Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เภสัชกร [VATE] มีอะไรจะบอก
•
ติดตาม
31 ม.ค. 2020 เวลา 12:19 • ความคิดเห็น
บุคคลผู้ไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย
ขึ้นชื่อว่าความตายมีใครไม่กลัวบ้างไหมครับ เชื่อว่าหลายคนกลัวมาก พอได้ยินข่าวโรคระบาด หรือข่าวโจรปล้นทองที่ยิงคนทิ้งได้หน้าตาเฉย เราคงมีความหวาดวิตก สะดุ้งกลัวต่อความตายเป็นแน่แท้
แต่เชื่อไหมครับ มีบุคคลอยู่ 4 ประเภทที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น "บุคคลผู้ไม่สะดุ้งกลัวต่อความตาย" เรามาดูกันครับว่ามีแบบไหนบ้าง ถ้าเราไม่ใช่บุคคลใน 4 ประเภทนี้ การสะดุ้งกลัวต่อความตายก็เป็นเรื่องปกติครับ
1. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกามทั้งหลาย
คือเขาไม่มีความยินดีใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันน่ารัก น่าปรารถนา น่าพอใจในโลก เขาผู้ไม่ยินดีในสิ่งเหล่านี้ เมื่อมีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขาอยู่
เขาย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า กามทั้งหลายอันเป็นที่รักจะละเราไปเสียละหนอ และเราก็จะละกามอันเป็นที่รักไป
เมื่อเป็นดังนั้น เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล เพราะเขาไม่ยินดีในสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น
ดังนั้นเมื่อป่วยหนักใกล้ตาย เขาจะกลัวอะไร ?
ผิดกับพวกเราที่ยังเพลิดเพลินในกามคุณทั้งหลาย พอป่วยหนักใกล้ตายก็จะสะดุ้งกลัว เพราะยังอยากที่จะเห็นรูปที่สวยงาม ยังอยากที่จะได้ยินเสียงเพลงเพราะ ๆ หรือยังอยากที่จะได้กินอาหารอร่อย ๆ เป็นต้น
2. เป็นผู้ปราศจากความกำหนัด ปราศจากความพอใจ ปราศจากความรัก ปราศจากความกระหาย ปราศจากความเร่าร้อน ปราศจากความทะยานอยากในกาย
คือเขาไม่ได้ยินดีในกายนี้ ไม่คิดว่าร่างกายนี้เป็นของเขา คิดเพียงแต่ว่าก้อนกายนี้เกิดจากการรวมกันของธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่ใช่ของเราสักหน่อย เราจะไปยินดี รัก หวงแหน เพื่ออะไร ?
เขาผู้ไม่ยินดีในกายนี้ เมื่อมีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขาอยู่
เขาย่อมไม่มีความคิดอย่างนี้ว่า กายอันเป็นที่รักจะละเราไปเสียละหนอ และเราก็จะละกายอันเป็นที่รักนี้ไป
เมื่อเป็นดังนั้น เขาย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบาก ไม่ร่ำไร ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงใหล เพราะเขาไม่ยินดีในร่างกายนี้มาตั้งแต่ต้น
ดังนั้นเมื่อป่วยหนักใกล้ตาย เขาจะกลัวอะไร ?
ผิดกับพวกเราที่ยังเพลิดเพลินในร่างกายนี่อยู่ พอป่วยหนักใกล้ตายก็จะสะดุ้งกลัว เพราะกลัวว่าร่างกายนี่จะแตกทำลายไป ร่างกายอันสวยงามของเรากำลังจะหายไป เรารับไม่ได้หรอก เพราะเรายังยึดถือว่าร่างกายนี้เป็นเรา กายป่วยก็เหมือนเราป่วย กายเจ็บเราก็เจ็บ กายกำลังจะตาย เราก็กำลังจะตายไปกับกายนี้
3. เป็นผู้ไม่ได้กระทำบาป ไม่ได้ทำกรรมที่หยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำความดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้
คือเขาไม่เคยทำชั่วเลย ทำความดีไว้พร้อมมาก
เขาผู้ทำความดีไว้พร้อมขนาดนี้ เมื่อมีโรคหนักอย่างใดอย่างหนึ่งถูกต้องเขาอยู่
เขาย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ทำกรรมอันเป็นบาป ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง เป็นผู้ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้ คติของบุคคลผู้ไม่ได้ทำบาปไว้ ไม่ได้ทำกรรมหยาบช้า ไม่ได้ทำกรรมที่เศร้าหมอง ทำกรรมดีไว้ ทำกุศลไว้ ทำกรรมเครื่องป้องกันความกลัวไว้เพียงใด เราละไปแล้วจักไปสู่คตินั้น
ทำดีมาขนาดนี้ เมื่อป่วยหนักใกล้ตาย เขาจะกลัวอะไร ?
ผิดกับพวกเราที่ความดีนั้น ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง ส่วนความชั่วนั้นทำไว้เพียบเลย พอป่วยหนักใกล้ตายก็กลัวสิ กลัวตกนรก กลัวรับผลของวิบากกรรม บอกไว้เลยครับว่านรกน่ากลัวกว่าโคโรนาไวรัสเยอะ
4. เป็นผู้ไม่มีความสงสัย ไม่มีความเคลือบแคลงถึงความตกลงใจในพระสัทธรรม
คือเขาเป็นผู้ได้สดับในพระสัทธรรม มีความเชื่อมั่นในพระสัทธรรมอย่างมั่นคง ไม่หวั่นไหว ปราศจากความสงสัย เขาย่อมรู้ว่าเมื่อใดที่ได้การเกิดมาแล้ว ปลายทางคือการตาย ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา เขารู้อยู่อย่างนี้ เมื่อป่วยหนักใกล้ตาย เขาจะกลัวอะไร ?
1
ผิดกับพวกเราที่พระสัทธรรมยังไม่ตั้งมั่น ฟังธรรมบ้าง ไม่ฟังบ้าง เวลาไปฟังธรรมก็เหมือนคนนั่งฟังธรรมที่นำเมล็ดงาวางไว้บนตัก ขณะนั่งฟังธรรม เมล็ดงาไม่หล่นนะ ตั้งใจฟังอย่างดี หลวงพ่อหลวงพี่เทศน์อะไร ฟังรู้เรื่องหมด พอเทศน์จบจะลุกกลับบ้านเท่านั้นแหละ เมล็ดงาหกหมด ฝากไว้ที่ศาลานี่แหละ กลับไปบ้านลืมหมด
ก็ไม่แปลกเลยครับที่เราจะกลัวตาย หรือสะดุ้งกลัวต่อความตาย
พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคล 4 จำพวกนี้แล
มีความตายเป็นธรรมดาย่อมไม่กลัว
ย่อมไม่ถึงความสะดุ้งต่อความตาย ฯ
บทความฉบับพิเศษนี้ ผมเขียนเพื่อเตือนสติพวกเราทุกคน (ตัวผมด้วย) ว่า "เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้" แต่ !! ก่อนจะตายเราได้ใช้ชีวิตในภพมนุษย์นี้คุ้มค่ากับการได้อัตภาพมนุษย์นี้หรือยัง
ที่มา : พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓ อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต หน้าที่ ๑๖๘ ข้อที่ ๑๘๔
7 บันทึก
96
71
16
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ยารักษาจิตใจ
7
96
71
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย