26 ม.ค. 2020 เวลา 06:09 • ข่าว
[UPDATE] โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 อู่ฮั่น 26 ม.ค. 2020
ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในจีน ออสเตรเลีย และไทย พบผู้ป่วยรายแรกในแคนาดา
ในจีนยอดผู้ติดเชื้อยืนยันเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 600 คนใกล้แตะ 2,000 ราย ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 56 คน
ในออสเตรเลียผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 4 ราย
ในไทยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 10 รายกระจายอยู่หลายโรงพยาบาล ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร มีสองรายอยู่ที่นครปฐมและหัวหิน ในจำนวนนี้มีคนไทย 2 คน
ทั้งหมดเดินทางมาจากจีนเข้าประเทศไทยก่อนที่จีนปิดสนามบินอู่ฮั่นวันที่ 23 มกราคม
ในจำนวนนี้ผู้ป่วย 3 รายหายดีและออกจากโรงพยาบาลแล้ว ขณะที่ผู้ป่วยจำนวน 1 รายมีอาการปอดบวมยังคงพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ยังไม่มีผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิต
สำหรับประเทศไทย มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันเป็นอันดับสองเป็นรองเพียงแค่จีนที่เป็นต้นตอของการระบาดครั้งนี้
พบผู้ติดเชื้อคนแรกในเมืองโตรอนโต แคนาดา โดยผู้ติดเชื้อมาจากอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม และเข้ารับการรักษาวันที่ 23 มกราคม
โคโรน่าไวรัสคืออะไร?
โคโรน่าไวรัสเป็น RNA* virus ชนิดหนึ่งที่สามารถก่อโรคในคนและสัตว์ ค่อนข้างจำเพาะต่อสปีชี่ส์*
ส่วนมากโคโรน่าไวรัสในสัตว์มักทำให้ท้องร่วง ขณะที่ในคนมักทำให้เป็นโรคทางระบบหายใจ
โคโรน่าไวรัสเป็นเชื้อทั่วไปที่ทำให้เกิดโรคหวัดในเด็ก มีเพียงสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์แล้วข้ามสปีชี่ส์มาจากสัตว์เท่านั้นที่รุนแรง และจะเรียกว่าเป็นโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่
สายพันธุ์ที่ระบาดในอดีต ได้แก่ SARS-CoV เมื่อปี 2002 ถึง 2003 คาดว่าเกิดจากการรับประทานสัตว์ป่าพวกชะมดหรือค้างคาว และ MERS-CoV ที่ยังคงระบาดจนถึงปัจจุบันจากการสัมผัสอูฐหรือดื่มน้ำนมอูฐดิบ
1
nCoV 2019 หรือโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 อู่ฮั่น นั้นเริ่มต้นจากตลาดขายอาหารทะเลแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย เริ่มแพร่ระบาดช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ได้แพร่ระบาดไปทั้งประเทศจีนและอีกกว่า 12 ประเทศทั่วโลก
โดยที่มาของเชื้อไวรัสยังไม่แน่ชัด สันนิษฐานว่ามาจากการสัมผัสค้างคาว
ค้างคาวประเทศไทยมีไหม?
ในประเทศไทย นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบเชื้อไวรัสหลากหลายสายพันธุ์และพบโคโรน่าไวรัสอยู่ในค้างคาวด้วย มีสายพันธุ์ KCP 9,12,15,31
สำหรับการรับประทานค้างคาวในประเทศไทยนั้นไม่นิยมแพร่หลายเหมือนที่จีน ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกา อีกทั้งยังผิดกฎหมายล่าสัตว์ป่า
1
ตลาดขายค้างคาว สุลาเวสี อินโดนีเซีย (from https://manonthelam.com/)
อย่างไรก็ตามการเก็บปุ๋ยขี้ค้างคาวในไทยนั้นแพร่หลายอย่างมากในภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อที่มนุษย์ยังไม่รู้จักและอาจก่อให้เกิดการระบาดครั้งใหม่ได้
การเก็บขี้ค้างคาว (bat guano mining) เป็นธุรกิจที่แพร่หลายในประเทศแถบอเมริกาใต้ และเอเชีย เนื่องจากปุ๋ยขี้ค้างคาวมีปริมาณไนโตรเจนสูงเหมาะกับการปลูกพืชหลายชนิด (from www.nanagarden.com)
เคยเกิดไหม?
เท่าที่ค้นเจอประเทศไทยยังไม่เคยเกิดเหตุจากค้างคาว แต่มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจในประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อปี 1998 เกิดเหตุการณ์ระบาดของนิปาห์ไวรัส (Nipah virus) ที่ทำให้เกิดโรคไข้เยื่อหุ้มสมองอักเสบและปอดบวมในประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านของเรา โดยมีที่มาจากค้างคาวแพร่เชื้อให้หมูในฟาร์มแล้วนำมาสู่คน จนมีคนตายร้อยกว่าคน
ในประเทศฟิลิปปินส์เมื่อปี 1989 อีโบล่าสายพันธุ์เรสตัน (Reston Ebola virus) ก่อให้เกิดโรครุนแรงในลิงแสม โดยเหตุเกิดที่ศูนย์ส่งออกลิงและเอป* สันนิษฐานว่าเชื้อมาจากค้างคาว
ประเทศนำเข้าลิงและเอปรายใหญ่คือประเทศสหรัฐอเมริกาโดยนำไปทำการวิจัยทางวิทยาศาสตร์
สำหรับมนุษย์ติดเชื้ออีโบล่าตัวนี้แต่ไม่ก่อให้เกิดโรค
*RNA เป็นสารพันธุกรรมชนิดหนึ่งเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการสร้างลูกหลานไวรัสและสร้างอาวุธโจมตีโฮสต์ (Host คือสิ่งมีชีวิตที่ไวรัสไปอาศัยอยู่)
*สปีชี่ส์ (Species) คือชนิดของสิ่งมีชีวิต มนุษย์เป็นสัตว์สปีชี่ส์หนึ่ง สุนัขเป็นสัตว์อีกสปีชี่ส์หนึ่ง สุนัขจิ้งจอกเป็นสิ่งมีชีวิตคนละสปีชี่ส์กับสุนัข
*เอป (Ape) ลิงไร้หางคล้ายมนุษย์ ได้แก่ชิมแพนซี อุรังอุตัง กอริลล่า ชะนี
โฆษณา