30 ม.ค. 2020 เวลา 03:30 • ความคิดเห็น
ชีวิตของเรา เท่ากันจริงหรือ ?
วิเคราะห์เกมจริงจังกับภาคเสริมล่าสุด
ของ “Frostpunk: The Last Autumn”
ในปัจจุบันนี้ ชีวิตการทำงานทั่วไปนั้น อาจจะไม่ค่อยได้พบเจอกับกรณีนายจ้างปฏิบัติกับลูกจ้างอย่างไม่ยุติธรรมมากเท่าไหร่นัก
เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทย เรามีกฏหมายแรงงาน และกฏหมายอื่น ๆ คุ้มครองทั้งนายจ้าง และลูกจ้างในกรณีต่าง ๆ ค่อนข้างครบถ้วนแล้ว
Cr : ประชาไท
เคยคิดกันไหมครับว่า ก่อนที่ชีวิตการทำงานจะเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ที่เราทำงานแค่วันละ 8 ชั่วโมง มีวันพักให้ 2 วันต่อสัปดาห์ (โดยส่วนมาก) ประกันสังคม สวัสดิการต่าง ๆ
ในสมัยก่อน มีการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินมากมาย เพื่อที่จะได้มาซึ่งสิทธิของแรงงานอย่างในวันนี้
ภาคเสริมของ Frostpunk นี้จะพาคุณกลับไปในยุคเครื่องจักรไอน้ำ ที่จะมอบหน้าที่ให้ผู้เล่นอย่างคุณ
เป็นผู้ตัดสินใจในกรณีต่าง ๆ มากมาย ในการรับผิดชอบงานที่ ‘ต้องทำให้สำเร็จ ไม่งั้นตาย’
ตัวเกม Frostpunk นั้นเป็นเกมแนวจัดสรรทรัพยากร ที่มีการค้นหา เก็บรักษา และใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ได้งานออกมามากที่สุดเท่าที่จะได้
ผู้เล่นจะรับบทบาทจากทางรัฐบาลอังกฤษ ให้เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้าง ‘The Generator’ เครื่องทำความร้อนขนาดมหึมา ในดินแดนอันห่างไกล
The Generator
ทรัพยากร 'คน' ในเกมนี้ จะมี 2 ประเภทคือ วิศวกร และคนงาน
วิศวกร จะทำงานเช่น รักษาพยาบาล วิจัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เท่านั้น
ในส่วนของงานก่อสร้างทุกอย่าง จะเป็นหน้าที่ของคนงานทั่วไป
ในระหว่างที่เรากำลังจัดหาทรัพยากรต่าง ๆ และก่อสร้างอยู่นั้น เราก็พบว่า The Generator นี้มันต้องใช้ทั้งกำลังคนจำนวนมาก แถมยังเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายมาก ๆ อีกด้วย
เหล่าคนงานกว่าร้อยชีวิต ก็เริ่มมีความไม่พอใจขึ้นมาเนือง ๆ และเห็นว่า พวกวิศวกร ไม่เห็นจะต้องมาเสี่ยงตายทำงานหนัก ๆ แบบพวกเขา
สุดท้าย ความไม่พอใจนี้ก็ถึงจุดแตกหัก หลังจากที่มีวิศวกรคนหนึ่ง ไปคุกคามทางเพศคนงานหญิงในเขตก่อสร้างนี้ ทำให้เกิดการประท้วงของคนงานขึ้นมาอย่างรุนแรง
ผู้เล่นต้องตัดสินใจเลือกสักทางว่า จะเลือกที่จะดำเนินการก่อสร้างทางใด ระหว่างฝ่ายวิศวกร และฝ่ายแรงงาน
เกมจริงจัง เลือกเล่นฝ่ายแรงงาน (Workers)
ทำให้ผู้เล่นถูกบังคับให้จัดตั้ง Labour’s Union หรือสหภาพแรงงาน ขึ้นในเขตก่อสร้าง เพื่อคอยสอดส่อง รับเรื่องร้องเรียน เจรจาต่อรอง กับปัญหาที่แรงงานเจอ
หลังจากนั้น การก่อสร้างก็ตามมาด้วยอุปสรรค เช่น การขุดพบก๊าซพิษ ที่ทำให้ผู้เล่นต้อง ‘เจียด’ ทรัพยากรจำนวนหนึ่งออกมา สร้างเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยของคนงาน
เช่น การสร้างนั่งร้านชั่วคราว และการจำกัดชั่วโมงทำงานแค่ 8 ชั่วโมง จากเดิม 10 ชั่วโมง เป็นต้น
แน่นอนว่า การคำนึงถึงความปลอดภัยนั้น มีผลตามมาคือ ความล่าช้า
เพราะจำนวนชั่วโมงทำงานน้อยลง ทำให้งานก่อสร้างของ The Generator นั้นไม่ได้เป็นไปตามที่วางแผนไว้
ผลที่อาจจะตามมาคือ ‘คำเตือนจากทางการ’ ที่จะข่มขู่ผู้เล่นอยู่เสมอว่า เราทำงานช้ากว่าที่กำหนด
แต่ในความล่าช้า เราสามารถช่วยให้การทำงานของคนงานปลอดภัยมากขึ้นได้ ไม่ต้องเสี่ยงเสียชีวิตคนงานไปเปล่า ๆ
เมื่อสถานการณ์กดดันมากขึ้น เพราะวันส่งมอบงานก่อสร้าง The Generator ก็ใกล้เข้ามาเรื่อย ๆ
บวกกับทรัพยากร เช่น ไม้ เหล็ก เสบียง ก็ค่อย ๆ ร่อยหรอลงทุกที
นอกจากนี้ สภาพอากาศยังเลวร้ายลงทุกวัน อุณหภูมิต่ำลงจนติดลบ ทำให้สุขภาพของคนย่ำแย่ลงตามไปด้วย
หากเราเลือกที่จะให้งานก่อสร้างออกมาเสร็จเร็ว ย่อมต้องแลกมาด้วยชีวิตของคนงานมากมาย
หรือหากเราเลือกที่จะเป็นห่วงชีวิตของคนงาน ตัวเราเองนี่แหละ ที่จะตกอยู่ในอันตราย เพราะไม่สามารถส่งมอบงานก่อสร้าง The Generator ได้ทันเวลา
ในระหว่างการก่อสร้าง คนงานมักจะกดดันให้ผู้เล่น วางนโยบายให้เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายตัวเองอย่างสุดโต่งเสมอ
เช่น ให้พวกวิศวกรมาทำงานก่อสร้างให้เท่าเทียมกับแรงงานทั่วไป จัดตั้ง ‘ผู้คุม’ ที่จะคอยสอดส่องทุกคน โดยเฉพาะพวกวิศวกรเป็นการพิเศษ หรือสุดโต่งที่สุด ก็คือ ก่อสร้าง ‘ลานทรมาณ’ สำหรับใครที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสหภาพแรงงาน เป็นต้น
แม้ว่าเราเห็นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สุดโต่งเกินไป อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่เราปฏิเสธสหภาพแรงงาน จะยิ่งเป็นการเพิ่มความไม่พอใจของพวกเขาอีกด้วย
การก่อสร้าง The Generator ของเกมจริงจังเป็นไปด้วยความทุลักทุเล เพราะปัญหาที่กล่าวมาแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า เด็ดขาดบ้าง ประณีประนอมบ้าง ปะปนกันไป
ในที่สุด ‘ฤดูหนาว’ ก็ปะทะกับไซต์งานนี้อย่างเต็มตัว ทำให้แหล่งน้ำ ที่เคยหาอาหารได้ก็กลายเป็นน้ำแข็ง เสบียงที่มีอยู่ลดลงเรื่อย ๆ
ฤดูหนาว มาถึงอย่างโหดร้าย เป็นอุณหภูมิถึง -40 องศาเซลเซียส คนงานบางคนถึงกับต้องสังเวยชีวิตไปแบบไม่มีวันกลับ
ในที่สุด The Generator ก็ได้รับการก่อสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 42
รายงานไปถึงทางรัฐบาลอังกฤษแล้ว และจะส่งเรือมารับทุกคนกลับบ้าน ภายใน 72 ชั่วโมง
แต่แล้ว สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น คือ การไม่มีอาหารเลย 72 ชั่วโมงท่ามกลางอุณหภูมิติดลบนั้น เป็นอะไรที่โหดร้ายมาก
24 ชั่วโมงแรกของการรอคอย สหภาพแรงงานได้ทำการเสนอนโยบาย ‘กินเนื้อคน’ มาให้กับผู้เล่นเป็นนโยบายสุดท้าย
เป็นคุณ คุณจะเลือกอะไรครับ จะเลือกยอมเอาศพคนงานที่ตายไป มาทำอาหารประทังชีวิตมั้ยครับ ?
เกมจริงจัง ยอมรับข้อเสนอนี้กับทางสหภาพแรงงาน แน่นอนว่าทำให้ผู้คนเกิดความไม่พอใจอย่างมาก
แต่อย่างไรก็ดี 24 ชั่วโมงต่อมา แทบจะทุกคนในไซต์ก่อสร้างของผม ก็จำใจต้องกินเมนูหฤโหดนี้ เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง
ส่วนนี้ของเกม ทำให้ผมถึงกับนั่งนิ่ง ๆ ครุ่นคิดถึงสิ่งที่เกมกำลังนำเสนอให้ผม ..
ในที่สุด เรือจากรัฐบาลอังกฤษก็มารับพวกเราทุกคนกลับบ้านอย่างอิสรภาพ
เหลือไว้เพียง The Generator ท่ามกลางภูเขามากมาย ณ จุดที่เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้น
เมื่อจบเกม Frostpunk ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า
การสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ย่อมแลกมาด้วยการเสียสละ
เมื่อเราบรรลุเป้าหมายแล้ว ชีวิตที่เสียไปก็เอากลับคืนมาไม่ได้
แสดงว่า ชีวิตของเรา (ผู้เล่น) มีค่ามากกว่าชีวิตที่เหล่าคนงานที่ตายไปอย่างนั้นหรือ ?
Frostpunk ถือเป็นอีกหนึ่งเกมที่ได้รับเลือกว่าเป็นเป็นเกมที่มีเนื้อหาสะท้อนสังคม ทำให้เกิดขึ้นการพูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างดี
ภาคเสริมนี้ก็ถือว่า 11 Bit Studios ผู้พัฒนาเกมนั้น ทำได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว
สำหรับใครที่อยากลองเล่นเกมนี้ ก็สามารถซื้อได้ในร้านค้าทางการเลย ในราคาเพียง 379 บาทเท่านั้นครับ
พบกับเกมจริงจังได้ในตอนต่อไปครับ ^^
โฆษณา