5 ก.พ. 2020 เวลา 03:36 • ธุรกิจ
ถึงเวลารึยัง? ที่ธุรกิจต้องใช้กลยุทธ์ ตัด “หนวด” รักษา “ ชีวิต” แบบโจโฉ !?!
โดย Savvy Investor
ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ ช่วยกด Like กด ติดตาม และแชร์ เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ
เมื่อโจโฉ ต้อง “ตัด”หนวดรักษา “ชีวิต”
ครั้งหนึ่ง โจโฉ เคยไปฆ่า “ม้าเท้ง” ที่เมือง ฮูโต๋ ทำให้ “ม้าเฉียว” ลูกชายของ ม้าเท้ง แค้นฝังหุ่น และตั้งใจว่า จะล้างแค้นให้พ่อตัวเองให้ได้!!
ม้าเฉียวได้รับความช่วยเหลือจาก หันซุย รวบรวมกองทหารได้หลายหมื่น จากนั้นก็ยกทัพไปตีเมืองฮูโต๋ในบัดดล
ครั้งนึง เมื่อทัพทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกัน ฝ่ายโจโฉเสียท่า ม้าเฉียวจึงตะโกนเสียงดัง สั่งให้ทหารเข้าประจัญบานตีทัพโจโฉ และก็ตะโกนสั่งทหารให้จับตัวโจโฉให้ได้ ทหารก็สั่งกันต่อๆ ไปว่า...
“คนใส่เสื้อเกราะสีแดงนั่นมันคือโจโฉ ให้จับตัวมันให้ได้”
โจโฉ เมื่อได้ยินดังนั้น จึงรีบถอดเสื้อเกราะทิ้ง แล้วควบม้าหนีเข้าไปปนกับกองทหารเพื่อหลบสายตาจากม้าเฉียว แต่ทหารฝ่ายม้าเฉียวก็ร้องต่อๆ กันอีกว่า...
“เจ้าหนวดยาวที่ถอดเสื้อเกราะแดงทิ้ง คือโจโฉ จับตัวมันให้ได้”
โจโฉ ตกใจมากอยู่แล้ว เมื่อได้ยินดังนั้น จึงคว้าเอามีดสั้นที่เอวตัดหนวดทิ้งซะ ทหารจอง ม้าเฉียว เห็นดังนั้น ก็ตะโกนร้องต่อๆ กันอีกว่า...
“ จับเจ้าคนที่หนวดสั้นที่ตัดใหม่ให้ได้ มันคือโจโฉ “
โจโฉก็ยิ่งตกใจ ก็รีบคว้าผ้าชายธงมาคลุมคาง แล้วก็ควบม้าหนีอย่างไม่คิดชีวิต ... ส่วน ม้าเฉียวควบม้าไล่ไปติดๆ แต่สุดท้าย แม่ทัพของโจโฉ ก็เข้ามาสกัดม้าเฉียว ทำให้สุดท้ายโจโฉ หนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด
เมื่อมีโอกาส อีกครั้ง โจโฉก็ออกอุบาย ให้ม้าเฉียว และ หันซุย แตกคอกัน จน กองทัพผสมอ่อนแอลงไป และพ่ายแพ้แก่ โจโฉ ในที่สุด
สุดท้ายแล้ว การยอมเสียหนวด หรือแม้กระทั่ง อวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต ไว้ ถือเป็นเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง คราวนี้เราลองมาดูกรณีศึกษาของธุรกิจในชีวิตจริงๆบ้างครับ
หมู่บ้านโบราณเฟิ่งหวง ประเทศจีน ถ่ายโดย PK
ในทางธุรกิจ ก็เช่นเดียวกัน ในยามคับขัน หรือวิกฤติ หลายๆกรณี การที่ เรายอมตัดหนวด เพื่อรักษา ชีวิต กลับเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งเพื่อ พาองค์กร และพนักงานส่วนใหญ่ ให้อยู่รอด และผ่านพ้นในเวลาที่พายุกระหน่ำ หลังจากพายุฝนผ่านไป ทัองฟ้าสดใส ย่อมคอยเราอยู่
วันนี้ผมขอยกเคสตัวอย่าง ในวิกฤติการณ์ หนักๆ ที่ผมเคยเจอ หรือเรียนมาเล่าให้ฟังครับ เพื่อให้เป็นกรณีศึกษา ให้ท่านผู้อ่านได้วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันได้ครับ
เคสแรก: ซีพี กับ เทสโก้โลตัส หากคุณยังจำได้ เมื่อก่อนจะมีห้างลดราคา ที่ชื่อว่า โลตัส ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ตั้งแต่ยุคสมัยแรกๆ ที่ใช้ชื่อ “โลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์” หลังเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ผจญมรสุมต้มยำกุ้งในปี 2540 จนทำให้ต้องยอมปล่อย “เทสโก้โลตัส” ที่ปลุกปั้นมากับมือ ขายให้บริษัทแม่ เทสโก้ (Tesco) อังกฤษ โดย CP เหลือหุ้นไว้เพียง 25% แต่พอเวลาผ่านไปเมื่อเทสโก้เพิ่มทุน หุ้นของ CP ก็ค่อยๆลดสัดส่วนลง จนแทบ ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร
“โลตัสซูเปอร์เซ็นเตอร์” ยุกแรกๆ (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
แต่ใครจะรู้ว่าจาก ปี2540 จนถึงปัจจุบัน กลุ่ม CP ที่เคยยอมตัดหนวด และตัดใจขายหุ้น โลตัสฯ ให้เทสโก้ (Tesco) อังกฤษ เพื่อรักษาองค์กรหลัดให้รอดจากวิกฤติต้มยำกุ้ง จะกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง และ กำลังเตรียมเงิน เข้าซื้อกิจการเทสโก้โลตัส จากเทสโก้อังกฤษ กลับมา (หลังจาก เทสโก้อังกฤษ ประกาศขาย เมื่อปลายปี2562 )
จะเห็นได้ว่า ถ้าผู้บริหาร CP ไม่ยอมตัดใจขาย ส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ ตั้งแต่ช่วงวิกฤติแล้วนั้น อาจจะทำให้ ไม่มี CP Group ที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้ก็เป็นไปได้
เคสที่สอง เป็นเคสที่ เจ้าของธุรกิจ ที่พยายาม เก็บรักษาไว้ทุกอย่างในยามวิกฤติ
เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น กับ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ รายใหญ่รายหนึ่ง ของจังหวัดภูเก็ต สมมติว่าชื่อ บริษัท GR (ขออนุญาตไม่ใช้ชื่อจริงบริษัท)
ในยุคที่แรกๆ ของการพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ แนว Pool Villa (บ้านแนวบ้านพักตากอากาศที่มีสระว่ายน้ำ) ใน ภูเก็ต บริษัทGR ถือเป็นผู้นำ ผู้บุกเบิก การพัฒนาการสร้างบ้านสไตล์ พูลวิลล่า ของจังหวัด โดยมีสถาปนิกชื่อดังจากต่างประเทศเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากๆในยุคนั้น โดยเฉพาะลูกค้าชาวยุโรป มีกระแสเงินสด เข้ามามหาศาล ทั้งจากการขาย Pool Villa (แบบปล่อยเช่าระยะยาว) ของบริษัท GR เอง และ จากเงินลงทุน ของลูกค้าและเพื่อนฝูงของCEOบริษัท ผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล
Pool Villa สวยๆ ในจังหวัดภูเก็ต
ความสำเร็จของบริษัท GR และกระแสเงินสด ที่เข้ามามากมายนั้น ทำให้บริษัท เอาเงินลูกค้าที่ได้มา เข้าไปลงทุน ในที่ดิน ชิ้นงามๆหลายแปลงในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็น แลนด์แบงค์( Land Bank) เพื่อเตรียมพัฒนาโครงการต่อไปในอนาคต ซึ่งมีระดับหลักร้อยถึงหลักพันล้านบาท
การค้าของบริษัท GR ถือว่าเฟื่องฟูมากๆในยุคนั้น ในโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง จนกระทั่ง เกิดเหตุการณ์ขึ้น 2-3 อย่างด้วยกัน
อย่างแรกและหนักสุดคือ เศรษฐกิจฝั่งยุโรป ซึ่งเป็นลูกค้าหลัก เริ่มมีปัญหา ลูกค้าเริ่มสดุด และจ่ายเงินช้าลง
สอง ด้วยความอู้ฟู่ ของธุรกิจ ทำให้มีผู้ประกอบการรายอื่นๆทำตามกันอย่างสนุกสนาน ( มีทั้งแบบตัดราคา และทำดีกว่า ) ซึ่งดีขนาดที่ว่า หนึ่งในผู้ประกอบการนั้น ก็ยังมีพนักงานเก่า ออกไปวิลล่าขายแข่งกับบริษัทอีกด้วย เลยทีเดียว
