Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Jamez Shengzu 聖祖
•
ติดตาม
25 ม.ค. 2020 เวลา 03:35 • ประวัติศาสตร์
เรื่องของ…ชุดกี่เพ้า
กี่เพ้า (旗袍) หรือที่เรียกกันในภาษาจีนแมนดาริน (จีนกลาง) ว่า “ฉีผาว”
มีความหมายว่า เสื้อคลุมยาวของชาวธง โดย ‘ฉี แปลว่า ธง’ และ ‘ผาว แปลว่า ชุดคลุมยาว’ ในอดีตนั้นเป็นชุดของทั้งชายและหญิง มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงราชวงศ์โฮ่วจิน ไทม์ไลน์หลักนั้นคือปลายราชวงศ์หมิง ในยุคที่ชาวจูรเซินหรือชนเผ่าแมนจูยังไม่ได้ปกครองจักรวรรดิจีน แล้วต่อเนื่องเรื่อยมาถึงสมัยราชวงศ์ชิง ชุดกี่เพ้าเป็นเสื้อคลุมของชาวกองธงแห่ง “กองทัพ 8 กองธง”
กี่เพ้า เป็นงานตัดเย็บที่หล่อหลอมศิลปะหลายเทคนิคเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคอำพรางจุดด้อยบนเรือนกาย หัตถกรรมปักลวดลาย ภาพนกและดอกไม้ บางลายก็สะท้อนวัฒนธรรมความเชื่อถึงความสิริมงคล อาทิ ลายดอกโบตั๋น สื่อถึงโชคลาภและความยุติธรรม ลายดอกเหมย ซึ่งเป็นราชินีแห่งดอกไม้เหมันต์ (ฤดูหนาว) สื่อถึงอายุที่ยืนยาว และยังมีบางลวดลายที่สงวนเฉพาะในราชสำนักเท่านั้น เช่น ลายมังกร 5 เล็บ แสดงฐานันดรไท่จื่อ (องค์ชายรัชทายาท) มังกร 9 เล็บ สำหรับองค์จักรพรรดิและจักรพรรดินี (ฮองเฮา)
วิวัฒนาการของชุดกี่เพ้า
1. อาณาจักรต้าจินและจักรวรรดิต้าชิง ( ค.ศ. 1616 - ค.ศ. 1912 )
ชาวแมนจูอยู่ในสถานะ ‘ชนชั้นสูงทางสังคม’ และอยู่เหนือกว่าชาวฮั่นที่เป็นเจ้าของแผ่นดินจีนภาคกลาง ในบรรดากุลสตรีแมนจูจะสวมใส่เสื้อที่ค่อนข้างหลวม ตรง ใหญ่ กว้างและยาวถึงเท้า ด้านหน้าเสื้อและขอบแขนใช้ผ้ากุ๊นขอบ ซึ่งก็คือ ผ้าที่นำมาเย็บหุ้มนั่นเองครับ สำหรับเนื้อผ้าจะใช้ผ้าต่วนที่มีลายปักบริเวณปกคอ
กาลต่อมา ชาวฮั่นภายใต้การปกครองก็ทำการดัดแปลง พัฒนาให้เป็นรูปแบบเฉพาะ ปกปิดแต่เปิดเผย นี่คือเอกลักษณ์สำคัญ แฝงเสน่ห์ความเป็นสตรี เน้นทรวดทรงทั้งเอว สะโพก หน้าอก รวมถึงเรียวขา บ่งบอกถึงค่านิยมการเอาใจใส่ดูแลรูปร่างหุ่นของชาวจีน
ชุดกี่เพ้ารุ่งเรืองอย่างขีดสุดในรัชกาล คัง-ยง-เฉียน (คังซี ยงเจิ้ง เฉียนหลง) ซึ่งเป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของต้าชิง
2. สาธารณรัฐจีน ( ค.ศ. 1912 - ค.ศ. 1949 )
ตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิง ชุดกี่เพ้ามีการผสมผสานสไตล์กับชุดฮั่นฝูของชาวฮั่น แขนของเสื้อจะมีลักษณะที่สั้นลง ขอบกุ๊นก็เล็กลงด้วยเช่นกัน
