6 ก.พ. 2020 เวลา 10:25 • การศึกษา
“โจรขึ้นบ้านตอนไม่มีใครอยู่ คนข้างบ้านก็ไม่เห็น กล้องวงจรปิดก็ไม่มี แล้วจะลงโทษจำเลยได้มั้ย?”
1
มีคดีอยู่เรื่องหนึ่ง คนร้ายได้เข้าไปลักทรัพย์ถึงภายในบ้านของผู้เสียหาย และได้ทรัพย์สินไปพอสมควร
เรื่องของเรื่องก็คือ ในขณะที่คนร้ายได้เข้าไปลักทรัพย์นั้นเป็นจังหวะที่บ้านหลังดังกล่าวไม่มีใครอยู่เลย อีกทั้งบ้านหลังนั้นรวมถึงบริเวณโดยรอบก็ไม่มีกล้องวงจรปิด และเพื่อนบ้านข้างเคียงก็ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์หรือแม้กระทั่งได้ยินเสียงของการโจรกรรม
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวผู้ต้องสงสัยได้คนหนึ่ง และพนักงานอัยการก็ได้สั่งฟ้องผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าวเป็นจำเลยต่อศาลในข้อหาลักทรัพย์ในเคหสถาน
แต่คดีนี้ไม่มีประจักษ์พยาน (คนที่เห็นเหตุการณ์) รวมถึงพยานแวดล้อมอื่น ๆ ที่บ่งชี้ว่าจำเลยเป็นคนร้ายได้เลย มีเพียงหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่เหลือในที่เกิดเหตุ นั่นก็คือ....ลายนิ้วมือแฝงที่อยู่บนกล่องโลหะใส่พระเครื่องของผู้เสียหาย!
(ลายนิ้วมือแฝง หมายถึง ลายนิ้วมือที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่จะต้องใช้สารเคมีบางชนิด หรือเทคโนโลยี เช่น แสงโพลีไลท์ เพื่อทำให้ลายนิ้วมือนั้นปรากฏขึ้นมา)
เมื่อหลักฐานเพียงชิ้นเดียวที่มีในคดีนี้คือลายนิ้วมือแฝง การจะลงโทษจำเลยด้วยหลักฐานที่มีอยู่เพียงน้อยนิดจะสามารถทำได้หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย
หากเป็นในอดีต การตัดสินลงโทษจำเลยด้วยลายนิ้วมือเพียงอย่างเดียวอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการลงโทษผิดคน หรือศาลอาจ
มองว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอและตัดสินยกฟ้องจำเลยได้
แต่ด้วยวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงผลทางนิติวิทยาศาสตร์ก็มีความแม่นยำมาก การตรวจหาคนร้ายจากลายนิ้วมือ เลือด หรือสารคัดหลั่งที่ได้จากที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด
โดยก่อนที่จะจับกุมจำเลยได้นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำลายนิ้วมือแฝงที่ได้จากที่เกิดเหตุไปเปรียบเทียบกับลายนิ้วมือในสารบบลายพิมพ์นิ้วมือ จึงพบว่ารอยลายนิ้วมือแฝงในที่เกิดเหตุตรงกับลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลย ซึ่งเคยมีประวัติกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
เมื่อจับกุมจำเลยได้แล้ว ยังมีการตรวจพิสูจน์ลายพิมพ์นิ้วมือของจำเลย เพื่อเปรียบเทียบกับลายนิ้วมือแฝงในที่เกิดเหตุ ซึ่งยืนยันว่าเป็นลายนิ้วมือของบุคคลคนเดียวกัน
ประกอบกับได้ความจากผู้เสียหายและบุตรว่าไม่รู้จักกับจำเลย และจำเลยไม่เคยมาที่บ้าน
ศาลจึงเห็นว่า ลายนิ้วมือแฝงของจำเลยซึ่งเป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ที่พบในที่เกิดเหตุ บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่เข้าไปลักทรัพย์ของผู้เสียหายในบ้านที่เกิดเหตุ
หาไม่แล้วจะปรากฏรอยลายนิ้วมือแฝงของจำเลยอยู่บนกล่องโลหะใส่พระเครื่องของผู้เสียหายได้อย่างไร…
ซึ่งจำเลยก็ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้
...คดีนี้จำเลยจึงถูกลงโทษไปตามระเบียบครับ
(อ้างอิงคำพิพากษาฎีกาที่ 2705/2562)
- อ่านเรื่องการเก็บลายนิ้วมือบนวัตถุพยานเพิ่มเติม >>>>
ขอบคุณภาพจาก pixabay
ถ้าได้ประโยชน์จากบทความนี้ ช่วยกด Like, Share ด้วยนะครับ 😻

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา