7 ก.พ. 2020 เวลา 17:23 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ปริศนาที่ทั่วโลกต้องการคำตอบ อะไรคือโฮสต์ตัวกลางของไวรัส 2019-novel Coronavirus (2019-nCoV)!!!
ในขณะที่จำนวนยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019-novel Coronavirus (2019-nCoV) กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่มีการระบาดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มันก็เร่งให้เกิดการแข่งขันและวิจัยเพื่อพัฒนายารักษา วัคซีน และวิธีการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในประชาคมวิจัยโลกอย่างแข่งขัน ด้วยเม็ดเงินอันมหาศาลที่ไหลเข้ามาเพื่อวิจัยในประเด็นนี้โดยเฉพาะมากยิ่งขึ้น ทำให้ภาคประชาสังคมตระหนักและรับรู้การมีอยู่ของไวรัสชนิดนี้มากด้วยเช่นกัน สำหรับบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกันครับว่าแท้จริงแล้วเจ้าไวรัส 2019-nCoV นี้คืออะไร? มันมีที่มาอย่างไร? และอะไรคือคำถามสำคัญที่นักวิทย์ทั่วโลกต่างพยายามค้นหาปริศนาเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้
ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019-novel Coronavirus (2019-nCoV) ตามรายงานอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลก (WHO) อ้างอิงจาก https://gisanddata.maps.arcgis.com/apps/opsdashboard/index.html?fbclid=IwAR2haDXb5-I1p4_0vQ-EvxYVL0GccL2Yc9bAfZL9QcBv3QOkfBK-ONpgdCk#/bda7594740fd40299423467b48e9ecf6
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019-nCoV มีต้นกำเนิดจากไหน? มันคืออะไร?
ก่อนอื่นต้องเกริ่นนำก่อนนะครับว่าแท้จริงแล้วเจ้าไวรัสโคโรน่านั่น จัดเป็นไวรัสในกลุ่ม Coronaviridae ชนิด Enveloped (+)RNA virus นั่นคือตัวอนุภาคไวรัสจะห่อหุ้มสารพันธุกรรมที่เป็นสารพันธุกรรมชนิด RNA (positive strand) ที่สามารถใช้กลไกในโฮสต์ที่มันติดเชื้อเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมของมันจากสาย RNA ได้เลยโดยไม่ต้องแปลงเป็นสารพันธุกรรมตัวอื่น โดยไวรัสชนิดนี้มีขนาดอนุภาคประมาณ 100 นาโนเมตรเท่านั้นเอง
โดยชื่อ "coronavirus" มาจากคำในภาษาละติน "corona" และภาษากรีก κορώνη ที่แปลว่ามงกุฎหรือรัศมี ในที่นี้หมายถึงลักษณะของตัวไวรัสที่มองเห็นจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนที่มีผิวยื่นเป็นแฉก ๆ เหมือนกับรัศมีของดวงอาทิตย์ โดยตุ่มหนามเหล่านี้แท้จริงแล้วคือโปรตีนที่กระจุกตัวอยู่บนผิวของไวรัสซึ่งพวกมันตัวกำหนดแนวโน้มการตอบสนองต่อโฮสต์ของไวรัส
แสดงรูปโคโรนาไวรัส ที่มีโปรตีนยื่นออกมาบนพื้นผิวมีลักษณะเป็นตุ่มหนามคล้ายมงกุฎ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "Corona" ของมันนั่นเอง Cr. https://en.wikipedia.org/wiki/Coronavirus
อันที่จริงเจ้าโคโรน่าไวรัสไม่ใช่เชื้อใหม่อะไรมันเป็นเชื้อที่วิวัฒนาการมายาวนานคู่กับมนุษย์ และมักจะก่อโรคหวัดต่อคนเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งในทางการแพทย์เรียกพวกมันว่า Community-acquired respiratory Coronavirus (CAR-CoV) โดยมักจะเริ่มติดเชื้อในบริเวณโพรงจมูกก่อนลามไประบบหายใจส่วนล่างอื่นๆ และมักไม่ก่ออาการที่รุนแรงมากนัก อย่างไรก็ตามด้วยความที่ไวรัสกลุ่มนี้มีสารพันธุกรรมเป็น RNA พวกมันจึงกลายพันธุ์ได้ง่ายมาก
โดยปกติโคโรน่าไวรัสจะไม่สามารถติดต่อข้ามโฮสต์ (Host) ที่จำเพาะได้ มันจึงไม่ค่อยติดต่อจากสัตว์ชนิดอื่นมาสู่มนุษย์ แต่เมื่อไรก็ตามที่เชื้อกลายพันธุ์แล้วสามารถติดต่อข้ามโฮสต์ได้เหมือนกับกรณีที่พบการระบาดของเชื่อในช่วงปี 2002-2003 ของโคโรน่าไวรัสที่ชื่อว่า Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus (SARS-CoV) หรือ ซาร์ส และการระบาดของไวรัสโคโร่าอีกกลุ่มหนึ่งในชื่อ Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus (MERS-CoV) หรือ เมอร์ส ช่วงปี 2012 ในแถบตะวันออกกลาง ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าหากโคโรน่าไวรัสกลายพันธุ์รุนแรงถึงขั้นติดต่อข้ามโฮสต์จากสัตว์มาสู่คนและจากคนสู่คนได้เมื่อไรแล้ว มักจะก่อโรคที่รุนแรงจนน่าสะพรึงกลัว
ตลาดค้าสัตว์ป่าหัวหนาน (Haunan) ที่นักวิจัยเชื้อว่าเป็นจุดกำเนิดของการระบาดชองเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019-nCoV น่าจะถูกส่งผ่านมาสู่มนุษย์ผ่านสัตว์ป่าที่เป็นตัวกลางแพร่เชื้อชนิดไดชนิดหนึ่งที่พบในตลาดนี้อย่างแน่นอน Cr. xinhuathai
อย่างกรณีการระบาดล่าสุดของการระบาดของเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ 2019-novel Coronavirus (2019-nCoV) ที่เริ่มระบาดในเมือง Wuhan มณฑล Hupei ของประเทศจีน ก็เป็นอีกกรณีที่น่าสนใจ เพราะนักวิจัยคาดการณ์ว่าเชื้อน่าจะเกิดการระบาดจากสัตว์ที่เป็นโฮสต์ตัวกลางชนิดใดชนิดหนึ่งในตลาดค้าของป่า Haunan ในเมือง Wuhan นั่นเอง จากข้อมูลการถอดรหัสสารพันธุกรรมจากผู้ป่วยเคสแรกๆที่พบหลังการระบาด ก็ยืนยันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเชื้อไวรัสน่าจะมีต้นกำเนิดมาจากค้าวคาวไม่ใช่งูแบบที่สื่อหลายสำนักนำเสนอ
โดยปกติแล้วโคโรน่าไวรัสที่ก่อโรคอย่างรุนแรงมักมีต้นกำเนิดมาจากไวรัสที่พบในค้างค้าวแล้วส่งต่อสู่สัตว์ที่เป็นโฮสต์ตัวกลาง (intermediate-host) หลายชนิดก่อนเพิ่มความรุนแรงในระดับที่แพร่จากคนสู่คนได้ อ้างอิงภาพจาก FB: Virology and Cell Technology Lab - BIOTEC
"แล้วคนติดไวรัส nCoV มาจากค้างคาวได้อย่างไร?"
จากการถอดรหัสสารพันธุกรรมแล้วเปรียบเทียบข้อมูลพบว่าไวรัส 2019-nCoV (ความเหมือนมากกว่า 95%) มีรหัสพันธุกรรมคล้ายกับของไวรัสโคโรน่าที่ชื่อว่า RaTG13 ซึ่งเป็นไวรัสที่แยกได้จากค้างคาว ในเมืองยูนนาน ตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งยืนยันแน่นอนแล้วว่าไวรัส 2019-nCoV มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาวแน่นอน โดยธรรมชาติแล้วไวรัส RaTG13 ที่พบนี้จะไม่สามารถติดต่อสู่มนุษย์โดยตรงเพราะโปรตีนที่ผิวมันอ่อนแอเกินกว่าที่จะเข้าสู่เซลล์มนุษย์ แตกต่างจากเชื้อ 2019-nCoV ที่กลายพันธุ์และวิวัฒนาการจนแพร่เชื้อเข้าสู่เซลล์มนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว นั่นหมายความว่าระหว่างที่เชื้อฟักตัวต้องรับเอาชิ้นส่วนโปรตีนและสารพันธุกรรมบางอย่างจากสัตว์ที่เป็นโฮสต์ตัวกลาง (intermediate-host) ชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างแน่นอนก่อนแพร่เชื้อในมนุษย์ คำถามสำคัญคือแล้วสัตว์ที่เป็นโฮสต์ของมันคืออะไร? เพราะถ้านักวิจัยสามารถควบคุมไม่ให้คนกินสัตว์เหล่านั้นเพื่อรับเชื้อเข้ามาเพิ่ม ก็จะสามารถยับยั้งการระบาดที่ต้นตอได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่ามารักษาในระยะที่รุนแรงแล้ว
จากการถอดรหัสสารพันธุกรรมของไวรัส 2019-nCoV พบว่ามีรหัสพันธุกรรมเหมือนกับของไวรัสโคโรน่า RaTG13 ที่แยกจากค้าวค้าวมากกว่า 95%
"ทำไมไวรัสจากค้างคาว มักก่อโรครุนแรงนัก?"
