25 ม.ค. 2020 เวลา 06:00 • การศึกษา
กำเนิด "หนังเสียง"
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1927 ได้มีการเปิดฉายภาพยนตร์เรื่อง The Jazz singer รอบปฐมทัศน์ ซึ่งปรากฎว่าได้กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีผู้รอคอยชมอย่างล้นหลามเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา ขนาดมีผู้ต่อคิวรอซื้อบัตรเข้าชมภาพยนตร์เรื่องนี้กันยาวเหยียดดังรูป จากเงินทุนในการสร้างที่ลงไปถึง 4.2 แสนดอลลาร์ (ถือว่าเยอะมากในยุคนั้น) แต่ปรากฎว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถทำรายได้เฉพาะในอเมริกาประเทศเดียว 3.9 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่าต้นทุนเกือบสิบเท่า
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานอำนวยการสร้างของดาริล ซานุค (Darryl Zanuck) และจัดฉายโดยบริษัทวอร์เนอร์ เนื้อเรื่องดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของแจคกี ราบินโนวิทช์ (Jakie Rabinowitz) หรือ แจ๊ค โรบิน อดีตนักร้องเพลงแจ๊ซชาวอเมริกาผิวสีเชื้อสายยิว
ฟังดูแล้วเนื้อหาของเรื่องก็ไม่น่าที่จะทำให้คนดูรู้สีกตื่นเต้นสนใจอยากดูกันมากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ทำให้คนดูสนใจอย่างแท้จริงก็คือ ได้มีการโฆษณากันว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความพิเศษกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่นใดในยุคนั้นก็คือ นี่จะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่มีการนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า วิตาโฟน (Vitaphone) มาใช้ ซึ่งจะทำให้ผู้ชมได้ยินบทสนทนาและดนตรีรวมถึงเพลงประกอบหนังด้วย ซึ่งทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยอมรับกันว่า เป็นภาพยนตร์ที่มีบทสนทนา (Talkie) หรือภาพยนตร์ "เสียง" เรื่องแรกของโลก
ก่อนหน้ายุคของภาพยนตร์เสียง โลกของภาพยนตร์นั้นเป็นยุคของ "หนังเงียบ" (Silence film) คือมีแต่ภาพบนจอแต่ไม่มีเสียง หากต้องการให้คนดูไม่อึดอัดกับความเงียบ ทางโรงภาพยนตร์ก็จะต้องจ้างวงดนตรีมาแสดงประกอบ หรือใช้ผู้บรรยายมาช่วยบรรยายเหตุการณ์ในเรื่อง
อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีความพยายามจากผู้สร้างภาพยนตร์ที่จะหาวิธีการทำให้ภาพยนตร์มีเสียงประกอบให้ได้ จนกระทั่งมาประสบความสำเร็จในปี 1927 โดยระบบ Vitaphone นี้ จะใช้การอัดเสียงแยกต่างหากบันทึกไว้บนแผ่นเสียง เมื่อจะฉายก็นำแผ่นเสียงวางลงในเครื่องเล่น Vitaphone ซึ่งจะทำหน้าที่เล่นแผ่นเสียงออกมาให้ตรงกับภาพที่ปรากฎบนจอ
หลังจากความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง The Jazz singer แล้ว โลกก็เข้าสู่ยุคของ "หนังเสียง" อย่างเต็มตัว มีการผลิตภาพยนตร์ที่มีเสียงประกอบออกมาอย่างมากมาย ส่งผลทำให้ "หนังเงียบ" ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป ซึ่งนอกจากจะทำให้คนดูรู้สึกถึงความสมจริงมากขึ้นแล้ว โลกของหนังเสียงยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงภาพยนตร์ จากที่เคยต้องมีพื้นที่หลังฉากกว้างขวางสำหรับให้วงดนตรีมาแสดง ก็ตัดพื้นที่ส่วนนี้ลงไปได้ ทำให้มีพื้นที่ให้คนดูนั่งชมได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน การเกิดของหนังเสียง ก็ทำให้นักแสดงยุคเก่า ๆ ที่ประสบความสำเร็จในยุคหนังเงียบหลายคนต้องอำลาวงการไป เนื่องจากไม่สามารถใช้เสียงในการถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีเหมือนกับนักแสดงรุ่นใหม่ ๆ ที่เกิดมาพร้อมกับยุคหนังเสียงที่ได้รับการฝึกหัดในการใช้เสียงประกอบการแสดงมาตั้งแต่ต้น
อย่างไรก็ตาม ระบบเสียงแบบ Vitaphone ประสบความสำเร็จอยู่ได้ไม่กี่ปีก็ต้องล้มหายตายจากไป เมื่อพบกับคู่แข่งที่ดีกว่าอย่างระบบ Sound-on-film ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1932 ระบบนี้จะใช้การพิมพ์เส้นเสียง (soundtrack) ลงบนตัวฟิล์มภาพยนตร์ แล้วใช้แสงในการอ่านเส้นเสียงดังกล่าวแล้วแปลงเป็นเสียง ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องแจกแผ่นเสียงไปพร้อมกับฟิล์มภาพยนตร์แล้ว ยังช่วยให้เสียงกับภาพที่ปรากฎบนจอมีความกลมกลืนตรงกันมากขึ้นกว่าระบบเดิมอีกด้วย
โฆษณา