นอกจากนี้ เรื่องที่สามคือ การที่ผู้บริหารระดับสูง ได้ลาออกไป และทีมงานระดับกลางไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จึงทำให้ธุรกิจหลัก ของบริษัทนี้เริ่มเซ เงินล่วงหน้าที่ได้จากลูกค้ามหาศาล บริษัทก็นำไปซื้อที่ดิน เป็นแลนด์แบงค์ ไว้แล้ว จึงเกิดปัญหาสภาพคล่อง ทำให้การก่อสร้างช้าลง ส่งผลให้ผู้ซื้อเริ่มไม่เชื่อมั่น ก็จ่ายเงินค่างวดช้าลง เกิดเป็นวงจรอุบาทว์ ขึ้น
*** การแก้ปัญหา ในระยะสั้น คือจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้าไปช่วยด้านบริหารกิจการภายใน ซึ่งช่วยให้บริษัทประหยัดเงินค่าก่อสร้าง ได้หลักสิบล้าน ซึ่งช่วยต่อลมหายใจไปได้ระยะหนึ่ง
แต่ปัญหา ที่ใหญ่สุด!!! คือ เงินสดที่เหลือน้อยมาก เพราะถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่ดินมหาศาล ทั้งที่ซื้อมาแล้วและไปทำสัญญามัดจำไว้ การแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องนี้ ทางเจ้าของบริษัท ได้ตัดสินใจ นำที่ดินต่างๆ ที่เป็นแลนด์แบงค์ ไปขายฝาก (ซึ่งดอกเบี้ยเงินกู้แบบขายฝาก นั้นสูงมาก) แทนที่จะตัดใจขายเลย เนื่องจากเสียดายที่ดิน และตัดใจขายในราคาถูกไม่ได้ (ไม่ยอมตัดหนวด เพื่อรักษาชีวิต)
สุดท้าย บริษัท GR ก็ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก เหล่าแลนด์แบงค์ ที่ไปขายฝากไว้ ก็ค่อยๆถูกยึดไปเรื่อยๆ จนหมดไป ส่วนหนี้สินอื่นๆ ที่ไปกู้นอกระบบมา ก็ถูกเจ้าหนี้ตามทวงอย่างหนัก จนบริษัท ไม่สามารถอยู่ได้ และปิดตัวลงในที่สุดครับ
1
เรื่องนี้เคยเป็นข่าวใหญ่โต ในวงการ นายทุนปล่อยเงินกู้ของจังหวัดภูเก็ต แต่วันนี้ อาจจะมีเพียงไม่กี่คนที่จำได้ แต่อาจจะจำจนวันตายครับ
บทเรียนจากกรณีศึกษา เหล่านี้ ช่างเหมาะเจาะกับสถานการณ์ ทางเศรษฐกิจในหลายๆ อุตสาหกรรมในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น ท่องเที่ยว การบิน ค้าปลีก ... จึงนำมาเขียนไว้ครับ
นอกจากนี้ยังมี ตัวอย่างเทคนิคเด็ดๆ ตั้งแต่ ถอดเกราะ (ง่าย) ตัดหนวด (ยากขึ้นมานิด) ไปจนถึง ยอมตัดนิ้วเพื่อรักษาชีวิต (ยากสุด) มาแชร์กันครับ
แต่ที่ง่ายที่สุด คือไม่ทำอะไรเลย (แต่อาจรักษาชีวิตไว้ไม่ได้ 555)
1. การยอมลดราคาสินค้า เพื่อลด/ล้างสต๊อก เพิ่มสภาพคล่อง ก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยให้เอาตัวรอดได้
2. ลดกำลังการผลิตลง ลดคน ลดการลงทุน เพื่อเก็บเงินสดไว้หล่อเลี้ยงธุรกิจก่อน
3. ขายกิจการ ย่อยๆออกไป ที่ไม่ใช่กิจการหลักของบริษัท และใช้การ Outsourcing แทน
4. ปิดกิจการชั่วคราว อันนี้หลายๆปีก่อน ผมเห็นหลายๆ โรงแรม หรือ สปา ที่อ่าวนาง กระบี่ หรือ เขาหลัก พังงา พอหน้า Low Season เขาก็ปิดกัน 3-6 เดือน ให้ พนักงานกลับไปทำสวน ทำไร่ ที่บ้านเกิด พอหน้า High Season ก็เปิดใหม่ ทั้งๆที่ไม่ได้เกิดวิกฤติอะไร
5. ขายหุ้นบางส่วนเพื่อ เพิ่มทุน ให้เกิดสภาพคล่องมากขึ้น
6. ถ้าดูแล้วไม่ไหวจริง ขายกิจการทั้งหมดไปเลย แล้วกอดเงินสดไว้ รอจังหวะและโอกาส อีกที (ดีกว่า กอดกิจการไว้ แล้วตายพร้อมกับกิจการ)
สุดท้ายนี้ ไม่มีอะไรเป็นสูตรตายตัว หรือสูตรสำเร็จเพียงสูตรเดียว ดังนั้น การเลือกใช้นั้น ต้องขึ้นกับรูปแบบ ธุรกิจของคุณ สถานการณ์ทั้งภายนอกและภายในของคุณเองครับ
ถ้าคิดว่าเป็นประโยชน์ รบกวนช่วยกด Like กด ติดตาม และแชร์ เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ
โชคดีครับ
โฆษณา