8 ก.พ. 2020 เวลา 04:43 • ประวัติศาสตร์
ทหารองครักษ์สวิส แห่งวาติกัน
1
ทหารรับจ้างชาวสวิส มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ยุโรปมาตั้งแต่ช่วงยุคกลาง ชาวสวิสสืบเชื้อสายจากชาวเฮลเวติ (Helveti) หรือ พวกเฮลเวเธียน ซึ่งเป็นชนเชื้อสายเคลติก ที่อาศัยอยู่แถบเทือกเขาแอลป์
ตาซิตุส นักประศาสตร์ชาวโรมัน เคยบันทึกถึงพวกนี้ไว้ว่า “พวกเฮลเวเธียนเป็นชาตินักรบ ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความกล้าหาญ”
ในปลายยุคสาธารณรัฐโรมัน พวกเฮลเวเธียนได้อพยพเข้าไปในแคว้นกอล สร้างความหวาดหวั่นให้ชาวกอล จนต้องขอความช่วยเหลือจากโรม
จูเลียส ซีซาร์นำทัพไปทำศึกกับ เฮลเวเธียนและได้ชัยชนะ ซีซาร์ได้ยื่นเงื่อนไขให้พวกเขายอมจำนนและส่งตัวบุตรชายของพวกผู้นำเผ่า มาเป็นตัวประกัน ทว่าชาวเฮลเวเธียนปฏิเสธและยืนยันสู้จนถึงที่สุด ทำให้ถูกทัพโรมันบดขยี้ จนย่อยยับ พวกที่เหลือถูกส่งตัวกลับดินแดนเดิม ซึ่งแม้ว่าในสงครามครั้งนี้พวกเขาจะพ่ายแพ้แต่ความห้าวหาญในการรบนั้นก็เป็นที่ประทับใจของชาวโรมันมาก
หลังจักรวรรดิโรมันล่มสลาย ชาวสวิสได้รวมตัวกันแบบหลวมๆ พวกเขาตั้งรกรากอยู่บนดินแดนตอนในของเทือกเขาแอลป์ เรียกว่า เขตปกครองสวิส (Swiss Canton) ซึ่งในช่วงแรกมีประชากรอยู่ราว 500,000 คน และดูเหมือนจำนวนประชากรจะมีมากเกินไป เมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกซึ่งค่อนข้างไม่เพียงพอ ทำให้ต้องพึ่งพาผลผลิตจากนอกดินแดน
ด้วยเหตุที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาผู้อื่น ทำให้ประชากรสวิสไม่มีทางเลือกนอกจากอพยพออกไปหางานในต่างแดน เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ซึ่งในยุคกลางนั้น อาชีพที่ดีที่สุดที่แรงงานสวิสจะทำได้ ก็คือ ทหารรับจ้าง
จากเหตุนี้เอง ทำให้ในเวลาต่อมา บรรดาผู้นำเขตปกครองสวิส ได้จัดตั้งกองกำลังทหารรับจ้างขึ้นมา โดยประกอบด้วย ชายฉกรรจ์ราว 15,000 คน โดยกองกำลังนี้ จะออกไปรับจ้างรบให้กับกษัตริย์หรือขุนนางที่ปกครองดินแดนต่างๆ สุดแล้วแต่ใครจะเป็นผู้ว่าจ้าง
3
ทหารรับจ้างเหล่านี้ ถูกควบคุมโดยเขตปกครองสวิส ซึ่งจะมีอำนาจในการรับสมัครกำลังพล โดยทหารแต่ละนายจะได้ค่าจ้างเป็น ข้าวโพด เกลือ หรือสินค้าเพื่อการยังชีพอื่น ๆ ทหารเหล่านี้ ถือว่า การสงครามเป็นเพียงการย้ายถิ่นชั่วคราวในช่วงฤดูร้อน โดยหลังสงครามสิ้นสุด พวกเขาจะกลับบ้านพร้อมค่าจ้างรวมถึงทรัพย์สินที่ปล้นชิงมาได้ เพื่อเอาไว้ใช้จ่ายในฤดูหนาว
ในเวลานั้น ทหารรับจ้างสวิส ถือเป็นกองทหารที่ดีที่สุด แม้ปราศจากทหารม้าและมีปืนใหญ่เพียงเล็กน้อย แต่ชาวสวิสได้คิดค้นเทคนิคการเคลื่อนกำลังที่ทรงประสิทธิภาพ จนทำให้พวกนี้กลายเป็นที่ต้องการทั้งจากสเปนและฝรั่งเศส ขบวนรบของพวกเขาไม่ต่างอะไรกับกำแพงหอกที่แข็งแกร่งจนไม่อาจทะลุทะลวง และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีสงครามครั้งใด ที่ทหารสวิสไม่มีส่วนร่วมด้วย
