9 ก.พ. 2020 เวลา 23:00 • สุขภาพ
|<มหัศจรรย์แห่งแสงแดดยามเช้า>|
☁️นอนดึกตื่นสาย ต้นเหตุทำความจำแย่
ในวันหนึ่งๆ ร่างกายของคนเราจะมีการไหลเวียนของพลังงานผ่านไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเวลา หรือที่เรียกว่า “นาฬิกาชีวิต” โดยร่างกายจะมีกลไกปรับตัวและหลั่งฮอร์โมนเพื่อให้การทำงานของระบบต่างๆ เป็นไปตามเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ดังนั้น การนอนดึกตื่นสายจนไม่ได้สัมผัสกับแสงแดดในยามเช้า จึงเป็นเหตุทำให้นาฬิกาชีวิตรวน และส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่สมองจำเป็นต้องใช้แสงแดดเป็นตัวกระตุ้นไปด้วย
“ภาวะนาฬิกานอนเคลื่อนที่” โดยมากจะเกิดกับคนที่นอนไม่เป็นเวลา จึงส่งผลให้เวลาที่ตั้งใจจะนอนกลับไม่นอน และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตื่นจึงตื่นยาก ซึ่งนอกจากจะทำให้ไปเรียนหรือไปทำงานสายแล้ว การนอนดึกตื่นสายยังเป็นการกระตุ้นให้สมองผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) มากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว ฮอร์โมนชนิดนี้จะหลั่งออกมาเฉพาะในเวลากลางคืนเพื่อทำหน้าที่ควบคุมให้ร่างกายนอนหลับ และจะหยุดหลั่งเมื่อร่างกายได้รับแสงแดดยามเช้า ดังนั้น หากเราไม่ตื่นมารับแสงแดด กระบวนการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินก็จะเสียสมดุลไปด้วย เมื่อการนอนหลับเสียศูนย์จึงทำให้เรารู้สึกไม่สดชื่น เฉื่อยชา ปวดศีรษะ คิดอะไรไม่ออก และเกิดปัญหาความจำแย่ลงตามมาในที่สุด
1
✨แสงอาทิตย์ยามเช้า ช่วยสลายอารมณ์เศร้า
ในบางครั้งที่เกิดความรู้สึกเศร้า หรือหดหู่มากกว่าปกติ การออกมารับแสงแดดในยามเช้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นวันใหม่ จะช่วยให้เรามีความสุขได้ เพราะแสงสว่างมีส่วนเชื่อมกับอารมณ์ของคนเราโดยตรง ซึ่งการได้รับแสงสว่างวันละ 20 นาที จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตสารเคมีในสมอง คือ ฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ช่วยให้อารมณ์ดี นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่ได้รับแสงแดดยามเช้าติดต่อกันเป็นเวลา 3 สัปดาห์จะมีอาการซึมเศร้าลดลง ซึ่งได้ผลไม่ต่างไปจากการให้ยาต้านซึมเศร้าเลยทีเดียว
🌤แดดอ่อนๆ ตอนเช้า ช่วยให้หัวใจแข็งแรง
แม้แสงแดดจะดูเหมือนศัตรูร้ายสำหรับผิวสวย แต่รู้ไหมว่า การออกมารับแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้า หรือก่อนเวลา 10.00 น. แสงแดดจะช่วยกระตุ้นการผลิตโปรตีนในสมอง ที่ชื่อ พีเรียด 2 (Period 2) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้หัวใจเกิดการเผาผลาญพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น จึงมีผลในการลดความเสี่ยงจากภาวะหัวใจวายได้
2
ทั้งนี้ เป็นเพราะภาวะหัวใจวาย เกิดจากการที่หัวใจได้รับออกซิเจนน้อยเกินไป ทำให้หัวใจต้องดึงกลูโคสมาใช้ในการเผาผลาญพลังงานแทนไขมัน แต่โปรตีนพีเรียด 2 นี้ จะเข้าไปเปลี่ยนพลังงานจากไขมันเป็นกลูโคส จึงช่วยให้กระบวนการเผาผลาญที่หัวใจทำงานได้ดียิ่งขึ้น
แสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้า มหัศจรรย์อย่างนี้ หากใครที่ตื่นมารับแสงแดดสักวันละ 30 นาที ก็รับรองได้ว่า นอกจากความจำจะดี มีความสุขแล้ว หัวใจก็แข็งแรงไปด้วยแน่นอน
โฆษณา