นอกจากเชื้อ nCoV แล้วดูเหมือนว่าโรคระบาดร้ายแรงจากเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดอย่างรุนแรงในศตวรรษที่ผ่านมาต่างก็มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาวทั้งสิ้น เช่นโรค Ebola, SARS, MERS, Nipah ทำไมถึงเป็นแบบนั้น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอันแข็งแกร่งอย่างเหลือเชื่อของค้าวคาวนั่นเอง ที่สามารถสร้างโปรตีนป้องกันตัวเองได้อย่างรวดเร็วและมีปริมาณสูงมาก ด้วยเหตุนี้เชื้อไวรัสที่ฟักตัวในค้าวคาวจึงมีคุณสมบัติต่อต้านโปรตีนป้องกันในระบบภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี เพราะต้องต่อสู้และวิวัฒนาการตนเองอยู่ตลอดเวลาในสภาพแบบนี้ นั่นหมายความว่าเมื่อเชื้อไวรัสเหล่านี้ติดต่อเข้าสู่โฮสต์ชนิดอื่นมันยิ่งแพร่เชื้อรุนแรงและรวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก ในกรณีของมนุษย์เองที่ระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้ตอบสนองรุนแรงแบบค้าวคาว ปัญหาจึงเกิดขึ้นอย่างกรณีของ 2019-nCoV นั่นเชื้อมีความสามารถขัดขวางการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยได้ดีมาก ทำให้ผู้ป่วยที่ร่างกายอ่อนแอและมีภูมิคุ้มกันต่ำโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ จะมีอาการรุนแรงและอัตราเสียชีวิตที่สูงมากด้วย สอดคล้องกับข้อมูลระบาดวิทยาของเชื้อ 2019-nCoV จาก WHO ที่พบว่าผู้เสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 80 ต่างเป็นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวและเป็นผู้สูงอายุแทบทั้งสิ้น
การสะสมคุณสมบัติก่อโรคที่รุนแรงขึ้นของเชื้อไวรัสก่อโรครุนแรงในมนุษย์หลายชนิดล้วนมีต้นกำเนิดมาจากค้าวคาว เนื่องมาจากระบบภูมิคุ้มกันอันแข็งแกร่งของมันนั่นเอง อ้างอิงภาพจาก FB: Virology and Cell Technology Lab - BIOTEC
"หรือตัวนิ่มอาจจะเป็นโฮสต์ตัวกลางของไวรัส 2019-nCoV ?"
อย่างที่เกริ่นไปในข้างต้นนะครับว่าทำไมการหาโฮสต์ตัวกล่าวในการแพร่เชื้อ 2019-nCoV จึงมีความสำคัญมาก จากรายงานการวิจัยล่าสุดก็เหมือนเราจะค้นพบโฮสต์ที่ว่านั้นแล้ว โดยสำนักข่าวซินหัว (Xinhau) เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ได้รายงานว่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์หัวหนาน (South China Agriculture University) ได้รายงานว่าสามารถถอดรหัสพันธุกรรมย้อนกลับตัวอย่างเมตาจีโนม (Metagenome) ของสัตว์ป่ามากกว่า 1,000 ชนิด โดยการสกัดสารพันธุกรรมจากจุลินทรีย์ในสัตว์ป่าโดยตรงแล้ววิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยาระดับโมเลกุล (molucular biological) พบว่าไวรัสที่สกัดได้จากตัวนิ่มป่า (pangolin) ให้ผลบวก (positive detection) ต่อเชื้อไวรัสโคโรน่ากลุ่มเบตาโคโรน่าไวรัส (betacoronavirus) มากถึง 70% ซึ่งไวรัส 2019-nCoV ก็อยู่ในกลุ่มนี้ และเมื่อแยกเชื้อบริสุทธิ์แล้วเปรียบเทียบลำดับของรหัสสารพันธุกรรมอีกครั้งก็พบว่ามีลำดับที่ใกล้เคียงกันถึง 99% นั่นหมายความว่าตัวนิ่มเหล่านี้อาจเป็นโฮสต์ตัวกลางของ 2019-nCoV
ทั้งนี้นักวิจัยกลุ่มนี้ก็ให้ข้อมูลเสริมว่า การวิจัยครั้งนี้สนับสนุนว่าค้าวคาวไม่ได้แพร่เชื้อเข้าสู่มนุษย์โดยตรงแบบที่เข้าใจกัน แต่น่าจะส่งผ่านเชื้อผ่านโฮสต์ตัวกลางอย่างตัวนิ่มหรือสัตว์ป่าชนิดอื่นมากกว่า นั้นยิ่งตอกย้ำข้อเท็จจริงที่ว่ามนุษย์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคสัตว์ป่าอย่างยิ่ง เพื่อลดและป้องกันการระบาดของเชื้ออุบัติใหม่ที่นับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ติดตามผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ที่
โฆษณา