรรมที่อธิบายถึงการเกิดขึ้นพร้อมแห่งธรรมทั้งหลายเพราะอาศัยกัน, การที่สิ่งทั้งหลายอาศัยกันจึงเกิดมีขึ้น เช่น ทุกข์เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย 12 เรื่องเกิดขึ้นสืบ ๆ เนื่องกันมาตามลำดับดังนี้ คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี
เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี
เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี
เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี
เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี
เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี
เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี
เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี
เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรามรณะจึงมี
ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี
ปฏิจจสมุปบาท ที่กล่าวในเบื้องต้น เรียกว่า อนุโลมเทศนา หากแสดงย้อนกลับจากปลายมาหาต้น จากผลไปหาเหตุปัจจัย เช่น ชรามรณะเป็นต้น มีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชาติมีเพราะภพเป็นปัจจัย ฯลฯ สังขารมีเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ดังนี้ เรียกว่า ปฏิโลมเทศนา
ส่วนภาพปริศนาส่วนที่สอง 5 ช่อง ในลำดับที่สองของวงกลมเข้าไป เป็นกิวัตรประจำวันของพระพุทธเจ้า 5 ประการ ได้กล่าวไว้ในภาพปริศนาภาพแรก (หากสงสัยย้อนกลับไปดูครับ)
สำหรับภาพปริศนาส่วนที่สาม วงกลมด้านในที่สาม เป็น 2 ช่องๆ ขาวกับดำ ช่องขาวคือกลางวัน และช่องดำคือกลางคืน ส่วนแต่ละช่องจะมีรูปคนที่เริ่มจากเกิด แก่ เจ็บ ตาย และ ช่องสีขาวเกี่ยวกับพุทธบริษัท 4 คือ อุบาสิกา อุบาสก แม่ชี หรือภิกษุณี และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อไขปริศนาธรรมจะได้ว่า
ส่วนช่องสีขาว มีรูป 4 คน หมายถึง ธาตุ 4 ในทางพระพุทธศาสนา กล่าวว่า ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย ธาตุ 4 ประการ หรือเรียกว่าธาตุกัมมัฏฐาน 4 ได้แก่
1. ปฐวีธาตุ ธาตุดิน (สิ่งที่มีสถานะเป็นของแข็งในร่างกาย เช่น ผิวหนัง ตา จมูก ปาก ลำไส้ ตับ ฯลฯ)
2. อาโปธาตุ ธาตุน้ำ (สิ่งที่มีสถานะเป็นของเหลวในร่างกาย เช่น โลหิต น้ำปัสสาวะ เหงื่อ ฯลฯ)
3. วาโยธาตุ ธาตุลม (สิ่งที่มีสถานะเป็นแก๊สหรือก๊าซในร่างกาย เช่น ลมหายใจ แก๊สในกระเพาะอาหาร ฯลฯ)
4. เตโชธาตุ ธาตุไฟ (อุณหภูมิของร่างกาย พลังงานในการเผาผลาญอาหาร ให้เราร้อนในกายและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย)
1
ส่วนช่องที่สอง สีดำ มีรูปคน 6 ระดับ หมายถึง อายตนะ 6 กล่าวคือ อายตนะ แปลว่า ที่เชื่อมต่อ, เครื่องติดต่อ หมายถึงสิ่งที่เป็นสื่อสำหรับติดต่อกัน ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น แบ่งเป็น 2 อย่างคือ
อายตนะภายใน หมายถึงสื่อเชื่อมต่อที่อยู่ในตัวคน บ้างเรียกว่า อินทรีย์ 6 มี 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดนี้เป็นที่เชื่อมต่อกับอายตนะภายนอกอายตนะภายนอก หมายถึงสื่อเชื่อมต่อที่อยู่นอกตัวคน บ้างเรียกว่า อารมณ์ 6 มี 6 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้งหมดนี้เป็นคู่กับอายตนภายใน เช่น รูปคู่กับตา หูคู่กับเสียง เป็นต้น
อายตนะภายนอกนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อารมณ์ เมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า สัมผัส รู้ว่ามีการเห็น เรียกว่าวิญญาณ เกิดความรู้สึกขึ้นเมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า เวทนา
ส่วนวงกลมด้นในสุด หรือตรงกลางเป็นภาพสัตว์สามชนิด ที่หมายถึงกำเนิดของพระพุทธเจ้าทั้งสามพระองค์ที่ผ่สนมาใน 5 พระองค์ ปัจจุบันเป็นองค์ที่ 4 มีอายุ 5000 ปี ตอนนี้มาแล้วเกินครึ่งหนึ่ง คือ 2563 ปีแล้ว มีขยายความในปริศนาธรรมภาพแรก (หากสงสัยย้อนกลับไปอ่านดู)
ส่วนรูปหัวกะโหลก 5 หัว หมายถึง ขันธ์ 5 กล่าวคือ ขันธ์ แปลว่า ตัว, หมู่, กอง, พวก, หมวด ในทางพุทธศาสนาหมายถึงส่วนหนึ่งๆ ของรูปกับนามที่แยกออกเป็น 5 กอง คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่า ขันธ์ 5 หรือขันธ์ทั้ง 5
รูป เป็นสภาพไม่รู้ รูปมีทั้งหมดมี 28 รูป มหาภูตรูป 4 มี ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ เตโชธาตุ ที่เหลือเป็น อุปาทยรูป 24 รูปเวทนา เป็นเวทนาเจตสิก เป็นความรู้สึก มี 5 ได้แก่ ทุกข์ สุข เกิดให้จิตรู้ได้ทางกาย โสมมนัส โทมนัส อุเบกขา เกิดให้จิตรู้ได้ทางใจสัญญา เป็นสัญญาเจตสิก เป็นความจำได้หมายรู้ ได้แก่ จำสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา รับและรู้สึกนั้นๆได้ทางใจสังขาร เป็นเจตสิก 50 ประเภท ปรุงแต่งจิตให้เป็นจิตหลากหลายวิญญาณ เป็นจิตทั้งหมด เป็นสภาพรับรู้ ได้แก่ ระบบรับรู้สิ่งนั้นๆในปัจจุบัน ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ขันธ์นี้ รูปจัดเป็นรูปธรรม เวทนา,สัญญา,สังขาร,วิญญาณจัดเป็นนามธรรม เมื่อจัดขันธ์เข้าในปรมัตถธรรม และวิญญาณขันธ์ จัดเข้าในจิตเวทนาขันธ์ ,สัญญาขันธ์ ,สังขารขันธ์ จัดเข้าในเจตสิกรูปขันธ์ จัดเข้าในรูปการหมดเหตุปัจจัยของนามรูป จัดเข้าในนิพพานขันธ์ 5 จัดเข้าในไตรลักษณ์
และภาพตาสามดวง หมายถึง ไตรลักษณ์ กล่าวคือ ไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ หมายถึงสามัญลักษณะ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อันได้แก่ อนิจจลักษณะ ลักษณะไม่เที่ยง มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขลักษณะ ลักษณะทนอยู่ตลอดไปไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตลักษณะ ลักษณะไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา ความมิใช่ตัวตน เป็นต้น
สำหรับปากยักษ์ หมายถึง ความตาย ที่มีช่องเข้าไปทางเดียว ที่พร้อมกลืนกินชีวิตของทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน ขอให้มีความสุขในธรรม ด้วยความปรารถนาดี ....ฝากกด like และฝากกด share ด้วยนะครับ
สุขสวัสดี
โฆษณา