8 ก.พ. 2020 เวลา 02:40 • ไลฟ์สไตล์
โอวาทปาฏิโมกข์
ปกติคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกือบทั้งหมด จะสอนให้ผู้ฟังหมดกิเลส หรือให้กิเลสลดลง ยกเว้น “โอวาทปาฏิโมกข์” ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ฟังหมดกิเลส เพราะผู้ฟังทั้ง ๑,๒๕๐ รูป คือพระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้ว ถ้าอย่างนั้น คำสอนนี้พระพุทธองค์ทรงสอนเพื่อวัตถุประสงค์อะไร
วัตถุประสงค์นั้นก็คือ บอกวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือ บอกพระอรหันต์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูป ให้ทราบว่า “เธอทั้งหลายจงนำคำสอนนี้ ไปสอนให้ผู้ที่ยังไม่หมดกิเลส เพื่อให้ผู้นั้นน่ะ หมดกิเลส ตามเธอทั้งหลายนะ”
โอวาทปาฏิโมกข์ ประกอบไปด้วยอุดมการณ์ ๔ ข้อ หลักการ ๓ ข้อ และ วิธีการอีก ๖ ข้อ
ส่วนที่เป็นอุดมการณ์ ๔ ข้อ ได้แก่
๑ ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา แปลว่า ความอดทน คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
คำสอนนี้ ต้องการบอกว่า ถ้าต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปล่ะก็ ต้องอดทนนะ
๒ นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา แปลว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่าพระนิพพานเป็นเยี่ยม
คำสอนนี้ ต้องการบอกว่า ทุกชีวิตต้องการความสุข พระนิพพานคือความสุขที่สุด และเป็นเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของมวลมนุษยชาติด้วย
๓ นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี แปลว่า ผู้ล้างผลาญผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
คำสอนนี้ ต้องการบอกว่า อย่าฆ่ากันนะ เพราะการฆ่ากันจะทำให้มีวิบากกรรม ส่งผลให้เราไปไม่ถึงพระนิพพาน หรือ แม้จะถึง ก็ช้ากว่าที่ควรจะเป็น
๔ สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต. แปลว่า ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
คำสอนนี้ ต้องการบอกว่า ให้ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความสงบ ทั้งกาย วาจา ใจ อย่าไปเบียดเบียนใครเขานะ เพราะสมณะ แปลว่า “สงบ” ความสงบนี่แหละ จะทำให้เราเข้าถึงพระนิพพานได้เร็ว
เอตัง พุทธานะ สาสนัง แปลว่า นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
คำสอนนี้ ต้องการบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้มีพระองค์เดียวนะ ในอดีตมีมาแล้วนับไม่ถ้วนพระองค์ ในอนาคตก็จะมีนับไม่ถ้วนพระองค์ ทุกพระองค์มีคำสอนแบบนี้เหมือนกันหมด
ส่วนที่เป็นหลักการมี ๓ ข้อ ได้แก่
๑ สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง แปลว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง
คำสอนนี้ ต้องการบอกว่า บาปที่ติดตัวเราอยู่ในปัจจุบัน ก็เยอะพอจนใช้กรรมไม่หมดแล้ว อย่าไปสร้างบาปเพิ่มอีกเลย มันจะทำให้มีความทุกข์เพิ่มขึ้นไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
๒ กุสะลัสสูปะสัมปะทา แปลว่า การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
คำสอนนี้ ต้องการจะบอกว่า ต้องทำความดีด้วยนะ เพราะเรายังมีกิเลส เจ้าตัวกิเลสนี่แหละ จะคอยบังคับให้เราทำบาปอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องทำความดี เพื่อให้กิเลสที่อยู่ในใจเบาบางลง มันจะได้บังคับเรายากขึ้น
๓ สะจิตตะปะริโยทะปะนัง แปลว่า การกลั่นจิตของตนให้ผ่องใส
คำสอนนี้ ต้องการจะบอกว่า เราต้องฝึกเอาใจกลับมาไว้ในตัวให้มากๆ เพราะถ้าเราปล่อยให้ใจอยู่นอกตัว กิเลสจะบังคับให้เราทำบาปได้ง่าย แต่ถ้าเราเอาใจกลับมาไว้ในตัวกิเลสจะบังคับเรายากขึ้น
เอตัง พุทธานะ สาสนัง แปลว่า นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
คำสอนนี้ เป็นการย้ำอีกทีว่า นี่คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์นะ ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต สอนอย่างนี้เหมือนกันหมด
ส่วนที่เป็นวิธีการมี ๖ ข้อ ได้แก่
๑ อะนูปะวาโท แปลว่า การไม่เข้าไปว่าร้ายกัน
คำสอนนี้ ต้องการจะบอกว่า เราต้องระมัดระวังคำพูดของเรา อย่าให้ไปทำร้ายใคร มันจะเป็นวิบากกรรม ดีไม่ดี เราอาจจะสร้างคู่เวรข้ามชาติ ก็ได้
๒ อะนูปะฆาโต แปลว่า การไม่เข้าไปล้างผลาญกัน
คำสอนนี้ ต้องการจะบอกว่า เราต้องระวัง ร่างกาย โดยเฉพาะมือ กับ เท้า ของเรานี่แหละ อย่าไปทำร้ายใคร เพราะผู้ทำร้ายร่างกาย ย่อมก่อเวร ส่วนผู้ถูกทำร้ายร่างกาย ย่อมจองเวร เราจะมีคู่เวรข้ามชาติ ไม่ดีเลย อย่าทำนะ
๓ ปาติโมกเข จะ สังวะโร แปลว่า ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์
คำสอนนี้ ต้องการจะบอกว่า ให้รักษาศีล ให้ดี เพราะศีล จะเป็นเกราะคุ้มครองภัยให้เราปลอดภัยทั้งในชาตินี้ และชาติหน้าต่อๆ ไป
 
