9 ก.พ. 2020 เวลา 03:05 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
~กระแสน้ำในมหาสมุทรไหลเร็วขึ้น อาจส่งผลเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ~
ผลการศึกษาล่าสุดของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ชี้ว่ากระแสน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกกำลังเคลื่อนตัวด้วยอัตราที่เร่งเร็วขึ้นกว่าเมื่อสองทศวรรษก่อน โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นให้เห็นอย่างเด่นชัดในบริเวณเขตร้อน รวมทั้งใต้ท้องทะเลที่มีความลึกถึงระดับ 2,000 เมตร
ดร. แจเน็ต สปรินทอลล์ นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันสคริปส์เพื่อการศึกษาสมุทรศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตซานดิเอโก (UCSD) หนึ่งในทีมผู้วิจัยบอกว่า "สิ่งที่พบทำให้เราประหลาดใจมาก เพราะก่อนหน้านี้เราคาดการณ์ว่ากระแสน้ำจะไหลเร็วขึ้นบ้างเล็กน้อย ตามอิทธิพลของกระแสลมที่พัดเร็วและรุนแรงขึ้นอยู่แล้ว แต่อัตราเร็วของกระแสน้ำที่วัดได้ล่าสุด กลับไหลเร็วกว่าที่เคยคาดไว้หลายเท่า ซึ่งอาจเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ"
ผลการศึกษาล่าสุดนี้ระบุว่า กระแสลมที่พัดเหนือผิวหน้าของมหาสมุทรทั่วโลก มีความเร็วเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.9% ต่อช่วงระยะเวลาทุก 10 ปี และได้ถ่ายทอดพลังงานจลน์ให้กับพื้นที่มหาสมุทรส่วนบน ซึ่งคิดเป็น 76% ของผืนน้ำที่อยู่เหนือระดับความลึก 2,000 เมตรขึ้นมาทั้งหมด
ตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา กระแสลมที่มีความเร็วเพิ่มขึ้น ได้ถ่ายทอดพลังงานจลน์ให้กับส่วนบนของมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ส่งผลให้กระแสน้ำในมหาสมุทรไหลเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิมราว 5% ในทุก 10 ปี และเป็นเช่นนี้มาเป็นเวลาถึง 20 ปีแล้ว
อย่างไรก็ตาม อัตราเร็วของกระแสน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นค่าเฉลี่ย โดยกระแสน้ำสายหลักในบางภูมิภาคของโลกมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เช่นกระแสน้ำอุ่นคุโระชิโอะ (Kuroshio Current) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก
ทีมผู้วิจัยระบุว่า ความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทรที่ไหลเวียนไปมา มีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากกระแสน้ำเหล่านี้นำพาความร้อนเคลื่อนที่ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อระบบนิเวศใต้ทะเล รวมทั้งอุณหภูมิและลักษณะอากาศประจำถิ่นได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา