3 ก.พ. 2020 เวลา 12:09 • ธุรกิจ
อาลีบาบา เผยแก่นแท้ของโมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม
ในงาน World Economic Forum 2020 แหล่งรวมผู้นำและนักธุรกิจระดับโลก ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา ต้องไปรวมงานแน่นอน
1
แต่รอบนี้ แจ็ค หม่า ซึ่งประกาศวางมือจากอาลีบาบาไปแล้วไม่ได้ไปร่วมงาน แต่เป็นคิวของทายาทของ แจ็ค หม่า ที่มีชื่อว่า แดเนียล จาง ซึ่งเป็น CEO และ ประธานกรรมการบริษัทของอาลีบาบาคนปัจจุบันไปร่วมงานแทน
อย่างที่เราพอทราบกันว่า ธุรกิจของอาลีบาบา คือ ต้นแบบของโมเดลธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม (Platform) ตัวอย่างเช่น Alibaba.com ที่เริ่มต้นจากเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้โรงงานในจีน ขายของส่งออกไปทั่วโลกได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางดิจิตอล (อินเตอร์เนต, แอปลิเคชั่น)
ซึ่งทาง World Economic Forum เองก็ได้ร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำอย่าง Accenture ออกบทวิเคราะห์ที่ระบุว่า ภายในปี 2022 กว่า 70% ของมูลค่าธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่จะเกิดมาจากธุรกิจ "แพลตฟอร์ม" ที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีดิจิตอล
1
ในงานที่ดาวอสครั้งนี้ทางแดเนียล จาง ก็ได้เผยเคล็ดลับของธุรกิจแบบแพลตฟอร์ม จะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันเลย
1) อาลีบาบา และแจ็ค หม่า เอง ไม่รู้จักคำว่า แพลตฟอร์ม ด้วยซ้ำ ช่วงที่เริ่มต้นธุรกิจ
หากใครเคยได้ยินเรื่องเล่าประวัติอาลีบาบา ตอนที่แจ็ค หม่า เดินทางไปเมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ทดลองเสิร์ชข้อมูลบนอินเตอร์เนต เป็นครั้งแรก
แจ็ค ลองเสิร์ชคำว่า “เบียร์” ซึ่งก็ได้ผลเสิร์ชขึ้นมาจำนวนมาก แต่ไม่มีข้อมูลจากจีนแม้แต่อันเดียว แจ๊คก็เลยเกิดแนวคิดว่า จะใช้พลังของอินเตอร์เนตในการช่วยผู้ประกอบการจีน ทำให้ชาวโลกเห็นสินค้าจีนได้อย่างไร
1
หากเสิร์ชคำว่าเบียร์ ตอนนี้ ก็จะเจอสิ่งนี้ Cr.Business Insider
นั่นคือ จุดกำเนิดของอาลีบาบา ด้วยวิสัยทัศน์ คือ “การทำให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องง่าย ทุกที่ (ทุกเวลา)”
เริ่มต้นด้วย การช่วยผู้ประกอบการชาวจีนเอาสินค้ามาแสดงบนเว็บไซต์ หลังจากนั้นก็พัฒนาเรื่อยมา จนมีผู้ใช้งานในระบบของอาลีบาบา กว่า 700 ล้านคน
2) แพลตฟอร์ม คือ ผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกคน (Stakeholders)
แดเนียล จาง อธิบายว่าการที่จะเรียก บริษัทอาลีบาบา ว่าคือแพลตฟอร์มก็คงไม่ใช่ เพราะธุรกิจแพลตฟอร์มในความเห็นของเขา คือ ผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกคน (Stakeholders) ในระบบ
แพลตฟอร์ม ไม่ใช่แค่เพียงการจับคู่ Demand กับ Supply แต่คือ การสร้างคุณค่าทั้งระบบ นั่นหมายความว่า ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน จะต้องเติบโต จากการมาอยู่ร่วมในระบบ คือ ธุรกิจของคนที่อยู่ในแพลตฟอร์มต้องเติบโต
พอสามารถสร้างคุณค่าให้คนที่อยู่ในระบบได้ คนก็เลยอยากที่จะมาร่วมในแพลตฟอร์มเพิ่ม
(ก็คงเหมือนกับเฟสบุ๊ก ที่กลายเป็นช่องทางหารายได้ ของ SMEs ที่สามารถโพสขายของบนโลกออนไลน์ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณาแพงๆ ทางทีวี นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่คนยังใช้เฟสบุ๊ก ในขณะที่โซเชียลมีเดียในอดีตอย่าง Hi5 MSN หรือแม้กระทั่ง Google ที่พยายามทำโซเชียล มีเดียเองก็ยังตายไปหมด)
