23 พ.ย. 2020 เวลา 10:09 • นิยาย เรื่องสั้น
“ตะกร้าหวายกับถ้วยแกง”
.เด็กน้อยที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กับน้องสาวหัวปีท้ายปี มักจะหยิบตะกร้ามารอทุกครั้งที่แม่เตรียมยกหม้อแกงลงจากเตา เหมือนทุกเย็นที่ผ่านมา..
“ไปหยิบถ้วยมาลูก” แม่ว่า พรางหยิบทัพพีเตรียมตักแกงหน่อไม้ใส่แมงระงำ(ตัวอ่อนแมลงปอ) เด็กน้อยคว้าถ้ายตราไก่ที่วางคว่ำเรียงเป็นแถวบนตู้ไม้เก่าๆ มาคนละใบ
แม่ตักแกงร้อนๆ ใส่ถ้วยวางลงในตะกร้าหวายของเด็กหญิง “เอาไปส่งบ้านแม่รีนะ” เธอกำชับ “ถ้วยนี้เอาไปส่งบ้านพ่อป่อง” ลูกชายพยักหน้า “ครับ”..
พี่ชายกับน้องสาวคว้าตะกร้าหวายตั้งท่าจะวิ่ง แต่ต้องชะงักหยุดแล้วค่อยๆ ย่องลงเรือน เพราะผู้เป็นแม่มองเขม็ง “ประเดี๋ยวถ้วยแกงก็คว่ำเอา ค่อยๆ เดินสิลูก” เธอตะโกนตามหลัง
พ่อป่องและแม่รี คือเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ไม่ได้มีเพียงแค่บ้าน 2 หลังนี้เท่านั้น ที่พี่ชายกับน้องสาวตัวเล็กวิ่งส่งแกงเพื่อแบ่งปันมื้อเย็นให้กับเพื่อนบ้าน “อย่าฟ้าว(รีบ)ไป มาเอานี่ไปให้แม่มึงนำ(ด้วย)” พ่อป่องกวักมือเรียก เมื่อเด็กน้อยคว้าตะกร้ากำลังจะลงเรือน
เมื่อพ่อป่องเพื่อนบ้านตักแกงแทบจะล้นถ้วยใส่ลงตะกร้าให้เรียบร้อยแล้ว เด็กน้อยก็ไม่ลืมที่จะไปรอน้องสาวหน้าเรือนแม่รีเพื่อกลับบ้านด้วยกัน
ไม่ได้มีเพียงแค่สองหลังนี้เท่านั้น ที่ผมกับน้องสาววิ่งส่งแกงในมื้อค่ำ และก็ไม่ได้มีแค่ครอบครัวของเราที่ทำแบบนี้ ต่อให้ค่ำนี้กับข้าวเราไม่ได้มีพอจะแบ่ง เรือนหลังอื่นก็ส่งให้เราด้วยน้ำใจ จนล่วงวัยเด็กไม่นานนัก ที่ผมเล่ามาข้างบนก็หายไป ด้วยคนเยอะขึ้น จากหมู่บ้านเล็กๆ ไม่กี่สิบหลังคาเรือนก็กลายเป็นหลายร้อยหลังคา
ผมไม่เคยมองว่าน้ำใจในการแบ่งปันหรือความเอื้ออาทรต่อกันของหมู่คนไทยมันจะหายไปทั้งหมด เพียงแต่มันมีโมเมนต์และบริบทที่ต่างไป ผมแค่อดคิดถึงไม่ได้เท่านั้นเองครับ “ตะกร้าหวายกับถ้วยแกง” ที่มันทำให้เราเห็นคำว่า “ปลาโตเดียวกินเบิดบ้าน(ปลาตัวเดียวกันทั้งหมู่บ้าน)” มันเป็นจริง
ท้ายที่สุดของเรื่องเล่านี้ มันจะปนคำอธิษฐานของผมว่า
“เอื้ออาทรต่อกันนะคนไทย ร่วมกันคิดรวมกันฝ่า แบ่งปันกัน”
โฆษณา