1
ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 13 -14 หลัง กลุ่มต่างๆ ในเขตปกครองสวิสเริ่มแยกตัวเป็นอิสระ ชายหนุ่มจำนวนมากได้เดินทางไปรับจ้างรบในเยอรมันและอิตาลี ในฐานะที่เป็นเพียงเขตปกครอง จึงไม่อาจยับยั้งการอพยพนี้ได้ บรรดาผู้นำเขต จึงมองหาวิธีควบคุมสถานการณ์และได้นำไปสู่การจัดตั้งสมาพันธรัฐสวิส ในเวลาต่อมาซึ่งทำให้การจัดกำลังพลและการเกณฑ์ทหารสามารถทำได้ในรูปแบบที่ชัดเจนกว่าเดิม รวมทั้งการให้บริการด้านกำลังพลรับจ้างแก่ต่างประเทศด้วย
5
ใน ปี ค.ศ. 1453 สมาพันธรัฐสวิส ได้เป็นพันธมิตรกับพระเจ้าชาร์ลที่ 7 ของฝรั่งเศส และมีการทำข้อตกลงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1474 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ทั้งนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 ทรงประทับใจที่ได้เห็นทหารราบชาวสวิส 1,500 นาย ยืนหยัดต่อต้านการเข้าตีของข้าศึกที่มีกำลังมากกว่าได้ถึงยี่สิบครั้งติดๆกัน พระเจ้าหลุยส์ที่ 11 จึงทรงจ้างทหารจากสมาพันธ์เหล่านี้ มาประจำในกองทัพฝรั่งเศส ซึ่งตามข้อตกลงระหว่างฝรั่งเศสและสมาพันธ์นั้น ทางสวิสจะส่งกำลังพล 6,000 -16,000 นาย ให้กษัตริย์ฝรั่งเศส โดยนอกจากค่าจ้างแล้ว ทางสวิสยังได้รับประโยชน์จากการคุ้มครองโดยฝรั่งเศสด้วย
1
ทั้งสองฝ่ายกลายเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งและเกื้อหนุนกัน แต่ทางสมาพันธ์ก็ยังมีเอกราชเต็มที่และมีสิทธิในการบังคับบัญชากำลังพล รวมทั้งสามารถถอนกำลังของตนออกไปเมื่อใดก็ได้ รวมถึงมีธงประจำกองทัพของตัวเอง และในการออกคำสั่งก็จะใช้ภาษาของพวกเขาเอง คือภาษาเยอรมัน โดยจะมีผู้บังคับบัญชาเป็นชาวสวิสและพวกเขายังคงอยู่ภายใต้กฎหมายของสมาพันธ์
3
ในปี ค.ศ. 1506 ทหารรับจ้างชาวสวิสกลุ่มแรก ได้เดินทางมายังโรม ในฐานะทหารองครักษ์ของสันตะปาปา จูเลียสที่ 2 ทหารเหล่านี้ นำโดยผู้บังคับที่ชื่อ กัสปาร์ ฟอน ซีเลอนีน (Kasparvon Silenen) จากเขตอูริและได้รับการประทานพรจากสันตะปาปา จูเลียสที่ 2 แต่ที่จริงแล้ว ก่อนหน้านั้น สันตะปาปา ซิกตุสที่ 4 ได้เคยทำสัญญาพันธมิตรกับสหพันธรัฐไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1497 และได้สร้างค่ายทหารเพื่อเตรียมไว้สำหรับกำลังพลพวกนี้ ณ.บริเวณที่ปัจจุบัน คือ โบสถ์เล็กของเซนต์เพลเลกริโน (St. Pellegrino) ในกรุงวาติกัน อีกทั้งก่อนหน้านั้น ในสมัยของสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่8 (ปี ค.ศ.1484 – 1492) ก็เคยตัดสินพระทัยที่จะใช้ทหารสวิส ต่อต้าน ดยุคแห่งมิลาน และในสมัยของสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 6 ผู้มาจากตระกูลบอเจีย ก็ทรงเคย ว่าจ้างทหารเหล่านี้ ในช่วงที่ตระกูลบอเจีย กำลังเรืองอำนาจและเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส
โดยในตอนนั้น ได้เกิดสงครามในคาบสมุทรอิตาลีและเมื่อบรรดาทหารรับจ้างชาวสวิส ได้ยินว่า พระเจ้าชาร์ลที่ 8 แห่งฝรั่งเศส ทรงวางแผนจะทำสงครามใหญ่กับนครเนเปิล พวกเขาก็พากันไปสมัครร่วมรบ จนถึงสิ้นปี ค.ศ.1494 ก็มีทหารสวิสนับพันๆนาย อยู่ในโรม โดยไปกับกองทัพฝรั่งเศส จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดมา กองทัพฝรั่งเศสก็สามารถยึดครองเนเปิลได้สำเร็จ
แม้จะได้รับชัยชนะ ทว่าอีกสองสามเดือนต่อมา กษัตริย์ชาร์ลที่ 8 ก็ทรงถูกบีบให้ทิ้งเนเปิลและต้องรีบถอยทัพกลับฝรั่งเศส ด้วยเหตุว่า สันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่6 ได้ทรงลอบติดต่อกับ มิลาน, เวนิส และเยอรมัน เพื่อต่อต้านการขยายตัวของฝรั่งเศส
2
ทหารองครักษ์ สวิส แห่งโรมวาติกัน
ในบรรดาผู้ร่วมทัพในสงครามกับเนเปิลครั้งนั้น มีพระคาดินัล กุยเลียโน เดลลา โรเวีย ผู้จะได้เป็นสันตะปาปาจูเลียส ที่ 2 ในอนาคต รวมอยู่ด้วย พระองค์ค่อนข้างคุ้นเคยกับชาวสวิส เพราะยี่สิบปีก่อนหน้านั้น พระองค์เคยเป็นหนึ่งในบรรดาผู้สอนศาสนา ที่เข้าไปในดินแดนของชาวสวิสมาก่อน
 
การปฏิบัติการรบของทหารสวิสในสงครามเนเปิล เป็นที่ประทับใจพระคาดินัล กุยเลียโนมาก และเป็นเหตุผลที่ทำให้พระองค์ทรงจ้างทหารสวิส เป็นทหารองครักษ์เมื่อพระองค์ขึ้นเป็นพระสันตะปาปาในเวลาต่อมา
หลังประจำการที่วาติกันในปี ค.ศ.1506 ทหารองครักษ์สวิสได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง โดยวีรกรรมครั้งสำคัญของพวกเขาก็คือ ตอนที่กองทหารรับจ้างสเปนบุกโจมตีกรุงโรม ในวันที่ 6 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1527
ในเวลานั้น จักรพรรดิชาร์ลที่5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักสิทธิ์ได้ทำสงครามกับเหล่าพันธมิตรแห่งคอนแนค (Connac Leaque) อันประกอบด้วย ฝรั่งเศส, มิลาน, เวนิซ, ฟลอเรนซ์ และรัฐสันตะปาปา โดยสันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ได้ให้การสนับสนุนฝรั่งเศส ในความพยายามเปลี่ยนขั้วอำนาจในภาคพื้นยุโรปและทรงต้องการปลดปล่อยรัฐสันตะปาปาจากการควบคุมของจักรวรรดิ ทว่าความพยายามนี้ไร้ผล โดยพระเจ้าชาร์ลทรงเอาชนะกองทัพพันธมิตรได้ ทำให้โรมต้องยอมสงบศึก
1
แม้สงครามจะยุติ ทว่าพระเจ้าชาร์ลกลับไม่จ่ายเงินให้กองทหารรับจ้างตามข้อตกลง จึงทำให้พวกนั้นไม่พอใจ ดังนั้นทหารรับจ้างจำนวนสองหมื่นนายที่ชุมนุมพลอยู่ใกล้กรุงโรมจึงยกกำลังเข้าโจมตีโรม โดยละเมิดข้อตกลงสงบศึกที่ฝ่ายจักรวรรดิทำไว้กับสันตะปาปา