พอสิ้นสุดระบอบจักรพรรดิในแผ่นดินจีน ชุดกี่เพ้าของแมนจูก็ได้รับการดูแคลน เพราะถือเป็นมรดกของพวกต่างเผ่าพันธุ์ต่างภาษา อย่างไรก็ตาม ก็มีกลุ่มนักศึกษาชาวฮั่นแถวซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) นำชุดกี่เพ้านี้นำมาปัดฝุ่นเสียใหม่ ทำให้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง นอกจากนั้น การแต่งกายของชาวจีนได้รับอิทธิพลแฟชั่นจากตะวันตกและอเมริกัน รูปแบบจึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ มีการดัดแปลงให้เข้ารูปกับสรีระของสตรี ใช้ปกคอสูง แขนเสื้อยาวจนเลยข้อมือ ชุดยาวจนชายกระโปงทั้งหน้า-หลังยาวลากพื้นไปเลย ทั้งยังสามารถเห็นส่วนเว้าโค้งของผู้หญิงได้มากขึ้นอีกด้วย
ต่อมาในทศวรรษ 1930 นิยมคอปกต่ำ กระทั่งเกิดชุดกี่เพ้าแบบโมเดิร์นที่ไร้ปก เรียกว่า “ชุดแห่งอารยธรรมใหม่” นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนแปลงสไตล์ชุดให้แขนเสื้อสั้นจนเห็นศอกได้ ส่วนความยาวก็เปลี่ยนให้เป็นสั้นจนเหนือเข่า
มีการรับอิทธิพลกระโปรงสั้นสไตล์ยุโรป เกิดชุดกี่เพ้าแบบใหม่ ‘ชุดนักเรียน’ เน้นการกระชับเข้ารูป เป็นที่แพร่หลายในหมู่เยาวชน
ปี ค.ศ. 1935 สาวจีนหันมานิยมกี่เพ้าที่ยาวคลุมถึงเท้ามิดชิด เรียกว่า ‘กี่เพ้ารุ่นกวาดพื้น’ ผ่าข้างต่ำลงอยู่ใต้หัวเข่า
3. สาธารณรัฐประชาชนจีน ( ค.ศ. 1949 - ปัจจุบัน )
ตั้งแต่ทศวรรษ 1940 หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมโดยจีนแดง ชุดกี่เพ้าเน้นฟังก์ชันความสะดวกสบายในการสวมใส่ ลดความยาวชุด เปลี่ยนเป็นเสื้อแขนกุด ทั้งยังลดระดับความสูงของปกอีกด้วย ถือเป็นแบบฉบับของชุดกี่เพ้าที่ใช้กันถึงทุกวันนี้ และชุดกี่เพ้าก็กลายเป็นชุดประจำชาติของจีนที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ชาวจูรเซินบุกเบิกแผ่นดิน เข้ายึดจักรวรรดิแล้วสถาปนาราชวงศ์ชิง เป็นเวลากว่า 400 ปี
ในปี ค.ศ. 1960 ดาราหญิงฮ่องกง “Nancy Kwan” สวมกี่เพ้าแสดงภาพยนตร์ เรื่อง “The World of Suzie Wong” นำแสดงคู่กับ “William Holden” ภาพยนตร์ที่โด่งดังไปทั่วอังกฤษและอเมริกา ส่งผลให้กี่เพ้าได้รับการนิยมในโลกฝั่งตะวันตก
ชุดกี่เพ้าของแมนจู ผ่านการต่อต้านของชาวฮั่นอย่างมีศิลปะ ดัดแปลงที่ช่วยให้รูปร่างผู้สวมใส่ดูสมส่วน ปกที่เสริมใบหน้าให้เด่นและคอที่เรียวขึ้น ผิวพรรณถูกซ่อนไว้ใต้ผืนผ้า ไม่ต้องกังวลเรื่องผิวเสียหมองคล้ำ
ในยุคโลกาภิวัฒน์ มีดีไซน์เนอร์ระดับโลกมากมาย เช่น แบรนด์ Versace , Ralph Lauren ออกแบบชุดกี่เพ้าสไตล์เอเชียคลาสสิคให้มีการผสมผสานกับแฟชั่นอินเทรนด์ ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะและทรงคุณค่าต่อการรักษาต่อไป
ด้วยความเรียบง่าย ไม่โป๊เปลือยแต่ก็เซ็กซี่ ทั้งที่มิดชิดแต่สามารถ imagine ถึงโค้งเว้าอันอ้อนแอ้น ผ่าข้างให้เห็นเป็นบางจังหวะ สายตาหนุ่มๆ ก็เผลอชำเลืองมอง กลายเป็นมนต์สเน่ห์ของชุดกี่เพ้าในยุคสมัยนี้นั่นเองครับ
Nancy Kwan สวมชุดฉีผาวในภาพยนตร์ The World of Suzie Wong (1960)
เจมส์ เซิ่งจู่
แฟนพันธุ์แท้ ราชวงศ์จีน 2013
1 บันทึก
1
1
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย