3 ก.พ. 2020 เวลา 08:45 • ประวัติศาสตร์
ย้อนรอย'ฝุ่นควันมรณะ'สะท้านโลก
.
.
ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 กำลังเป็นประเด็นร้อนไปทั่วโลก ประชากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น กิจกรรมและอุตสาหกรรมนับไม่ถ้วนของมนุษย์ล้วนแต่ผลิตมลพิษออกมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล กว่ามนุษย์จะเริ่มตระหนักถึงภัยเงียบนี้ ก็เกิดความเสียหายมาแล้วไม่ใช่น้อย ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับฝุ่นควันมรณะนี้มีที่มาอย่างไร มาร่วมกันหาคำตอบไปด้วยกันในบทความนี้
1.มลพิษครั้งแรกยุคโรมันโบราณ
.
ในยุคโบราณ ครั้งแรกที่เกิดอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษขนานใหญ่เกิดขึ้นในสมัยโรมันโบราณ (คริสตศตวรรษที่ 1 ถึง 6 ) เขตชนบทมีการเพาะปลูกและเลี้ยงปศุสัตว์เป็นพื้นที่กว้างขวาง เกิดแก๊สมีเทนในปริมาณมหาศาล ควันมลพิษในเขตเมืองปรากฏชัด ชาวโรมันทำอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หลายชนิด ทั้งโลหะหนัก เครื่องโลหะ เครื่องดินเผา กระจก การเผาถ่าน การเผาไหม้ในครัวเรือน
.
บันทึกชาวโรมันร่วมสมัยหลายฉบับบ่นถึงสภาพอากาศในกรุงโรมว่า มีเมฆหมอกปกคลุม พวกเขาบรรยายสภาพอากาศเช่นนี้ว่า ‘สวรรค์ลอยต่ำ’ (graviolis caeli) หรือ ‘อากาศอันย่ำแย่’ (infamis aer) แถมยังมีควันที่ปนมากับเขม่าขี้เถ้าและควันพิษ มีการสั่งห้ามร้านค้าปล่อยควันขึ้นไปในตัวอาคาร
.
ปี 535 จักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) ประกาศพระราชบัญญัติเพื่อรักษาสภาพอากาศ น้ำ และทะเลให้สะอาดบริสุทธิ์ เหตุการณ์นี้ถือเป็นมาตรการควบคุมมลพิษครั้งแรกของโลกก็ว่าได้
2.ควันถ่านหินในลอนดอนยุคกลาง
.
ช่วงศตวรรษที่ 13-14 สังคมเมืองกำลังขยายตัว กรุงลอนดอนมีผู้คนอาศัยหนาแน่นมากขึ้น มีการเผาถ่านหินในครัวเรือนในปริมาณมหาศาล พื้นที่ป่าไม้รอบลอนดอนถูกถางและเผาเพื่อขยายพื้นที่ผลิตถ่าน ถ่านหินราคาถูกที่ชาวบ้านนิยมใช้มีสารซัลเฟอร์สูง ฝุ่นควันสีเทาอมเหลืองจางไหม้คลุ้งไปทั่วลอนดอน
.
ในปี 1272 กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 (Edward I) จึงสั่งห้ามใช้ถ่านหินในเมือง ให้ใช้ถ่านไม้แทน แต่มันได้ผลเพียงชั่วคราว สุดท้ายผู้คนต่างทยอยกลับมาใช้ถ่านหินดังเดิม ต่อมาในสมัยเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ได้กำหนดบทลงโทษที่รุนแรงหรือเงินปรับสูงลิ่วสำหรับผู้เผาถ่านหิน ขณะที่ในสมัยกษัตริย์ริชาร์ดที่ 2 ได้ใช้มาตรการเก็บภาษีถ่านหินสูงขึ้นเพื่อจูงใจให้คนหันไปใช้ไม้แทน
3.ท้องฟ้าสีดำที่เพนซิลเวเนีย
.
วันที่ 27 ธันวาคม ปี 1948 ท้องฟ้าของเมืองโดโนรา (Donora) รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ที่เคยสว่างไสวกลับมืดมิด ปกคลุมไปด้วยควันเทาดำทะมึน ราวกับฉากภาพยนตร์สยองขวัญ เมืองเล็กๆ ที่มีประชากรราว 14,000 คน แห่งนี้ต้องตกอยู่ในความมืดไปอีก 5 วัน ผู้คนรายงานตรงกันว่า รู้สึกถึงอาการระคายเคือง แสบหลอดลม ตา จมูก เมื่อออกไปกลางแจ้ง
.