๔ มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง แปลว่า ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนาหาร
คำสอนนี้ ต้องการจะบอกว่า อาหารแม้จะเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต แต่หากไม่รู้จักประมาณ รับประทานมากเกินไป ก็เป็นโทษต่อร่างกายได้ ซึ่งมีผลการสำรวจจากทั่วโลกออกมาแล้วนะว่า ประชากรโลกที่เสียชีวิตจากการรับประทานอาหารมากเกินไปนั้น มีจำนวนมากกว่าประชากรโลกที่เสียชีวิตเพราะอดอาหารซะอีก
๕ ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง แปลว่า การนอนการนั่งอันสงัด
คำสอนนี้ ต้องการบอกว่า สภาพแวดล้อม ที่สงบสงัด เป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งมี สองนัยยะ นะ นัยยะแรกคือ หาที่สงบสงัด นัยยะทีสองคือ อยู่ที่ไหน ก็ทำที่นั่นให้เป็นที่สงบสงัด
๖ อะธิจิตเต จะ อาโยโค แปลว่า การประกอบความเพียรในอธิจิต หรือการฝึกสมาธิ
คำสอนนี้ บอกชัดเจนอยู่แล้วว่า “ต้องลงมือฝึกสมาธิ” นะ
ทุกคำสอน ก่อนหน้านี้ เป็นไปก็เพื่อปูทางให้มาข้อสุดท้ายนี่แหละ คือ ให้ใจเรา เหมาะสมกับการฝึกสมาธิมากที่สุด
เอตัง พุทธานะ สาสนัง แปลว่า นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
คำสอนนี้ ก็ย้ำอีกทีว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต สอนเรื่องนี้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สอนให้ฝึกสมาธิ
 
โดยสรุปของคำสอนนี้ก็คือ ถ้าใครอยากหมดกิเลส ก็ต้องเริ่มต้นที่ “ความอดทน” แล้ว ปฏิบัติข้อต่อๆ มาจนมาถึงข้อสุดท้ายว่า ยังไงยังไง ก็ต้องลงมือฝึกสมาธินะ จึงจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิต จนถึงขั้นหมดกิเลส ได้พบกับความสุขที่แท้จริง และไปพระนิพพานได้ นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
 
ขอเจริญพร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา