10 ก.พ. 2020 เวลา 00:25
พฤติกรรมระเบิดอารมณ์ด้วยความเก็บกดพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก
คนเป็นครูอยู่กับนักเรียนหลายชั่วโมงต่อวัน เวลาที่นักเรียนเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดคือช่วงพักกลางวัน หลายครั้งที่เราพบว่านักเรียนที่ดูเรียบร้อยมากๆทั้งหญิงชายนั้น เวลาที่ไม่มีสายตาครูไปมองเขานั้น เขาจะเล่นอย่างสุดโต่ง ระบายคำหยาบคายแบบสะใจ ต่อยเพื่อนไม่ยั้งด้วยอารมณ์พาไปล้วนๆ แล้วก็นำพามาสู่การฟ้องครู
ผิวเผินก็เป็นเรื่องปกติของครูเด็กเล็ก (ป.1,ป.2) แต่จริงๆแล้ว เป็นพฤติกรรมการเลียนแบบสภาพแวดล้อมจากที่เขาเจอมา บทสนทนาที่ครูฟังในเวลาที่เขาเล่นกัน สามารถสื่อได้ว่าเขาเจออะไรมาจากที่บ้านบ้าง บางพฤติกรรมก็จะชัดเจนว่ามาจากเกมในมือถือ หรือละครหลังข่าว แม้กระทั่งเลียนแบบบุคคลในครอบครัว ครูจึงต้องตักเตือนและสอนเขาว่าสิ่งใดควรทำมากน้อยอย่างไร หากทำแล้วจะเกิดผลอย่างไรก็ต้องคุยกับเขายาวๆหน่อย
การเล่นอย่างรุนแรงของนักเรียนชายหลายครั้งที่เตะต่อยอย่างบ้าคลั่งไม่ใช่เพื่อความสนุกแต่เป็นการระบายปลดปล่อยอารมณ์ จะพบว่านักเรียนเหล่านี้โดยปกติคือคนเงียบๆ เรียบร้อย สุภาพไม่หาเรื่องแกล้งเพื่อนก่อน แต่เวลาเล่นเขามักไม่รู้ตัว เขาสติหลุด เขาไม่สนใจว่าเพื่อนจะร้องไห้ แต่จะรู้สึกตัวเมื่อเห็นบาดแผลหรือเลือดของเพื่อน เชื่อว่าเจตนาของเขาแค่เล่นแล้วอารมณ์พาไปจนยั้งไม่ไหว หลังจากที่ครูเคลียเหตุการณ์ได้ หลายๆครั้งสังเกตพบว่าเขาจะกลับไปดูแลเพื่อนคนนั้นด้วยความสำนึกผิด แต่เมื่อมีจังหวะระเบิดอารมณ์อีกก็วนมาเช่นเดิม วิธีแก้มีไหม มีแน่นอนค่ะ แต่ครูจะแก้ที่ปลายเหตุไม่จบแน่ บางครั้งคุยกับผู้ปกครองว่าลูกเป็นแบบนี้ๆนะคะ คำตอบแรก "อยู่บ้านไม่เป็นนะคะ น้องเรียบร้อยค่ะ ไม่เกเรนะคะ" ถ้าจะเปรียบเทียบหากคุยเรื่องแบบนี้กับผู้ปกครอง 10 ครอบครัว จะมีเพียง 1 ครอบครัวที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและช่วยกันติดตามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง หันมาคุยมาฟังความรู้สึกของลูกมากขึ้น คือจบสวยๆนั่นแหละค่ะ ส่วน9 ครอบครัวที่เหลือ คือ ฟังจากครูแล้วปล่อยผ่าน ไม่ค่อยเชื่อที่ครูบอก ครูอคติกับลูกชั้นหรือเปล่า บ้างก็ทำเหมือนรับปากแล้วก็เนียนๆละเลยกันต่อไป ที่เล่าเรื่องนี้อยากบอกว่าต้นเหคุของพฤติกรรมบางส่วนก็มาจากครอบครัวค่ะ
โดยส่วนตัวครูเองเป็นคนที่นั่งอยู่ในห้องเรียนทั้งวันค่ะ เวลาพักเมื่อทานข้าวกลางวันเสร็จ ครูก็จะนั่งในห้องเรียนตรวจงาน ทำงานในห้องตลอดเวลา แอบมองแอบฟังนักเรียน มีนักเรียนมาเล่าว่าไปเที่ยวไหนไปทำอะไรมามีความสุขอย่างไร แย่งกันเล่าจนครูฟังไม่ทันค่ะ เรื่องเศร้าเขาก็เล่านะคะ เช่น พ่อตีแม่อ่ะครู หนูสงสารแม่ คือไม่ต้องเล่าตั้งแต่ต้นแค่อยากบอกความรู้สึกให้ใครสักคนฟัง ครูจึงสามารถบอกได้ว่าเขาทำอะไร เป็นอย่างไรได้ค่ะ
ครูมีเรื่องเล่าของนักเรียนมากมายค่ะ อาจเขียนไม่น่าอ่านแต่อยากถ่ายทอดอีกมุมนึงค่ะ
ฝากไลค์ ฝากแชร์ และฝากติดตามเป็นกำลังใจให้ครูด้วยนะคะ ผิดพบาดใดไปขออภัยด้วยจ้า
โฆษณา