6 ก.พ. 2020 เวลา 21:14 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เซลล์เฮล่า ไม่แก่ ไม่ตาย กระจายอยู่ในแล็บวิจัยทั่วโลก ~
Colony สีม่วงของ HeLa Cells
ในแวดวงวิทยาศาสตร์ มี 'บิดา' ผู้ปราดเปรื่องอยู่หลายท่าน ให้กำเนิดนวัตกรรม และเทคโนโลยีต่างๆ สร้างคุณูปการนับไม่ถ้วนแก่มนุษยชาติ นามสกุลของพวกเขาจะถูกผนึกไว้กับดอกผลจากเซลล์สมองน่าทึ่ง
และจะได้ยินเสียงสรรเสริญชื่อของบิดาเหล่านั้นดังขึ้นจากมุมต่างๆของโลกไปอีกนาน โดยผู้ศึกษาวิทยาศาสตร์ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีบุคคลปริศนาที่ชื่อของ 'เธอ' ไม่ได้ผูกติดอยู่กับผลงานจากความปราดเปรื่องใดๆ ทว่าสมควรได้รับสมญานาม ให้เป็น 'มารดาแห่งชีวเวชศาสตร์'
เธอคือ เฮนเรียตตา แลกส์ ผู้มากับเซลล์มะเร็งกลายพันธุ์ ที่มอบก้าวกระโดดแก่วงการวิทยาศาสตร์ โดยใช้ชีวิตของเฮนเรียตตาต่างเครื่องบูชายัญ
เซลล์เฮลา : HeLa Cells
ถูกค้นพบคุณสมบัติวิเศษที่ยังหาคำอธิบายไม่ได้ คือ มันแบ่งตัวได้เรื่อยๆ ไม่มีวันตาย ทำให้รอดชีวิตอยู่ในจานเพาะเชื้อได้ตลอดกาล ตราบใดที่ยังได้รับน้ำและอาหารสมบูรณ์
โดยทั่วไปแล้ว เซลล์มนุษย์แบ่งตัวได้สูงสุดเพียง 50 ครั้ง ก่อนโปรแกรมที่วางไว้ในระดับยีนจะฆ่ามันทิ้งด้วยกระบวนการ Apoptosis ต่างกับเซลล์มะเร็งที่อึดกว่า แบ่งตัวได้หลายครั้งกว่า จนเกิดเป็น Abnormalities ต่อระบบภายในร่างกาย
กระนั้น เซลล์มะเร็งก็ยังคงวางตัวอยู่ใต้กฎเหล็กของชีวิต ต่างจากเซลล์เฮล่า ซึ่งยังลอยหน้าลอยตาอยู่ทั่วทุกมุมโลกในฐานะ Microscopic Professor จนทุกวันนี้
กว่าเจ็ดหมื่นโครงการวิจัยทางการแพทย์ สามารถเกิดขึ้น สำเร็จ และทำเงินได้อย่างล้นหลามจากการศึกษาเซลล์เฮล่า เช่น การผลิตวัคซีนโปลิโอ การศึกษาโครโมโซมของมนุษย์ รวมไปถึงการรักษามะเร็งปากมดลูกจากเชื้อไวรัส HPV ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคร่าชีวิตของเฮนเรียตตา แลกส์ไปอย่างเลือดเย็น
โฆษณา