10 ก.พ. 2020 เวลา 01:00 • ธุรกิจ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยของไทยที่ผู้คนกล่าวถึงอย่างมากมาย
ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2558 นายกสภาวิศวกร กรรรมการในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ระหว่างปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2562 และประธานสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560
เป็นศาสตราจารย์ ทางด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์ คนแรกของประเทศไทย เมื่ออายุเพียง 37 (ที่มา: Wikipedia) ปี เป็นคนแรกที่ใช้ AI ในการวิเคราะห์การทรุดของชั้นดินอ่อนในกรุงเทพฯ (ที่มา: รายการ Perspective)
“ยุคใหม่การตลาดของไทย” เคยฟังท่านบรรยายในงานๆหนึ่งที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฟังแล้วเกิดความประทับใจและมีความชุ่มชื่นหัวใจขึ้นมา เพราะรู้สึกได้เลยว่าสังคมไทยจะก้าวไปไกลกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน ด้วยวิสัยทัศน์ของท่านและผลงานที่ท่านทำไว้แล้ว เป็นส่งที่ยืนยันว่าท่านผู้นี้คือของจริง
ครูพี่เอ้หรือที่นักศึกษาเรียกกันว่าพี่เอ้ ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นี่ก็เป็นครั้งแรกที่ได้ยินว่ามีอธิการบดีที่ผู้คนต่างเรียกเรียกท่านว่าพี่
ในการรับฟังวิสัยทัศน์ของท่านในวันนั้นร่วมกับวิทยากรอีกหลายท่าน ทุกท่านที่ขึ้นพูดในงานล้วนแล้วแต่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ทั้งยังเป็นผู้ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทย แต่นั่นจะทำอะไรไม่ได้เลยแม้ว่ามีความรู้ความสามารถ ความพยายาม ความอดทน ความมุ่งมั่น หากไม่ได้ความร่วมมือร่วมใจจากคนในชาติ
อะไรที่คนในชาติจะร่วมแรงร่วมใจไปในทางเดียวกัน นั่นต้องเกิดจากผู้นำต้องเข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจเขาให้ได้ก่อน เรื่องนี้ทำให้นึกถึงเรื่องผู้นำ 5 ระดับของ John C Maxwell ที่เคยได้แบ่งปันไว้ เพราะครูพี่เอ้เป็นอีกคนที่กำลังก้าวไปถึงผู้นำระดับที่ 4 เพราะในระดับที่ 3 คือการสร้างให้เกิดผลลัพธ์และสะสมพลังขับเคลื่อน (Momentum)
การที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาเพื่อทำการเปลี่ยนแปลงอะไรบางสิ่งบางอย่าง เรื่องที่เป็นนิรันดร์ของการเปลี่ยนแปลงคือการต่อต้าน เพราะนิสัยคนส่วนมากไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง
ถ้ายังไม่แน่ใจเรื่องนี้ลองมองกลับมาดูตัวเราสิว่า ในอดีตที่ผ่านมาที่มีการเปลี่ยนแปลงเรารู้สึกอย่างไรบ้างในตอนแรกๆ “ยุคใหม่การตลาดของไทย” เองก็เป็นคนๆหนึ่งที่เคยต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในหลายครั้งเช่นกัน
ครูพี่เอ้ ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็เป็นหนึ่งในผู้นำที่พบเจอกับการต่อต้านมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ยังยืนหยัดมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้คนไทยก้าวไปเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งของโลก
ที่เริ่มตั้งแต่ท่านตอนเป็นนักศึกษาได้ริเริ่มการออกแบบรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ก่อนที่จะมีรถไฟลอยฟ้า (BTS) ด้วยซ้ำ ทั้งที่แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีความพร้อมอะไรเลย
ทั้งข้อมูลที่มีอยู่ก็ต้องลำบากในการเดินทางเพื่อหาข้อมูลในที่ๆมีข้อมูลมากที่สุดในประเทศไทยในขณะนั้นคือสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย(AIT) ด้วยรถเมล์ที่ต้องออกแต่เช้าไปถึงเกือบบ่ายโมง
นอกจากนี้ยังทำสิ่งที่นักศึกษาในวัยเดียวกันไม่ทำคือการนำโครงการ(Project) ไปนำเสนอผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในขณะนั้นคือ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ที่ท่านเป็นคนไทยที่จบจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา
ต้องนั่งรอเกือบ 2 สัปดาห์กว่าจะได้พบ เพื่อเสนอตัวเองให้ได้เข้าไปเรียนที่ MIT จากการที่ขอให้ ร.อ.กฤษฎา ทำจดหมายรับรองให้ และท่านก็ได้มีโอกาสได้ไปเรียนต่อที่นั่นจากจดหมายฉบับนั้นนั่นเอง