เมฆหมอกครึ้มนี้เกิดจากสารคาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และฝุ่นพิษโลหะ มีที่มาจากโรงงานถลุงเหล็กและโรงงานหล่อสังกะสีที่อยู่ใกล้เคียง ภายใน 5 วัน มีผู้เสียชีวิต 20 คน ส่วนผู้คนอีกหลายพันต่างลมป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง มีการฟ้องร้อง บริษัท American Steel and Wire ผู้เป็นเจ้าของโรงงานต้องจ่ายค่าชดเชยกว่า 4.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อมาในปี 1966 ทั้งสองโรงงานจึงได้ปิดตัวลง.
4.มหาควันพิษครั้งใหญ่แห่งลอนดอน ปี 1952
.
ต้นเดือนธันวาคม ปี 1952 ในลอนดอน เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า 'มหาควันพิษครั้งใหญ่แห่งลอนดอน ปี 1952' (The Great Smog of London 1952) ทั่วทั้งเมืองถูกปกคลุมด้วยหมอกหนาทึบสีเทาปนเหลืองตลอด 24 ชั่วโมง หลายจุดหมอกลงหนามากจนมองเห็นได้ในระยะเพียงไม่กี่เมตร ภายในอาคารหลายแห่งยังมีหมอกหลุดเข้าไปจนต้องปิดทำการ
.
สาเหตุมาจากการเผาถ่านหินโดยโรงไฟฟ้า และการเผาถ่านปริมาณมหาศาลเพื่อสร้างความอบอุ่นในฤดูหนาว ภายในไม่กี่วันมีผู้คนเสียชีวิตถึง 4,000 คน ล้มป่วยอีกราว 1 แสนราย หลังจากนั้นจำนวนผู้เสียชีวิตก็พุ่งขึ้นสูงถึง 12,000 คน ถือเป็นเหตุการณ์มลภาวะที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
.
แม้รัฐบาลจะดำเนินการล่าช้า แต่สุดท้ายได้ออกมาตรการ Clean Air Act ในปี 1956 มีการสั่งห้ามใช้ถ่านหินในหลายเขตของเมือง ประกาศตั้งเขตปลอดควันตามจุดต่างๆ และเสนอให้ประชาชนใช้แก๊ส น้ำมัน หรือไฟฟ้าสร้างความอบอุ่นแทน อากาศค่อยๆ ดีขึ้นทีละน้อย สุดท้ายก็ประสบผลสำเร็จ แม้จะใช้เวลาหลายปี
5.หมอกมรณะในจีน ปี 2013
.
ช่วงปลายปีหรือตั้งแต่ตุลาคม-ธันวาคม ปี 2013 อาจเป็นปีที่จีนเผชิญมลภาวะครั้งเลวร้ายที่สุด เมื่อดินแดนแถบซีกตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือของจีนต่างถูกปกคลุมไปด้วยหมอกควันหนา ไม่ว่าจะนครเซียงไฮ้ ปักกิ่ง หนานจิง เทียนจิน ฮาร์บิน เสิ่นหยาง และอีกหลายเมืองรวมกว่า 79 แห่ง จนถึงแถบมณฑลเหอเป่ย ชานตง เจียงซู อานฮุย เหอหนาน จี๋หลิน และเหลียวหนิง เป็นผลมาจากโรงงานอุตสาหกรรมและโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินที่ยังใช้กันในปริมาณมากในจีน
.
เมืองฮาร์บินทำลายสถิติระดับฝุ่น PM2.5 ซึ่งทะลุขึ้นสูงถึง 1,000 ไมโครกรัมต่อคิวบิกเมตร มีระยะมองเห็นได้ไม่เกิน 50 เมตร โรงเรียนกว่า 2 พันแห่งต้องหยุด เที่ยวบินทั้งหมดต้องหยุดไปตามกัน ทางหลวงต้องปิดการใช้งานในหลายเมือง ผู้คนจะไม่ออกไปนอกบ้านถ้าไม่จำเป็น
.
ในที่สุดลมหนาวจากทางเหนือได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นและพัดพาฝุ่นพิษออกไปจากตัวเมือง ปีต่อมารัฐบาลได้ประกาศ ‘สงครามกับมลพิษ’ สั่งปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินจำกัดหลายแห่ง ลดการใช้ถ่านหิน มีผลให้จำนวนฝุ่นควันพิษลดน้อยลงอย่างมาก
เรื่อง : อันโตนิโอ โฉมชา
ภาพประกอบ : เพ็ญนภา บุปผาเจริญสุข
.
.
อ้างอิง
#ฝุ่นควันพิษ #pm2.5 #ย้อนรอย #ประวัติศาสตร์ฝุ่นควันพิษ #มลพิษ #ปัญหาสิ่งแวดล้อม #gypzyworld
///////////////////
โฆษณา