3) ขับเคลื่อนธุรกิจด้วย ความต้องการลูกค้า
เริ่มต้นจากแสดงสินค้าทาง Alibaba.com จากนั้นพอเจอปัญหาเรื่องการจ่ายเงินจากต่างชาติไปจีน ก็เลยเกิด Alipay พอขายมากๆ ก็มีความจำเป้นที่จะต้องมีบริษัทขนส่งครบวงจรอย่าง Cainiao และมีค้าปลีกอย่าง Taobao, Tmall และอื่นๆตามมาอีกมากมาย
1
อาณาจักรอาลีบาบา Cr. SEC
4) การสร้างงาน คือ ผลที่เกิดมาจากการสร้างธุรกิจ
อาลีบาบา มุ่งไปที่การขยายธุรกิจ ซึ่งพอมีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นตามกันไปด้วย คือ ทุกๆธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น ก็เปิดโอกาสให้เกิดการจ้างงานใหม่ๆ เกิดขึ้น
(แต่คงยากที่จะตั้งเป้าว่าจะสร้างงานให้สังคมได้เท่าไหร่)
5) นวัตกรรมเกิดจากความร่วมมือกัน
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การร่วมมือกัน ระหว่างบริษัทต่างๆ แดเนียล จาง ฉายภาพให้เห็นว่า ยุคก่อนอินเตอร์เน็ต การทำธุรกิจเป็นแบบ หนึ่งต่อหนึ่ง หรือไม่กี่บริษัท แต่การเข้ามาของอินเตอร์เน็ต ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นแบบเน็ตเวิร์ค ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดนวัตกรรมขึ้นได้เร็วขึ้นมาก
แดเนียล จาง เชื่อว่าในอนาคตยังมีโอกาสเกิดแพลตฟอร์มใหม่ๆ ขึ้นอีกมากมาย สิ่งที่สำคัญก็คือ เรามีวิสัยทัศน์และเป้าหมาย ที่สอดคล้องกับบริษัทหรือหน่วยงานที่เราจะไปเป็นพาร์ทเนอร์ด้วยหรือไม่ ซึ่งหากวิสัยทัศน์ตรงกัน การร่วมมือให้เกิดนวัตกรรมก็ไม่ใช่เรื่องยาก
6) ทำความรู้จัก กับ แดเนียล จาง ให้มากขึ้น
หากจะเปรียบเทียบ แดเนียล จาง ก็คงคล้ายๆกับ ทิม คุก ของบริษัท แอปเปิ้ล ที่รับช่วงต่อจาก สตีฟ จ็อบส์ โดยแดเนียล เองเป็นคนที่ค่อนข้างเก็บตัว, พูดน้อย แต่แน่นอนว่าฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา ถึงทำให้ แจ็ค หม่า ฝากผีฝากไข้ไว้ (แต่แน่นอนว่า แจ็ค ก็ยังมีบทบาทอยู่ แต่อยู่เบื้องหลังแทน)
ว่าที่จริงแล้ว แดเนียล จาง เก็บตัวถึงขนาดที่ มีพ่อแม่พนักงานของอาลีบาบา เข้าใจผิดว่า แดเนียล เป็นพนักงานทำความสะอาดในสำนักงานใหญ่ของอาลีบาบา!!
แดเนียล จาง Cr.Business Insider
แดเนียล จาง ร่วมงานกับอาลีบาบา ตั้งแต่ปี 2007 ในตำแหน่ง CFO ของเถาเป่า (Taobao) เขาเป็นผู้ผลักดันให้เกิดวันคนโสด 11.11 และปลุกปั้น Taobao Mall หรือ Tmall ซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายของแบรนด์เนมชั้นนำ
1
แดเนียล รับตำแหน่ง CEO ของอาลีบาบาในปี 2015 และขึ้นเป็น ประธานกรรมการบริษัทต่อจากแจ็ค หม่า เมื่อปี 2019
แอดมินเคยคุยกับเพื่อนว่า มุมมองการทำธุรกิจของชาวจีนต่างกับชาติอื่นๆ พอสมควร คือ คนจีนไปทุกที่ทุกประเทศ และเวลาทำธุรกิจก็พยายามดูให้ครบทั้งห่วงโซ่อุปทาน คือ ดูว่าสามารถทำธุรกิจ (ทำกำไร) ตรงจุดไหนได้บ้าง หรืออาจยอมขาดทุนบางจุด คือ ดูภาพรวม
1
ในแง่มุมหนึ่งธุรกิจแพลตฟอร์ม คือ การช่วยให้ทุกๆคนที่อยู่บนแพลตฟอร์ม เจริญเติบโตขึ้น (แต่จะโตมาก โตน้อย ก็ขึ้นกับฝีมือของแต่ละคน)
ซึ่งแน่นอนว่า คนที่ไม่ได้อยู่บนแฟลตฟอร์ม ก็คงมีคนเสียประโยชน์
ดังนั้นสิ่งที่น่าคิดก็คือ เราจะใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มระดับโลกเหล่านี้ ขายสินค้าและบริการ คืนกลับไปได้อย่างไร…
💡ไม่อยากพลาดข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ และกลยุทธ์ทางธุรกิจ
กดติดตาม "นำเข้าส่งออก สุดขอบฟ้า"
และหากต้องการปรึกษาเรื่องนำเข้าส่งออก แอดไลน์ @zupports ได้เลย
โฆษณา