คนที่เป็นอธิการบดีคนที่เป็นศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์ จบจากสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมอันดับหนึ่งของโลก ใครจะรู้ว่าท่านเคยเกือบไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลการเรียนหรือที่เรียกกันว่ารีไทร์มาแล้ว
แต่ทว่าท่านก็ผ่านมาได้แบบเส้นยาแดงผ่าแปดด้วยเกรดเฉลี่ย 2.00 ที่ได้มาจากวิชาการสื่อสารที่มาช่วยให้เกรดที่ออกมาได้ตามเกณฑ์กำหนด ด้วยความมุ่งมั่นและความสนใจจึงทำให้ท่านเข้าใจอย่างลึกซึ้งในวิชานี้เป็นอย่างดี จึงทำให้ท่านเป็นคนเดียวที่ได้เกรด 4 ในวิชานี้ และวิชานี้คือสิ่งที่ทำให้ท่านกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างให้สังคมไทย
“ยุคใหม่การตลาดของไทย” เห็นมุมของการเปลี่ยนแปลงจากคนที่ได้เกรดเฉลี่ย 2.00 คะแนน สอบ TOFEL จากคะแนน 600 แต่ได้ 401 ที่มองไม่เห็นแววที่จะได้เป็น ดร.จากสถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งของโลกเลย
1
แต่จุดเปลี่ยนสำคัณเกิดขึ้นในวันที่ท่านต้องเดินทางกลับไปหาพ่อที่ชลบุรี แล้วได้บอกกับพ่อของท่านว่าได้เกรดแค่ไม่โดนรีไทร์เท่านั้น จากความคาดหวังของคุณพ่อที่อยากจะฟังว่าลูกน่าจะได้มากกว่า 3 ขึ้นไป ท่านมองเห็นแววตาที่ผิดหวังอย่างแรงของพ่อ
แต่วินาทีนั้นพ่อของท่านได้เปลี่ยนสีหน้าเป็นการให้กำลังใจ ด้วยการบอกว่าท่านว่า
“แค่เอ้จบออกมาทำงานแถวบ้านพ่อกับแม่ก็ดีใจที่สุดแล้ว”
วินาทีนั้นทำให้ท่านได้สติจากกำลังใจที่ได้จากพ่อ หันมาเปลี่ยนแปลงตัวเองจนได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.5-3.6 และได้เกรดเฉลี่ยรวมในการเรียนจบอยู่ที่ 3.01 ซึ่งทำให้ท่านกลายเป็นคนสุดท้ายของรุ่นที่ได้เกียรตินิยม นี่คือจุดเปลี่ยนจากกำลังใจที่ได้รับมาเพียงไม่กี่วินาทีจากพ่อ ที่ทำให้ท่านกลับมาเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้พัฒนาก้าวไปสู่สังคมระดับโลก
ในมุมของนักการตลาด “ยุคใหม่การตลาดของไทย” มองเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าก่อนที่ท่านจะทำอะไร ท่านใช้การสื่อสารที่ทำให้ผู้คนเปิดใจรับก่อน
ด้วยการเอาตัวเข้าไปอยู่ในมุมของนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่งชุดนักศึกษาไปนั่งรับประทานอาหารในโรงอาหาร ร้องเพลงแร๊ปในวันปฐมนิเทศนักศึกษา (ที่เป็นที่โด่งดังมาในโลกออนไลน์) และอีกหลายอย่างที่ท่านทำ ด้วยแนวคิดที่ว่าอยากให้เขาร่วมมือสิ่งใดก็ต้องรู้จักเขาให้ดีก่อนและให้เขายินยอมที่จะเปิดใจด้วยตัวเขาเอง นี่เป็นสุดยอดการสื่อสารการตลาดโดยแท้
ในการเปลี่ยนแปลงย่อมพบเจอกับการต่อต้านทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งต้องเกิดขึ้นกับทุกคนอยู่แล้ว ท่านบอกว่า “คิดจะเป็นนักเปลี่ยนแปลงเป็นผู้นำ กลัวงูฉกต่อ ต่อย มดเต็มตัว แล้วไม่คิดจะถางหญ้าให้ลูกหลานอย่ามาเป็นผู้นำ”
และอีกกำลังใจหนึ่งที่สำคัญคือคำพูดของแม่ที่บอกว่า “ข้าวหนึ่งกระสอบมันย่อมมีเม็ดข้าวเปลือกที่ปนมาอยู่แล้วยังไงเราก็ต้องเจอ ถ้าหากเราทำเรื่องเล็กๆตักข้าวมาเพียงเล็กน้อยโอกาสที่จะเจอข้าวเปลือกก็น้อย แต่ถ้าทำงานใหญ่ก็มีโอกาสที่จะเจอเม็ดข้าวเปลือกปนมามากขึ้น”
นี่เป็นอีกหนึ่งของคนต้นแบบที่เป็นอีกผู้หนึ่งที่จะผลักดันให้คนไทยเป็นชนชาติที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก และเป็นอีกคนที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าประเทศไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าใครเลย
ขอขอบคุณ
•ฐานเศรษฐกิจ: พลิกวิกฤติสร้างเศรษฐกิจไทย “Do or Die”
•YouTube Channel JSL Global Media Perspective : ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ - อธิการบดี
•Face Book: KMITL สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
•Wikipedia
ข้อมูลมุมมองการตลาดที่ทันสมัยจากประสบการณ์จริง อ่านได้ใน Blockdit ยุคใหม่การตลาดของไทย
สามารถติดตามข้อมูลแนวคิดทางการตลาดยุคใหม่ได้ที่
YouTube Channel: Modernization marketing (ยุคใหม่การตลาดของไทย) ตอนล่าสุด

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา