25 ม.ค. 2020 เวลา 01:45 • การเมือง
วันที่ 24 มกราคม 2563 ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายสนับสนุนข้อสังเกตของรายงานการพิจารณาเพื่อศึกษาเรื่องปัญหาและผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562
ในเบื้องต้น ศิริกัญญาเห็นด้วยกับหลักการของ พ.ร.บ. นี้ และเห็นด้วยกับการขยายฐานภาษีแบบเดิมที่เก็บจากรายได้และการค้า ควรจะต้องเก็บภาษีจากทรัพย์สินซึ่งเป็นตัวสะท้อนความมั่งคั่งของประชาชนในประเทศ ถ้าสามารถสะสมความมั่งคั่งได้ ก็สามารถจะจ่ายภาษีในส่วนนี้ได้ แต่ก็กังวลเช่นกันว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นตัวการทำลายความฝันที่เราจะเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สินได้มากขึ้น ขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น เหตุเพราะกฎหมายยังไม่ครอบคลุมไม่รอบคอบมากพอ อีกปัญหาหนึ่งคือ การนำกฎหมายไปปฏิบัติจริง ถ้าไม่พูดวันนี้ก็อาจจะวนสู่ปัญหาเดิมได้ โดยวัตถุประสงค์ ภาษีที่ดินสามารถสร้างรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถช่วยปรับปรุงภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีท้องที่ ให้ทันสมัยมากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สิน เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน ไม่ใช่ปล่อยให้รกร้างไร้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ศิริกัญญากล่าวว่า ภาษีที่ดินไม่ใช่ยาสารพัดโรคที่ตอบทุกๆ จุดประสงค์เหล่านี้ได้ และความพยายามที่จะตอบทั้งหมดนี้ จะนำไปสู่ความล้มเหลว และเริ่มต้นโดยการกล่าวถึง การนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติจริง พุ่งเป้าไปที่เจ้าภาพ พ.ร.บ. นี้ นั่นคือ กระทรวงเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังฯ เป็นหน่วยงานที่มีความรู้ความสามารถมาก ถือเป็นคลังสมอง เป็นแหล่งวิชาการของกระทรวงการคลังแต่กระทรวงดังกล่าวก็ไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรงกับการเก็บภาษี ไม่เคยสัมผัสโดยตรงกับผู้เสียภาษี ไม่เคยมีสำนักงานส่วนภูมิภาค ทีมงานก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ไม่ใช่นักกฎหมายหรือนิติกร ข้อเสนอคือ ก่อนที่จะปรับปรุงหรือยกร่างใหม่ ต้องมีการตั้งหน่วยทำงานเฉพาะกิจที่มีประสบการณ์การเก็บภาษี อาทิ สรรพากร กรมธนารักษ์ กรมที่ดิน เพื่อทำให้หน่วยงานนี้สามารถทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ กฎเกณฑ์การเก็บภาษีก็จะต้องง่ายที่สุด ไม่เกิดเป็นภาระต้นทุนกับทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบและกับประชาชนผู้เสียภาษี การจัดเก็บฐานภาษีใหม่ๆ ต้องมาพร้อมกับการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอีกจำนวนมาก ข้อมูลที่ส่งให้ อปท. ต่างๆ พบว่า ไม่มีการอัพเดท ขาดรายละเอียด ทำให้ อปท. ประสบปัญหาหนักหนาสาหัสในการหาข้อมูลชุดที่มีความเป็นปัจจุบันจริงๆ การสำรวจและประเมินมูลค่าที่ดินจึงเป็นไปอย่างยากลำบาก อปท. ไม่มีศักยภาพมากพอที่จะทำการสำรวจทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า กระทรวงการคลังฯ ประเมินว่า อปท. จะเก็บได้ 4 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากเดิมเล็กน้อยราว 7 พันล้านบาท แต่ที่ขาดหายไปคือ การประเมินผลกระทบผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งสมควรกระทำทุกครั้งเมื่อใดก็ตามที่ออกกฎหมายใหม่ ในการนี้ ผลกระทบที่สำคัญคือ รายได้ อปท. การที่สำนักงานกระทรวงการคลังฯ ว่า อปท. แต่ละแห่งนั้นจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง หมายความว่า 4 ปีที่ใช้ในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2558 – 2562 ไม่ได้มีการพิจารณาถึงผลกระทบ ละเลยมาตรการการเยียวยา และแก้ปัญหาผลกระทบในเรื่องนี้ “ไม่ว่าสุดท้ายแล้ว คณะกรรมการการกระจายอำนาจจะสามารถจัดสรรงบประมาณชดเชยให้กับ อปท. ให้ทันกับปีงบประมาณนี้หรือไม่ แต่ปัญหาคือ ‘เราจะต้องชดเชยแบบนี้ไม่ถึงเมื่อไหร่ รัฐบาลจะมีเงินเพียงพอหรือไม่’ จากเดิมที่ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ที่เป็นรายได้หลักของ อปท. และมีอำนาจมีอิสระเต็มที่ที่จะนำไปใช้กับอะไรก็ได้ มาถึงวันนี้ ถ้าจะต้องกลับไปแบมือขอเงินจากรัฐบาลนั้น เรายังเป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจหรือไม่” ข้อเสนอของศิริกัญญาในฐานะตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ คือ เมื่อใดก็ตามที่กฎหมายจะไปกระทบรายได้ของ อปท. ควรจะต้องมีตัวบทกฎหมายอื่นๆ ที่ให้อำนาจ อปท. สามารถจัดเก็บภาษีตัวใหม่ๆ เพื่อมาทดแทนรายได้ที่จะหายไป อปท. ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่า บริษัทเอกชนที่มีภาระภาษีน้อยลงจากร่าง พ.ร.บ. ใหม่นี้ มีบริษัทใดบ้างที่มีความสามารถที่จะจ่ายอยู่แล้วทุกปีและจ่ายในอัตราที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้องมีการพูดถึงการอนุญาตให้ อปท. สามารถจัดหารายได้จากภาษีตัวใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานที่ดิน ข้อเสนอของศิริกัญญาคือ ที่ดินรกร้างที่ต้องการการลดหย่อนจากภาษีที่ดินก็ควรที่จะเปิดใช้ ให้สาธารณะได้เข้าไปใช้ประโยชน์ ได้ทำให้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นพื้นที่ที่เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ แบบนี้จึงจะสมควรได้รับการลดหย่อน ไม่ใช่นำมาลดหย่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ภาษี “โดยสรุป การลดความเหลื่อมล้ำ ถ้าจะลดได้จริง การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สิน ต้องจัดเก็บบนฐานของมูลค่ารวมของที่ดินทุกแปลงที่บุคคลนั้นถือครอง ไม่ใช่จัดเก็บเป็นรายแปลง และต้องจัดเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า ที่สำคัญ ถ้าหากต้องการลดความเหลื่อมล้ำ จำเป็นต้องดูฝั่งกระจายรายได้ด้วยเช่นกันว่า ถ้าจัดเก็บแล้ว สามารถเป็นการเพิ่มรายได้ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือไม่? หรือจะเป็นเพียงการทำโครงการเพื่อเอื้อต่อเอกชนรายใหญ่ดังที่ผ่านมา”
.
#อนาคตใหม่ #พรรคอนาคตใหม่ #FutureForwardParty #FWPthailand
#อย่ากลัวอนาคต #อนาคตเรา #เปลี่ยนปัจจุบัน #เปลี่ยนอนาคต
โฆษณา