เช้าวันที่ 6 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 1527 กองทหารรับจ้างชาวสเปนจากกองบัญชาการบนเนินเขากีอานิโคโล ก็ยกกำลังเข้าโจมตีประตูทอริออนี (Torrione Gate) หลังจากการโจมตีอย่างดุเดือด ทหารสเปนก็บุกเข้าไปได้ กำลังพลฝ่ายโรมแตกพ่ายยับเยิน หน่วยทหารองครักษ์สวิสได้ยืนรักษาที่มั่นอยู่ตรงเสาโอเบลิก (ปัจจุบันคือบริเวณจตุรัส เซนต์ปีเตอร์) ร่วมด้วยทหารชาวโรมจำนวนเล็กน้อย โดยพวกเขายังยืนหยัดสู้แม้จะสิ้นหวัง
หัวหน้าทหารองครักษ์สวิส ชื่อ กัสปาร์ รอสต์ (Kaspar Röist) ได้รับบาดเจ็บระหว่างการต่อสู้และถูกฆ่าในที่พักทหารในเวลาต่อมา โดยทหารรับจ้างสเปนต่อหน้าภรรยาของเขา พร้อมทหารสวิสอีก 189 นาย ที่พลีชีพในศึกครั้งนั้น มีเพียง 42 นาย ที่รอดชีวิต โดยกำลังพลที่รอดชีวิตได้คุ้มครอง สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 หนีไปตามเส้นทางลับที่สันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 เคยสร้างไว้ โดยทางนี้เชื่อมระหว่างนครวาติกันกับปราสาท เซนต์ เองเจโล (Castel Sant’Angelo) ซึ่งเป็นที่ที่สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ไปลี้ภัยที่นั่น
การปล้นสะดมกรุงโรมครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตกว่าหนึ่งหมื่นคน ทรัพย์สินถูกปล้นไปเป็นจำนวนมหาศาลรวมทั้งสุสานของอดีตพระสันตะปาปา ก็ยังถูกทำลายไปด้วย
1
แม้เรื่องที่เกิดขึ้น ดูจะทำให้พระเจ้าชาร์ลต้องทรงเสียพระเกียรติ ที่ไม่อาจควบคุมกองทหารของพระองค์ได้ แต่พระองค์กลับไม่ได้ทรงกริ้วกับสิ่งที่เกิดขึ้นสักเท่าไหร่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ทหารรับจ้างพวกนั้นทำ ถือเป็นการต่อต้านองค์สันตะปาปามากกว่า โดยพระเจ้าชาร์ล อาจทรงเห็นว่า นี่เป็นการให้บทเรียนแก่สันตะปาปาโทษฐานที่คิดจะต่อต้านพระองค์ ซึ่งหลังจากนั้น สันตะปาปาคลีเมนต์ที่ 7 ก็ยอมจำนนและทรงใช้เวลาที่เหลือในชีวิตของพระองค์ โดยทรงหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะสร้างความขัดแย้งกับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
อย่างไรก็ตาม วีรกรรมในการปกป้ององค์สันตะปาปาของเหล่าทหารองครักษ์สวิสในเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้สร้างความประทับใจให้กับทางวาติกันและทำให้ทางวาติกัน ยังคงจ้างทหารสวิส เป็นทหารรักษาการณ์ในวาติกันตราบมาจนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้ในวาติกัน มีทหารสวิสรักษาการณ์อยู่ประมาณ 100 นาย และมีการเกณฑ์ทหารใหม่เข้ามาแทนที่กองกำลังที่ลาออกไป โดยผู้ที่จะมาเป็นทหาร ต้องนับถือนิกายโรมันคาทอลิก และต้องผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว อีกทั้งยังต้องได้รับการรับรองจากโบสถ์ในท้องถิ่นด้วย และในวันที่ 6 พฤษภาคม ของทุกปี จะเป็นวันที่บรรดาทหารใหม่ทำการปฏิญาณตน
โฆษณา