31 ม.ค. 2020 เวลา 08:14
ไอน์สไตน์ กับ สตีเฟน ฮอว์คิง มีอะไรเหมือนหรือต่างกัน
ไอน์สไตน์ กับ สตีเฟน ฮอว์คิง มีอะไรเหมือนหรือต่างกัน
เคยได้รับคำถามจากหลายคนว่า สตีเฟน ฮอว์คิง (Stephen Hawking) เป็นนักฟิสิกส์เก่งที่สุดต่อจาก อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จริงหรือไม่ ? คำถามนี้ตอบยากเพราะคงต้องมีเกณฑ์วัดความเก่งที่ทุกคนยอมรับตรงกัน แต่หากถามว่า นักฟิสิกส์เยี่ยมยอดสองคนนี้มีแง่มุมใดบ้างที่เหมือนหรือต่างกัน ก็ตอบได้ง่ายกว่าเพราะมีหลักฐานยืนยันชัดเจน
เริ่มจากวัยเด็ก…อะไรหนอที่เป็นเหมือนแรงผลักดันให้สองคนนี้ค้นคว้าฟิสิกส์อย่างลึกซึ้ง ?
เมื่ออายุราว ๔-๕ ขวบ ช่วงที่ไอน์สไตน์นอนป่วยอยู่บนเตียง พ่อเขาซื้อเข็มทิศให้เป็นของขวัญ ไอน์สไตน์เล่าภายหลังว่า เขาตื่นเต้นมากจนตัวสั่นและเย็นเฉียบเมื่อได้เห็นพลังอันลี้ลับ การที่เข็มแม่เหล็กขยับได้ราวกับถูกควบคุมด้วยบางอย่างที่มองไม่เห็นนั้นเป็นสิ่งพิศวงซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนเขาตลอดชีวิต
ไอน์สไตน์เขียนว่า “ผมยังจำได้ดี หรืออย่างน้อยก็เชื่อว่าจำได้ ว่าประสบการณ์ครั้งนั้นประทับและตราตรึงอยู่ในใจผมมาตลอด มันต้องมีอะไรบางอย่างที่ซ่อนอยู่ลึกๆ เบื้องหลังสรรพสิ่งอย่างแน่นอน”
ส่วนฮอว์คิงเล่าว่า ตอนเด็กชอบรถไฟจำลอง พอถึงช่วงวัยรุ่น ชอบสร้างเครื่องบินและเรือจำลอง ที่น่าสนใจคือเขาชอบสร้างเกมเล่นกับเพื่อน เช่น เกมเกี่ยวกับระบบการผลิต เกมสงคราม เกมศักดินา และเป็นผู้ออกแบบกฎเกณฑ์การเล่น
ฮอว์คิงเขียนว่า “เป้าหมายที่ผมมีเสมอมาคือการสร้างแบบจำลองสักอย่างที่ควบคุมได้…ผมคิดว่าเกมเหล่านี้ รวมทั้งรถ เรือ และเครื่องบินของเล่น มาจากความต้องการของตัวเองที่อยากรู้ว่าระบบต่างๆ ทำงานอย่างไร และเราจะควบคุมระบบนั้นได้อย่างไร ตั้งแต่ผมเริ่มเรียนปริญญาเอก ความต้องการนี้ก็ได้รับการตอบสนองด้วยงานวิจัยด้านจักรวาลวิทยา ถ้าเราเข้าใจว่าเอกภพทำงานอย่างไร เราก็ควบคุมมันได้ในบางแง่มุม”
สองคนนี้มีผลการเรียนระดับมัธยมฯ เป็นอย่างไร ?
ไอน์สไตน์จบชั้นมัธยมฯ จากโรงเรียนในหมู่บ้านอาเรา (Aarau) สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๖ โดยคะแนนเป็นอันดับที่ ๒ ของห้อง วิชาที่ทำคะแนนดีเยี่ยม (เกรด ๖ ดีสุดตามระบบสวิส) ได้แก่ประวัติศาสตร์ พีชคณิต เรขาคณิตระนาบ เรขาคณิต และฟิสิกส์ วิชาที่คะแนนไม่ดีนัก ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส (เกรด ๓) สรุปคือ ความเชื่อที่ว่าไอน์สไตน์เรียนไม่เก่งเป็นมายาคติ
ส่วนฮอว์คิงเรียนที่โรงเรียนเซนต์อัลบานส์ทางตอนเหนือของลอนดอน “ผมเป็นนักเรียนระดับปานกลางในชั้น (นักเรียนในชั้นเดียวกันฉลาดมาก) การบ้านของผมเละมาก และลายมือก็ทำให้บรรดาครูบาอาจารย์พากันถอดใจ ทว่าเพื่อนร่วมชั้นให้สมญานามผมว่าไอน์สไตน์ นั่นน่าจะแปลว่าพวกเขาเห็นอะไรบางอย่างในตัวผมที่ครูมองไม่เห็น” เขาบอกเล่า
พฤติกรรมระหว่างเรียนมหาวิทยาลัยของทั้งคู่มีแง่มุมน่าสนใจอย่างไรบ้าง ?
ไอน์สไตน์เข้าเรียนที่ซูริกโพลีเทคนิคใน ค.ศ. ๑๘๙๖ เมื่ออายุ ๑๗ ปี เขาไม่ค่อยถูกโฉลกนักกับอาจารย์บางคน เช่น อาจารย์ไฮน์ริช เวเบอร์ ซึ่งเคยบอกเขาว่า “คุณเป็นเด็กฉลาดมาก ฉลาดหลักแหลมที่สุด แต่มีข้อเสียแย่มากอย่างหนึ่ง คุณไม่ยอมรับฟังอะไรจากใครเลย” ส่วนอาจารย์ชอง เปร์เน ซึ่งให้เกรด ๑ (ต่ำสุด) แก่ไอน์สไตน์ในวิชาการทดลองทางฟิสิกส์เบื้องต้น ก็เคยขอให้ผู้อำนวยการวิทยาลัย “ออกจดหมายตักเตือนไอน์สไตน์อย่างเป็นทางการ เรื่องการขาดความขยันหมั่นเพียรในการเรียนวิชาฟิสิกส์”
ถึงกระนั้นไอน์สไตน์ก็มักจะมีวิธีของตัวเอง ดังเช่นที่อาจารย์เปร์เนเคยถามผู้ช่วยว่า “คุณรู้ไหมว่าไอน์สไตน์เป็นคนอย่างไร ไม่ว่าผมจะสั่งให้ทำอะไร เขาจะขวางไปทำอีกอย่างทุกที” ผู้ช่วยก็ตอบกลับว่า “ไอน์สไตน์เป็นคนอย่างนั้นจริงๆ แต่คำตอบของเขาถูกต้อง และวิธีการที่ใช้ก็น่าสนใจมากทีเดียวนะครับ”
ด้านอาจารย์แฮร์มันน์ มิงคอฟสกี ซึ่งไอน์สไตน์ชอบเรียนกับท่านมากเพราะท่านเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับฟิสิกส์ แต่ไอน์สไตน์กลับชอบเลี่ยงวิชาที่ยากกว่า จนมิงคอฟสกีตั้งฉายาให้เขาว่า “เจ้าสุนัขสันหลังยาว” เนื่องจากไม่เคยสนใจเรียนวิชาคณิตศาสตร์เลย
ไอน์สไตน์เรียนจบในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ ด้วยเกรดเฉลี่ย ๔.๙ จาก ๖.๐ เพียงพอให้ได้รับปริญญาอย่างฉิวเฉียด และนับเป็นอันดับที่ ๔ จากทั้งหมดห้าคนในชั้น (วอลเทอร์ ไอแซกสัน เขียนล้อว่า “ไอน์สไตน์เรียนจบปริญญาตรีด้วยคะแนนเกือบบ๊วยของชั้น”)
ฮอว์คิงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดใน ค.ศ. ๑๙๕๙ ขณะอายุ ๑๗ ปี (เช่นเดียวกับไอน์สไตน์) เขาเขียนเล่าไว้ว่า “ทัศนคติของออกซฟอร์ดขณะนั้นต่อต้านความขยันขันแข็งอย่างมาก คุณควรจะฉลาดปราดเปรื่องโดยไม่ต้องขยัน หาไม่ก็ก้มหน้ายอมรับข้อจำกัดของตนและรับปริญญาอันดับที่ ๔ ไป”
ใครก็ตามที่ขยันเรียนอย่างหนักเพื่อให้ได้เกียรตินิยมอันดับดีๆ จะถูกเรียกด้วยคำดูแคลนที่สุดของชาวออกซฟอร์ดว่าเป็น “gray man” หรือ “มนุษย์สีเทา” อันเป็นการกระทบกระเทียบว่าขาดสีสัน ไร้ชีวิตชีวานั่นเอง คำคำนี้อาจแปลแสบๆ ว่า “ไอ้หงอก” ก็คงพอได้
มีเรื่องเล่าน่าสนใจว่า ตอนจบการศึกษาฮอว์คิงได้คะแนนคาบเกี่ยวระหว่างเกียรตินิยมอันดับ ๑ กับ ๒ จึงต้องสอบสัมภาษณ์เพื่อให้คณะกรรมการตัดสิน เขาเล่าว่า กรรมการถามเรื่องแผนการในอนาคต เขาตอบว่าต้องการทำงานวิจัยโดยที่ “หากได้รับปริญญาเกียรตินิยมอันดับ ๑ ผมจะไปต่อที่เคมบริดจ์ ถ้าได้อันดับ ๒ ผมจะอยู่ออกซฟอร์ดต่อ”
ปรากฏว่าอาจารย์ให้เกียรตินิยมอันดับ ๑ แก่เขา !
เรื่องนี้ เจน ฮอว์คิง ภรรยาคนแรก ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า การที่คณะกรรมการตัดสินใจเช่นนั้นก็คล้ายการส่งสายลับแบบม้าไม้เมืองทรอยเข้าไปในถิ่นของคู่อรินั่นเอง
ในตอนหน้าจะเปรียบเทียบแง่มุมอื่น ๆ ของนักฟิสิกส์ผู้โด่งดังทั้งสองคนนี้ต่อ ทั้งเรื่องชื่อเสียงและการปิ๊งแว้บของพวกเขา
ขอแนะนำหนังสืออ้างอิงสามเล่ม ได้แก่
ไอน์สไตน์ ชีวประวัติและจักรวาล (ฉบับสมบูรณ์) แปลจาก Einstein : His Life and Universe ของ วอลเตอร์ ไอแซคสัน โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ และคณะ สำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์,
ประวัติย่อของตัวผม (My Brief History by Stephen Hawking) แปลโดย รศ. ดร. บุรินทร์ กำจัดภัย และ นรา สุภัคโรจน์ สำนักพิมพ์มติชน,
สู่อนันตกาล ชีวิตฉัน และสตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง (Travelling to Infinity ของ เจน ฮอว์คิง) แปลโดย โคจร สมุทรโชติ สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์
ตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 353 พฤษภาคม 2558
โฆษณา