31 ม.ค. 2020 เวลา 04:24 • การศึกษา
พอเพียงไม่ได้แปลว่าจน! 'เกษตรกรรม' หนทางใหม่ในการสร้างรายได้แบบยั่งยืน
หากพูดถึงคำว่าเกษตรกรรม หลายท่านอาจจะนึกถึงภาพของชาวนา ชาวสวน คุณลุง คุณป้า ที่เปียกโชกไปด้วยเม็ดเหงื่อแห่งการทำงานหนัก แต่เอาเข้าจริงแล้ว คำว่าเกษตรกรรมในปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร อาจจะเป็นคนหนุ่มสาว รุ่นใหม่ และอาจจะไม่ใช่เรื่องราวที่ยากลำบากหรือเหน็ดเหนื่อยอย่างที่เคยเข้าใจ
พอเป็นภาพของเกษตรกรรม ปัจจุบัน หลายฝ่ายมักจะเน้นย้ำไปที่การปลูกพืชที่หลากหลาย เพราะสามารถช่วยกระจายความเสี่ยงได้ และจัดการปัญหาเรื่องของราคาที่ผันผวน โรคระบาดได้อีกด้วย รวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยสร้างผลผลิตและรูปแบบของการเพาะปลูกอย่างมีประสิทธิภาพ มีการใช้แรงงานที่ลดลง ผลผลิตที่มากขึ้น และอาจลดต้นทุนไปได้อีกต่างหาก
ที่สำคัญในตอนนี้ องค์ความรู้หรือชุดความคิดในเรื่องต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เข้าถึงง่ายกว่าแต่ก่อนมาก ไม่ว่าจะเป็นการหาความรู้ ศึกษาผ่านโลกออนไลน์ หรือการเวิร์คชอปที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทั่วประเทศ เอาจริงแล้ว ไม่ใช่รายได้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงการยกระดับชีวิตในทุกมิติ เพราะความพอเพียงนั้นสอดคล้องกับความเป็นมิตรกับธรรมชาติ เพราะฉะนั้น สุขภาพของเราก็ดีขึ้นไปด้วย
เราเข้าใจดีว่า สำหรับคนเมือง หรือเด็กรุ่นใหม่ คำว่าเกษตรกรรมอาจจะไม่ได้มีเสน่ห์เย้ายวนหรือหอมหวานมากนัก แต่ถ้าหากเราลองมาสัมผัสและศึกษากับสิ่งเหล่านี้แล้ว เกษตรกรรม ไม่ได้เป็นเรื่องของคนต่างจังหวัด หรือความน่าเบื่อไปเสียทั้งหมด ที่สำคัญมันอาจจะเป็นทางออกที่ล้ำค่าและยั่งยืน ที่ใครบางคนกำลังตามหาอยู่ก็เป็นได้
หากเราย้อนไปติดตามข่าว เราจะเห็นเลยว่าคนรุ่นใหม่หลายท่านเริ่มหันมาทำเกษตรกรรมกันแล้ว บางคนจะพัฒนาจากพื้นที่ในเมือง แต่บางคนก็เลือกที่ออกไปอยู่ต่างจังหวัดและเริ่มพัฒนาความฝันตัวเองอย่างจริงจัง บางคนอาจจะเริ่มจากการทำเกษตรอินทรีย์ บางคนอาจจะมีแนวคิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ บางคนอาจช่ำชองเรื่องการตลาด หรือบางคนอาจชำนาญด้านวิศวกรรม
องค์ความรู้หรือความชำนาญที่แตกต่างกันสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ทั้งสิ้นการทำเกษตรไม่ได้เป็นเพียงการปลูกข้าวหรือการทำนา แต่มันกว้างกว่านั้นมาก หากมีนวัตกรรมทางความคิดที่มากพอ ความสร้างสรรค์จากชีวิต กับการแปรรูปอย่างชาญฉลาด เกษตรกรรมก็คือตัวเลือกธุรกิจที่ดีทางหนึ่งนั่นเอง
หากผนวกกับแนวคิดเศรษฐกิจที่เราคุ้นหู การทำเกษตรอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าเราทำอย่างเชื่อมั่น ศึกษาและเข้าใจ มันก็กลายเป็นหนทางสู่ความยั่งยืนได้อย่างไม่ยากเลย
เพราะพอเพียงไม่ได้หมายถึงความประหยัดอดออมแต่คำว่าพอเพียงเป็นเหมือนการสร้างความเข้มแข็ง การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับตัวบุคคลหรือองค์กรแต่ละองค์กรมากกว่า เป็นดั่งปรัชญาแนวคิดในการใช้ชีวิต เป็นความพอประมาณที่ไม่สุดโต่ง คิดวิเคราะห์ปัจจัยในการใช้ชีวิต มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ไม่โอนอ่อนไปตามกระแสสังคมที่ผลัดเปลี่ยน มีเหตุผลในการพิจารณาทุกการบริโภคอย่างเที่ยงแท้
อย่างราชาแห่งการลงทุนอย่าง Warren Buffet เอง ก็ไม่ได้แนะนำให้นักลงทุนรุ่นใหม่ออกไปเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงเกินพอดี เขาเน้นย้ำมาเสมอว่าควรลงทุน ในกองทุนรวมหุ้นประเภท Passive Index Fund ที่ถึงแม้จะให้ผลตอบแทนแบบกลาง ๆ แต่ก็เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ยอดเยี่ยมเช่นกัน
เห็นไหมล่ะครับ หากเราเรียนรู้อย่างตั้งใจ กล้าออกไปทำตามความฝัน เรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เราก็สามารถเปลี่ยนการเกษตรกรรมเป็นหนทางใหม่ในการสร้างรายได้แบบยั่งยืนได้จริง ๆ
เขียน: ชัยยะ ฤดีนิยมวุฒิ
ภาพ: พิสชา ธนวนิชนาม
รวบรวม : brand think
โฆษณา